ReadyPlanet.com
dot dot
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ

 

นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ภาพจาก www.dhammajak.net
 
บุญเตือน ศรีวรพจน์
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร 
 
นิราศสู่ดินแดนพระปฐมเจดีย์
            วรรณคดีนิราศที่แต่งขึ้นในโอกาสที่กวีเดินทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ เท่าที่พบในปัจจุบันมีอยู่ 3 เรื่อง  คือ นิราศพระประธมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท แต่งเมื่อปี พ.ศ. 2377 นิราศพระประธมของสุนทรภู่ แต่งเมื่อ พ.ศ. 2375 และนิราศพระปฐมของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) แต่งเมื่อ พ.ศ. 2417 เส้นทางนิราศทั้ง 3 ครั้งนี้ จุดเริ่มต้นในการเดินทางก็เช่นเดียวกับนิราศเรื่องอื่นๆ จะเริ่มต้นการเดินทางออกจากวัง ที่พำนัก หรือเรือนของกวี ไปลงเรือที่ท่าน้ำใกล้เคียง พระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิทและสุนทรภู่ ใช้เส้นทางการเดินทางเดียวกันโดยตลอด คือ เข้าคลองบางกอกน้อย คลองวัดชะลอ เข้าคลองแม่น้ำอ้อมจนถึงบางใหญ่ เข้าคลองบางใหญ่ ไปออกแม่น้ำนครชัยศรี ไปขึ้นบกที่วัดท่า ส่วนหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) เริ่มต้นการเดินทางโดยใช้เส้นทางคลองบางกอกน้อย เข้าคลองวัดชะลอ แล้วไปใช้เส้นทางคลองมหาสวัสดิ์ออกแม่น้ำนครชัยศรีแทน และล่องเรือต่อไปได้จนถึงจังหวัดนครชัยศรี ในเส้นทางการเดินทางโดยรวมจะผ่าน  วังหลัง บางว้าน้อย วัดอมรินทราราม โรงเรือ บ้านบุ วัดสุวรรณาราม วัดศรีสุดาราม บางขุนนนท์ บางผักหนาม บางบำหรุ เข้าคลองบางระมาด วัดไก่เตี้ย สวนแดน สวนหลวง วัดน้อยใน วัดชัยพฤกษมาลา วัดพิกุล บางขวาง บางสนาม วัดเกด วัดชะลอ (จุดนี้หลวงจักรปาณีเปลี่ยนไปใช้เส้นทางคลองมหาสวัสดิ์) บางกรวย บางศรีทอง วัดโพบางโอ วัดสักน้อย วัดสัก วัดเพลง บางอ้อยช้าง วัดแก้วฟ้า บางขนุน บางขุนกอง บ้านกระเบื้อง บางกร่าง วัดปราสาท บ้านจีน บางนายไกร วัดอุทยาน บางระนก บางคูเวียง โรงหีบ วัดโบสถ์ วัดปรางค์หลวง บางม่วง บางใหญ่ วัดพระอินทร์ โรงภาษี วัดส้มเกลี้ยง บางโสน บางเชือก ย่านซื่อ ลานตากฟ้า ด่านภาษี บางนางเกร็ง งิ้วราย บ้านลาว สำปะทวน ท่านา บางแก้ว วัดปากน้ำ โพเตี้ย วัดไทร บางแก้ว วัดสิงห์ ขึ้นบกที่วัดท่าหรือวัดท่าตำหนัก เดินทางต่อด้วยเกวียนหรือช้างผ่านวัดน้อย ท่าเพนียด ท่าข้าม ห้วยตะโก ธรรมศาลา สู่จุดหมายปลายทางที่วัดพระประธมหรือวัดพระปฐมเจดีย์ 
 
            นอกจากนิราศที่กวีเดินทางไปนมัสการพระประธมหรือพระปฐมเจดีย์โดยตรงแล้ว ยังมีนิราศที่กวีเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ไกลออกไป แต่ได้ผ่านไปนมัสการพระประธม ซึ่งอยู่ระหว่างทาง ได้แก่ นิราศพระแท่นดงรังและนิราศสุพรรณของหมื่นพรหมสมพัตสร (เสมียนมี) เป็นต้น
 
นิราศพระประธม
ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายนวม ประสูติเมื่อวันเสาร์ เดือน 7 แรม 2 ค่ำ ตรงกับวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2351 สิ้นพระชนม์ วันพุธ เดือน 10 ขึ้น 6 ค่ำ ตรงกับวันที่ 31  สิงหาคม พ.ศ. 2413 ในรัชกาลที่ 5 งานพระนิพนธ์นี้เป็นวรรณคดีนิราศเรื่องแรกที่ทรงประพันธ์ในโอกาสที่เสด็จไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์เมื่อ พ.ศ. 2377 ขณะยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวงษาสนิท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะมีการบูรณะสภาพภูมิประเทศยังเป็นป่าอยู่มากและยังเรียกกันว่า พระประทม ตามที่มีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ที่นั้น โดยทรงลงเรือจากวัง (วังท้ายหับเผยวังที่ 3) ที่คลองตลาดหรือคลองคูเมืองเดิม ผ่านสะพานมอญ สะพานช้าง ออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด เลี้ยวขวามาทางท่าเตียน ผ่านท่าราชวรดิฐ เข้าคลองบางกอกน้อยแล้ว ล่องเรือตามเส้นทางเดียวกันกับกวีอีกสองท่านไปขึ้นบกที่วัดท่าตำหนัก แล้วเดินทางต่อด้วยช้างผ่านวัดน้อย ท่าเพนียด ท่าข้าม ห้วยตะโก ธรรมศาลา สู่จุดหมายปลายทางที่วัดพระประธมหรือวัดพระปฐมเจดีย์ในวันเสาร์ขึ้น  15 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย จ.ศ. 1196 คือวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2377 โดยได้ทรงพระนิพนธ์นิราศพระประธมนี้แล้วเสร็จเมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ปีเดียวกัน (นับศักราชแบบเดิม) ตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม
           
