จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี

ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หัวข้อใหญ่ที่มีการถกเถียงและอภิปรายกันมากขึ้นเรื่อยในเรื่องแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ในปัจจุบันนี้ คงไม่มีเรื่องไหนที่มีผู้ให้ความสนใจทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างมากเท่ากับปัญหาเรื่องการปกครองแบบพิเศษในดินแดนของอาณาจักรปาตานีเก่า ที่ผ่านมามีผู้เสนอรูปการปกครองท้องถิ่นใหม่เรียกว่า “นครปัตตานี” ทำนองเดียวกับการปกครองแบบพิเศษในกรุงเทพมหานคร และพัทยา เป็นต้น ปฏิกิริยาและความเห็นจากรัฐบาล และสื่อมวลชน ไปถึงผู้คนทั่วไปมีความแตกต่าง หลากหลายและแสดงออกอย่างไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครมีข้อมูลแบบไหน และมีความเข้าใจในรูปแบบการปกครองนั้นๆอย่างไร บทความนี้ต้องการเสนอภูมิหลังและความเป็นมาของระบบการปกครองที่สยามกับอาณาจักรปาตานีได้เคยใช้และสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน กระทั่งมาถึงช่วงประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมสมัยใหม่ ที่ประเทศตะวันตกขยายอิทธิพลเข้ามายังดินแดนอุษาคเนย์ ผลสะเทือนของลัทธิล่าอาณานิคม นำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการปกครองระหว่างสยามกับบรรดาหัวเมืองประเทศราชและเมืองเจ้าพระยาสามนตราชต่างๆลงไป เพื่อจะได้คลายความตระหนกตกใจและหันมาทำความเข้าใจกับรูปแบบการปกครองในรัฐสมัยใหม่ด้วยมุมมองที่สอดคล้องกับธรรมชาติและความเป็นจริงในท้องถิ่นและชุมชนกับศูนย์กลาง
ปัญหาการเมืองของปัตตานีเช่นเดียวกับปัญหาความขัดแย้งอื่นๆในสังคมไทย เป็นปัญหาทางโลกทรรศน์ที่แตกต่างบางครั้งตรงข้ามกัน โลกทรรศน์มีส่วนสำคัญในการกำหนดและสร้างความคิดให้แก่คนในสังคมนั้นๆ โลกทรรศน์หนึ่งถือความยีดมั่นในศรัทธาในสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดปลูกฝังมา อีกโลกทรรศน์ยึดมั่นในหลักการแบบวิทยาศาสตร์ คือไม่เชื่อเพราะคนแต่ก่อนเชื่อมาอย่างนั้น หากแต่ต้องทำการศึกษาค้นคว้าและหาหลักการของเรื่องนั้นออกมาให้ได้ แบบแรกมักมีความโน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยม แบบหลังหนักไปทางเสรีนิยม สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของสังคม โลกทรรศน์แบบอนุรักษ์นิยมได้รับการตอบรับและตอกย้ำจากการปฏิบัติ ความเชื่อและสมมติฐานของฝ่ายรัฐและระบบราชการอย่างไม่น้อย ทำให้ความรู้ ข้อมูลจากสังคมมิติและด้านอื่นนั้นเป็นส่วนรองหรือกระทั่งไม่มีความหมายไปเลย ส่งผลให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมา มักเป็นการทำแบบเกาไม่ถูกที่คัน หรือตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือไม่ก็เป็นแบบผักชีโรยหน้าไปเสียเป็นส่วนใหญ่ กรณีเรื่องรูปแบบการปกครองท้องถิ่นของปัตตานีก็เช่นกัน คนที่ออกมาคัดค้านกระทั่งตีความว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนนั้น ประมวลผลดีและผลเสียของรูปแบบใหม่จากความเชื่อสมัยใหม่ ทว่ายังไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐปัตตานีในอดีต ซึ่งมีพัฒนาการ ความเป็นมา มีเหตุและมีผลของแต่ละรัฐเองอย่างจริงจัง ทำให้มองเห็นแต่อาณาจักรสยามไทยเพียงแห่งเดียวในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ มองไม่เห็นประวัติศาสตร์ของรัฐอื่นๆที่เล็กกว่า แต่ก็มีประวัติความเป็นมาของตนเองเหมือนกัน ทำให้เกิดมีความทรงจำและมีอัตลักษณ์ของผู้คนในรัฐนั้นๆแบบอัตวิสัยด้านเดียว การที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจประวัติของรัฐและผู้คนอื่นๆ ก็จะไม่เข้าใจปัญหาและที่มาของความขัดแย้ง จะอาศัยเพียงความรู้เรื่องรัฐสยามฝ่ายเดียวแล้วไปตัดสินอัตลักษณ์คนอื่นๆ เห็นได้ว่าไม่อาจนำมาซึ่งความเข้าใจและเป็นมิตรกันได้
