จาก มติชน ออนไลน์
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:11:10 น.
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332145083&grpid=&catid=19&subcatid=1904

คณะกรรมการ "กองทุนศรีบูรพา" แจ้งว่า มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้สมควรได้รับรางวัล "ศรีบูรพา" ประจำปี 2555
"รางวัลศรีบูรพา" เป็นกิจกรรมหนึ่งของ "กองทุนศรีบูรพา" ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ - "ศรีบูรพา" นักประชาธิปไตย นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทยและของโลก เป็นรางวัลที่มอบแก่ศิลปิน นักคิด นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า และมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงาม รวมทั้งเป็นแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม
โดยมีเงื่อนไขการพิจารณาดังนี้
1.เป็นนักคิด นักเขียน นักแปล กวี หรือนักหนังสือพิมพ์ที่มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงามและแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม และมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน อย่างเช่น "ศรีบูรพา"
2.มีผลงานติดต่อกันมายาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
3.ยังมีชีวิตอยู่
พิธีมอบ "รางวัลศรีบูรพา" จะมีขึ้นพร้อมกับการจัดงาน "วันนักเขียน- 5 พฤษภา" ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ประวัติย่อ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นนักเรียนทุนภูมิพล เรียนจบรัฐศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นได้ทุนการศึกษาจาก East-West Center ไปเรียนต่อจนจบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจาก University of Hawai’i (at Manoa) สหรัฐอเมริกา โดยทำวิทยานิพนธ์ในสาขาปรัชญา-ทฤษฎีการเมืองสันติวิธีเรื่อง The Nonviolent Prince ได้รับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาให้รับรางวัล 1982 Council of Graduate Schools/University Microfilms, International Dissertation Award
ชัยวัฒน์ สอนวิชา "ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมือง" อันน่าจะนับได้ว่าเป็นการสอนวิชาสันติวิธีอย่างเป็นทางการในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน
ปัจจุบันสอนวิชา "ปรัชญาการเมืองในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด" และ "สัมมนาการเมืองกับนวนิยาย" ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนี้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประสบการณ์การทำงานในอดีต เคยเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งเป็นนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, เป็นคณะกรรมการแก้ไขความขัดแย้งกรณีท่อแก๊ซยาดานา, เป็นประธานกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล, เป็นอดีตรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เคยเป็นนักวิจัย (Research Fellow) ของ Institute for Southeast Asian Studies (ISEAS), Singapore, ศาสตราจารย์รับเชิญ คณะรัฐศาสตร์ University of Hawai’i, และเคยเป็น ศาสตราจารย์ประจำโครงการศึกษาสันติวิธีของ International University for People’s Peace (IUPIP), Rovereto, Italy
นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา, เป็นรองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ เป็นต้น
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ได้รับยกย่องเป็น ครูดีเด่นจาก มูลนิธิ เอกิน เลาเกเซ่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2541) เป็นกีรติยาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2549) เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของสภาวิจัยแห่งชาติ (2549) ปัจจุบันเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 2549-2552 และ 2553-2556
ผลงานทางวิชาการของดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มีงานเขียนงานวิจัยทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานเหล่านี้ถูกตีพิมพ์ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ งานหลายชิ้นถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอาหรับ อินโดนีเซีย อิตาเลียน เยอรมัน ญี่ปุ่น และ เกาหลี มีผลงานเขียนทั้งในฐานะผู้เขียนและบรรณาธิการเป็นหนังสือประมาณ 25 เล่ม
ผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นเล่มในภาษาต่างประเทศบางเล่มได้แก่
Islam e Nonviolenza. (Trans. into Italian by Paolo De Stafani) (Torino: Edizioni Gruppo Abele, Novembre 1997)
Agama dan Budaya Perdamaian (Religion and Peace Culture). (Translated into Bahasa Indonesia by Taufik Adnan Amal) (Yogyakarta: Forum kajian Budaya dan Agama, Pusat Studi Keamanan dan Perdamaian, University Gadjah Madah; Quaker International Affairs, 2001)
The Life of This World: Negotiating Muslim Lives in Thai Society. (Singapore, New York: Marshall Cavendish, 2005)
Essays of the Three Prophets: Nonviolence, Murder and Forgiveness (Dunedin: Dunedin Abrahamic Interfaith Group, University of Otago, 2011)
ผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นเล่มในภาษาไทยล่าสุดได้แก่
ความรุนแรงกับการจัดการ "ความจริง" : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551)
(บรรณาธิการ) แผ่นดินจินตนาการ : รัฐและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ (สำนักพิมพ์มติชน, 2551)
(บรรณาธิการ) หมู่บ้าน...ไม่สงบ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2553)
(บรรณาธิการ) ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย (สำนักพิมพ์มติชน, 2553)
ผลงานทั่วไปนอกวงวิชาการได้แก่
(งานแปล) ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน (คบไฟ, 2544)
ราวกับมีคำตอบ (สารคดี, 2547)
มีกรอบไม่มีเส้น (สารคดี, 2547)
ถึงเว้นไม่เห็นวรรค (สารคดี, 2547)