
คำฉันท์ (5)
โชติช่วง นาดอน (ทองแถม นาถจำนง)
“อนิรุทธคำฉันท์” มีคำฉันท์มากประเภทกว่าเรื่อง “เสือโคคำฉันท์” และสำนวนก็ไพเราะกว่าด้วย
ฉากบรรยายป่า ล่าสัตว์ ฉากอุ้มสม ฉากวาดรูป จนถึงฉากพระเจ้ากรุงพาณออกรบจับพระอนิรุทธมัดประจานไว้หน้าพระลาน มีฉันท์ไพเราะหลายบท แต่ขอข้ามไป
จะยกตัวอย่าง “สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19” ตอนที่นางอุษารำพัน ขอให้สังเกตว่า คำส่งสัมผัสนั้นไม่จำเป็นต้องสัมผัสคำท้ายวรรคเสมอไป อาจส่งสัมผัสที่คำก่อนท้ายวรรคก็ได้ อย่างนี้ทำให้แต่งได้คล่องขึ้น
สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19
๐ เทพีพานสุดาทุกขานลกำศรวญ
ท้าวทวนรัญจวนใจ กำสรด
มือเท้งทรวงก็รลวงรลุงจิตสลด
ราญสมรรันทดจัก ษุชล
บาปใดพระแลมาพบพิบากทุกขทน
พักเตรศกมล มุลทิน
ข้าห้ามพระพี่แลพระบมิหยุดยิน
หร่างกำเดาดินดวง นแด
สองเคยเสวยรสคือสุธารสมาแปร
เปนพิษลันแดลุง มลัก
หวังช่วยช่วยมิได้มาได้ทุกขอันหนัก
ตายตกทะเลดักลึก ฤรอด
ใครคือรัตนสำเภาจะเอานฤบดีจอด
ฝั่งทั้งสองรอดก็ สำราญ ฯ
รัตนสำเภาที่มาช่วยชีวิตพระอนิรุทธ คือพระนารทฤาษี ท่าน..
๐ ปางนั้นนารทบันดาล ดีดพิณเหาะทยาน
มาโดยทิฆัมพรพราย ฯ
ท่านเห็นเข้า ก็เลยรีบไปบอกพระกฤษณะที่กรุงทวารพดี
พระกฤษณะออกศึก
พระกฤษณะจึงยกกองทัพมาช่วยหลานชาย บทบรรยายกองทัพขอพระกฤษณะก็ให้ภาพเกรียงไกร่าอ่าน แต่จะยกมาตอนเดียว ที่มีการเล่นคำ “แสนส่ำ” และ “ส่ำ” คือมาลินีฉันท์ 15 ตอนนี้อ่านออกเสียงมันมาก
มาลินีฉันท์ ๑๕
๐ แสนส่ำพลคชชาญชน ทนแก่ปืนยืน แก่หอกหาญ
แสนส่ำพลคชเชี่ยวชาญ ราญดรงค์รง คชิงชัย
แสนส่ำพลคชเศิกกษัย ไพรีราบปราบชัย อริฤทธิ์
แสนส่ำพลคชเชี่ยวชิต ขวิดสุเมรุอิศ รโทรมทรุด
ส่ำนายพลคชยงยุทธ วิริยวัยวุฒิ ชำนาญชาญ
ส่ำนายพลคชรอญราญ มารวิชัยชาญ ชเยศรอญ
ส่ำนายพลคชบุกบร กรกระลึงศร กำลังยง
ส่ำนายพลคชราญรงค ทรงกุทัณฑคง กำยำแผลง
ส่ำนายพลคชเริงแรง แผลงกำซราบศร บำบัดภัศม์
ส่ำนายพลพลขนัดขนัด ซัดทั้งหอกซัด ขจัดขจาย ฯ
พระเจ้ากรุงพาณ หรือพาณาสูรราช ขอให้พระอิศวรเสด็จมาช่วยรบ แต่พระอิศวรรบกับพระกฤษณะก้ำกึ่ง เอาชนะพระกฤษณะมิได้
๐ สองก้ำกึ่งกันทานทบ แผลงศรตรหลบ
ตรเลิดพันลึกนิดินบน ฯ
พระอิศวรจึงคิดจะใช้อาวุธวิเศษที่สุด คือพระเนตรที่สาม
๐ พระอิศวรจักแผลงผลาด เดโชไนยนารถ
ก็ให้พินาศพระพิทธ
บัดนั้นเทพฤษีสิทธิ์ ขอพระสรวมฤท
ธิอย่าบรรหารเตาไฟ
เกรงภพมณฑลจะประไลย ศุลีภูวไนย
ก็โดยสรณฤาษีสาร ฯ
พระอิศวรปล่อยให้พาราสูรราชรบกับพระกฤษณะเอง พาณาสูรราชก็เลยถูกพระกฤษณะตัดกรที่มีถึงพันกรให้เหลือเพียงสองกร แล้วให้ไปเป็น “นายทวาร”
๐ ไว้เป็นมนทรียั้งยืน เฝ้าทวาร บ หืน
บให้พินาศในสนาม ฯ
หลังจากนั้น พระกฤษณะ , พระปรัทยุมน์ , นางอุษา (ธิดาพาณาสูรราช) และพระอนิรุทธ ก็นั่งครุฑกลับเมืองทวารพดี (ไลยบุรี)
ตอนนี้ใช้ วสันตดิลกฉันท์ 14
๐ เสร็จมล้างสุราสุรสุเรน ทรอเนกเหลือหลาม
เดชะตระบะนฤบดีสาม ภพโลกยโมลี
ปางนั้นสมเด็จนฤปกฤษ ณ มหาธิเบศรศรี
ปรัทธยุม พานสุตนี อนิรุทธเรืองราช
เสด็จเหนือมหาครุฑอัน อุดมเดชลีลาส
ลีลายังอัมพรพิกาศ สสหัสรัศมี
เทพาสุราสุรสุเรศ สุรัสวดีตรี
โดยเสด็จสมเด็จสุรบดี ทศทิศโจษจล
ถับถึงมหานครไล ยบุรีคือเมืองบน
สามนตอมาตยรี้พล ทั้งมณฑลจักรพาฬ
ชมเดชพระศรีอนิรุท ธอุษาคือเยาวมาลย์
เสวยสุขแสนสุรสำราญ สุขเสพยสมสอง ฯ
ฉบับหน้าพบกับเรื่อง “ราชาพิลาปคำฉันท์” ครับ