วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
โดย ทองแถม นาถจำนง
ราชการจัดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทย นัยว่าเพื่อให้มีพื้นที่ทางสังคมสำหรับเคลื่อนไหวกระตุ้นเตือนให้รักภาษาไทย ช่วยกันรักษา ป้องกันมิให้เพี้ยนไปจนวิบัติ
โดยหลักกว้างแล้ว ๆ มีวันภาษาไทยไว้ก็ดีเหมือนกัน แต่ก็ควรจะมีการสังคายนาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นความรู้ร่วมกันทั้งสังคม
ประการแรกเลยวันภาษาไทยนี้มีกรอบกว้างแค่ไหน ?
วันภาษาไทย เราจะให้หมายความถึง “ภาษาประจำชาติ” ที่เป็นภาษาราชการในขอบเขตรวมทั้งประเทศ ซึ่งก็คือภาษาเขียนที่ใช้ตัวอักษรไทยเท่านั้น
หรือจะกำหนดกรอบให้กว้างกว่านั้น เป็นต้นว่า เป็นภาษาที่พลเมืองสัญชาติไทยใช้กัน อันประกอบด้วยชนหลายวัฒนธรรมภาษา เช่น ไทยกลาง, ไทยอีสาน, ไทยล้านนา, ไทยใต้, ไทยมลายู, ไทยม้ง, ไทยกะเหรี่ยง, ไทยอาข่า, ไทยมอแกน ฯลฯ ถ้ากำหนดอย่างนี้ ก็ต้องยอมรับว่า สำเนียงไทยกะเหรี่ยง ไทยม้ง ไทยเย้า ฯ ที่เขาพูดกัน ก็เป็นสาขาหนึ่งของภาษาไทย เช่นเดียวกับ ไทยอีสาน , ไทยล้าน
นา
ดูจากการเคลื่อนไหวของหน่วยราชการแล้ว ดูเหมือนว่าความเข้าใจ หรือความหมายของวันภาษาไทยนั้น คือวันภาษาไทยที่เป็นภาษาราชการ คือภาษาไทยกลาง
ซึ่งถ้าเข้าใจกันแบบนี้ คงจะไม่ค่อยเหมาะ
ทั้งนี้เพราะภาษาไทยสาขาอื่นก็มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์และพัฒนาภาษาไทยในองค์รวม
มองในแง่อนุรักษ์ คำศัพท์ในภาษาไทยพื้นถิ่น ทั้งไทยล้านนา, ไทยอีสาน, ไทยใต้ ยังคงรักษาคำศัพท์ภาษาไทยดั้งเดิมไว้ได้มากกว่าภาษาไทยกรุงเทพฯ ดังนั้นถ้าภาษาไทยพื้นถิ่นสูญไป คำศัพท์ไทยดั้งเดิมก็จะหายไปด้วย
มองในแง่พัฒนา ถ้าเรารู้ภาษาไทยพื้นถิ่นมาก ๆ เราอาจจะบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่โดยให้มีความเป็นไทยมาก ๆ ได้ โดยนำเอาศัพท์ในภาษาไทยพื้นถิ่นมาใช้
ปัญหาที่เสนอเป็นประการแรก คือการกำหนดกรอบความหมายสำหรับ “วันภาษาไทย” นี้ กระทรวงวัฒนธรรมควรเป็นเจ้าภาพ ประชุมผู้รู้ ผู้มีวิสัยทัศน์มากำหนด ทำความเข้าใจให้เป็นเอกภาพกัน
ประการต่อมา ควรจะทำความเข้าใจร่วมกันว่า ภาษานั้นมีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ทั้งคำศัพท์ และท่วงทำนองการเขียน
โดยเฉพาะคำศัพท์นั้น มีความเปลี่ยนแปลงมาก คำศัพท์ในภาษาไทยดั้งเดิมกับภาษาไทยปัจจุบันแตกต่างกันลิบลับโดยเฉพาะภาษาไทยกลาง(ภาษากรุงเทพ) คำศัพท์ในภาษาไทยกลางแทบจะไม่เหลือคำไทย เพราะได้รับคำศัพท์มอญ-เขมร มาใช้มากมาย ต่อมาก็รับคำศัพท์จากบาลี-สันสกฤตมาอีกมากมาย ชื่อคนไทยทุกวันนี้เป็นชื่อแขกบาลี-สันสกฤตทั้งนั้น แล้วในยุคใกล้เราก็รับคำศัพท์จากภาษาอังกฤษอีกมากมาย คนกรุงเทพทุกวันนี้พูดกันทุกประโยคมีภาษาอังกฤษ เพราะมันได้เป็นภาคส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในภาษาไทยยุคใหม่ไปแล้ว
ไม่ว่าจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ ? ภาษาไทยก็จะเปลี่ยนไปแน่นอน
เราต้องยอมรับว่า นี่มิใช่ความวิบัติ เพราะถ้าการเปลี่ยนแปลงทางคำศัพท์และท่วงทำนองการเขียนว่าเป็นวิบัติ ภาษาไทยก็วิบัติไปหลายร้อยปีแล้ว
สิ่งที่ราชการควรทำคือ ศึกษาติดตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง แล้วคัดท้ายโน้มนำให้พัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม
ทิศทางนั้นคือย่างไร ? กระทรวงวัฒนธรรมก็ควรเป็นเจ้าภาพ ประชุมผู้รู้ ผู้มีวิสัยทัศน์มากำหนดร่วมกัน