ระบบบรรณาการ (tributary system)
ระบบการปกครองระหว่างเมืองหรือรัฐต่างๆในอุษาคเนย์แต่โบราณนั้น ใช้ระบบที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ระบบมณฑล” หรือ mandala กล่าวคือบรรดารัฐและผู้นำเหล่านั้นได้ศึกษาบทเรียนจากการอยู่ร่วมกันในอดีตแล้วพบว่ามีวิธีการในการทำให้พื้นที่ทางการเมือง(คือรัฐและอาณาจักรต่างๆ)นั้นเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายมากที่สุดด้วยการทำตามทฤษฎีมณฑลนี้ ในแนวคิดทฤษฎีนี้ทุกๆรัฐและเมืองต่างเป็นส่วนหนึ่งหรือสมาชิกหนึ่งของระบบนี้หรือระบบที่เกี่ยวพันกัน ไม่มีใครสามารถอยู่รอดได้คนเดียวโดยไม่สนใจเพื่อนบ้านอื่นๆ ความเป็นอิสระที่ได้มาจากการเป็นกลางอย่างแท้จริงนั้นไม่มี มันไม่อาจดำรงอยู่ได้ในโลกของความเป็นจริง หากแต่รัฐที่เป็นสามนตราชหรือรัฐบรรณาการต่างหากที่อาจมี “นโยบายต่างประเทศ” ที่เป็นกลางได้ โดยต้องแลกกับการเสียสิทธิบางอย่างของตนไปให้แก่รัฐที่ใหญ่กว่า กษัตริย์รักษาตนอยู่ในวังวนของชีวิตที่หลากหลายได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบและปัจจัยแวดล้อมต่างๆในระบบให้ได้มากที่สุด การสร้างพันธมิตรระหว่างรัฐต่างๆก็เป็นผลมาจากการที่รัฐเหล่านั้นอยู่ในภูมิศาสตร์แบบไหน (Wolters, 2008, 157)
ในทางภูมิศาสตร์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต ซึ่งได้แก่อาณาจักรปาตานีเก่า ซึ่งรวมเมืองยะลา นราธิวาสไว้ด้วยกัน แต่ไม่มีสตูลอยู่ด้วย เพราะสตูลแต่ก่อนอยู่กับเมืองไทรบุรีหรือเคดาห์ ต่อมาเมื่อลงนามสัญญาอังกฤษสยามในปีพ.ศ. ๒๔๕๒ ( คศ. ๑๙๐๙) ทำให้อังกฤษยอมรับรองอำนาจของกรุงสยามเหนือเมืองปัตตานี แลกกับการได้สิทธิเหนือเมืองกลันตัน ตรังกานูและไทรบุรีไป โดยที่ตัดส่วนที่เป็นสตูลให้กับสยามไปด้วย ดังนั้นสตูลจึงไม่เคยมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอะไรร่วมกับฝ่ายปาตานีเลย ตั้งแต่สมัยโน้นกระทั่งสมัยปัจจุบัน อาณาบริเวณดังกล่าวนี้เป็นที่ตั้งของศูนย์อำนาจสำคัญ ๒ แห่งคือ ปาตานีทางฝั่งตะวันออก และไทรบุรีทางฝั่งตะวันตก แสดงออกในการเป็นรัฐเมืองท่าสำคัญในบริเวณตอนกลางของคาบสมุทรมลายูโบราณ ในสมัยอยุธยา ปาตานีเป็นศูนย์รวมของสินค้าพื้นเมืองอันได้แก่เครื่องเทศ พริกไทยและของป่า เป็นเมืองท่าส่งผ่านสินค้าจากจีนและยุโรป แม้ว่าปาตานีประกาศรับรองในความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์อยุธยา(รัฐสยามไทย) แต่ความสัมพันธ์ในการปกครองก็ไม่เหมือนกับเมืองประเทศราชอื่นๆ ด้วยปัจจัยทางระยะทางและลักษณะเมืองท่าของปาตานีเองที่ทำให้ปาตานีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสยาม แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง อันเป็นลักษณะหนี่งของรัฐเล็กๆที่ดำรงอยู่ตามชายของของรัฐใหญ่ๆ เช่นในตอนเหนือของเกาะชวา คาบสมุทรมลายา หรือบริเวณตอนล่างของพม่าและเวียดนาม รัฐเล็กๆเหล่านั้นต่างมีอิสระในการปกครองและสืบทอดอำนาจของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น (ยงยุทธ ชูแว่น, ๒๕๕๐, ๓๙)
ประเด็นต่อมาที่มักมีความสับสนกันพอสมควรเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ยุคอาณาจักรกับเมืองสามนตราชก็คือปัญหาเรื่องฐานะของเมืองประเทศราชว่าคืออะไร โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่าก็เหมือนกับการเป็น “เมืองขึ้น” ของประเทศใหญ่ที่มีกำลังเหนือกว่านั่นเอง ความคิดเรื่องเมืองขึ้นในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา คือการสูญเสียอิสรภาพของชาติหรือประเทศ มโนทัศน์ของพระองค์ท่านใกล้กับคำว่า independence ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ในความเป็นจริง “อิสรภาพ” ของรัฐชาตินั้นเป็นนวัติกรรมสมัยใหม่ เป็นจินตนาการที่เพิ่งถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเมื่ออาณาจักรกษัตริย์แบบยุคฟิวดัลหรือศักดินาได้เสื่อมสลายไป และกำลังก่อรูปแบบของรัฐสมัยใหม่ที่เรียกว่ารัฐประชาชาติ ช่วงเวลาก็ตกราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา โดยเฉพาะหลังจากการปฏิวัติอเมริกาและปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส นั่นคือปลายยุคกรุงศรีอยุธยากำลังจะขึ้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงอธิบายความหมายของเมืองขึ้นตั้งแต่ตั้งกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๑๘๙๓ (คศ. ๑๓๕๐) ดังที่ได้ทรงอธิบายการสร้างกรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าอู่ทองว่า ไม่ได้สร้างพระนครทันทีที่เสด็จมาถึงเมืองอโยธยา ความจริงไม่ใช่ พระเจ้าอู่ทองได้ยกมาตั้งเป็นเมืองเล็กๆก่อน อยู่ที่เวียงเหล็ก(ต่อมาสร้างเป็นวัดพุทไธศวรรย์) ได้ ๓ ปี “เมื่อเห็นเวลาอันควรจะประกาศเป็นอิสรภาพเปิดเผยได้แล้ว จึงสร้างพระนครศรีอยุธยาและทำพิธีราชาภิเษกโดยประกาศเป็นอิสรภาพ เมื่อปีขาล(ที่จริงปีเถาะยังเป็น)โทศก จุลศักราช ๗๑๒ พ.ศ. ๑๘๙๓” (สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ, ๒๕๑๖, ๑๐๗)
การเป็นเมืองประเทศราช หรือเมืองขึ้น ในศัพท์ว่า dependencies จึงหมายถึงการที่รัฐเล็กยอมรับในอำนาจของรัฐใหญ่ที่เหนือกว่า และการยอมรับดังกล่าวนั้นไม่ใช่สิ่งถาวร อาจยาวเป็นหลายปี หรืออาจสั้นไม่กี่เดือนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขของสัมพันธภาพระหว่างรัฐทั้งหลายในมณฑลเดียวกันหรือที่เกี่ยวพันกันว่าดำรงอยู่ในลักษณะอะไร รัฐปาตานี และไทรบุรีจึงสามารถยอมรับในความเหนือกว่าของทั้งรัฐสยามและมะละกาได้ในเวลาเดียวกัน แต่จะยอมรับใครมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นๆ จึงดูเหมือนกับระบบบรรณาการเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีการกบฏ ขัดขืน ต่อต้านจากบรรดารัฐเล็กๆอยู่ตลอดเวลา หากมองจากสายตาของศูนย์กลางในทรรศนะสมัยใหม่ ก็จะสรุปว่ารัฐบรรณาการหรือประเทศราชมักไม่จริงใจ ทำตัวเป็น “ขอมแปรพักตร์” เลยถูกทำให้กลายเป็น “ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์” ของอาณาจักรใหญ่เสมอมา นี่เป็นทรรศนะทางประวัติศาสตร์ที่ผิด ควรจะแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐในอดีตที่ยังส่งทอดมายังปัจจุบันกันต่อไป กล่าวได้ว่าการเมืองของรัฐชายขอบจึงเป็นอิสระในความหมายว่าไม่ผูกติดขึ้นอยู่กับศูนย์อำนาจใดอย่างตายตัวเหมือนเมืองอาณานิคม พูดอย่างสมัยปัจจุบันก็คือมีความเป็นตัวของตัวเอง ทำการปกครองมีสิทธิอำนาจทางการเมืองและการเงินเหนือประชากรในรัฐของตนเองอย่างเต็มที่ ความหมายดังกล่าวนี้จึงใกล้กับคำว่า autonomy หรือปกครองตนเองอย่างจำกัด เพราะยังยอมรับในอำนาจที่เหนือกว่าอยู่
