ReadyPlanet.com
dot dot
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย

โครงการสัมมนาวิชาการแบ่งปันความรู้

“ร่องรอย กาลเวลา : โขง สายนทีแห่งชีวิต เครือญาติ ชาติพันธุ์ วรรณา”
หัวข้อ “ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี”
 
เรื่อง
สายน้ำโขง : แอ่งแรงบันดาลใจแห่งอารยธรรมเพลง
 
โดย
แวง พลังวรรณ
 
วันเสาร์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๐๐ น.
โรงเรียนชุมชนวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
 
 
สายน้ำโขง : แอ่งแรงบันดาลใจแห่งอารยธรรมเพลง
แวง พลังวรรณ
 
                โอ้..... ฝั่งลำน้ำโขง ยามเมื่อแลงค่ำลง สาวเจ้าคงลงเล่นตามท่า สาวเจ้าคงสิเพลินหนักหนา ข้อยหรือมาค่อยท่า สาวเจ้าอย่ามัวหลงลอย
บางท่อนของ “สาวฝั่งโขง” ที่เด็กหนุ่มวุฒิ ม.๒ (ช่างไม้) จากขอนแก่น กลั่นจากประสบการณ์ “แอ๊ดรถ” เห็นสายน้ำโขงก็แต่เพียงมุมมองจากประตูรถโดยสารสายขอนแก่น-หนองคายให้เป็นเพลง เพื่อความอยู่รอด เพราะหาไม่แล้ว คงต้องแอบกินน้ำในส้วมไปอีกหลายมื้อ คำปัน ผิวขำ หรือ ปอง ปรีดา เขียน “สาวฝั่งโขง” จากความบอบช้ำจาก “กลับอีสาน” เพลงที่ถูกแบนในอันดับต้นๆ ของประเทศนี้
                “สาวฝั่งโขง” เป็นหลายๆ อย่างเท่าที่บทบาทหน้าที่ของเพลงจะพึงมี เป็นเพลงที่ถ่ายทอดวัฒนธรรม ครรลอง วิถีของคนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำโขงที่มีคนรู้จักมากที่สุด เป็นศิลปะด้านเพลงระยะต้นๆ ที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมคนลุ่มน้ำโขงในรูปของเพลง เป็นเพลงที่อยู่ในห้วงคาบเกี่ยวระหว่าง “ลำ” กับ “เพลง” และ “สาวฝั่งโขง” ก็เป็นเพลงแรกที่ทำให้ ปอง ปรีดา ยึดหัวหาด ยึดครองสายน้ำโขงอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะมีเพลงที่ใช้คำว่า “โขง” เป็นชื่อเพลงร่วมๆ ๑๐ เพลง ไม่นับรวมเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ แต่ไม่ระบุคำว่า “โขง” ในชื่อเพลงอีกมากหลาย
                อันที่จริง “สาวฝั่งโขง” มิใช่เพลงแรกที่บรรยายและใช้ “พล็อตเพลง” เกี่ยวกับวิถีผู้คนและสายน้ำโขง คำปัน ผิวขำ สร้าง “สาวฝั่งโขง” เพราะถูกบังคับให้เลียน “เบิ่งโขง” ของ เฉลิมชัย ศรีฤๅชา ซึ่ง “เบิ่งโขง” เองก็มิได้เกิดจากสายน้ำโขง หากเกิดจาก “กุดสาวทุม” ริมฝั่งชี บ้านธวัชดินแดง อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด
และเป็น เฉลิมชัย ศรีฤๅชา ผู้ค้ำบัลลังก์เกียรติยศให้กับ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” สุรพล สมบัติเจริญ ให้หาญกล้ายืนแลกหมัดในลีลาเพลงรำวงกับ “ราชาเพลงรำวง” เบญจมินทร์ และเป็นบุคคลที่โลกลืม ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป
 
ลาว อีสานและลำล่องโขง
 เหลียวไปทางเหนือพุ้นเวียงจันทน์ปากน้ำงึ่ม
เห็นแต่ดอนต่อขั้นขันต่อแจ้งกระแสน้ำปั่นปลิว
เหลียวไปทิวบนด้านโพธารามก้ำบ้านโป่ง
เลาะตามสายแม่น้ำโขง เห็นแต่เรือพ่อค้าลงแก้งท่ากระเบา
เหลียวขึ้นไปทางหน้า ดอนบักกวางกว้างจี่ดี่
เห็นแต่ดอนหมากอี่ติดกับดอนพระเจ้า สิเวินเข้าท่ากระดิง ...
“ลำยาว-ลำล่องโขง” ที่คัดมาเป็นฉบับที่ลำโดย “หมอลำขันทอง” บทกลอนบรรยายถึงสภาพของลำน้ำโขง ชื่อบ้านนามเมืองที่อยู่ริมฝั่ง เกาะแก่ง จากเหนือสุดของลาว ผ่านลงทางใต้ ผ่านแก่งหลี่ผี จน ... ไหลไปตกไซ่ง่อนโขงกะสุดท่อนี้ สิไหลเลี้ยว สู่ทะเล สู่ทะเล... บันทึกแผ่นเสียงตรากระต่าย เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๐ (ไพบูลย์ แพงเงิน. 2534 : 58) เป็นหลักฐานที่ยังพอสืบค้นได้ นอกเหนือจากหลักฐานอื่นอีกนับร้อยนับพันที่อยู่ในรูปมุขปาฐะ
“ลำยาว-ลำล่องโขง” ลำกลอนนี้มิใช่กลอนลำกลอนแรกที่รังสรรค์ขึ้นโดยบรรพบุรุษชาวอีสาน เพื่อบรรยายสภาพทางภูมิศาสตร์ของสายน้ำโขง หากก่อนหน้านั้น “ลำล่องของ” ของหมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ ก็มีผู้กล่าวขวัญถึง
ลำล่องหรือลำยาว เป็นการขับลำทำนองช้า เข้ากับเสียงแคนลายใหญ่ หรือลายเอ่ยน้อย มีระดับเสียงต่ำ ทำให้คนฟังเคลิบเคลิ้มคล้อยตาม เมื่อผสานกับถ้อยคำและเนื้อหาของบทกลอน บางคนถึงกับน้ำตาคลอด้วยออนซอน (ประทับใจ) ครวญคิดไปต่างๆ นานา คิดถึงอดีต ความรัก ความหลัง ความพลัดพราก อาลัยอาวรณ์ ด้วยประการฉะนี้ ลำล่อง หรือลำยาว จึงได้รับการวางตำแหน่งไว้สำหรับคั่น เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและเพื่อสร้างความประทับใจ ที่สำคัญ เมื่อหมอลำจะลาจากมิตรหมอแคนแฟนหมอลำ จะต้องใช้ลำล่อง หรือลำยาว เป็นการปิดฉากสั่งลา ดังนั้น บางครั้งจึงเรียกว่า “ลำลา”
เหตุที่ได้ชื่อว่า “ลำล่อง” อาจเนื่องด้วยลีลาลำที่รื่นไหล พรั่งพรูเหมือนการล่องตามกระแสน้ำ และเหตุที่ได้ชื่อ “ลำยาว” ก็อาจเนื่องเพราะเป็นลำที่มีความยาวอย่างยิ่ง ศิลปินลาว-อีสานเลือกใช้ “ลำยาว” หรือ “ลำทางยาว” ในการบรรยายเรื่องราวที่ต้องการให้รายละเอียดแก่ผู้ฟัง เช่น การบรรยายสภาพทางธรรมชาติ ประวัติบุคคล นิทานชาดก เป็นต้น เรียกว่าได้น้ำได้เนื้อและได้ “ม่วนซื่น” ไปพร้อมกัน
จาก ลำล่องโขง หรือ ลำล่องของ แตกแขนงออกเป็น “ลำยาวล่องโขงในขวด” ของหมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย และหมอลำแพงศรี แสนทวีสุข แล้วก็เป็น “ล่องขวาง” ของหมอลำ มาลา สุดถนอม
จากลำล่อง-ลำยาว-ลำทางยาว-ลำลา ได้มีผู้สร้างจังหวะให้กระชับเข้า เพื่อสร้างความสนุกสนาน ตลกโปกฮา จึงกลายเป็นลาย หรือทำนองลำ เรียก “ลำเต้ย” หรือ “เต้ยโขง” และกลายเป็นลายแคน “ลายเต้ยโขง” (โน้ต : ล-ซ-มล-ซ-ดล-ซ-มล / ซม-ร-ดม-ร-ซม-ร-ดล-ด-รม-รด-ซล-ด-รม-รด-ซล) และเป็น ...
... เพลินแสนเพลิน เพลินแสนเพลิน เมื่อฉันเดินเที่ยวริมฝั่งโขง เหลียวมองทิวฝั่งโค้ง โขงเอยช่างงามเร้าใจ โขงเอยช่างงามเร้าใจ....  “ลำเต้ยโขง” ของหมอลำ คำปุ่น ฟุ้งสุข และเป็น
โขงไหลเย็น พี่สิเห็นว่าไหลแรง โขงเอยยามเมื่อแลง คนเขาแกล้งเล่าลือ โอ้ละนอนวลเอย ... เพลง “ขุ่นลำโขง” ขับร้องโดยวงจันทร์ ไพโรจน์
พัฒนาการจาก “ลำ” แตกแขนงลำเป็นลำทางสั้น ลำเต้ย อาจรวมถึงลำเดิน (ลำเดินดง) แล้วก็คลี่คลายสู่ “เพลง” ทั้งเพลงของคนเชื้อสายในลุ่มน้ำโขง และไหลบ่าสู่คนภาคอื่นเป็นเพลงไทย ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุงของไทย จนเป็นที่รู้จักและนิยม ก็คงมีแต่ “ลำยาวล่องโขง” เท่านั้น นี่คือต้นธาร ต้นแอ่งแรงบันดาลใจด้านเพลงที่ก่อเกิดจากลำโขง ซึ่งลักษณาการนี้ยังในศิลปะการขับร้องขับลำของคนเชื้อลุ่มน้ำโขงอีกลักษณาการหนึ่ง คือ การคลี่คลายของ “เทศน์สามธรรมาสน์” สู่ “ลำนิทานก้อม” และสู่ “เพลงลูกทุ่งไทย”
 
