กระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน เฉลิมฉลอง 100 ปี ชาตกาล
พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้มีมติรับรองการร่วมฉลองในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล พลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ในฐานะบุคคลสำคัญด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของไทยในลำดับที่ ๒๐ นับเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศไทยอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ
ในโอกาสนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิคึกฤธิ์๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บริษัท ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จำกัด ทายาท บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สถาบันการศึกษา อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดจะจัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง เป็นระยะเวลา ๑ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๕ โดยกิจกรรม ได้แก่ พิธีบำเพ็ญกุศล การจัดสร้างสถาบันคึกฤทธิ์ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรและนิทรรศ การสัญจรชีวประวัติและผลงาน การปาฐกถา การสัมมนาวิชาการ การจัดทำห้องสมุด การจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึก การจัดพิมพ์หนังสือประวัติและผลงานในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ หนังสือชุด “คึกฤทธิ์พูด” และ “.... คือ คึกฤทธิ์” เขียนโดย นายสมบัติ ภู่กาญจน์ การแสดงละครเวที เรื่องสี่แผ่นดิน จัดโดย นายถกลเกียรติ วีรวรรณ, การจัดแสดงโขนธรรมศาสตร์ การแสดงของคณะโขนชุมชน ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ จัดโดยสถาบันคึกฤทธิ์ เป็นต้น
โดยกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๐ เมษายน ศกนี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดครบ ๑๐๐ ปี ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช คือ พิธีเปิดสถาบันคึกฤทธิ์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน และจะมีการปาฐกถา เรื่อง “คึกฤทธิ์ กับความสัมพันธ์ไทย-จีน” โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ในส่วนของสถาบันคึกฤทธิ์มีการจัดแบ่งส่วนห้องต่าง ๆ เช่น ห้องประวัติของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ นิทรรศการถาวรที่มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย แสง สี เสียง ประกอบในการดำเนินเรื่อง
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น จะมีการสัมมนาชุด “ปราชญ์สยาม” ใน ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเริ่มจากการสัมมนาในหัวข้อ “๑๐๐ ปี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ๖๐ ปี สี่แผ่นดิน ๙๖ ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน” ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ ต่อด้วยการสัมมนาในภาคเหนือ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ภาค ใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และภาคกลาง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุพรรณบุรี และหลังจากการสัมมนาใน ๔ ภาค จะมีการจัดสัมมนา “ปราชญ์สยาม” ระดับชาติ ในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ๒๕๕๔
โดยแบ่งออกเป็น ๔ หัวข้อ คือ
(๑) คึกฤทธิ์กับการเมืองระหว่างประเทศ
(๒) คึกฤทธิ์กับสื่อมวลชน
(๓) คึกฤทธิ์กับศิลปการแสดง
(๔) คึกฤทธิ์กับสถาบันพระ
มหากษัตริย์ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะรับรู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่ช่วยพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศและความเป็นอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลศิลปิน-คึกฤทธิ์ การมอบทุนการศึกษา การสัมมนา นิทรรศการผลงานด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านวรรณกรรม ซึ่งจัดโดยหน่วยงาน สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ
“ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้มีความรู้ความสามารถหลายด้าน ในทางการเมืองท่านเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ ๑๓ เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง จนได้รับฉายา เสาหลักประชาธิปไตย ด้านวรรณกรรมท่านมีผลงานที่มีชื่อเสียง อาทิ สามก๊กฉบับนายทุน ตอนโจโฉ นายกตลอดกาล สี่แผ่นดินหลายชีวิต เป็นต้น สำหรับบทบาททางการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มีลักษณะของครูผู้มีเมตตาต่อศิษย์ถือเป็นครูตลอดชีวิตและเป็นศิลปินใหญ่ ได้รับการประกาศเกียรติคุณว่า เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ท่านแรก ในปี ๒๕๒๘” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว



