สุภาษิตโบราณ

ทองแถม นาถจำนง
มีหนังสือดีมากอีกเล่มหนึ่ง ที่ผมอยากจะพิมพ์เผยแพร่ ชื่อหนังสือเล่มนั้น กรมศิลปากรเรียกว่า “กลอนสุภาษิต” ชื่อเรื่องดูธรรมดามาก จนบางท่านอาจเมินข้ามไป
แต่เมื่อผมจับอ่านแล้ว ผมเห็นว่า หนังสือเล่มนี้รักษาถ้อยคำเดิมของสุภาษิต ที่คนรุ่นหลังแปลงถ้อยคำไปแล้ว
ในเล่มนี้ เราได้เห็นสำนวนดั้งเดิมที่คนโบราณเคยใช้กัน
หนังสือเล่มนี้ ปัจจุบันผมหาไม่พบแล้ว มีแต่ต้นฉบับที่ผมพิมพ์เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์
เป็นหนังสือเล่มน้อย พิมพ์ในงานปลงศพ “ขุนพินิจทัณฑกิจ” (มาลัย บุรารักษ์) เมื่อ พ.ศ 2480
กรมศิลปากรเขียนคำนำไว้เพียงสั้น ๆ แทบจะไม่ให้ข้อมูลอะไร นอกเสียจากบอกว่า “คำกลอนสุภาษิต” เรื่องนี้นำมาจากต้นฉบับสมุดไทย สะกดการันต์ตามต้นฉบับเดิม)
คำนำ
นางเมี้ยน พินิจทัณฑกิจ ได้มาแจ้งความประสงค์แก่กรมศิลปากรว่า ในงานปลงศพ ขุนพินิจทัณฑกิจ (มาลัย บุรารักษ์) ผู้สามี ใคร่จะได้หนังสือพิมพ์แจกแก่ท่านผู้มาร่วมงานสักเรื่องหนึ่ง ขอให้ได้เรื่องที่เป็นคติสอนใจผู้อ่านผู้ฟัง ตกลงเลือกได้เรื่องคำกลอนสุภาษิต กับ ทุกกฏะสอนบุตร
ทั้งสองเรื่องนี้ ต้นฉะบับเป็นสมุดไทยทั้งคู่ เป็นข้อความที่น่าอ่านน่ารู้ จึ่งอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ตามประสงค์
ขออนุโมทนาในกุศลราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งนางเมี้ยน พินิจทัณฑกิจ บำเพ็ญเป็นปัตติทานมัยกุศลอุทิศสนองคุณ ขุนพินิจทัณฑกิจ ผู้สามี ขอกุศลราศีอันเกิดแต่การพิมพ์หนังสือนี้ให้แพร่หลาย จงอำนวยอิฏฐคุณมนุญผล สัมฤทธิ์ดังมโนรถความปรารถนาจงทุกประการ เทอญ ฯ
กรมศิลปากร
๒๘ มกราคม ๒๔๘๐
สุภาษิตท่านเขียนเป็นโคลงสี่ แต่ท่านนำเอาสุภาษิตเหล่านั้นมาร้อยเรียงไว้เป็นคำร้อยกรอง เป็นชื่อ”กระทู้” มีสามภาค ลำพังแค่กระทู้สามภาคนี้ก็มีคุณค่ามากมายแล้ว ยิ่งเมื่ออ่านสำนวนโคลงโบราณแล้วก็ยิ่งน่าตื่นเต้นครับ
ขอเสนอ “กระทู้” ชุดแรกชุดเดียวเท่านั้นก่อนดังนี้
€ ไหว้พระสะเจ้า กล่าวสุภาษิต อย่าคิดผิดลู่ อย่าหลู่ครูบา อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน อย่าปนพาลา อย่าสุกก่อนห่าม อย่างามก่อนแต่ง อย่าศักดิ์กว่าแสง อย่าแข่งวาสนา จับปลาสองมือ รื้อช่างเป็นเข็ญ ฯ
€ หาเลือดกับปู สู่รู้ปั้นล่ำ เจ็บแล้วก็จำ น้ำเชี่ยวขวางเรือ เอาเนื้อสู้เสือ เนื้อเต่ายำเต่า เชื่อดายตายเปล่า เข้าป่าตาหลิ่ว ฯ
€ เริงหนักรางแตก คบสองหนองแหลก เกี่ยวแฝกมุงป่า ฆ่าช้างเอางา ตีปลาหน้าไซ หน้าไว้หลังหลอก พุ่งหอกเข้ารก ชี้นกปลายไม้ รู้ไว้ให้ถี่ ขี้แพ้ชวนตี ของดีมีน้อย น้ำอ้อยใกล้มด ต้นตรงปลายคด ต้นคดปลายตรง ตำราพาหลง ชี้โพรงให้รอก สุนัขจวนตรอก หวานนอกขมใน ไม้ดกนกชุม ฯ
€ นกไร้ไม้โหด คนโฉดตีครู ผู้ใหญ่ไต่สูง ฯ
€ ถักปลอกเผื่อคาน หัวล้านพลอยตาย โลภนักลาภหาย กะต่ายตื่นตูม ฯ
€ ตบหัวลูบหลัง มั่งมีศรีสุข ดูถูกช้างถีบ ปากว่าตาขยิบ ฯ
€ รักดีหนีชั่ว รักตัวกลัวไภย ห่างปิดชิดไช หักไฟหัวลม ฯ
€ หัวหวานก้นเปรี้ยว อดเปรี้ยวกินหวาน ปากหวานขานเพราะ ฯ
€ โง่งอนสอนยาก ยากจนข้นเหลว ฯ
€ ทำมาหากิน ถือศีลกินบวช หน้าเนื้อใจเสือ เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้นั่ง กะดูกแขวนคอ ฯ
€ มือด้วนได้แหวน ตาบอดได้แว่น หัวล้านได้หวี ฯ
€ รักสนิทขวิดถนัด ไม้สั้นรันคูถ ฯ
จบกระทู้หนึ่ง
ลองนับดูว่า มีสุภาษิตที่ท่านไม่เคยได้ฟังอยู่ในนี้กี่บท และมีกี่บทที่คนรุ่นหลังแปลงคำไปแล้ว