จากลำนิทานก้อมถึงเพลงลูกทุ่งไทย
การละเล่นและที่กลายมาเป็นมหรสพนานาในลาวหรืออีสานล้วนแพร่มาจากวัด ... ในอดีต วัดหรือพระสงฆ์มิได้ห่างเหินหรือมีสถานะที่แตกต่างกันกับชาวบ้านอย่างในปัจจุบัน วัด คือ สนามเด็กเล่นที่จุเด็กได้ทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านกับพระและวัดมีกิจกรรมที่จะต้องเกี่ยวข้องกันทั้งวัน ตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น แม้แต่กลางค่ำกลางคืน อันเป็นผลมาจากระเบียบทางสังคมที่เรียกว่า “คอง ๑๔” ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของสังคมที่จัดความสัมพันธ์ของคน ๓ ฝ่ายในสังคม ได้แก่ เจ้า พระสงฆ์และชาวบ้าน
วัดอีสาน คือ แหล่งสรรพวิทยา โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม วรรณคดี กวีนิพนธ์ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ถ่ายทอด ทั้งการอ่าน เทศน์และแสดงธรรม จนกลายเป็นรูปแบบของการถ่ายทอดเพื่อผูกมัดจิตใจหรือสร้างความสะเทือนใจด้วยการเทศนาทำนองเสนาะ ซึ่งมีการเล่นเสียง เล่นลูกคอ การเอื้อน ทอดเสียง เช่นเดียวกับการขับร้อง-ขับลำและการละคร ซึ่งแม้แต่การเทศน์ทำนองเสนาะของภาคกลางก็มีลีลาและการเทศน์แผกไปอีกแบบ
การเทศน์ทำนองเสนาะจากนิทานชาดก โดยเฉพาะเวสสันดรชาดก พระที่รับบทตามตัวละครในท้องเรื่อง ตัวหลักๆ ได้แก่ พระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี และชูชก ก็แสดงลีลาต่างกันและขึ้นอยู่ที่กัณฑ์เทศน์ด้วย การใช้เสียง ลีลาเอื้อน การโอ่ที่ยาวยืดโหยหวนก็เพื่อจะให้เสียงไปชำแรกกระเทาะกิเลส กระแทกความอยากได้ใคร่ดี และให้ความซาบซึ้งเพียงพอที่จะได้เข้าถึงความยิ่งใหญ่แห่งจาคะและทานมัย ความสุข โศกเศร้าเคล้าน้ำตา อาลัยอาวรณ์ โกรธขึ้ง จนครบ ๘-๙ รสแห่งสุนทรียภาพเช่นเดียวกับมหาภารตะของอินเดีย ญาติโยมได้ฟังแล้ว “ใจสิหลูดสิขาด” อดใจไม่ไหว จึงต้องระบายด้วยการ “เคาะแป้นศาลา” เคาะพื้นศาลา ตามจังหวะเสียงเทศน์ เมื่อเจ้ากูโหนเสียงเหมือนจะขาดใจ จากจังหวะของการ “เคาะแป้น” ก็กลายเป็นจังหวะเพลงเมื่อฆราวาสนำเอาลีลาการเทศน์ลงจากธรรมาสน์สู่เวทีการแสดง
ผู้ที่เลียนแบบและนำการเทศน์สู่เวทีแสดง คือ “หมอเว้า” ซึ่งเป็นนักเล่านิทานที่รียกว่า นิทานก้อม เนื่องจากเป็นนิทานสั้นๆ หมอเว้าน่าจะถือเป็นศิลปินนักแสดงในยุคแรกๆ เพราะเป็นผู้นำศิลปะการแสดงออกจากวัดโดยตรง การเล่านิทานก้อมของหมอเว้า จัดว่าเป็นมหรสพอันสำคัญของคนอีสานในยุคหนึ่งเมื่อ ๘๐-๙๐ ปีย้อนหลัง หมอเว้าคนเดียวไม่มีอุปกรณ์ช่วยใดๆ แต่สามารถตรึงคนฟังตั้งพลบค่ำยันค่อนรุ่ง เพราะหมอเว้าเข้าถึงผู้ชมทั้งธรรมและโลกียะ เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสมณสารูปเหมือนพระสงฆ์ หมอเว้าจะใส่ลีลา อวดโวหาร เล่นเสียง เล่นสำนวน ออดอ้อน พิรี้พิไรอย่างไรก็ได้ อีกทั้งเรื่องที่นำมาเล่าก็หลากหลาย ไม่จำกัดแต่เรื่องศีลเรื่องธรรมอย่างนิทานชาดก
นอกจากจะนำนิทานมาเล่าแล้ว บางครั้งยังแต่งเรื่องขึ้นเอง เรียกว่า “นิทม” โดยเติมแต่งสีสันให้เข้ากับสภาพการณ์ชุมชนและวิถีชีวิตของชาวบ้าน มีการเติมสีตีไข่ หยอกเย้า ใส่ไคล้ผู้คน ลามเลยไปจนถึงเรื่องสัปดี้สีปะดน ซึ่งเรียกว่า “นิทมเพอะ” ซึ่งจัดไว้เป็นชุดๆ เช่น พ่อเฒ่ากับลูกเขย (พ่อตากับลูกเขย) ลูกเขยกับแม่เฒ่า (ลูกเขยกับแม่ยาย) พี่อ้ายกับน้าสาว (พี่เขยกับน้องเมีย) หัวพ่อกับจัวน้อย (หลวพ่อกับเณรน้อย) หัวพ่อกับแม่ออก (หลวงพ่อกับสีกา) นายกับแหล่ง (นายกับบ่าว) ตาบอดกับขาติด เซียงเมี่ยง พ่อบ้านบ่ได้หนังสือ (ผู้ใหญ่บ้านไม่รู้หนังสือ) และอีกหลายร้อยหลายพันชุด ซึ่งส่วนใหญ่การเล่านิทานก้อมมักมีขึ้นในงาน “งันเฮือนดี” หรืองานปลงศพ มีวัตถุประสงค์เพื่อปลุกปลอบให้กำลังใจแก่ญาติผู้วายชนม์ให้คลายจากทุกข์เศร้า
หมอเว้าที่ประสบความสำเร็จจึงได้แก่ผู้ที่เคยบวชเรียน เพราะเจนจบทั้งโลกย์และธรรม มีความรู้รอบตัว มีวาทศิลป์ จดจำและแม่นในกาพย์กลอนทั้งจากนิทานคำสอนและวรรณคดี สามารถเลียนเทศน์ทำนองเสนาะเหมือนอย่างพระ มีการใช้ทำนองอ่านหนังสือหรือเอ่ยหนังสือเป็นบางครั้ง เล่าไปก็สอดแทรกผญา คติสอนใจ ญาบเว้า โตงโตย ทั้งร้อง-ลำ สร้างความซาบซึ้งและโปกฮาไปตามบทและท้องเรื่อง ดังนั้น “การเคาะแป้นใส่” ในลำนิทานก้อมจึงทำได้อย่างไม่มีกรอบ เหมือน “เคาะใส่” พระเทศน์ แล้วจังหวะจากการเล่านิทานก้อม  ก็จึงพัฒนากลายเป็นจังหวะกลอง จากนั้นก็ฟ้อนรำโดยใช้เสียงกลองให้จังหวะ และด้วยกลองที่ใช้ตีเป็นกลองโทน การฟ้อนรำเข้ากับกลองโทนก็จึงได้ชื่อว่า “รำโทน” เมื่อมีจังหวะก็มีผู้สร้างเพลงขึ้นจากจังหวะ และจึงใช้เพลงร้องประกอบการรำโทน ก็จึงเรียกว่า “เพลงรำโทน”
การรำประกอบจังหวะกลองไม่ได้เรียกรำโทนเท่านั้น บางหมู่บ้านใช้กลองที่ทำจากวัสดุอื่นก็เรียกชื่อรำไปตามกลอง เช่น ถ้าใช้กลองหนังกบ ก็เรียกรำกลองหนังกบ ใช้กลองหนังงูเหลือมก็เรียก รำกลองหนังงูเหลือม บางแห่งเรียกตามเสียงกลอง เช่น รำปอดป่อง คือเสียงกลองดังปอดป่องๆ และส่วนใหญ่มักรำกันเป็นวง เพราะมองเห็นกันได้ทั่ว ยิ้มหัวก็เห็นหน้า สบตาก็พอได้ เมื่อรำกันเป็นวง ก็จึงเรียกว่า “รำวง”
ตกกลางค่ำกลางคืน หลังกินข้าวแลง ไอ้หนุ่ม-อีสาวชาวอีสานแทบไม่อยากล้างมือ เพราะเสียงกลองโทน กลองหนังกบ มันเผาลนหัวใจแทบละลาย แล้ว... อีสานราตรีก็จึงระงมด้วยเสียงรำวง เสียงกลองโทนดังไปทุกบ้านทุกชุมชน เพราะรำโทน-รำวงระบาดไปทั่วแผ่นดินอีสาน
การรำโทน-รำวง ไม่มีกองเชียร์เหมือน “รำวงคาลิปโซ” ของ “จันทร์เพ็ญคาลิโซ” หรือ “คำมา รุ่งนิรันดร์” ซึ่งเป็นรำวงหลังจากอารยธรรมตะวันตกแผ่เข้าไทย หากใคร “ได้เพลง” ก็ร้องเข้ากับจังหวะกลองได้เลย เพลงรำวง-รำโทนก็มาจากศิลปินชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางกาพย์กลอนแต่งขึ้น เพลงรำโทนเป็นเพลงสั้นๆ ส่วนใหญ่ไม่เกิน ๒ ท่อน หรือมีเพียงท่อนเดียวแล้วร้องซ้ำ ฉันทลักษณ์กลอนง่ายๆ ใช้ภาษาท้องถิ่นแบบ “สำเนียงเวียงจันทน์” ซึ่งไปพ้องกับสำเนียงภาคกลางของไทย จนเข้าใจว่า เพลงลาวเอาภาษาไทยไปใช้ เพลงรำโทน-รำวงจึงง่ายต่อการจำ เพราะทั้งสั้นและมีฉันทลักษณ์กำกับ อีกทั้งเนื้อหาก็ใช้ข้อมูลจากความเป็นอยู่ของคนอีสาน มีการยั่วเย้า การแสดงความรักของชายหนุ่ม-หญิงสาว และบรรยายสภาพแวดล้อม และน่าสังเกตว่า เพลงรำวง-รำโทนมักไม่นิยมตั้งชื่อเพลง ดังตัวอย่าง
รำวงประสงค์หลกกล้า - รำวงประสงค์หลกกล้า ชาวนาหลกกล้าเป็นวง หลกแล้วเอาตอกมามัด เอามีดมาตัดมือยัดลงตม
ติ๊ดชึ่งอย่ามาดึงหำข้อย - ติ๊ดชึ่งอย่ามาดึงหำข้อย บ่แม่นหำเด็กน้อยข้อยหนักขี้กะเดียม สุย สุยอย่าสิเว้าเหมียนหมา ว่าได้บายนมสัน ที่แท้ก็สุยไปสุยมา ที่แท้ก็สุยไปสุยมา ส่วนเพิ่นนั่นหนาเฮ็ดหำยานโตงเลง 
ยอดตอง – ยอดตองยามเมื่อต้องสายลม โบกพลิ้วปลิวไสวเหมือนดังใบตองอ่อน เธอรำอย่ามาทำเป็นแสนงอน ลมพัดตองอ่อนยามเมื่อตอนจากไป ใจผู้หญิงที่ถูกชายลวง รักมากขื่นขมคารมพ่อยอดตอง ... (ยายฉลวย เวชกามา)
ขณะที่บนแผ่นดินอีสานผู้คนกำลังรำวง-รำโทนกันครื้นเครง สถานการณ์บ้านเมืองก็เข้าสู่ยุคสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก (พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗) บริหารประเทศภายใต้คำขวัญ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ ๒ และไทยยังพิพาทกับฝรั่งเศส ในกรณีพิพาทอินโดจีน ซึ่ง ใหญ่ นภายน เขียนไว้ใน “จอมพล ป. พิบูลสงครามที่ข้าพเจ้ารู้จัก” บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งจอมพล ป. ไปตรวจราชการที่ จ. หนองคาย กรมโฆษณาการนำวงดนตรีไปบรรเลงปลุกใจและปลอบขวัญประชาชนในยามสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อดนตรีเลิกแล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยอมกลับ ยังรวมกลุ่มกันเล่น “รำโทน” มีนักดนตรีสำรองคนหนึ่งนึกสนุกด้วย ได้เอาปี่คาริเนตมาเป่าเพลงรำโทนด้วย ชาวบ้านติดอกติดใจ ร่ำลือกันไปถึงผู้ใหญ่ในวงการดนตรี จึงเกิดความคิดเอาแซ็กโซโฟนมาเล่นเป็นดนตรีผสมที่ทำเนียบสามัคคีชัย ซึ่งท่านจอมพลและท่านผู้หญิงได้ยินพอใจมาก จึงเรียกชื่อใหม่ว่า “รำวง” พร้อมสั่งการให้กรมศิลปากรคิดท่ารำขึ้นเป็นมาตรฐาน ห้ามหญิงชายถูกเนื้อต้องตัวกัน กรมโฆษณาการก็แต่งเพลงรำวงออกมา ท่านผู้หญิงละเอียด ก็แต่งคำส่งให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน ใส่ทำนอง (ใหญ่ นภายน. ๒๕๔๐)
สมบัติ เพชรลานนา (พิพัฒน์ บริบูรณ์) เล่าให้ฟังว่า เขาได้เข้าพบท่านผู้หญิงละเอียด เพื่อขอลิขสิทธิ์เพลงรำวงมาตรฐานไปให้นักร้องบันทึกแผ่นเสียง แล้วท่านผู้หญิงก็บอกกับเขาว่า เพลงรำวงมาตรฐานที่เป็นลิขสิทธิ์ของท่าน “เป็นของชาวบ้าน” ซึ่งน่าจะหมายความว่า เพลงรำวงมาตรฐานที่เป็นกรรมสิทธิ์ของท่านนั้น ท่านผู้หญิงได้คัดลอกและดัดแปลงเนื้อร้องของเพลงรำโทนของชาวอีสาน
เพลงรำวงมาตรฐานมีทั้งสิ้น ๑๐ เพลง ๖ เพลงเป็นของท่านผู้หญิงฯ ส่วนอีก ๔ เพลงเป็นของจมื่นมานิตย์นเรศและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้แก่ ๑. ดอกไม้ของชาติ ๒. ดวงจันทร์วันเพ็ญ ๓. บูชานักรบ ๔. ดวงจันทร์ขวัญฟ้า ๕. หญิงไทยใจงาม ๖. ยอดชายใจหาญ ๗. งามแสงเดือน ๘. ชาวไทย ๙. รำมาซิมารำ ๑๐. คืนเดือนหงาย
และเมื่อทหารไทยยกทัพขึ้นไปปกป้องสหรัฐไทยเดิม (เชียงตุง) หรือ “ไปรบเชียงตุง” ในยุคจอมพล ป. รำวงก็แพร่ที่เชียงตุง ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยในนาม “รำวงซิ่นยาว” ซึ่งเป็นรำวงกับดนตรีที่มีกลองโทนให้จังหวะ แต่ไม่มีเนื้อร้อง
จอมพล ป. ได้ทำให้รำวงเป็นวาระแห่งชาติ เรียกว่า “รำวงสร้างชาติ” ดำเนินการโดยกรมโฆษณาการและกรมศิลปากร ทำให้กระแสรำโทนแพร่เข้าสู่ความนิยมของประชาชนทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ นั้น หากงานวัดใดไม่มีการประกวดร้องเพลงก็ถือได้ว่างานวัดนั้นยังไม่ใหญ่จริง หากจะให้ยิ่งใหญ่ก็ต้องมีประกวดรำโทน ซึ่งมีเกณฑ์การให้คะแนนทั้งความพร้อมในท่ารำ กองเชียร์และเพลงเชียร์
จากการประกวดส่งให้เพลงรำโทน-รำวงได้เป็นพื้นฐานให้แก่ผู้รักการขับร้องเพลง จะเห็นได้จากนักร้อง-นักแต่งเพลงในอดีตล้วนเคยร้องเพลงรำวงมาแล้วทั้งสิ้น แต่ถึงอย่างไร คนที่เข้าถึงแก่นและช่ำชองในเพลงรำวง-รำโทนย่อมหนีไม่พ้นคนอีสาน เพราะเคยร้องเคยรำจากหมู่บ้าน เรียกว่ารำวง-รำโทนอยู่ในสายเลือด จะเห็นได้จากผู้ที่ได้สมญา “ราชาเพลงรำวง” ก็คือ คนอุบล เกิดที่บ้านย่อ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร (ในอดีตขึ้นกับ จ. อุบลฯ) เขาคือ “เบญจมินทร์”
“เบญจมินทร์” แต่งและร้องเพลง “รำโทน” เพื่อย้ำว่า รำโทน-รำวงมาจากอีสาน ท่อนเพลงหนึ่งมีว่า ... รำวงนี้มีมาตั้งโบราณ ชาวภาคอีสานเขาเรียกกันว่ารำโทน ท่วงทำนองและเสียงร้องอ่อนโยน ฉิ่งฉับดังแล้วยังเสียงตะโพน เสียงเพลงเหมือนมนต์ที่ยั่วคนให้แสนสำราญ ร่าเริงสุขใจหญิงและชายอีสาน เขาจึงเรียกคำขานขนานนามว่ารำโทน
บ้านย่อถือเป็นหมู่บ้านรำวงโดยแท้ มี “สาวรำวง” กันเต็มหมู่บ้าน การเป็นสาวรำวงในอดีตถือเป็นเกียรติเป็นศรี เพราะได้ชื่อว่าเป็นคนสวยคนหนึ่ง ว่ากันว่า คนแก่คนเฒ่าไม่ว่าที่เดินเข้าวัดเพื่อจำศีลฟังธรรม หรือที่งกๆ เงิ่นๆ เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานในหมู่บ้าน อดีตล้วนเป็นสาวรำวงแทบทั้งสิ้น เพราะสาวบ้านย่อจะหาที่ขี้ริ้วขี้เหร่ไม่ค่อยจะได้ และแม้รำโทน-รำวงจะล้มหายตายจากไปนาน แต่เชื้อรำวงยังมีอยู่ เมื่อรำวงยุคจีไอ หรือ “รำวงคาลิโซ่” บ้านย่อก็มี “บุญมีคาลิโซ่” รับกระแส และแม้จะล้มหายตายจากไปราวๆ ปี ๒๕๒๖ แล้ว ในบุญบั้งไฟทุกปีของบ้านย่อก็ยังมีการจัดรำวงย้อนยุคมากันอยู่ โดยกองเชียร์และนางรำได้จากคณะรำวงของหมู่บ้าน “บุญมีคาลิโซ่” เจ้าเก่า
การฝังรากลึกของรำวง-รำโทนในอีสานสะท้อนให้เห็นจากบางตัวอย่าง เช่น คำพูน บุญทวี นักเขียนซีไรท์คนแรกของไทยในอดีตเขาคือ หัวหน้าคณะรำโทนศรีทรายมูล สุรินทร์ ภาคศิริ นักแต่งเพลงลูกทุ่งมีผลงานไม่มากไม่น้อยไปกว่าศิลปินแห่งชาติคนใดก็เคยเป็นหัวหน้ารำโทนคณะพลับพลึงบ้านนา พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เจ้าของผลงาน อีสานบ้านของเฮา ...แอ้บๆ เขียดจ่านา... ก็ใช้เพียงรำวง-รำโทนเป็นพื้นฐานในการประพันธ์เพลง
เมื่อกระแสของเพลง-ดนตรีตะวันตกแผ่เข้าถึงสังคมไทย สังคมชาวกรุงก็มีเวทีลีลาศทั้งสวนลุมพินีและสวนอัมพรฯ ส่วนชาวชนบทก็มีเวทีรำวงตามงานวัด จังหวะเต้นรำของละตินก็แพร่จากเวทีลีลาศสู่เวทีรำวง ทำให้รำวงมีจังหวะเพิ่มมากขึ้น เช่น บีกิน กัวระชา โบเรโล คาลิปโซ ชะชะช่า รุมบ้า แทงโก้ จากนั้นก็ถึงยุคภาพยนตร์เพลงอเมริกัน ได้แก่ จังหวะทวิสต์ เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงการดนตรีและเพลงของไทยขนานใหญ่ มีการปรับเปลี่ยนจังหวะทำนองเพลง สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ เพลงรำวงมีเนื้อร้องที่ยาวและมีหลายท่อนขึ้น เช่น เพลง อยุธยา ของชาวสามย่าน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเพลง ๒ ท่อน (AA) อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน...
เมื่อเนื้อเพลงขยาย ก็สามารถใส่เนื้อหาที่บรรยายได้มากขึ้น จนในระยะต่อมาลงตัวที่เพลง ๔ ท่อน (A1, A2, B และ A3 – AABA) เป็น binary form และกลายเป็นรูปแบบใหม่ของเพลงไทย ส่งผ่านมาถึงเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งของไทยในระยะต่อมา
กล่าวถึงรำวง ต่อมาในทศวรรษ ๒๕๑๐ ไทยยอมให้มหามิตรอย่างสหรัฐฯ ใช้เป็นฐานบินทิ้งระเบิดในอินโดจีน ทหารอเมริกันก็เต็มเมือง โดยเฉพาะในภาคอีสาน ดินแดนรำวง-รำโทน ก็เกิดรำวง “ยุคจีไอ” โดยพัฒนามาจากคณะรำวง-รำโทนเดิม เพิ่มจังหวะใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก อาทิ โซล แตกแขนงเป็นโซลไวท์เฮาส์ โซลอินเดีย ถึงฮาร์ดร็อก และสิ้นสุดที่ วาตูซี่ อันเป็นจังหวะสุดท้ายก่อนคณะรำวงต้องเลิกทั่วประเทศ และก่อนที่ดิสโก้เธคจะระบาดในช่วงหนึ่ง
 