            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงกล่าวถึงเหตุผลที่ทรงนิพนธ์นิราศเรื่องนี้ว่า 1. เพื่อนมัสการพระพุทธไสยาสน์ ด้วยความศรัทธาเพื่อจะให้ล้างบาป 2. เพื่อสร้างสรรค์งานกวีนิพนธ์เป็นการเฉลิมพระนคร 3. เพื่อ “เฉลิมพระเกียรติไทท้าว     ธิราชผู้ผ่านถวัลย ราชนา และ “เฉลิมพระเกียรติอดิศร     เกษมกุฏิ สยามแฮ ซึ่งนอกจากเหตุผลทั้งสามประการนี้แล้ว เหตุผลข้อที่ 4 ได้บอกไว้ที่ท้ายเรื่องว่ามิได้ลอกเลียนนิราศซึ่งได้รับการยกย่องกันว่าแต่งดีของกวีโบราณ หากแต่สำหรับพระองค์แล้ว พระนิพนธ์นี้ถือเป็น “สารโศก” ที่เหนือกว่าวรรณกรรมนิราศเหล่านั้น เพราะนี่คือสารบันทึกความรักความคิดถึงที่มีต่อนางอันเป็นที่รักของพระองค์เอง ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นนางผู้ที่พระองค์กล่าวถึงในนิราศว่ายังเป็นเพียง “ที่หมาย” ยังมิใช่หม่อมห้ามนางในที่พระองค์ได้ครอบครองแล้ว
 
                                                กำศรวลศรีปราชญ์ทั้ง     ทวาทศ มาศฤๅ
                             อีกพิพิธสาลีพจน์                   พร่ำพร้อง
                             ตรังนิราศนรินทร์รจ                 เรขเรื่อง ครวญพ่อ
                             สารโศกเรียมแรมน้อง               ยิ่งถ้อยทังมวญ ฯ
                                      ซึ่งนิพนธ์นิราศร้าง        แรมสถาน
                             ไป่ลักเทียบคำบุราณ                อื่นอ้าง
                             สริรักษรวบรวมสาร                 รจเรข เรื่องเอย
                             ประสงค์แต่จริงจิตร์ร้าง             รักให้ขนิษฐ์ฟัง ฯ
                                      เสร็จเรื่องนิราศร้าง        แรมสมร
                             นิพนธ์พจนกลกลอน                กล่าวแกล้ง
                             เฉลิมพระเกียรติอดิศร              เกษมกุฏิ สยามแฮ
                             กับจักให้อรแจ้ง                     เรื่องร้างไปประทม ฯ     
 
            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กวีเอกพระองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อทรงนิพนธ์เสร็จได้ทรงนำขึ้นถวายพระอาจารย์ทอดพระเนตรและทรงตรวจแก้ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งอุปนายก ราชบัณฑิตยสภาซึ่งเป็นผู้ทรงชำระได้ทรงอธิบายไว้ว่า “สมเด็จกรมพระปรมานุชิตทรงอ่านแล้วจะได้ทรงแก้บ้างหรือไม่ ไม่ทราบ  ปรากฏแต่ว่าในฉบับสมุดไทยดินสอขาวของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท (ซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ) นั้นเขียนเป็นตัวบรรจง ฝีมืองาม แต่มีรอยขีดฆ่าตัวบรรจงแล้วเขียนตัวหวัดเปลี่ยนไปหลายแห่งที่แก้นั้นดีขึ้นกว่าเดิมทุกแห่ง ผู้แก้จะเป็นสมเด็จกรมพระปรมานุชิตหรือกรมหลวงวงษาธิราชสนิทเองก็ไม่ทราบได้” แต่กระนั้นพระอาจารย์ท่านก็ได้ทรงพระนิพนธ์โคลงต่อท้ายบทหนึ่งความว่า
 
                                                ๏ กรมวงษาธิราชสนิทผู้   ปรีชา เชี่ยวแฮ
                             เรียบรขเรขกถา                      เพราะพร้อง
                             เนืองเนกคณเมธา                   ทุกทั่ว อ่านเอย
                             ควรจักยอยศซร้อง                   แซ่ซั้นสรรเสริญ ฯ
 
            โคลงนิราศพระประทมนี้นอกจากนำชื่อสถานที่มาเปรียบเทียบกับความรู้สึกด้วยกวีโวหาร ตามรูปแบบกวีนิราศแล้ว ยังได้บอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตและตัวตนของกวี และบอกเล่าตำนานและเหตุการณ์ของท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้เดินทางผ่าน เช่น
 
บ้านโพเตี้ย
                                                โพเตี้ยเตี้ยแต่ครั้ง       พญาพาล
                             มล้างบิดาวายปราณ                ปลูกไว้
                             มหาโพธิ์ก็พิการ                     ติดต่ำ เตี้ยแฮ
                             เหตุจึ่งปรากฏให้                    หากแจ้งผลกรรม ฯ
                                       พญาพาลปิตุฆาตแท้   กรรมถึง เห็นเฮย
                             รักพี่กรรมใดดึง                      เด็ดมล้าง
                             ดลเรียมนิรารึง                       โศกรัก มาแม่
                             ถวิลบ่เห็นกรรมร้าง                  เร่งเศร้าทรวงกระสัน ฯ
 
วัดไทร
                                                วัดไทรไทเทพยท้าว     เทพา รักษ์ฤๅ
                             อุ้มอนิรุทธ์สมอุษา                   สร่างเศร้า
                             เรียมบำราศสมรอา                  ดูรปดาษ เดียวพ่อ
                             เชิญช่วยอุ้มอรเต้า                  สู่ข้อยคอยสม ฯ
                                       ถวิลไทอนิรุทธ์ครั้ง      สมอุษา
                             เสมอพี่ลอบสมยิหวา                หับห้อง
                             อรุณกลับสู่คฤหา                    หอมจับ ทรวงเอย
                             หวนคะนึงนุชน้อง                   แนบเนื้อนวลถนอม ฯ
 
บ้านธรรมศาลา
                                                มาดลด้าวเขตรบ้าน    ธรรมสา ลาเอย
                             เป็นที่ประชุมเมธา                   แต่กี้
                             แก้วิมุติปัญหา                      แห่งราช
                             ชื่ออยู่แต่เดี๋ยวนี้                    เนิ่นช้าถาวร ฯ
 
 
ห้วยตะโก
                                                ห้วยตโกเดอมห้วยเหตุ เภตรา
                             บันทุกตกั่วเกรียมา                   ล่มไว้
                             จึ่งบัญญัติสมญา                   ห้วยตะ กั่วแฮ
                             คนทุกวันนี้ให้                       ชื่อห้วยตะโกแปลง ฯ
 