กล่าวได้ว่ามโนทัศน์ว่าด้วยความเป็นอิสรภาพของรัฐยังไม่เกิดไม่ว่าในตะวันตกหรือในตะวันออก ความคิดโบราณของสยามไทยว่าด้วย “อิศรภาพ” ก็มีอยู่แล้ว คือหมายความว่าอำนาจของผู้เป็นใหญ่หรือพระอิศวร ศัพท์นี้มีปรากฏในกฎหมายตราสามดวง จึงไม่ใช่ความเป็นอิสระ ไม่เป็นข้าประเทศอื่นในลักษณะของการตกเป็นข้าทาสหรือเป็นอาณานิคม อิสรภาพแบบโบราณจึงมีนัยถึงอำนาจในตัวบุคคลผู้มีฐานะเหนือกว่า อำนาจนี้ถ่ายทอดไปยังคนอื่นหรือให้แก่ประเทศและรัฐไม่ได้ เพราะมองว่ารัฐก็คือตัวตนของกษัตริย์นั่นเอง ความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ยุคดังกล่าว จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้นำคือกษัตริย์ด้วยกันเอง เพียงแต่อ้างในนามของอาณาจักรหรือรัฐนั้นๆ แต่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างราษฎรของทั้งสองรัฐนั้น เอาเข้าจริงๆแล้วนโยบายการปกครองและการปฏิบัติที่กษัตริย์กระทำต่อราษฎรก็คล้ายๆกันคือไม่ได้คำนึงถึงความทุกข์ยากลำบากและความไม่ยุติธรรมของราษฎรข้างล่างเท่าใดนัก ดังนั้นการที่กษัตริย์รัฐหนึ่งจะยึดอำนาจแล้วขับไล่ผู้ปกครองคนเดิมออกไปจากอำนาจจีงเป็นสิ่งปกติที่ราษฎรไม่จำเป็นต้องเข้ามาปกป้องรักษาอำนาจให้ ยิ่งถ้ากษัตริย์องค์ใหม่สามารถให้ความสุขและความอยู่ดีกินดีแก่ราษฎรได้มากกว่า ก็จะได้รับการยอมรับจากราษฎรเมืองนั้นๆได้
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐปาตานีกับอาณาจักรสยามโดยเฉพาะอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ดำเนินไปตามวัฏจักรของระบบมณฑลดังกล่าวมาแล้ว มีการเคลื่อนไหวจากแบบเมืองขึ้นหรือเมืองพึ่งที่การยอมรับในอำนาจของสยามมาก กับแบบเมืองเอกเทศที่รายาปาตานีมีอำนาจในการจัดการเมืองและคนของตนเองได้มาก เกือบเรียกว่าเป็นการปกครองตนเองหรือเป็นอิสระในระดับท้องถิ่น ส่วนรูปแบบใหญ่นั้นยังเป็นระบบบรรณาการ ที่ทุกฝ่ายยอมรับในฐานะของรัฐที่ไม่เท่ากัน การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั้งหลายก็เพื่อทำให้เกิดความสงบสันติมากที่สุด หลีกเลี่ยงการสงครามและการปะทะแข่งขันอย่างไม่มีทางออก สัญลักษณ์ของระบบบรรณาการคือการส่งต้นไม้ทองคำหรือบุหงามาสไปให้รัฐที่เป็นเจ้าพ่อ
อาณาจักรอยุธยามีความสัมพันธ์แบบบรรณาการเป็นอย่างดีกับรัฐปาตานีตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ และ ๑๖ ก่อนหน้านั้นกรุงสุโขทัยก็มีความสัมพันธ์ดังกล่าวกับปาตานี มีหลักฐานว่าในศตวรรษที่ ๑๔ พระบรมราชาที่ ๑ (๑๓๗๐-๘๘) มีสนมที่เป็นลูกสาวของขุนนางปาตานี และแต่งลูกๆของเธอไปกับเจ้าเมืองสิงหปุระในปี ๑๓๙๘ ปาตานีต้องเดินนโยบายระหว่างประเทศที่รักษาดุลอำนาจระหว่างอยุธยากับมะละกา ครั้งหนึ่งปาตานียกทัพไปตีมะละกา แสดงว่าปาตานีมีความสัมพันธ์อันดียิ่งกับฝ่ายสยาม ในปี คศ. ๑๕๙๒ เจ้าเมืองไทรบุรี(เคดาห์)ส่งคณะบรรณาการไปยังราชสำนักอยุธยาสมัยพระนเรศวร ในปี ๑๖๔๐ ทั้งปาตานีและยะโฮร์ส่งเครื่องบรรณาการไปให้กรุงศรีอยุธยา ทั้งหมดนี้แสดงว่าในสมัยนั้นบรรดารัฐมลายูต่างพากันยอมรับในอำนาจของอยุธยา