เพลงลูกทุ่งไทยมาจากฝรั่ง (โว้ย)
เพลงรำวงที่คณะกรรมการกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของเพลงลูกทุ่ง คือ โอ้เจ้าสาวชาวไร่ ของ ครูเหม เวชกร ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เจ้าสาวชาวไร่” ซึ่งหากวิเคราะห์ตามพัฒนาการทางด้านรูปแบบหรือคีตลักษณ์ของเพลงรำวง-รำโทนแล้ว ทำให้ผู้เขียนมีความเชื่อเช่นนั้น จึงลงมือศึกษารำวง-รำโทน จนได้ข้อสรุปว่า เพลงลูกทุ่งมาจากเพลงรำวง และเพลงรำวง-รำโทนมาจากอีสาน ดังนั้น เพลงลูกทุ่งไทยก็มาจากภาคอีสาน และรากเหง้าของลูกทุ่งไทยก็จึงมาจากสายวัฒนธรรมน้ำโขง
แนวทฤษฎี “เพลงลูกทุ่งไทยมาจากอีสานหรือลาว” ของผู้เขียน มีคนคัดค้านกันมาก บ้างก็ว่าเพลงลูกทุ่งมาจากเพลงแตรวงฝรั่ง บ้างก็ว่ามาจากเพลงโยเดล (yodel) หรือเพลงโห่ฝรั่ง จากภาพยนตร์ชีวประวัติของแฮงค์ วิลเลียม ชื่อ Your Cheating Heart มีผู้ตั้งชื่อภาพยนตร์เป็นไทยว่า “เพลงลูกทุ่ง” ซึ่งทฤษฎีโยเดล ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ส่วนทฤษฎีแตรวง เป็นความเชื่อของนักวิชาการไทยทั้งประเทศ
ทฤษฎีโยเดล น่าจะเป็นชื่อของประเภทเพลง คือ “เพลงลูกทุ่ง” มากกว่าจะเป็นที่มาของแนวเพลง สาเหตุก็เพราะว่า เมื่อมีภาพยนตร์แล้ว จึงมีผู้ตั้งชื่อรายการโทรทัศน์ว่า “เพลงลูกทุ่ง” แล้วจึงเรียกแนวเพลงดังกล่าว หรือเพลงตลาดว่า เพลงลูกทุ่งนับแต่นั้น
ส่วนทฤษฎีแตรวง ที่เชื่อว่า เพลงไทยลูกทุ่งคลี่คลายมาจากเพลงลูกกรุง และต้นธารของเพลงลูกกรุงเริ่มเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ (สมบัติ กิ่งกาญจนวงศ์. ๒๕๓๔) มีการจ้างชาวฝรั่งเศสและอังกฤษให้ฝึกสอนทหารและวิชาดุริยางค์แก่ทหารแตรของกองทัพ แล้วการบรรเลงแตรวงก็แพร่ไปทั่วประเทศ เพลงไทยก็ขยายตัวออกเป็นเพลงรูปแบบใหม่ เรียก เพลงไทยสากล และ “พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล” คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งทรงประพันธ์เพลงที่ใช้โน้ตและจังหวะสากล ๑๒ เพลง ใช้ทำนองเพลงไทยเดิม ๗ เพลง และเพลง “วอลซ์ปลื้มจิต” ถือเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรก
                ต่อมา เพลงลูกกรุงได้เข้าไปอยู่ในคณะละครร้อง เป็นเพลงประกอบละคร มีนักแต่งเพลง ได้แก่ ประวัติ โคจริก (แม่แก้ว) จวงจันทร์ จันทร์คณา (พรานบูรพ์) และสมประสงค์ ทัศนีย์ (เพชรรัตน์) เมื่อเกิดสงครามระหว่างไทยกับอินโดจีนก็เกิดเพลงปลุกใจ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ กองทัพอากาศสร้างภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา พระเจนดุริยางค์และขุนวิจิตรมาตราก็ร่วมกันแต่งเพลง “บ้านไร่นาเรา” จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๗ มีการใช้คำ “คุณ” และ “ผม” แทนคำว่า พี่ น้อง ฉัน เธอ ในเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” ของสมาน กาญจนะผลินและสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง
                ผู้เขียนเห็นว่า ทฤษฎีแตรวงเป็นทฤษฎีตัดตอน ทำเหมือนกับว่า ก่อนปี พ.ศ. ๒๓๙๘ อันเป็นปีที่มีการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง จนทำให้เราต้องเปิดประเทศอ้าซ่าตั้งแต่นั้นจนบัดนี้นั้น นอกจากเพลงไทยเดิมของราชสำนักแล้ว คนในประเทศนี้ไม่มีดนตรี-เพลงใดๆ เลย จนฝรั่งเอาแตรมาสอนเป่าจึงเกิดความคิดและสร้างเพลงขึ้น ทำเหมือนกับว่า “ลาวแพน” ซึ่งเกิดในช่วง พ.ศ. ๒๓๖๙ อันเป็นปีที่เจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้แก่สยาม ไม่ได้มีอยู่ ทำเหมือนกับว่า การขับร้อง-ขับลำของคนลุ่มน้ำโขงเชื้อลาวเพิ่งจะมีขึ้นไม่กี่ปีก่อน พ.ศ. ๒๔๐๘ ที่รัชกาลที่ ๔ จะ “ประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว” หากเพิ่งมีขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ คงไม่สร้างความสะเทือนเลื่อนลั่นปานนั้นแน่ ทำเหมือนกับว่า ศาสนาพุทธ วัดวาอาราม อันเป็นบ่อเกิดของศิลปะด้านเพลง-ดนตรี เช่น หมอลำ และลำ-เพลงนิทานก้อม เพิ่งสถาปนาเมื่อหลังฝรั่งเข้าสยาม เทศนาชาดก เทศน์ ๓ ธรรมาสน์ เพลงรำวง-รำโทน เพลง ลำ คำผญา ไม่มีอยู่เลยในแผ่นดิน หรือหากมี ก็เพิ่งมีหลังฝรั่งเข้าสยามแล้ว
ทฤษฎีดังกล่าวมองไม่เห็นคุณค่าดั้งเดิม อาทิ การละเล่น เพลง ลำ คำผญา ลำทางสั้น ทางยาว ลำล่อง ลำเต้ย ที่ประดับแผ่นดินนี้มาก่อนฝรั่งเข้าไทย เป็นเหมือนระบบกฎหมายไทย ที่มองไม่เห็นตำรามังรายศาสตร์ กฎหมายโคสาราษฎร์ ศิลาจารึกพ่อขุนราม และประมวลกฎหมายคอง ๑๔ เป็นเหมือนแพทย์แผนปัจจุบันที่ละเลย มองไม่เห็นแพทย์แผนไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีในแผ่นดินนี้มาก่อนนับร้อยนับพันปี
เพลงที่ได้จากแตรวงฝรั่ง แท้จริงก็เป็นเพียง “รูปแบบ” หรือเป็นเพียงดนตรีประกอบในเพลงเท่านั้น หาใช่คีตลักษณ์หลักของเพลงทั้งหมดไม่ บรรดาจังหวะ ทำนอง คำร้อง และดนตรีประกอบที่คนไทย คนอีสาน คนลาวมีอยู่เดิมไม่อาจลบล้างหรือทำให้ว่างเปล่าได้ แม้ทฤษฎีนี้ก็ยังอ้าง ... เพลงที่ใช้โน้ตและจังหวะสากล ๑๒ เพลง ใช้ทำนองเพลงไทยเดิม ๗ เพลง ... ซึ่งชัดแจ้งอยู่แล้วว่า เพลงที่ได้จากแตรวงเป็นเพียง “โน้ต” และ “จังหวะ” เท่านั้น หาใช่ตัวตนหรือองคาพยพทั้งหมดของเพลงไทยไม่ ถ้าอย่างนั้น เพลงไทยในยุคต่อมา ที่รับเอาเครื่องดนตรีและโน้ตสากลอย่างขนานใหญ่ จะไม่ถือว่าเป็นเพลงเหล่านี้มีรากเหง้า-ประวัติศาสตร์ จากฝรั่งกันทั้งหมดหรือ แท้จริงแล้ว เป็นแต่เพียงการคลี่คลายตัวของเพลง โดยนำดนตรีและจังหวะเสริมเข้า ใช้โน้ตสากลเข้าจับ ซึ่งเพลงไทยมีอยู่แล้ว เพียงแต่ใช้ดนตรี จังหวะและโน้ตอย่างไทย ถ้าอย่างนั้น เมื่อคนไทยไปสวมชุดฮาวาย จะถือว่าคนๆ นั้นเป็นฮาวายเอี้ยน หรือสวมชุดส่าหรี ก็จะมิกลายเป็นแขกไปหรือ
ลองหันไปพิเคราะห์เพลงรำโทน-รำวงกับเพลงลูกทุ่ง ต่อให้เพลงไทยลูกกรุงอีกก็ได้ เพราะเพลงลูกทุ่งกับเพลงลูกกรุงนั้นแยกกันไม่ออก แม้ครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งอยู่ในวงการเพลงไทยมาเกิน ๓๐ ปียังจนปัญญาจำแนกเพลงใดเป็นเพลงลูกทุ่ง เพลงใดเป็นเพลงลูกกรุง (คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. ๒๕๔๓) จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบของเพลงส่วนใหญ่ ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง จังหวะ แม้กระทั่งพล็อต (plot = โครงเรื่อง) ของเพลงนั้น มีความเหมือนและเป็นอย่างเดียวกัน จะต่างก็แต่ดนตรีประกอบเท่านั้น
ผู้เขียนก็ยังดำรงความเชื่อในทฤษฎี เพลงลูกทุ่งไทยมาจากอีสานหรือลาว และเพลงรำวง-รำโทนมาจากแรงบันดาลใจแห่งสายน้ำโขง มิเปลี่ยนแปลง
 
รำวงกับเพลงลาว
รำโทน-รำวง และรำในชื่ออื่นๆ มิได้มีอยู่แต่ในแผ่นดินอีสานเท่านั้น หากในแผ่นดินล้านช้าง รำวงมีมาช้านาน เพลงรำวงและการฟ้อนรำวงมีประดับแผ่นดินอยู่เคียงคู่การขับและลำของชาวลาวมาแต่โบราณกาลแล้ว
แม้จะผ่านยุคราชอาณาจักร ยุคอาณานิคมของจักรวรรดินิยมและเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบสังคมนิยมในปัจจุบัน บรรดาศิลปวัฒนธรรมทางดนตรีและเพลงในแต่ละยุคได้เป็นเงาสะท้อนสภาพการณ์ทางสังคมได้อย่างชัดแจ้ง พื้นฐานของศิลปวัฒนธรรมทางดนตรีและเพลงมาจากความหลากหลายทางชนเผ่า ภาษาพูด ฮีต-คอง วัฒนธรรม และความรุ่มรวยทางธรรมชาติ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการประดิษฐ์คิดแต่งทางด้านศิลปะ วรรณกรรม พร้อมๆ กับเกิดการขับ ลำ เซิ้ง โดยมีแคน เป็นเครื่องดนตรีหลักบรรเลงประกอบ นอกจากนี้ ชนชั้นศักดินานับแต่ครั้งโบราณ ก็มีดนตรีลาวเดิม วงมโหรี ปี่พาทย์ และนาฏศิลป์ มี และเพลงลาวเดิมที่เป็นอมตะจำนวนมาก (บุนทะนอง ซมไซผน. ๒๕๕๑)
                ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ลาวได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ ๑๙๔๐ กลุ่มศิลปินคนลาวได้สร้างบทเพลงปลุกเร้าเพื่อนร่วมชาติให้ต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศส จนเกิดแนวเพลง เรียกว่า “เพลงต่อต้าน”  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ สหรัฐฯ เข้ารุกรานลาวแทนที่ฝรั่งเศส ชาวลาวจึงรวมตัวกันต่อสู้กับสหรัฐฯ บุคลากรของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว องค์กรนำการต่อสู้ได้สร้างเพลงขึ้นในเขตปลดปล่อย และแนวเพลงนี้เรียกว่า “เพลงปฏิวัติ” ซึ่งทั้งเพลงต่อต้านและเพลงปฏิวัติ ชาวลาวเรียกรวมๆ ว่า “เพลงลาวสะไหม” ซึ่งหมายถึงเพลงลาวทันสมัย หรือเพลงลาวร่วมสมัย (ปันยา พันทะพานิด. ๒๕๕๓) แสดงให้เห็นว่า ในลาวมีเพลงอยู่ก่อน และเมื่อมีเพลงสมัยใหม่ที่แตกต่างจากเพลงที่มีอยู่เดิมก็จึงเรียกชื่อใหม่ว่า “เพลงลาวสะไหม”
                เพลงลาวสะไหมได้แตกสาขาเพลงออกไปอีก ๒ ประเภท คือ เพลงบ้านนา (เพลงลูกทุ่ง) และเพลงลาวสากล เฉพาะเพลงลูกทุ่งลาวได้รับความนิยมจากประชาชนในราชอาณาจักรลาวอย่างสูง ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๐) จนถึงการเปลี่ยนแปลงในปี ๒๕๑๘ ได้มีการประกวดแข่งขันวงดนตรีเพลงลาวสมัยทั้งสองสาขาขึ้นปีละครั้ง โดยจัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์เวียงสะไหม โรงมหรสพแห่งชาติ และโรงภาพยนตร์แสงลาว จึงทำให้เกิดวงดนตรีขึ้นเป็นอันมาก
                ในห้วงสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาได้ใช้ไทยเป็นฐานในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยได้ตั้งสถานีวิทยุประจำถิ่นขึ้น แรงส่งของคลื่นของวิทยุจากฝั่งไทยมีอิทธิพลต่อประชาชนในลาวอย่างสูง เพลงไทย ทั้งลูกทุ่งและลูกกรุงส่งอิทธิพลต่อเพลงลาวสะไหม ศิลปินไทยยกวงข้ามโขงไปแสดงในลาวเหมือนเป็นประเทศเดียวกัน เพลงไทยจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินเพลงบ้านนาของลาว และเกิดเงาเสียงสุรพล สมบัติเจริญ เงาเสียงเพลิน พรหมแดนที่ฝั่งลาวขึ้น (แคน สาริกา. ๒๕๕๑)
                ที่สำคัญ เพลงลาวสะไหม ไม่ว่าจะเป็นเพลงต่อต้านหรือเพลงปฏิวัติ ล้วนอาศัยเค้าโครงหรือพัฒนามาจากเพลงรำวง (บุนทะนอง. ๒๕๕๑) แสดงว่า เพลงรำวงของลาวมีมานานแล้ว ... นานก่อนฝรั่งเศสจะเข้ายึดครอง ... นานก่อนญี่ปุ่น พันธมิตรของจอมพล ป. จะเข้ายึดลาวต่อจากฝรั่งเศส ... หรืออาจนาน ก่อนที่พระวอพระตาจะอพยพหนีราชภัยจากเวียงจันทน์ หรือพระครูโพนสะเม็กนำพาผู้คนอพยพหนีราชภัยล่องลงใต้ ซึ่งเป็นสองสาแหรกสำคัญของคนอีสานในปัจจุบัน ... หรืออาจนานเท่ากับที่มีผู้สร้างสรรค์เทศน์ ๓ ธรรมาสน์ ... หรืออาจนานเท่ากับที่มีผู้ประดิษฐ์แคนและมีผู้แต่งกลอนลำประกอบแคน ... หรือนาน... ก่อนเซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง จะจรดปากกาในสนธิสัญญาเปิดสยามประเทศ
 