            ตามที่พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ได้บันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ไปพบพระประทม หรือพระปฐมเจดีย์ซึ่งอยู่ในสภาพรกร้าง มีพระราชดำริจะซ่อมจึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังความปรากฏในพงศาวดารว่า 
 
“...ไม่ควรที่จะทิ้งให้รกร้างอยู่ จึงถวายพระพรพระบรมเชษฐาธิราชพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบแล้ว ดำรัสว่าเป็นของอยู่ในป่ารกถึงจะกระทำขึ้นก็ไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดนัก ครั้นได้ทรงสดับพระกระแสว่าไม่ทรงโปรดแล้ว ก็ทรงพระจินตนาไว้ว่า ถ้าได้สิริราชสมบัติแล้วจะทรงสถาปนาปฏิสังขรณ์ขึ้นไว้ให้จงได้”
 
            ซึ่งในนิราศเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ทั้งสามเรื่องนั้น นิราศของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เป็นการแต่งขึ้นในการเดินทางครั้งแรกสุด ตามด้วยนิราศพระประทมของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นการเดินทางไปในรัชกาลที่ 3 ก่อนที่จะมีการบูรณะภูมิสภานของวัดพระปฐมเจดีย์ในสองฉบับนี้ มีสภาพเป็นป่าตรงกับที่ระบุไว้ในพงศาวดาร ในฉบับของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทนั้น ได้ทรงพรรณนาให้เห็นได้ว่าอาณาบริเวณโดยรอบเป็นป่าเขา สามารถเดินช้างไปตามทางเกวียนได้จนถึงบันไดพระเจดีย์
 
                                    “ถึงพนัศพนมเนิน                   สถูปพระ ประทมแม่
                             ประทับช้างต่างเข้า                  สู่เบื้องบันได
 
            ครั้งนั้นพระองค์ทรงสักการะพระประทมและทรงเสี่ยงเทียนอธิษฐานถามถึงความรักความว่า
                                   
                                                ขึ้นบนลานพระแล้ว     ปรีดา
                             จุดธูปเทียนบูชา                     ทุกผู้
 
                             แต่เรียมนึกปรารถนาจักเสี่ยง       เทียนเฮย
                             หวังจิตร์คิดใคร่รู้                    ร่วมได้ฤๅเสีย ฯ
                                       จุดเทียนสองเล่มแล้ว   อธิษฐาน
                             แม้จักได้วิวาหการ                   กับน้อง
                             จงเรืองโรจน์เสมอสมาน           ทังคู่     เทียนแฮ
                             หากห่อนได้ร่วมห้อง                 ดับสิ้นแสงสูญ ฯ
                                       เห็นเทียนเรืองรุ่งเร้า       รัศมี
                             จิตร์ยิ่งเกิดยินดี                      แก่กล้า
                             ดั่งได้ร่วมอภิรมย์ศรี                 สุดสวาท แล้วเฮย
                             ถึงมาทแม้นเร็วช้า                   เชื่อได้โดยทาย ฯ
 
นิราศพรประธม
ของสุนทรภู่
 
            สุนทรภู่ออกเดินทางไปนมัสการพระประธม เมื่อวันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ตรงกับวันที่ 7 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2375 เวลา 6 ทุ่ม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าขณะแต่งสุนทรภู่ลาสิกขาบทแล้ว และออกเดินทางจากวังหลัง (แต่มีบางท่านสันนิษฐานว่าท่านแต่งขณะยังบวชอยู่ แต่ย้ายจากวัดเทพธิดารามไปอยู่วัดมหาธาตุ) ท่านได้แต่งเรื่องนี้หลังจากเรื่องรำพันพิลาป เนื้อเรื่องมีการพรรณนาตามธรรมเนียมนิราศ ออกชื่อหญิงที่เคยผูกพันหรือเคยเสน่หาหลายคน เช่น ม่วง นิล ศรีสาคร งิ้ว เกษ นิ่ม สีทอง ฯลฯ รวมทั้งมีคำรำพันถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ อันเป็นความรู้สึกต่อเนื่องกับในรำพันพิลาปด้วย ดังนี้
 
                                    ถึงวัดศักดิ์เหมือนรักที่ศักดิ์สูง    สูงกว่าฝูงเขาเหินเห็นเกินสอย
                   แม้นดอกฟ้าคลาเคลื่อนหล่นเลื่อนลอย     จะได้คอยเคียงรับประคับประคอง
                             โอ้บุปผาสารพัดที่กลัดกลีบ      ครั้นรุ่งรีบบานงามไม่ห้ามหวง
                   ให้ชุ่มชื่นภุมรินสิ้นทั้งปวง                    ได้ซาบทรวงเสาวรสไม่อดออม
                   แต่ดอกฟ้าส่าหรีเจ้าพี่เอ๋ย                    มิหล่นเลยให้หมู่แมงภู่สนอม
                   จะกลัดกลิ่นสิ้นรสเพราะมดตอม            จนหายหอมแลกลอกเหมือนดอกกลอย ฯ
 
 
 
คลองโยง
                        ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน                 น่าสำราญเรียงรันควันโขมง
                   ถึงชะวากปากช่องชื่อคลองโยง              เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ
                   มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก               ล้วนตมเปือกเปอะปะสวะไสว
                   ที่เรือน้อยลอยล่องคล่องคล่องไป            ที่เรือใหญ่โป้งโล้งต้องโยงควาย
                   เวทนากาสรสู้ถอนถีบ                         เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย
                   ถึงแสนชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย            อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยง ฯ
 
โพเตี้ย
                        ถึงโพเตี้ยโพต่ำเหมือนคำกล่าว              แต่โตราวสามอ้อมเท่าพ้อมสาน
                   เป็นเรื่องราวเจ้าฟ้าพระยาพาน              มาสังหารพระยากงองค์บิดา
                   แล้วปลูกพระมหาโพธิบนโขดใหญ่          เผอิญให้เตี้ยต่ำเพราะกรรมหนา
                   อันเท็จจริงสิ่งใดเป็นไกลตา                  เขาเล่ามาพี่ก็เล่าให้เจ้าฟัง ฯ
 
บ้านธรรมศาลา
                      ถึงบ้านธรรมศาลาริมท่าน้ำ                  เป็นโรงธรรมภาคสร้างแต่ปางหลัง
 
พระประธม
            เมื่อสุนทรภู่ถึงพระประธมนั้น องค์เจดีย์ยังเป็นองค์เดิม ดาดตะกั่ว มีพระพุทธไสยาสน์ สุนทรภู่ได้เที่ยวชมกราบนมัสการ เวียนประทักษิณ 3 รอบ และตั้งจิตอธิษฐานไว้ เป็นสำนวนโวหารที่จำกันได้ขึ้นใจ
 
                        ครั้นถึงวัดพระประธมบรมธาตุ               สูงทายาทอยู่สันโดษบนโขดเขิน
                   แลทะมึนทึนเทิ่งดังเชิงเทิน                   เป็นโขดเนินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน
                   ประกอบก่อย่อมุมมีซุ้มมุข                    บุดีบุกบรรจบถึงนภศูล
                   เป็นพืดแผ่นแน่นสนิททั้งอิฐปูน              จงเพิ่มพูนพิสดารอยู่นานครัน
                   แล้วลดเลี้ยวเที่ยวลอบขอบข้างล่าง         ล้วนรอยกวางทรายเกลื่อนไก่เถื่อนขัน
                   สะพรั่งต้นคนทาลดาวัลย์                    ขึ้นพาดพันพงพุ่มชอุ่มใบ
                   เห็นห้องหับลับลี้เป็นที่สงฆ์                  เที่ยวธุดงค์เดินมาได้อาศัย
                                                                        ฯลฯ
                        โบสถ์วิหารท่านสร้างแต่ปางก่อน            มีพระนอนองค์ใหญ่ยังไม่หมอง
                   หลับพระเนตรเกศเกยเขนยทอง             ดูผุดผ่องพูนเพิ่มเติมศรัทธา ฯ
                                                                        ฯลฯ
                        แกล้งพูดพาตาเฒ่าพวกชาวบ้าน            คนโบราณรับไปได้ไต่ถาม
                   เห็นรูปหินศิลาสง่างาม                       เป็นรูปสามกษัตริย์ขัตติย์วงศ์
                   ถามผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้                  หวังจะให้ทราบความตามประสงค์
                   ว่ารูปทำจำลองฉลององค์                    พระยากงพระยาพานกับมารดา
                   ด้วยเดิมเรื่องเมืองนั้นถวัลยราช              เรียงพระญาติพระยากงสืบวงศา
                   เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา           กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน
                   พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง         ผู้ใดเลี้ยงลูกน้อยจะพลอยผลาญ
                   พระยากงส่งไปให้นายพราน                 ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย
                   ยายหอมรู้จู่ไปเอาไว้เลี้ยง           แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย
                   ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย              ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง
                   ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตาปะขาว               แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง
                   รู้ผูกหญ้าผ้าพยนต์มนต์จังงัง                มีกำลังลือฤทธิ์พิสดาร
                   พระยากงลงมาจับก็รับรบ                    ตีกระทบทัพย่นถึงชนสาร
                   ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพระยาพาน               จึงได้ผ่านภพผดุงกรุงสุพรรณ
                   เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล                   จึงเล่าแต่ความจริงทุกสิ่งสรรพ์
                   เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ                   ด้วยความนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน ฯ
                             ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด    ด้วยปกปิดปฏิเสธซึ่งเหตุผล
                   เธอโกรธาฆ่ายายนั้นวายชนม์                จึงให้คนก่อสร้างพระปรางค์ประโทน
                   แทนคุณตามความรักแต่หักว่า               ต้องเข่นฆ่ากันเพราะกรรมเหมือนคำโหร
                   ที่ยายตายหมายปักเป็นหลักประโคน        แต่ก่อนโพ้นพ้นมาเป็นช้านาน
                   จึงสำเหนียกเรียกย่านบ้านยายหอม         ด้วยเดิมจอมจักรพรรดิอธิษฐาน
                   ครั้นเสร็จสรรพกลับมาหาอาจารย์ เหตุด้วยบ้านนั้นมีเนินศิลา
                   จึงทำเมรุเกณฑ์พหลพลรบ                  ปลงพระศพพระยากงพร้อมวงศา
                   แล้วปลดเปลื้องเครื่องกษัตริย์ขัตติยา       ของบิดามารดรแต่ก่อนกาล
                   กันธาตุใส่ในตรุบรรจุไว้                       ที่ถ้ำใต้เนินพนมประธมสถาน
                   จึงเลื่องลือชื่อว่าพระยาพาน                 คู่สร้างชานเชิงพนมประธมทอง ฯ
 
สำนวนโวหาร
                        ตะวันรอนอ่อนอับพยับแสง                  ดูดวงแดงดังจะพาน้ำตาไหล
                   ยังรอรั้งสั่งฟ้าด้วยอาลัย                      ค่อยไรไรเรืองลับวับวิญญาณ์
                   พระจันทรจรจำรูญข้างบูรพทิศ              กระต่ายติดแต้มสว่างกลางเวหา
                   โอ้กระต่ายหมายจันทร์ถึงชั้นฟ้า             เทวดายังช่วยรับประคับประคอง
                   มนุษย์หรือถือดีว่ามีศักดิ์                     มิรับรักเริดร้างให้หมางหมอง
                   ไม่เหมือนเดือนเหมือนกระต่ายเสียดายน้อง   จึงขัดข้องขัดขวางทุกอย่างไป ฯ
 
คำอธิษฐานของสุนทรภู่
                        สาธุสะพระประธมบรมธาตุ                 จงทรงศาสนาอยู่อย่ารู้สูญ
                   ข้าทำบุญคุณพระช่วยอนุกูล                 ให้เพิ่มพูนสมประโยชน์โพธิญาณ ฯ
                                    ๏ หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ  ให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน
                   สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ               พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร ฯ
                             ๏ อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง        แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
                   ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา ฯ
                             ๏ อนึ่งหญิงทิ้งสัตย์เราตัดขาด     ถึงเนื้อน้ำธรรมชาติไม่ปรารถนา
                   ข้างนอกนวลส่วนข้างในใจสุดา             เหมือนปลาร้าร้ายกาจอุจาดจริง
                   ถึงรูปชั่วตัวดำระยำยาก                      รู้รักปากรักหน้าประสาหญิง
                   ถึงปากแหว่งแข้งคอดไม่ทอดทิ้ง             จะรักยิ่งยอดรักให้หนักครัน
                   จนแก่กกงกเงิ่นเดินไม่รอด                   จะสู้กอดแก้วตาจนอาสัญ
                   อันหญิงลิงหญิงค่างหญิงอย่างนั้น          ไม่ผูกพันพิศวาสให้คลาดคลา ฯ
                                    ๏ ขอเดชะพระมหาอานิสงส์       ซึ่งเราทรงศักราชพระศาสนา
                   เสน่ห์ไหนให้คนนั้นกรุณา                    เหมือนในอารมณ์รักประจักษ์ใจ ฯ
                             ๏ หนึ่งน้องหญิงมิ่งมิตรพิศวาส    ซึ่งสิ้นชาติสิ้นภพสบสมัย
                   ขอคุณพระอานิสงส์ช่วยส่งไป               ถึงห้องไตรตรึงษ์สถานพิมานแมน ฯ
                             ๏ ที่ยังอยู่คู่เคยไม่เชยอื่น            จงปรากฏยศยืนกว่าหมื่นแสน
                   มั่งมีมิตรพิศวาสไม่ขาดแคลน               ให้หายแค้นเคืองทั่วทุกตัวคน
                   นารีใดที่ได้รักแต่ลักลอบ                     เสน่ห์มอบหมายรักเป็นพักผล
                   เผอิญขัดพลัดพรากเพราะยากจน แบ่งกุศลส่งสุดาทุกนารี
                   ให้ได้คู่สู่สมภิรมย์รัก                          ที่สมศักดิ์สมหน้าเป็นราศี
                   สืบสกุลพูนสวัสดิ์ในปัถพี                    ร่วมชีวีสองคนไปจนตาย
                   แต่นารีขี้ปดโต้หลดหลอก                    ให้ออกดอกทุกวันเหมือนมั่นหมาย
ทั้งลิ้นน้องสองลิ้นเพราะหมิ่นชาย           เป็นแม่หม้ายเท้งเต้งวังเวงใจ
ที่จงจิตพิศวาสอย่าคลาดเคลื่อน            ให้ได้เหมือนหมายมิตรพิสมัย
อย่าหมองหมางห่างเหเสน่ห์ใน              ได้รักใคร่ครองกันจนวันตาย
เป็นคู่สร้างทางกุศลจนสำเร็จ                สรรเพชญ์โพธิญาณประมาณหมาย
ยังมิถึงซึ่งนิพพานสำราญกาย               จะกลับกลายเป็นไฉนอย่าไกลกัน ฯ
          ๏ แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก         ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์
แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์                   ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่                   ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร
เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร                       ได้เชยช้อนชมชะเลทุกเวลา
แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์                จะได้ลงสิงสู่ในคูหา
แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา           พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัญ
กว่าจะถึงซึ่งมหาศิวาโมกข์                   เป็นสิ้นโศกสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
เสวยสวัสดิ์ชัชวาลนานอนันต์                เหลือจะนับกัปกัลป์พุทธันดร ฯ
 
            ท้ายเรื่องและท้ายของการเดินทางสุนทรภู่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้บิดา มารดา ครูอาจารย์และถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
 
นิราศพระแท่นดงรัง
ของหมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี)
 
หมื่นพรหมสมพัตสร หรือ เสมียนมี เป็นกวีฝีปากคมในสมัยรัชกาลที่ 3 ผลงานกวีนิพนธ์ ได้แก่ นิราศเดือน เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 3 นิราศถลาง ทศมูลเสือโค สุบินก.กา และเรื่องที่กล่าวถึงลุ่มน้ำท่าจีน 2 เรื่อง คือ นิราศพระแท่นดงรังและนิราศสุพรรณ
 
กลอนนิราศพระแท่นดงรังกล่าวถึงการเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมเข้าใจว่าเป็นของสุนทรภู่ ครั้นมีการตรวจสอบในภายหลังจึงลงความเห็นว่าเป็นผลงานของหมื่นพรหมสมพัตสร นิราศพระแท่นดงรังพรรณนาการเดินทางจากหน้าวัดพระเชตุพนผ่านตำหนักแพแล้วเลี้ยวเข้าคลองบางกอกน้อย ผ่านวังหลัง บ้านบุ บางระมาด บางกรวย บางไกร บางระนก บางคูเวียง บางใหญ่ คลองโยง ซึ่งในนิราศเรียกว่า “หัวโยง” ที่คลองโยงนี้นายมีพรรณนาบรรยากาศการเดินทางครั้งนั้นว่า
 
มาตะบึงลุถึงหัวโยงเชือก           เป็นโคลนเทือกท้องนาชลาสินธุ์
คลองก็เล็กน้ำก็ตื้นเห็นพื้นดิน               ไม่น่ากินน้ำท่าระอาใจ
ต้องจ้างโยงโยงเรือเหลือลำบาก             ให้ควายลากเรือเลื่อนเขยื้อนไหว
ผูกระนาวยาวยืดเป็นพืดไป                  ทั้งเจ๊กไทยปนกันสนั่นอึง
ไม่พักแจวพักถ่อให้รอรา                      เป็นราคาจ้างประจำลำสลึง
ควายก็เดินดันดังเสียงกังกึง                 พอเชือกตึงเรือตามกันหลามมา
 
            ใช้ควายโยงเรือตั้งแต่พลบค่ำ จนรุ่งขึ้นเวลาสายจึงพ้นคลองโยงออกแม่น้ำนครไชยศรี เรื่องนี้แต่งก่อนที่จะขุดคลองมหาสวัสดิ์ในรัชกาลที่ 4 หมื่นพรหมสมพัตสรเดินทางโดยเรือผ่านสำประทวนไปขึ้นบกที่วัดสิงห์ จอดเรือแล้วเดินทางบกต่อไปโดยจ้างเกวียน 15 เล่ม ผ่านพระประโทนเจดีย์ ซึ่งบริเวณนั้นยังเป็นป่ารกร้าง
 
ถึงประโทณอารามพราหมณ์เข้าสร้าง      เป็นพระปรางค์แต่โบราณนานนักหนา
แต่ครั้งตวงพระธาตุพระศาสดา             พราหมณ์ศรัทธาสร้างสรรค์ไว้มั่นคง
ประจุพระทะนานทองของวิเศษ             พี่น้อมเกศโมทนาอานิสงส์
จุดธูปเทียนอภิวันท์ด้วยบรรจง               ถวายธงแพรผ้าแล้วลาจร
ดูสองข้างมรคาล้วนป่าไผ่                    คนตัดใช้ทุกกอตอสลอน
หนามแขนงแกว่งห้อยรอยเขารอน บ้างเป็นท่อนแห้งหักทะลักทะลุย
 
จากนั้นเดินทางต่อไปจนถึงพระประธม
           
                        บรรลุถึงพระประธมประทับหยุด             สัปรุษเซ็งแซ่แลสลอน
แวะขึ้นไหว้พระประธมประนมกร            สโมสรโสมนัสนมัสการ
ต่างระรื่นชื่นจิตพิศวง                        เที่ยวเวียนวงไหว้รอบขอบสถาน
พระปรางค์ใหญ่มีอยู่แต่บูราณ              สูงตระหง่านยอดเยี่ยมเทียมอัมพร
          ฯลฯ
พระประธมของบรมกษัตริย์สร้าง            เป็นพระปรางค์ใหญ่โตรโหฐาน
สูงเท่านกเขาเหิรเกินทะยาน                 พระยาพานก่อสร้างไว้ล้างกรรม
เธอหลงฆ่าบิตุรงค์ทิวงคต                   เขารู้หมดเรื่องราวไม่งามขำ
เธอทำผิดคิดเห็นไม่เป็นธรรม                จึงกลัวกรรมก่อสร้างพระปรางค์ทอง
 
นิราศเรื่องนี้สิ้นสุดการเดินทางที่พระแท่นดงรังตามชื่อนิราศ
 
 
นิราศสุพรรณ
ของหมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี)
 
หมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี) ประมูลได้เป็นผู้เก็บอากรสมพัตสรหรือภาษีอากรรายปีของแขวงเมืองสุพรรณบุรี แต่งนิราศนี้คราวที่เดินทางไปเก็บภาษีเมื่อราว พ.ศ. 2377 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่ปรากฏในนิราศน่าจะออกเดินทางจากท่าบริเวณหน้าวัดพระเชตุพน ผ่านตำหนักแพ เข้าคลองบางกอกน้อย ผ่านวังหลัง บ้านบุ บางระมาด บางอ้อยช้าง บางขุนกอง เข้าคลองโยงไปออกแม่น้ำนครชัยศรี ที่ปากคลองโยงนี้มีตลาดและโรงหีบอ้อยดังในนิราศว่า
 
ครั้นพ้นจากทางโยงชะโลงล่อง             ออกจากคลองเรือแพแลสลอน 
บ้างหยุดจอดจอแจกระแสชล               บ้างเลยพ้นออกลำแม่น้ำไป 
เจ้าตลาดปากคลองก็ร้องเรียก              จนปากเปียกเถียงกันสนั่นไหว 
พวกชาวเรือลูกค้าระอาใจ                   ต้องยอมให้เบิกเผยแล้วเลยจร 
                                                ฯลฯ
เห็นโรงหีบหีบอ้อยอร่อยรส                  น้ำอ้อยหยดหยาดหยัดไม่ขัดขืน 
กะทะโตเตาใหญ่ใส่ไฟฟืน                  ไม่ทำอื่นทำแต่การน้ำตาลทราย
           
            จากนั้นเรือล่องทวนแม่น้ำนครชัยศรีผ่านบางไก่ซ่อน บางเลน บางระกำ หินปูน บางหลวง บางน้อย สองพี่น้อง ท้ายย่าน บางซอ บางเภา บางปลาร้า บางคันชั่ง บ้านกุ่ม บางแม่หม้าย บางยี่หน โคกคราม วัดเสาหงส์ โพธิ์คอย ทับขี้เหล็ก บางยี่สุก บ้านกล้วย และสุพรรณบุรี จากนั้นออกเก็บอากรในท้องที่และไปไหว้พระวัดป่าเลไลยก์ ตอนจบของกลอนนิราศมีโคลงกระทู้ว่า เสมียนมีแต่งถวายพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าคือพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์ใด      
 
นิราศพระปฐม
ของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์)
 
            หลวงจักรปาณี (มหาฤกษ์) เป็นชาวกรุงเก่า เกิดราว พ.ศ. 2369 ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 อยู่แพหน้าวัดเชิงท่าในคลองเมือง เป็นกำพร้ามาแต่เล็ก ต่อมาพระวินัยธร (อยู่) วัดพนัญเชิง ขอป้ามาเลี้ยงแต่เล็กแต่ยังไม่ทันได้ร่ำเรียนอะไร ป้าก็มาขอตัวคืนไปฝากพระวินัยธรรม วัดเชิงท่า หน้าบ้านตน ได้เรียนและได้บวชเป็นสามเณร ต่อมาพระอาจารย์เห็นว่ามีเชาว์ดี จึงพาสามเณรมาฝากให้เรียนกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อู่) ที่วัดสุทัศนเทพวรารามได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญตั้งแต่ยังเป็นสามเณร อุปสมบทที่วัดนี้และศึกษาเล่าเรียนจนได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ลาสิกขาบทในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้เลื่อนเป็นหมื่นพากยโวหาร และเป็นหลวงจักรปาณีในกรมลูกขุน ขณะที่แต่งเรื่องนี้ท่านรับราชการอยู่ที่กรมพระอาลักษณ์ ราว พ.ศ. 2417 ในคราวที่เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ซึ่งนอกจากงานราชการแล้ว ท่านยังเป็นผู้บอกหนังสืออยู่ที่โรงทานด้วย หลวงจักรปาณี (ฤกษ์) ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมอัมพาตหลังจากได้ดำรงตำแหน่งนี้ไม่นานนัก มีจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า
 
“หลวงจักรปาณี (เริก) กรมลูกขุนเป็นลมอัมพาตมาช้านาน ได้หาหมอเชลยศักดิ์มารักษา อาการทรงกับทรุด ถึงแก่กรรม วันอังคาร เดือน 10 แรม 9 ปีจอ อัฐศก เวลา 5 โมงเศษ จ.ศ. 1247 (วันที่ 21 กันยายน 2429) อายุ 60 ปี วันศุกร์ เดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ ปีจอ อัฐศก เวลาเช้า (วันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2429) ชักศพไปโรงทึมวัดสระเกศ เวลาบ่ายพระราชทานเพลิง พระราชทานเงิน 50 เฟื้อง ผ้าขาว 1 พับ ทำบุญในการศพ”
 
            จากประวัติท่าน หากหลวงจักรปาณีคิดจะเอาดีในทางธรรมแล้ว ก็คงได้เป็นได้ดีในทางนี้ เพราะท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “นิราศปถวี” ว่าทั้งพระวินัยธรและพระวินัยธรรมต่างก็รักใคร่เอ็นดูราวกับบุตร เมื่อมาอยู่สำนักวัดสุทัศน์ ก็มีความก้าวหน้า       แต่ท่านไม่ยินดีกับชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ตามที่กล่าวไว้ในนิราศพระปฐม ดังนี้
 
นาวาว่องล่องมาถึงหน้าวัด                 นามสุทัศน์เทพธามหาวิหาร 
จึงรั้งรอยอหัตถ์นมัสการ           นึกสงสารคราวครั้งยังเป็นเณร 
พระครูบาพาพรากจากกรุงเก่า              มาฝากเราศึกษามหาเถร 
อยู่วัดนี้มีธุระท่านกะเกณฑ์                 ให้เข้าเวรแปลประโยควิโยคใจ 
ด้วยคิดเห็นเป็นชีถึงมีศักดิ์                  ใจไม่รักแท้แท้มาแต่ไหน 
เห็นผิดกิจสมณะพระวินัย                  ท่านขืนใจก็ต้องตามเพราะความกลัว 
จึงเป็นไปในแผ่นดินปิ่นสยาม               ทรงพระนามพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 
จนสมบทบวชสนองไม่หมองมัว            พอครองตัวตามประสาวิชาคุณ 
สิ้นแผ่นดินสิ้นชะตาอำลาพรต              แสนกำสรดสิ้นทรัพย์สนับสนุน 
ขอถวายพระกุศลผลบุญ                    ให้เจือจุนบารมีทวีไป ฯ
 
            และเหตุที่สึกนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่านมีความอาลัยในทางโลก อยู่ตามที่ท่านบรรยายไว้ในนิราศพระปฐมว่า “ที่ลางแพผู้ดีมั่งมีทรัพย์ เพชรประดับตุ้มหูดูไสวไสว แหวนสายสร้อยทองปลั่งทั้งวลัย น่าชื่นใจห่มนุ่งสอดถุงตีน เหมือนเมื่อเรารุ่นเปลี่ยวมันเคี่ยวเข็ญ พบแต่เช่นนี้หนาจึงลาศีล หมายได้อยู่คู่เคียงบนเตียงจีน จนเลยปีนตลิ่งล้มไม่สมคะเน ฯ” 
 
            เรื่องนิราศพระปฐมนี้ เนื้อเรื่องมีถ้อยความกล่าวถึงชีวิตในวัยหนุ่มและมีชื่อหญิงที่ผูกพันเสน่หาอยู่หลายคน ปรากฏชื่อ เช่น ยี่สุ่น สาหร่าย หนู ฯลฯ ซึ่งถึงแม้ท่านจะออกตัวในตอนท้ายเรื่องว่าบทสังวาสนั้นเป็นการแต่งตามธรรมเนียมกวี อย่าได้ยึดติดจนลืมในทางกุศล แต่ในเรื่องราวที่ท่านเล่าถึงชีวิตรักครั้ง “คิดถึงครั้งรุ่นหนุ่มได้ชุ่มเชย”  นั้นก็โลดโผนไม่น้อย ดังนี้
 
คิดถึงครั้งรุ่นหนุ่มได้ชุ่มเชย                 ปานเสวยยาทิพย์หยิบดาวเดือน 
แต่ละคำดุจอำมฤตรส                      มาย้อยหยดยาใจใครจะเหมือน 
พี่หลงใหลใฝ่ฝันจนฟั่นเฟือน               แต่เวียนเยือนเยี่ยมเจ้าทุกเช้าเย็น 
ถ้าวันไรไม่พบประสบพักตร์                 กำเริบรักโรคเบียนสักเกวียนเข็น 
ถ้าเห็นหน่อยค่อยฟื้นเหมือนคืนเป็น        เคยไปเล่นสงกรานต์ที่บ้านโน้น 
ควรเป็นจอมหม่อมพระยาน่าสวาท         มารยาทยศอย่างเหมือนนางโขน 
ทั้งสาระแนแง่งอนทั้งอ่อนโยน              สะเอวโอนอ้องแอ้งเหมือนแกล้งกลึง 
จะพูดจาเหน็บแนมแหลมฉลาด            ถึงนักปราชญ์ยิ่งกว่าเราไม่เท่าถึง 
ยังมิทันรู้ตัวมัวรำพึง                         คิดว่าดึงหยวกปลียังมีใย 
พอลมฉิวปลิวชื่นไปอื่นเฉย                  เรียมเสวยเวทนาน้ำตาไหล 
จะคิดถึงความหลังบ้างเป็นไร               ให้เรียมได้ลำบากยากเสียพอ 
เมื่อค่ำคืนดื่นดึกไม่นึกขาม                  คนนั่งยามระวังดูอยู่ออกสอ 
บ้านขุนนางบุญหนักล้วนหลักตอ           สู้ลอยคอล่องน้ำตามลำคลอง 
เห็นผู้คนกล่นกลาดไม่อาจใกล้             เขาจับได้แล้วก็ยุบทั้งทุบถอง 
สงสารแต่หม่อมพี่ปรานีน้อง                มาด้อมมองคอยรับกลัวจับกุม 
แล้วโดดน้ำดำผุดมายุดแขน                พาลอยแล่นแฝงฝั่งไม่ดั่งปุ๋ม 
สู้ทนหนาวอยู่กับน้องประคองคุม           จนสี่ทุ่มเศษเซียบค่อยเงียบคน 
พาหลีกลัดกองตระเวนลุยเลนเปื้อน        ฤดูเดือนมืดเขม้นไม่เห็นหน 
ประตูปิดติดกุญแจเที่ยวแลจน              ปีนขึ้นบนทวารได้จึงไคลคลา 
หม่อมพี่จูงกรส่งที่ตรงห้อง                  นวลละอองเห็นฉันก็หรรษา 
ให้อาบน้ำหอมระรินประทิ่นทา              แล้วพักพาสู่ห้องประคองนอน 
ถ้าใครเห็นก็บรรลัยยังไม่คิด                 เอาชีวิตแลกกายสายสมร 
ต่อจวนแสงสุริยาจึงลาจร                   สู้ปลิ้นปล้อนบุญปลอดจึงรอดมา
 
            หลวงจักรปาณีออกเดินทางในราววันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ได้นมัสการพระปฐมเจดีย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยลงเรือที่ท่าน้ำใกล้บ้านท่านละแวกวัดสุทัศน์ ผ่านบ้านพระยาศรีสิงหาเทพ (นามเดิม  หรุ่น เป็นบุตรพระยาศรีสหเทพ [ทองเพ็ง] ต้นสกุลศรีเพ็ญ) อยู่บริเวณสะพานมอญ ผ่านวัดราชบพิธ คลองหลอด วังหน้า ออกแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองบางกอกน้อย เดินทางในช่วงแรกนี้ เป็นเส้นทางเดียวกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทและสุนทรภู่ แต่หลวงจักรปาณีนั้นเมื่อถึงคลองวัดชะลอได้เดินทางคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งขุดใหม่แล้วไปออกแม่น้ำนครชัยศรี เข้าคลองเจดีย์บูชา จนไปขึ้นบกที่หน้าพระปฐมเจดีย์ ในช่วงเวลาที่ท่านไปนั้น ได้มีการบูรณะซ่อมสร้างให้งดงามขึ้นเป็นวัดพระปฐมเจดีย์แล้ว นับเป็นนิราศที่เดินทางไปหลังสุด  เมืองนครชัยศรีครั้งนั้นคึกคักไม่เป็นป่าดงห่างไกลเช่นในรัชกาลที่ 3
 
เรือมาตามคามนิคมชมสถาน               ดูเรือนบ้านแน่นหนาสินค้าของ 
พอถึงพระปฐมด้วยสมปอง                 เรือทั้งสองฝั่งฟากดูมากมี 
จะหลีกลัดเข้าใกล้ไม่ตลอด                 ต้องแวะจอดที่ท่าหน้ากงสี 
ขุนพัฒน์ใหญ่ใส่บ่อนละครมี               เสียงเขาตีพิณพาทย์ระนาดรัว  
 
หลวงจักรปาณีได้บรรยายสภาพถูมิสถานโดยรอบวัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งขณะนั้นได้มีการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ครอบองค์เดิมไว้ และมีการสร้างจำลองเจดีย์องค์เดิมแล้ว
 
จัดธูปเทียนคนธ์ธารสุมาลย์มิ่ง             ขึ้นตลิ่งรีบพากันผันผาย 
ตามสถลยลสถานร้านโรงราย               แม่ค้าขายมาคล่ำทุกตำบล 
นั่งเรียบร้อยคอยรับสัปปุรุษ                 อุตลุดจ่ายจับกันสับสน 
สนุกสนานลานดูล้วนผู้คน                  เหมือนถนนธานีน่าปรีดิ์เปรม 
                                                                     ฯลฯ
เข้าในลานชานที่เจดียฐาน                  งามตระหง่านสูงเยี่ยมเปี่ยมเวหา 
เป็นเชิงชั้นหลั่นลดรจนา                    มีศาลารายรอบเป็นขอบคัน 
มีพระพุทธไสยาศิลาอ่อน                   เป็นอย่างก่อนเก่าสร้างช่างขยัน 
มาแต่เมืองหงสาคือรามัญ                  อยู่เบื้องบันบูรพาศาลายง 
ที่ชั้นสองมีระเบียงดูเรียงเรียบ               ทั้งระเบียบโบสถ์รามงามระหง 
มีเจดีย์ที่สองจำลองทรง                     อีกทั้งองค์ปรางค์สนองจำลองไว้ 
ด้วยเดิมเห็นเป็นที่เจดียฐาน                 พระยาพานเสริมสร้างเป็นปรางค์ใหญ่ 
เดี๋ยวนี้ถมเป็นที่เจดีย์ไป                     หวังจะให้คนเห็นอย่างเช่นเดิม 
ที่พระปฐมทำต่อก่อด้วยอิฐ                 สวมสนิทใหญ่ประมูลโบกปูนเสริม 
กระเบื้องลายพรายระยับประดับเติม       เป็นที่เสริมศรัทธาสาธุชน 
แต่ยังสวมยอดปรางค์อยู่อย่างนั้น          แสงสุวรรณแวววาวห้องหาวหน 
ที่บนฐานลานระเบียงเสียงสวดมนต์       ทั้งเสียงคนตีระฆังประดังกัน 
 
เรื่องพระยากงพระยาพาน
                        ท่านสร้างสรรค์โสภาดูอาเกียรณ์            รูปมณเฑียรกษัตราพระยาภาณ 
                   เธอทรงช้างยกพหลพลพิฆาต              พระบิตุราชพระยากงปลงสังขาร 
                   ฆ่ายายหอมมารดาเลี้ยงมานาน            ด้วยแจ้งการปกปิดซึ่งกิจจา 
                   อันเรื่องราวพระยาภาณนี้นานนัก           คนรู้จักเล่ากันนั้นนักหนา 
                   ผิดกับพงศาวดารฉันอ่านมา                สุดจะว่าให้ละเมียดละเอียดลออ 
                   ความไกลตาต่างกันกระนั้นกระนี้           จะเป็นที่สงสัยอย่างไรหนอ 
                        สมุดสามสิบใส่ก็ไม่พอ                      ไม่มีข้อสำคัญนั้นอย่างไร 
แต่ที่นี้บัณฑิตเขาคิดเห็น                    เดิมจะเป็นรามคามพราหมณ์วิสัย 
จึงขุดได้ศิวลึงค์ที่พึงใจ                      ในต่ำใต้พระสุธาทั้งบาลี 
เป็นอักษรพราหมณ์เก่าเมื่อเขาเห็น         แปลออกเป็นคำพระชินศรี 
ซึ่งพระธาตุปาฏิหาริย์บันดาลมี             ที่ข้อนี้สำคัญมั่นแก่ใจ 
ด้วยผู้ญาณรู้เห็นเป็นมหันต์                 ควรอัศจรรย์ศรัทธาน่าเลื่อมใส 
อย่ากังขาพาบุญนั้นน้อยไป                 ควรกราบไหว้ปฏิบัติด้วยศรัทธา 
 
            จากวรรณคดีที่อ้างมาแล้วข้างต้น นับเป็นบทบันทึกที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์และประวัติศาสตร์ เพราะว่านอกจากพรรณนาโวหารที่กวีได้บรรจงแต่งขึ้นแล้ว เนื้อหาในนิราศยังสะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้เห็นถึงประวัติและพัฒนาการของเมืองนครปฐมในสมัยรัตนโกสินทร์ และความสำคัญแห่งองค์พระปฐมเจดีย์ที่เป็นจุดหมายในการแสวงบุญของผู้คนในอดีต
 
  
_______________________



บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