นอกจากสัมพันธภาพที่เรียบร้อยและมีความเป็นมิตรต่อกันระหว่างรัฐทั้งหลาย อีกด้านก็ยังมีความสัมพันธ์ในเรื่องการสงครามและการใช้กำลังต่อสู้กันเกิดขึ้น เช่นมะละกาไม่ยอมส่งสาส์นแสดงความจงรักภักดีต่ออยุธยาในสมัยของสุลต่านมุดซาฟา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาจึงส่งกองทัพลงไปปราบ แต่ไม่สำเร็จ สงครามครั้งนั้นไม่มีการบันทึกผลของการสงครามในพระราชพงศาวดารไทย หากแต่ในซะยาเราะฮ์มลายู(พงศาวดารมลายุ)มีการกล่าวถึงสงครามครั้งนั้นว่าสยามไม่ได้ชนะ พงศาวดารมลายูยังบันทึกถึงการสงครามอีกหลายครั้งระหว่างสยามกับมะละกาตลอดศตวรรษที่ ๑๕ ในสงครามครั้งหนึ่งเจ้านายฝ่ายสยามเสียชีวิตลงด้วยธนูศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายมะละกา
การสงครามที่มีการบันทึกไว้มากได้แก่เหตุการณ์ที่ปาตานีใช้กำลังบุกอยุธยา หลังจากที่ปาตานีส่งกำลังว่าจะมาช่วยอยุธยาทำศึกกับพม่า ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เขียนว่า “ขณะนั้นพระยาตานีศรีสุลต่าน ยกทัพเรือหย่าหยับสองร้อยลำเข้ามาช่วยราชการสงคราม ถึงทอดอยู่หน้าวัดกุฏิบางกะจะ รุ่งขึ้นยกเข้ามาทอดอยู่ประตูไชย พระยาตานีศรีสุลต่านได้ทีกลับเป็นกบฏ ก็ยกเข้าในพระราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าไม่ทันรู้ตัวเสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีลักหลาดหนีไปเกาะมหาพราหมณ์ และเสนาบดีมุขมนตรีพร้อมกันเข้าในพระราชวัง สะพัดไล่ชาวตานีแตกฉานลงเรือรุดหนีไป...”(กรมพระยาดำรงฯ, ๑๗๖) อ่านดูแล้วยากจะเข้าใจเหตุผลของฝ่ายปาตานีในการ “กบฏ” ว่าคืออะไร อุตส่าห์ยกกองทัพเรือหลายร้อยลำมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อหลอกเข้าโจมตี แสดงว่าต้องมีการวางแผนก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ จากหลักฐานพงศาวดารปาตานี กล่าวว่าก่อนหน้านี้ทั้งสุลต่านปาตานีกับพระมหาจักรพรรดิก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีการแลกเปลี่ยนสันถวไมตรีทางการทูตกัน แต่หลังจากนั้นทางปาตานีอ้างว่ากษัตริย์อยุธยาได้ปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมดีงามต่อฝ่ายปาตานี “kerana Raja Siam memandang darjat baginda itu sangat rendah dari padanya” [เพราะกษัตริย์สยามดูถูกว่ารายาปาตานีมีศักดิ์ที่ต่ำกว่าของตนมาก] (Tueew and Wyatt 1970: 228)
หากตีความตามหลักฐานโบราณ หมายความว่ากษัตริย์สยามกับสุลต่านปาตานีทะเลาะกระทั่งใช้กำลังเข้าสยบอีกฝ่ายหนึ่งเนื่องด้วยการดูถูกกัน ไม่ใช่จากปัญหาใหญ่ๆทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเช่นนั้นหรือ ความจริงแล้วพงศาวดารโบราณเขียนถูกแล้ว ว่ามูลเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างรัฐบรรณาการกับรัฐใหญ่นั้นล้วนมาจากเรื่องส่วนตัว เรื่องเกียรติยศ ศักดิ์ศรี การแสดงออกถึงฐานันดรแห่งความเป็นกษัตริย์ของแต่ละรัฐก็แสดงออกผ่านตัวบุคคลของกษัตริย์ นัยของความขัดแย้งดังกล่าวแสดงว่าปัญหาและความขัดแย้งในยุคก่อนโน้นเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่เป็นกษัตริย์หรือสุลต่าน ไม่ใช่ความขัดแย้งของรัฐและราษฎร ไม่มีเส้นแขตแดนที่แน่นอนตายตัวของรัฐ และก็ยังไม่มีอัตลักษณ์ของประชากรแห่งรัฐนั้นๆ การอ่านกลับไปในประวัติศาสตร์ของสยามเก่าและปาตานีเก่า จึงต้องตระหนักว่ามโนทัศน์เรื่องสงคราม ความขัดแย้งก็ดี ล้วนเป็นเรื่องของผู้นำแต่ละคนแต่ละสมัย ไม่ใช่ของอาณาจักรและรัฐหรือประเทศดังที่เราคิดและเข้าใจในปัจจุบัน ดังนั้นการมองว่าสงครามและความขัดแย้งในยุครัฐบรรณาการก็เป็นความขัดแย้งแบบเดียวกันกับที่กำลังเกิดในปัจจุบันจีงไม่ถูกต้อง ระบบมณฑลและวัฏจักรของความสัมพันธ์แห่งอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างกษัตริย์และรายาทั้งหลายในคาบสมุทรมลายาได้จบสิ้นไปแล้ว ที่เหลือคือบทเรียนและความเข้าใจที่คนรุ่นปัจจุบันจะซึมซับและนำมาเป็นเครื่องนำทางให้แก่การปฏิบัติของเราในยุคใหม่
แนวคิดว่าด้วย “รัฐและชาติไทย/มลายู” สมัยใหม่ ก่อรูปและพัฒนามาในช่วงเวลาของรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อบรรดาประเทศรัฐชาติสมัยใหม่ในยุโรปที่ทรงพลัง ภายหลังสงครามนโปเลียนยุติลง พากันเคลื่อนเข้ามาสร้างฐานสำหรับการค้าและอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียและอุษาคเนย์ นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ มา สยามและปาตานีเริ่มเรียนรู้ถึงบุคลิกแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปของชาวยุโรปและสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเบื้องหลังพ่อค้านักการทูตยุโรปก็คืออำนาจรัฐสมัยใหม่ที่มีอานุภาพ แนวคิดว่าด้วยประเทศและสังคมของตะวันตกก็เปลี่ยนไป มีการให้ความสำคัญมากขึ้นแก่รัฐชาติใหม่ที่เน้นพรมแดน และการทำสนธิสัญญา กล่าวคือรัฐชาติเหล่านั้นทำตัวเหมือนกับนิติบุคคลไปแล้ว ผู้นำชั้นสูงในราชสำนักเริ่มให้ความสนใจและค่อยๆตระหนักถึงความเป็นจริงอันใหม่ที่กำลังก่อรูปขึ้น ดังเห็นได้จากปฏิสัมพันธ์และการปรับตัวของผู้นำสยามสมัยรัชกาลที่ ๔ ในหลายด้าน ทั้งทางการเมืองและการศึกษา การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสยามเกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะทางการเมืองการปกครองนั้น ได้รับแรงบีบคั้นจากลัทธิอาณานิคมตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสในภาคเหนือ อีสานและตะวันออก และอังกฤษในภาคใต้ นำไปสู่นโยบายในการปฏิรูปการปกครองสยาม และการรวมศูนย์การปกครอง หรือจัดระบบการปกครองและความสัมพันธ์กับบรรดาหัวเมืองและประเทศราชเสียใหม่
เกี่ยวกับปัญหารูปแบบการปกครองหัวเมืองมลายูทั้ง ๗ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่าการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจการปกครองมาที่กรุงเทพฯ ข้อที่ไม่มีนักประวัติศาสตร์ไทยพูดถึงมากนัก ได้แก่การที่รัชกาลที่ ๕ ตรงตระหนักเป็นอย่างดีถึงความไม่เหมาะสมและไม่สะดวกในการปกครองแบบเทศาภิบาลที่สยามนำลงไปใช้ในหัวเมืองทั้งหลายทั้งเมืองลาวและเมืองแขก กล่าวคือ
“เป็นการฝืนความจริงอยู่ ฤาจะกล่าวว่าเราเอาแบบฝรั่งมาใช้ แต่ใช้ในทางที่ผิดก็ว่าได้” เพราะว่าเราถือว่าเมืองเหล่านั้นเป็น “เมืองของเรา พวกลาวพวกแขกเป็นข้าราชการคนหนึ่ง” จะติดต่อสมาคมกับใครก็ย่อมได้ “แต่ความนั้นไม่จริงแขกฤาลาวเขาก็ถือว่าเป็นเมืองของเขา การที่เราทำเป็นว่าไว้ใจนั้นก็ไม่ได้ไว้ใจจริงๆ” (Tej Bunnag, 1968)
เอาปลัดและข้าหลวงไปกำกับพวกเจ้าเมืองนั้นอีก โดยที่ข้าหลวงก็ไม่มีอำนาจอะไร นอกจากไปเป็นหุ่นเชิด หรือไม่ก็เป็นคนสอดแนม ได้ความลับอะไรก็กระซิบกันมา รัชกาลที่ ๕ ทรงเปรียบเทียบวิธีการที่ฝรั่งอาณานิคมทำ เขาทำให้เจ้าเมือง “ขึ้นไปเป็นสวรรค์เป็นเทวดา เกือบไม่ต้องทำอะไร มีน่าที่แต่เพียงเซ็นชื่อกับได้เงิน ข้างเราขืนใจให้มาทำการที่ไม่พอใจจะทำ แล้วซ้ำต้องเป็นตัวแมงกลางแปลงอยู่เสมอ” ใครเขาอยากจะทำ
นั่นเป็นความเห็นของรัชกาลที่ ๕ ที่มีต่อปัญหาในการปฏิรูประบบการปกครองหัวเมืองของสยาม ทั้งๆที่ทรงรู้ถึงการฝืนความจริง แต่ที่สยามจำต้องทำไปก็ด้วยปัญหาที่อังกฤษก็กำลังขยายผลประโยชน์เข้ามาเหนือหัวเมืองมลายูทั้งหลายด้วย กระบวนการเจรจาและในที่สุดรักษาอาณาเขตสยามเหนือปัตตานีได้ จึงไม่ใช้การ “เสียดินแดน” ดังที่นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายมักอธิบายกันต่อๆมา หากแต่แท้จริงแล้วควรเรียกอย่างที่ดร.เตช บุนนาคเสนอคือเป็น “การประนีประนอมเพื่อรักษาดินแดน” ของรัชกาลที่ ๕ มากกว่า
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ การปกครองมณฑลปัตตานีค่อยๆสร้างความขัดแย้งและตึงเครียดขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศใช้นโยบายใหม่ๆหลายประการเช่น การเก็บภาษีหลายอย่างขึ้น การบังคับเข้าเรียนประถมศึกษา และการเก็บภาษีพลีเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาให้ และยังมีเรื่องศาลศาสนาอีก ในที่สุดมีข่าวมาถึงส่วนกลางว่ามีการรวมตัวกันของชาวบ้าน และว่าถูกยุยงโดยเจ้าเมืองปัตตานีคนเก่าคือตนกูอับดุลการ์เดให้ก่อจลาจลขึ้นในปี ๒๔๖๕ ทางการได้จับชาวบ้านมุสลิมไปหลายสิบคน ส่งฟ้องข้อหาขบถ ๑๕ คน น่าสังเกตว่าเหตุการณ์และผลลงเอยของกรณีนี้ ซึ่งทางการยังเรียกว่า “ขบถ พ.ศ. ๒๔๖๕” นั้นคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ต่อมาที่รู้จักกันดีว่า “กบฎดุซงญอ” คือเป็นการตีความและขยายผลไปในทางลบของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่กันเอง ส่งผลให้กรุงเทพฯเกิดความหวาดกลัวและไม่ไว้ใจคนในปัตตานีมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในทางนโยบายการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๖ กลับแสดงถึงวุฒิภาวะและความเข้าใจในปัญหามณฑลปัตตานีของข้าราชการผู้ใหญ่ในขณะนั้น ที่สำคัญคือเจ้าพระยายมราช ผู้ไม่เห็นด้วยกับการตีความและตกใจกลัวอย่างไร้เหตุผลของรัฐบาล จีงได้เสนอให้มีการทบทวนและศึกษาข้อเท็จจริงของกรณี “ขบถ ๒๔๖๕” อย่างจริงจัง ผลคือการนำไปสู่การออกนโยบายใหม่เรียกว่า “หลักรัฐประศาสโนบาย ๖ ประการ” ซึ่งเป็นการดัดแปลง แก้ไขระเบียบราชการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความเป็น “ท้องที่พิเศษด้วยภูมิประเทศแลบุคคล” และออก “สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม” ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖
แม้นโยบายดังกล่าวจะไม่ใช่การสร้างระบบการปกครองพิเศษถึงขึ้นปกครองตนเองก็ตาม แต่ก็มีการประนีประนอม โอนอ่อนยอมรับอัตลักษณ์และบทบาทของคนมุสลิมท้องถิ่นมากขึ้น กล่าวได้ว่าในทางความคิดและหลักการ รัฐบาลกรุงเทพฯสมัยนั้นตระหนักดีถึงความจำเป็นในการที่มณฑลปัตตานีต้องมีรูปการปกครองที่พิเศษ ไม่เหมือนกับเมืองและมณฑลอื่นๆในประเทศได้ นโยบายดังกล่าวไม่มีโอกาสปฏิบัติได้นานนัก เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พศ. ๒๔๗๕ อันนำไปสูการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบภูมิภาคและแบบท้องถิ่นขึ้น ระบบมณฑลเทศาภิบาลเป็นอันสิ้นสุดไป