ระยะเปลี่ยนผ่าน : ลำต่อเพลง
ในช่วงก่อนจะมีคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” หรือก่อน พ.ศ. ๒๕๐๗ ในห้วงนั้น เพลงรำวง-รำโทนกำลังครองใจแฟนเพลง และเป็นกระแสหลัก คณะรำโทนที่ได้รับความนิยมและชนะเลิศในทุกเวทีประกวด คือ ชาวสามย่าน โดยมี สุรินทร์ ปิยานันท์ เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนวงดนตรีที่มีอยู่ก็สร้างสรรค์เพลงแนวรำโทน-รำวง เป็นหลัก นักร้องที่มีชื่อและที่ต้องการจะมีชื่อก็ต้องร้องเพลงรำวง และผู้ที่จะครองใจแฟนเพลงได้ก็จึงเป็นผู้ที่มีพื้นฐานทางด้านรำวง-รำโทนมาก่อน
“เบญมินทร์” ถือว่าเป็นมหาอำนาจทางเพลงรำวง เพราะมีพื้นฐานมาแต่อยู่บ้าน เคยถอดเครื่องแบบ ทิ้งป้อมตำรวจไปร่วมรำวงในหมู่บ้านก็บ่อยครั้ง เมื่อได้มีโอกาสได้สร้างเพลงรำวงในเมืองกรุง บทเพลงจึงพรั่งพรู จนได้รับสมญาจาก พฤหัส บุญ-หลง ว่า “ราชาเพลงรำวง” ผู้ที่ใคร่จะได้เพลงและเป็นนักร้องมีชื่อก็จึงต้องเทียวไล้เทียวขื่อบ้านเช่าย่านศรีย่านของครู และในจำนวนนั้นมี สุรพล สมบัติเจริญ รวมอยู่ด้วย แต่ครูเพลงรำวง ก็หาได้สนใจจะรับศิษย์ไม่ สุรพลจึงคอตกกลับบ้าน
ในช่วงที่ “เบญจมินทร์” เข้าสู่สมรภูมิเกาหลี ก็เป็นโอกาสให้สุรพล สมบัติเจริญผงาดในวงการเพลงลูกทุ่งไทย ถึงแม้เมื่อกลับจากเกาหลี “เบญจมินทร์” ได้นำจังหวะ-ทำนองเพลงเกาหลีมาแต่งเป็นเพลงไทย เช่น เสียงครวญจากเกาหลี (โอ้อารีดัง....) รักแท้จากหนุ่มไทย (อเมริคา ตะคือตั้งเหง่...) สุรพลก็มีเพลงภาษาต่างประเทศ (ญี่ปุ่น) ขึ้นรับกระแส โดยที่ไม่ได้เดินทางไปไหนเลย กอปรกับน้ำเสียงของสุรพลที่ไปพ้องกับเสียงเบญจมินทร์ จึงดูเหมือนว่า สุรพลต้องการจะทาบรัศมี “เบญจมินทร์” การสู้รบในเชิงเพลงก็จึงปะทุขึ้น
ช่วงที่กรำศึกกับเบญจมินทร์ สุรพลหาได้เพลี่ยงพล้ำแม้แต่น้อย แม้เพลงรำโทนจะออกภาษาลาว เช่น เพลง ไรำเต้ย” ของ “เบญจมินทร์” ที่มีเนื้อร้องว่า ... สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง แม้นมีทองจะให้เจ้าแต่ง ครั้งเมื่อถึงยามแลงจะพาแต่งตัวเดิน ... สุรพลก็หาได้ยี่หระ กลับขนเพลงแทรกภาษาลาวออกมาเทกองให้เห็นกระจะตา ดังจะเห็นว่า เพลงในยุคต้นๆ หรือยุคที่สู้กับ “เบญจมินทร์” นั้น เป็นเพลงที่แทรกภาษาลาวเกือบทั้งหมด อันเป็นช่วงที่สุรพลก่อเกิดเป็นสุรพล และเป็นพื้นฐานให้ก้าวสู่บัลลังก์เกียรติยศ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” ก็ด้วยเพลงที่แทรกภาษาลาวนี่เอง
สวยจริงน้อง - สวยก็จริงนะน้อง ใส่ทองกันซิมาท่วมแขน... หางตาหางตาเจ้าคม ใช่พี่แกล้งกล่าวชมบ่แม่นหรอกนางเอย
รักน้องบ่มีเงินแต่ง - ฮักสาวบ่มีเงินแต่ง คู่แข่งของพี่สิมีเหลือหลาย จะทำไฉนจะได้เจ้ากอด
หนาวจะตายอยู่แล้ว - หนาวจะตายอยู่แล้ว น้องแก้วไยไม่เห็นใจบ้าง .... หากแม้นสินสอดเจ้าแพง ที่บ่มีเงินแต่งหรอกน้องเอ๋ย
หนาวนี้พี่ตายแน่ - กินข้าวบ่มีหยังกับ นอกบ่หลับบ่มีสาวกอด สาวตาบอดกอดได้ก็บ่อุ่น สาวเนื้อนุ่มก็สินิ่มหนอนาง ...
อีสานตื่นกรุง - พี่อยู่อีสานบ่เคยพบพานเมืองกรุง เห็นแต่ท้องทุ่งเห็นเขามุงบ้านด้วยฟาง ...
ลาวตีเขียด - ข้างแรมหน้าหนาว กลางคืนเพื่อนลาวเขาเจ้าก็แจง ...
รำเกี้ยวสาว - สาวเอยแม่สาว เจ้าสิไปใส ฝนตกลงมาสุยสุย ... เจ้าอย่ามัวกลัวระแวง ว่าพี่นี้เป็นเช่นดั่งโจรไพร ... ฮักพี่นี่เปี่ยมฤทัย เห็นหัวใจอ้ายบ้างเถิดสาว ...
รักจริงหรือเล่น - พี่เว้าซื่อซื่อว่าพี่คือคนจน แต่ว่าน้องหน้ามนนั่งรถยนต์มอเตอร์คาร์ ... แม้นน้องมาอยู่กับพี่ มีแต่ปลาร้าปลาเจ่ากลัวจะกินข้าวไม่ลง
พี่เกี้ยวไม่เป็น - โอ้สาวเอย สาวเคยมีใผกอดหรือยัง หากยังบ่มีใผเกี่ยว พี่ขอไปเที่ยวสักคนได้ไหม...
เบิ่งโขง - มองเบิ่งโขงน้ำน้อยตกแก่งไหลย้อย...
เดือนหงายที่ริมโขง - โอ้เวียงจันทน์ แดนนี้ฉัยเคยได้ไป...
และแม้แต่เพลงที่เชื่อกันว่า เป็นเพลงแรกในการบันทึกเสียงของสุรพล คือ “น้ำตาลาวเวียง” ที่ร้องว่า ... หนาวลมพัดผ่านแลงแลงลง ตัวข้อยมานั่งเดียวเหมิดเพื่อน ยามยากใจใผใผบ่เหลือตน ...
การตอแยของสุรพล ทำให้เบญจมินทร์เบื่อหน่ายและทิ้งวงการไปในที่สุด ยกวงดนตรีให้ศิษย์รัก กุศล โกมลสิงห์ แล้วหันไปเอาดีทางการสร้างภาพยนตร์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗
ลำดวน เด็กหนุ่มที่เกิดใจกลางเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบัน บ้านเกิดของเขาอยู่ห่างจาก “หอบรรหาร” ไม่เกิน ๒๐๐ เมตร ไม่มีเชื้อสายลาวหรือปลอมปนแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่สุพรรณบุรีมีคนเชื้อสายลาว แต่ไม่ใช่ครอบครัวของเขา ตระกูลของเขา ... อะไรที่ทำให้ลำดวนเมื่อเป็นสุรพล สมบัติเจริญแล้วถึงหาญกล้าต่อกรกับระดับปรมาจารย์เช่น “เบญจมินทร์” ซ้ำยังสู้กันในเชิงรำโทน-รำวง และเพลงแทรกภาษาลาวเสียอีกด้วย
เบื้องหลังก็คือ หลังบัลลังก์ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” ของสุรพล มี เฉลิมชัย ศรีฤๅชา เป็นไม้ค้ำยัน นั่นเอง
เฉลิมชัย ศรีฤๅชา คือ เด็กหนุ่มจากท่าวัด ซึ่งกลายมาเป็น “ธวัช” ธวัชดินแดง เมื่อธวัช หมายถึง ธง ก็จึงเกิดเป็น ธงธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ดราว ๒๐ กิโลเมตรเศษ เป็นลูกชายโทนของอาจารย์หมอลำกลอน ลืมตาดูโลกก็เห็นลูกศิลษ์ลูกหาของพ่อเต็มบ้าน บ้างก็อาสาดำนา เกี่ยวข้าว ตักน้ำ ปรนนิบัติสารพัด เพื่อแลกวิชาหมอลำจากผู้เป็นพ่อของเขา เป็นลูกชายที่ได้รับอภิสิทธิ์ให้ตื่นสายเท่าที่มีแรงนอน เรียนหนังสือจบมัธยมปลาย ชอบอ่านนิตยสารภาษาอังกฤษ เพราะเก่งอังกฤษตั้งแต่เรียน
เข้ากรุงเทพฯ หมกตัวอยู่บ้านเช่าย่านดอนเมืองกับเพื่อนรัก ลำดวน ทนอดมื้อกินมื้อเพื่อจะได้เป็นนักร้อง ว่ากันว่า เขายอมเพื่อนคนนี้ทุกอย่าง แม้แต่เรื่องผู้หญิง และเมื่อเพื่อนต้องต่อกรกับพญาอินทรี มีหรือเฉลิมชัยจะปล่อยให้เพื่อนสู้โดยลำพัง นั่นเอง คือ ที่มาของเพลงสุรพล ในยุคต้นๆ ของการเป็นนักร้องที่มีภาษาลาวแทรก
เฉลิมชัยนอกจากอ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้ และนำเอาท่าเต้น-ท่าร้องจากนิตสารฝรั่งมาประกอบการร้องบนเวีทีในท่า “ไส้เดือนถูกขี้เถ้า” เมื่อยามเดินสายกับวงดนตรี อาทิ วงศักดิ์ศรี ศรีอักษร  เขายังมีความสามารถในการแต่งเพลง และที่สำคัญ เขาจดจำเพลงรำวง-รำโทนจากบ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งถ้อยคำ ปริบทของถ้อยคำ ลีลา อุปมาอุปมัยจากศิลปะหมอลำที่เขาฟังพ่อฝึกสอนมาแก่อ้อนแต่ออก เพียงพอสำหรับการดัดแปลงให้เป็นเพลงลูกทุ่ง และเพียงพอสำหรับการสู้รบกับ “เบญจมินทร์”
แต่เฉลิมชัยก็เป็น “คนที่โลกลืม” และเขาเองก็ไม่แยแสโลกเช่นกัน ไม่เคยแต่งงาน หรือมีผู้หญิงอื่น นอกจาก “ผู้หญิงคนนั้น” แม่และญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตก็ไม่เคยรู้ความเป็นไปของลูกหรือพี่ชายคนนี้ รู้แต่เพียงว่าเขาเป็นนักร้อง เป็นศิลปินเหมือนพ่อ กลับบ้านเป็นครั้งคราว
ชีวิตบั้นปลายเขาบ่มมันไว้ในขวดสุรา และตัดสินใจพุ่งตัวดิ่งลงจากโรงพยาบาลกลางและเสียชีวิต ฝากไว้แต่ผลงานเพลงที่ไม่เคยอ้างสิทธิ์ และยังเป็นปมปริศนาตลอดไป
เฉลิมชัยได้ขับร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงไว้หลายเพลง ที่รู้จักกันก็ได้แก่ “เบิ่งโขง” และ “ลอยเรือล่องโขง” ที่ร้องว่า ...ล่องเรือลอยลำโอ้ล่องเรือลอยลำ... ลอยลำลุ่มลำน้ำโขงเอย ชื่นชู้เมื่อสาวอยู่เป็นคู่เชย สาวสาวเอ่ยอย่าหนีไปเลย โอ้น้องเอ๋ยมาลงเล่นเรือ ... เป็นเพลงที่พรรณนาถึงสายน้ำโขงและสภาพชุมชนอีสานเมื่อครั้งอดีตทั้งสองเพลง และเบิ่งโขง ก็คือ เพลงต้นแบบของ “สาวฝั่งโขง” ของปอง ปรีดา
เบิ่งโขง
เบิ่งน้ำโขง ไหลคดไหลโค้งโขงเอ๋ยเอื่อยมา เมื่อเพลาสายัณห์ แดดอ่อนเรืองไร ฟ้าอำไพแพรวพรรณ เบิ่งสาวงามนั่น ค่ำลงมาลงโขงลอย
มาชมหมู่สาว สาวเอยลอยล่อง สาวงามเนื้องทองมาล่องลอย ตะวันลับฟ้า ข้อยยังได้มานั่งคอย ตัวเจ้ามัวลอย มัวเพลินเล่นน้ำทำไม ขึ้นมาเถิดนะแม่มา ขึ้น... ขึ้นมา เถิดแนะแม่มา อย่าให้คอยท่าเสียเพลาฟังลำ
คุ้มเหนือเขามีหมอลำ อย่าอาบน้ำมาไป เฮาอยู่คุ้มใต้ มาไปคุ้มเหนือฟังลำ แต่งตัวกันแล้วแก้วตา ฮีบลงเฮือนมาแต่หัวค่ำ แต่งตัวงามล้ำไปฟังลำเถิดนะแม่สาวเอย
เพลงนี้จินตนาการถึงบรรยากาศของฝั่งโขง แต่นั่งแต่งอยู่ริมฝั่งกุดสาวทุม หรือกุดสะทุง แอ่งน้ำริมฝั่งชีใกล้บ้าน และยังมีเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำโขงอีกเพลง คือ ลอยเรือล่องโขง
นอกจากนี้ เฉลิมชัยยังมีผลงานอันน่าศึกษาและไม่เป็นที่รู้จัก คือ ผลงานรำโทน ที่บันทึกเสียงและมีเพียงกลองโทน เป็นดนตรีบรรเลงประกอบ เพลงนักเพลงทั่วไปน้อยคนนักจะรู้จัก ผู้เขียนได้รับเทปเพลงเหล่านี้จาก ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ให้เพื่อการศึกษา ซึ่งครูเองก็ไม่รู้ชื่อเพลง ดังเพลงที่ครูสุรินทร์เรียกชื่อเพลงนี้ว่า “บ้านพนม” มีเนื้อร้อง ดังนี้
ว่าจะไปเที่ยวเล่นเมืองพนมเบิ่งจักหว่าง สาวหมู่เจ้างามฝั่งโขง สาวเอยสาวงามพอค่ำแลงลง สาวมาเล่นลอยโขง สาวมาลงเล่นน้ำ
สาวเอยแม่สาวงามงอน พอตะวันรอนรอน เบิ่งจรลับคล้อยลอยต่ำ สาวเจ้ามาขึ้นจากน้ำ สาวไปฟังลำสิข้อยจะแอ่วล่องโขง
โอเจ้าแม่โขงเอย กระไรเลยเจ้าไหลเอื่อยคดโค้ง เบิ่งเป็นสายคล้ายน้ำตาข้าหลั่งลง ไหลเอื่อยไหลโค้ง ดั่งแม่โขงใต้ตะวันเอย
เพลงนี้เป็นต้นแบบเพลง “เชิญเที่ยวนครพนม” ที่สุรินทร์ ภาคศิริ ประพันธ์ให้กับ ฉวีวรรณ ดำเนิน ซึ่งน่าจะเป็นผลงานเพลงเพียงหนึ่งเดียวของราชินีหมอลำ เจ้าของ ลำยาวชีวิตชาวนา ตอน ๑ และ ๒
 เพลงรำโทน (ดิบๆ) บรรเลงด้วยกลองโทนใบเดียวหลายเพลง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงและเกี่ยวแก่สภาพของชุมชนอีสานในอดีตหมกตัวอยู่ในที่ต่างๆ และอาจเลือนลับไปกับกาลเวลา เหมือนดั่งร่างกายและเชื่อเสียงของเจ้าของเพลง เฉลิมชัย ศรีฤๅชา
 
ลูกทุ่งอีสาน
การอพยพแรงงานจากอีสานสู่ใจกลางประเทศและเขตอุตสาหกรรม ทำให้คนอีสานสร้างเพลงขึ้นรับใช้ จนกลายเป็นเพลงลูกทุ่งไทยอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เพลงลูกทุ่งอีสาน เพลงปฐมฤกษ์ของแนวลูกทุ่งอีสานเกิดการนำเอารูปแบบของลำไปพัฒนาเป็นเพลง เพลงนี้ คือ อีสานลำเพลิน ผลงานของสุรินทร์ ภาคศิริ ขับร้องโดยอังคนางค์ คุณไชย ซึ่งบางท่อนของเพลงมีว่า
 ฝั่งโขงเมื่อยามค่ำแลง ฟ้าเปลี่ยนสีแดงค่ำรอนรอน เสียงแคนผู้ใดเว้าวอน อ้อนคำฮักเหมือนอ้ายเรียกเอิ้น ตีกลองน้ำเพลิดเพลิน ตุ้มเติดเตินวังเวินแว่วมา..
เพลงนี้ตอกย้ำว่า การลงอาบน้ำในแม่น้ำโขง ถือเป็นวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ริมโขงในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เช่นเดียวกับ สาวฝั่งโขง เบิ่งโขง แต่ในเพลงนี้ได้บรรยายถึง “การตีกลองน้ำ” ของสาวๆ ซึ่งเป็นศิลปะที่มีอยู่เฉพาะในลำน้ำโขง สาวในลำน้ำอื่นทำได้เพียงใช้ผ้านุ่งตีโปง เท่านั้น แต่การตีกลองน้ำ เป็นการใช้มือกระแทกกับผิวน้ำให้เกิดเสียง และมีระดับเสียงต่างกันจนเกิดเป็นเพลง และเป็นต้นแบบให้มีผู้ประพันธ์กลอนลำอธิบายนัยของการตีกลองน้ำเอาไว้ด้วย และใช้กลอนนี้ลำ “สีทน-มโนราห์” ตอน นางมโนราห์เล่นน้ำ (กินรีเล่นน้ำ)
เพลงลูกทุ่งที่เกิดจากคนอีสาน ไม่ว่าจะเป็นลูกทุ่งอีสานหรือลูกทุ่งไทยทั่วไป มักหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึงสายน้ำโขง ฝั่งโขง บรรกาศสองฝั่งโขง ความรัก-ผูกพันของคนสองฝั่ง ดังตัวอย่างบางส่วน
ตามน้องกลับสารคาม ถวิล ธิติบุตตา (ชัย สารคาม) แต่ง ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ขับร้อง ... ถึงลำโขงพี่นั่งลงร้องไห้ หาจนทั่วแดนไทยน้องจากไปหนีหาย จำจะข้ามลำโขงหาอนงค์แก้วใจ จะข้ามลำโขงไปหาทรามวัยที่เวียงจันทน์ กราบวิงวอนพระธาตุหลวง....
ว่ายน้ำข้ามโขง ขับร้องโดยศักดิ์ศรี ศรีอักษร ... อ้ายเอ๊ยอ้าย เอ๊ยเอ๊ยอ้ายจงว่ายข้ามโขง ว่ายโขงข้ามมาตามสัญญาที่อ้ายสั่ง ข้อยจะรออ้ายหนุ่มน้อยอยู่ริมฝั่ง แม่โขงช่างมีมนต์ขลัง ฮักจึงฝังจิตใจตาย ...
มิพักต้องพูดถึงเพลงของปอง ปรีดา “ผู้ยึดครองฝั่งโขงอย่างเบ็ดเสร็จ” เช่น
เที่ยวฝั่งโขง - เที่ยวฝั่งโขงเบิ่งน้ำลงไหลลอยล่องไป สุขดวงใจเมื่อยามข้อยอยู่ใกล้สาว ฝั่งโขงยามนี้ไม่มีใครนอกจากเฮา....
                ฝั่งโขงในอดีตยามสายัณห์ตะวันค่ำลง ข้อยคิดถึงฝั่งโขงเสื่อยามข้อยลงเว้าสาว ค่ำคืนนั้น แสงจนเพ็ญผ่องสภกาว จ้องสองปรางนางเจ้าย้อยนิ้เผ้าแต่มอง....
                สองฟากฝั่งโขงเห็นฝั่งโขงฟากโน้นใจสั่น โขงเอยเมื่อคราสายัณห์คิดถึงวันรักจากไป น้ำตาอาบริมโขงส่งอาลัย บอกฟ้าลาขวัญใจ อยู่ไกลกันคนละฝั่ง ...
 
เพลงลาวกับสายน้ำโขง
เพลงลาวที่กล่าวถึง “น้ำของ” ทั้งโดยกล่าวชมบรรยากาศ หรือใช้เป็นสัญลักษณ์และแฝงนัยการต่อสู้เพื่ออิสรภาพมีอยู่เป็นอันมาก มีทั้งเพลงต่อต้าน เพลงปฏิวัติและที่มากที่สุด คือ เพลงบ้านนา หรือเพลงลูกทุ่งลาว
น้ำของ ได้รับการกล่าวขวัญถึงทั้งยามสงบและยามศึกสงคราม เพลงที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็น “สองฝั่งของ” ผลงานของจำปา ลัดตะนะสะหวัน ขับร้องโดย “ทานตะวัน” หรือขันทะวาน ลาชาสัก เพลงนี้สร้างขึ้นในช่วงที่ผู้แต่งถูกเรียกตัวเข้าประจำการในหน่วยจิตวิทยา กองทัพภาคที่ ๒ ของนายพลพูมี มีหน้าที่แต่งเพลงขับกล่อมทหารและชาวลาวผู้ภักดีต่อเจ้าหัวเมืองใต้ โดยนายพลพูมียกพลตามลำน้ำโขง หมายแย่งชิงนครหลวงเวียงจันทน์กลับคืนมาจากร้อยเอกกองแล โดยการสนับสนุนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สั่งการให้ทหารปืนใหญ่จากฐานฝั่งหนองคาย และเรือปืนในลำน้ำโขงยิงถล่มที่ตั้งของทหารรัฐบาลสุวันนะพูมา เนื้อร้องท่อนหนึ่งมีว่า ... สายนทีรินหลั่งจากฟ้า แบ่งพสุธาเป็นซ้ายและขวาสองฝั่ง หากน้ำกั้นขวางก็บ่สำคัญ แต่ความสัมพันธ์ของเฮามั่นคงเรื่อยไป...
                ปัจจุบัน สายน้ำโขง อาจเป็นเพียงเครื่องช่วยลดผ่อนความยากจน เป็นแหล่งพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อการเป็น “หม้อแบตเตอรีของเอเชีย” เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใครมือยาวก็ผันเข้าประเทศ หรือเป็นแม้แต่กลไกทางยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจต้นน้ำที่จะกุมชะตาคนท้ายน้ำ หรือเป็นแหล่งรายได้ แหล่งอาหาร สุดแท้แต่ศักยภาพที่จะฉกฉวยจากลำน้ำโขง
ในทางหนึ่ง สายน้ำโขง คือ แหล่งบันดาลใจที่สร้างสรรค์งานเพลง ลำ คำผญา อันนำความชุ่มเย็นและยั่งยืนสู่จิตใจของผู้คน และจะเป็นอยู่ตลอดไป ตราบใดที่สายน้ำโขงยังไม่แห้งขอด ตราบนั้น เสียงเพลง เสียงลำ ลายแคน ยังคงล่องลอยอบอวลเหนือน่านน้ำสองฟากฝั่ง เหมือนที่เป็นมานับร้อยนับพันปี
                                                ----                         ----                         -----
เอกสารประกอบการเขียน
ไพบูลย์ แพงเงิน. กลอนลำ-ภูมิปัญญาของอีสาน. กรุงเทพฯ : 2534
สมบัติ กิ่งกาญจนวงศ์. การวิเคราะห์เพลงลูกทุ่ง. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอก ภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรี
นครินทรวิโรฒ. 2534
บุนทะนอง ซมไซผน : เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา “งอยแคมของส่องเพลงลาว-ไทย” – เส้นคู่ขนาน : เพลง 3 ประเภท
                บน 2 ฝั่งโขง (กรณีลาว-ไทย) และเกณฑ์การตัดสินเพลงและดนตรี เมื่อ 6 กันยายน 2551 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
                (แวง พลังวรรณ - แปล) : 2551
แคน สาริกา. คอลัมน์ “หอมกลิ่นจำปาบาน”. นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์. 2551
ปันยา พันทะพานิด. เวียงจันทน์ 450. อุบลราชธานี. 2553
ใหญ่ นภายน. จอมพล ป. พิบูลสงครามที่ข้าพเจ้ารู้จัก. ในหนังสือชีวประวัติและผลงานของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
                จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครงรอบ 100 ปี จอมพลป. พิบูลสงคราม. 14 กรกฎาคม 2540
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน. คอลัมน์ ที่มาของเพลงลูกทุ่ง. โดย มงคล อมาตยกุล. 2543



บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