ในขณะที่สังคมเมืองกำลังตื่นตัวเรื่องอาเซียน มีการประดับประดาธงชาติประเทศต่างๆ เรียนรู้เรื่องคำทักทายเพื่อนบ้าน และเรียนภาษาอังกฤษกันเพิ่มมากขึ้น คำถามคือแล้วชุมชนท้องถิ่นที่อยู่รอบนอกเมืองหลวงมีความเห็นกันอย่างไร
การสัมมนา “มุมมองจากชุมชนท้องถิ่นเรื่องการเปิดเสรีอาเซียน” ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น อ่าวปัตตานี และสหภาพยุโรป ทำให้รู้ว่าคนจำนวนไม่น้อยยังมองภาพของท้องถิ่นกับอาเซียนแยกขาดออกจากกัน เพราะมองไม่เห็นจุดเชื่อมโยงและสิ่งที่จะตามเข้ามาหลังเปิดประชาคมอาเซียนจึงทำให้หลายพื้นที่ยังไม่ตื่นตัว
รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงปาฐกถาเรื่อง “การเปิดเสรีอาเซียนคืออะไร ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างไร” ที่เปิดประเด็นว่าการเปิดเสรีอาเซียนเป็นโอกาสของใคร “กลุ่มรัฐและนายทุน” คือคำตอบที่ชัดเจน แต่ในทางกลับกันมิติของคนเล็กคนน้อยกลับขาดหายไป
ที่ผ่านมาการนำเสนอภาพ “อาเซียน” ถูกนำเสนอแต่ในแง่มุมที่ดี เป็นมายาคติที่ว่าจะทำให้ก้าวข้ามพ้นกรอบรัฐชาติ เป็นการสร้างพื้นที่ทางการค้าการลงทุนให้ใหญ่ และเกิดตลาดใหญ่อาเซียนโผล่ขึ้นมา เหมือนอ่างปลาที่จะถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น เมื่อฟังอย่างผิวเผินอาจเหมือนเป็นโอกาส แต่ต้องไม่ลืมประเด็น “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” นายทุนใหญ่ทุกประเทศจะมีโอกาสขยายตัว ข้ามออกเขตพื้นที่ของรัฐชาติไปแสวงหาประโยชน์ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อสำรวจแล้วคนที่ได้รับประโยชน์หลัก ได้แก่ “กลุ่มยอดบนภูเขา” สำหรับประเทศไทยแล้วมีจำนวนอยู่ไม่เกิน 6,000 คน และแรงงานมีฝีมืออีกประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้จะได้รับโอกาสที่จะเคลื่อนย้ายแรงงานไปได้หลายที่ แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67 ล้านคน เป็นวัยทำงาน 30 ล้านคน จึงถือได้ว่าคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีอาเซียน ส่วนคนที่จะได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล คือ ภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นอาชีพของคนเล็กคนน้อย ที่ถือเป็น “แรงงานอาเซียน” ในประเทศไทยมีอยู่ถึงร้อยละ 65
เมื่อทรัพยากรถูกป้อนเข้าสู่ระบบของรัฐและตลาดทุน “หลังพิง”ของคนเหล่านี้จะหายไป ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา ในที่สุดก็จะถูกบีบให้เลือกและเป็นบุคคลผู้เลื่อนฐานะในสังคมไม่ได้ ซึ่ง รศ.ดร.อรรถจักร์ได้เสนอทางออกไว้ “อาเซียนภาคประชาชน” คือหนทางที่จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองของคนตัวเล็กตัวน้อยได้ เช่น ชาวประมงพื้นบ้านไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ต้องจับกลุ่มกัน ชาวสวนยางต้องไม่วางขาไว้บนสวนยางเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงการแปรรูปด้วย เช่น ทำทั้งยางน้ำ ยางแผ่น และยางแก้ว เพื่อยกระดับสินค้า ส่วนชาวประมงก็ต้องทำทั้งสามขา คือ ประมง เพาะเลี้ยง และแปรรูป เพื่อให้เป็นสินค้าที่มีคุณค่าและหาได้ยากมากกว่าปกติ ซึ่งกลุ่มต่างๆ ที่เป็นกลุ่มคนเล็กคนน้อยจะต้องสร้างเครือข่ายให้แน่นในสาขาอาชีพของตนเอง
“การไหลเวียนของแรงงานเป็นทางเลือกที่ถูกบีบบังคับและเสียสละในนามความสมานฉันท์ของอาเซียนเพื่อให้กลุ่มทุนร่ำรวย เราจะทำอย่างไรให้เกิดอาเซียนภาคประชาชนเพื่อสร้างดุลอำนาจในการต่อรอง จึงจะเพิ่มพลังให้แก่ขาของเราได้ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายที่หลากหลาย มีการพูดคุยกันในกลุ่มอาเซียนหรือเกิดสมาคมที่เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อเป็นเงื่อนไขที่จะสามารถต่อรองกับกลุ่มทุนได้มากขึ้น มิฉะนั้นชาวบ้านจะตกทุกข์ได้ยากมากขึ้น และอาจเกิดสลัมในชนบทมากขึ้น จึงไม่อยากให้พวกเราเป็นของเซ่นไหว้ความสำเร็จของกลุ่มทุนเพราะเชื่อว่าภาพนี้ต้องเกิดขึ้นแน่นอน”
เมื่อได้แลกเปลี่ยนและถกเถียงกันทั้งวันแล้ว นักวิจัยชาวบ้านทั้งจากนครศรีธรรมราช ตรัง และปัตตานี ต่างเข้าใจเรื่องการเปิดเสรีอาเซียนมากขึ้น รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่น ว่าจะต้องเตรียมตัวอะไร อย่างไร และที่สำคัญต้องมีความรู้อะไรบ้าง พร้อมกับทบทวน สำรวจ ต้นทุนของชุมชนที่พบว่าภูมิปัญญาที่เคยสั่งสมนั้นหายไปไม่น้อย สิ่งที่เคยส่งเสริม สืบทอด ก็หายไป แต่จากนี้ไปต้องพึ่งพาตนเองคือสิ่งจำเป็น
“เมื่อรัฐคู่กับทุน ชุมชนก็ต้องคู่กับความรู้” นักวิจัยท้องถิ่นขานรับก่อนกลับบ้าน และต้องทำโจทย์เพื่อขับเคลื่อนกันต่อในพื้นที่ เพื่อมิให้คนตัวเล็กตัวน้อยต้องตกเป็นเหยื่อของอ่างปลาใหญ่ที่จะขยายพรมแดนข้ามรัฐชาติ แต่กลับขาดมิติของคนส่วนใหญ่ของประเทศ
นี่คือเสียงสะท้อนของชาวบ้านและนักวิชาการที่ไม่ไว้วางใจอาเซียน!!!