ในยุครัฐบาลระบบประชาธิปไตย คนมลายูมุสลิมภาคใต้มีผู้แทนราษฎรเข้าไปนั่งในรัฐสภาด้วยแต่ปัญหาหลายอย่างไม่อาจแก้ไขได้โดยทางรัฐสภา หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง กลุ่มมุสลิมในปัตตานีมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “คำร้องขอ ๗ ประการ” เรื่องนี้สำคัญมากต่อการเข้าใจปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ”การแบ่งแยกดินแดน” เพราะมันจะกลายมาเป็นหลักฐานเอกในการกล่าวหาและทำให้ผู้นำมุสลิมกลายเป็น “ผู้ร้าย” ไปอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ผู้นำการเมืองของคนปัตตานีคนสำคัญที่ถูกจับกุมคือฮัจญีสุหลง
กล่าวโดยสรุป บทความนี้ต้องการเสนอข้อคิดว่าระบบการปกครองใดๆก็ตามย่อมต้องเกิดมาจากสภาพความเป็นจริงในท้องที่นั้นๆและในระบบความสัมพันธ์กับอำนาจที่เหนือกว่า ปัจจุบันระบบอำนาจทางการเมืองการปกครองดำเนินไปบนหลักการของระบบประชาธิปไตย คืออำนาจสูงสุดหรืออธิปไตยนั้น ซึ่งแต่ก่อนอยู่ในตัวกษัตริย์ มาบัดนี้ได้เลื่อนไหลลงมาอยู่กับราษฎรทั้งปวงแล้ว ระบบปกครองในท้องที่ก็ต้องดำเนินไปบนหลักการของประชาธิปไตย คือให้อำนาจการปกครองเป็นของราษฎรทั้งปวง ดังปรากฏการณ์ล่าสุดในประเทศอาหรับและตะวันออกกลางซึ่งเกิดคลื่นของการปฏิวัติประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยมโดยมหาประชาชนในรัฐนั้นๆ อย่างไม่มีใครขวางกั้นได้ สัจธรรมข้อนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ปัญหาใหญ่ต่อไปคือประชามหาชนจะทำการปกครอง จัดระเบียบระบบการเมืองและเศรษฐกิจของตนอย่างไร จึงจะทำให้อำนาจอธิปไตยที่ได้มานั้นไม่กลายเป็นอำนาจอธรรมที่หันมาทำร้ายประชาชนและสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาอีก
๖ กันยายน ๒๕๕๔
บรรณานุกรม
Tej Bunnag, 1968. “The Provincial Administration of Siam from 1892-1915.” Ph.D Dissertation. University of Oxford.
Thanet Aphornsuvan. 2007. Rebellion in Southern Thailand: Contending Histories. East-West Center Washington policy studies, PS 35.
Tueew, A. and David K. Wyatt. 1970. Hikayat Patani: The Story of Patani, 2 Vols. The Hague: Martinus Nujhoff.
Wolters, O.W.2008. Early Southeast Asia: Selected Essays. Craig J. Reynolds, ed. Ithaca: Cornell University Press.
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ๒๕๑๖. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์คลังวิทยา.
ยงยุทธ ชูแว่น บก. ๒๕๕๐. คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ นาคร.
เอกสารข้างบนนี้ใช้ โครงการ สานสายสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 2
ห้องประชุมคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน พ.ศ. 2554
สนับสนุนโดย สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ภาคีองค์กรร่วมจัด
สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
สโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.วิทยาเขต ปัตตานี
ผู้รับผิดชอบโครงการ
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม