คำฉันท์ (๗)
โชติช่วง นาดอน (ทองแถม นาถจำนง)
เมื่อเริ่มเขียนบทความชุด “คำฉันท์” วางแผนงานไว้ว่า จะเขียนแนะนำวรรณคดีคำฉันท์ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนไปเรื่อย ๆ ให้เห็นพัฒนาการของฉันทลักษณ์ฉันท์ และจะสอดแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมในสังคมยุคนั้น ๆ ที่ข้าพเจ้ามีข้อมูลใหม่ ๆ แปลก ๆ เอาไว้ด้วย เป็นต้นว่า นำเอาฉากบรรยายการคล้องช้างในวรรณคดีลาว(อีสาน)มาเล่าเสริมเรื่องการคล้องช้างใน “สมุทรโฆษคำฉันท์” ไว้ด้วย
แต่เมื่อบังเอิญมาสังเกตว่า หนังสือ “นามานุกรม ชื่อวรรณคดี” รวบรวมวรรณคดีไว้เพียงสามร้อยยี่สิบกว่าเรื่อง ข้าพเจ้าเห็นความจำเป็นว่าจะต้องรีบเขียนเรื่องเพิ่มเติมดังที่ประกาศไปในคอลัมน์ “ตามรอยคึกฤทธิ์”
จึงขอเว้นข้ามวรรณคดีคำฉันท์หลาย ๆ เรื่องไปก่อน กระโดดข้าม “หมุดหมาย” สำคัญของคำฉันท์ นั้นคือสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสไปก่อน ขอแนะนำวรรณคดีคำฉันท์สมัย ร.๓ – ร.๕ ก่อน
ข้าพเจ้าใช้คำว่า “หมุดหมาย” เพราะขนบการประพันธ์ฉันท์ ก่อนกับหลังสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีความเปลี่ยนแปลงมาก
ในเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” สมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่งตามขนบดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ ไม่เคร่งครัดเสียงลหุ –ครุ แบบตายตัว ใช้หลักเปรียบเทียบเสียงหนัก-เบา ภายในวรรค เสียงเบาในวรรคนั้น ๆ เมื่อเทียบกับคำเสียงหนักข้างเคียงแล้วก็อนุโลมให้ใช้ในตำแหน่ง “ลหุ” ได้ แม้จะมิใช่คำลหุก็ตาม
แต่หลังจากทรงเขียนตำรา ฉันท์มาตราพฤติ และฉันท์วรรณพฤติแล้ว วงกวีสยามเกิดความนิยมเน้นความเคร่งครัดของคำ ลหุ-ครุ เสียงสระสั้น-ยาว ตายตัวกันมากขึ้น ๆ............
มาตราพฤติ – “มาตรา” ในที่นี้ ความวัดเวลาที่ออกเสียง เสียงลหุนับเป็น ๑ มาตรา เสียงครุนับเป็นสองมาตรา ฉันท์มาตราพฤติอาศัยกำหนดจำนวนมาตราเป็นเกณฑ์
ส่วนฉันท์วรรณพฤตินั้น นอกจากจะมีเกณฑ์จำนวนพยางค์แล้ว ยังมีเกณฑ์ครุลหุเป็นการตายตัวด้วย (คำอธิบายจาก “วิทยาสารานุกรม” พระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์)
ประกอบกับ ระบบการศึกษาไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงในรัชกาลที่ห้า เยาวชนเล่าเรียนในระบบใหม่ ผู้รู้ภาษาบาลีมีน้อยลง คงเหลือแต่สายมหาเปรียญตามวัด ในที่สุด “บทกวี” ประเภทฉันท์ก็สูญเสียผู้เสพ ผู้อ่านไป
ขอกลับมาถึงเรื่องวรรณคดีฉันท์ ยุคหลังจากที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่งตำราฉันท์ วรรณพฤติแล้ว
วรรณคดีที่มีบทแนะนำในหนังสือ “นามานุกรม ชื่อวรรณคดี” แล้ว ข้าพเจ้าก็จะข้ามไปก่อน จะรีบเร่งเขียนวรรณคดีที่หนังสือดังกล่าวมิได้รวมไว้
เรื่องแรกขอแนะนำเล่มที่หาอ่านได้ไม่ยากก่อน คือเรื่อง “กุมารคำฉันท์”
วรรณคดีชุดนี้ อันที่จริงมีอย่างน้อยสามเรื่อง คือ “กุมารคำฉันท์” “มัทรีคำฉันท์” “สักกบรรพคำฉันท์” วรรณคดีชุดนี้น่าสนใจตรงที่ เป็นฝีมือประพันธ์ของปัญญาชนสตรี กล่าวคือเป็นผลงานของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน
“กุมารคำฉันท์” นี้กรมศิลปากรจัดพิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ ๒๕๓๙ ยังพอหาซื้อมาอ่านกันได้
พูดถึงการจัดพิมพ์หนังสือวรรณคดีขอกรมศิลปากรแล้ว ต้องชมเชย เพราะระยะหลังๆ นี้ได้จัดพิมพ์วรรณคดีที่หายาก หรือที่ไม่เคยได้ตีพิมพ์มาก่อนออกมาสม่ำเสมอ คอหนังสือควรช่วยสนับสนุนซื้อหาเก็บรักษาไง้ เพื่อให้กรมศิลปากรมีกำลังใจจัดพิมพ์ออกมามากขึ้น ๆ
คำแนะนำเบื้องต้นข้าพเจ้าขอคัดลอกจากคำนำของกรมศิลปากร(ปี ๒๕๓๙) ดังนี้
“กุมารคำฉันท์ เป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ามณฑา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุบล ทรงพระราชนิพนธ์เป็นคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ดังปรากฏในโคลงบทที่ ๗ และ ๘ หน้าที่ ๒-๓ ของเรื่องว่า
๐ ขอแถลงมธุรกล่าวเกลี้ยง...กลอนฉันท์
โดยเรื่องกุมารบรรพ์............บอกถ้อย
ชาดกพระเวสสัน ………......ดรแจ่ม ใจนา
เพียงแต่งตามรู้น้อย.............อ่านแจ้ง ใจเกษมฯ
๐ ข้าผู้ประพฤติพร้อง............คำกล
ลิขิตวิจิตรนิพนธ์.................พจน์ไว้
สมญาอุบลมณ–……….......ฑามาศ
แต่งกุมารกลอนให้..............ต่อต้องมหาพน ฯ
เรื่องนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าทรงพระนิพนธ์ในรัชกาลใด จึงไม่สามารถระบุพุทธศักราชแน่นอน อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในการพิมพ์ครั้งแรกว่า “....ถ้าว่าตามสันนิษฐานดูทำนองเหมือนจะแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยมีเรื่องราวปรากฏในรัชการนั้น โปรดฯให้แต่งหนังสือมหาชาติตำหลวงซึ่งฉบับขาดาแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้บริบูรณ์ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ อาจเป็นเหตุชวนให้พระเจ้าน้องนาเธอทั้งสองพระองค์ ซึ่งทรงศึกษาอักขรวิธีได้เชี่ยวชาญ ทรงแต่งฉันท์กุมารในรัชกาลที่ ๒ นั้นก็เป็นได้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามณฑา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุบล เป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๒๔ และองค์ที่ ๓๑ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งที่ปราบดาภิเษกแล้วกับเจ้าจอมมารดานิ่มและเจ้าจอมมารดาทองตามลำดับ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามณฑา ประสูติเมื่อปีจอ พุทธศักราช ๒๓๓๓ ได้เป็นพระอาจาริณีทรงสอนอักขรวิธีประทานพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปีระกา พุทธศักราช ๒๔๐๔ จึงสิ้นพระชนม์ขณะพระชันษา ๗๒ ปี ส่วนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุบล ประสูติเมื่อปีกุน พุทธศักราช ๒๓๓๔ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ โดยไม่ปรากฏปีชัดเจน
เรื่อง ‘กุมารคำฉันท์’ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านารีวัฒนา ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๕๓ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งบรมราชาภิเษกแล้วกับเจ้าจอมมารดาดวงคำ โปรดให้จัดพิมพ์ให้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปีกุน พุทธศักราช ๒๔๖๖ เป็นเรื่องที่ได้อรรถรส ให้คุณค่าทางวรรณศิลป์ โดยเฉพาะสำนวนภาษาดี มีความไพเราะ ยากที่จะหากวีชายใดในสมัยเปรียบได้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาของสตรีในราชสำนักของไทยได้เจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาล”
เนื้อเรื่อง “กุมารคำฉันท์” ก็เดินเรื่องตาม พระคาถา ๑๐๑ คาถาในมหาชาติ “กัณฑ์กุมาร” นั่นเอง
คำฉันท์ที่ไพเราะมีหลายฉาก เช่น ฉากที่พระเวสสันดรกล่าวเกลี้ยกล่อมให้ชาลีกับกัณหาที่ซ่อนตัวในบึงบัวยอมออกมาให้ “ชูชก” นำตัวไป , ฉากชูชกพักแรมกลางคืนแล้วมัดกัณหา-ชาลีเอาไว้ เป็นต้น
ขอยกตัวอย่างฉากที่ชูชกมัดกัญหา-ชาลีไว้ ใช้ฉันทลักษณ์ “วสันตดิลกฉันท์ ๑๔”
๐ อ้าแม่มัทรีธวรนาง ฤ มห่างอุราเคียง
เคยแนบถนอมชอรเรียง จรดรสภิรมย์ชม
เย็นย่ำทิฆัมพรก็มัว มณหัวรหวยนม
เหลือแรงจะรั้งฤทยรทม บปะแม่มัทรีมา
โอ้กรรมหนอกรรมกรแล้ว ทนุแก้วหกัณหา
ไหนเลยจะตามพระวรชา ลิยพี่คระลีจร
คอยแม่บเห็นจรวิแวว ฤ มาแคล้วพเนดร
นึกหวังจะสั่งอมอมร ธรเทพยทั้งหลาย
หัตถสองก็ต้องพนธนัง บมิยั้งจะตั้งกาย
เราโทประชุมศิรถวาย ทศนัขสโมธาน
น้ำเนตรธไหลทลุลหลั่ง ธ ก็สั่งที่ข่าวสาร
ถึงมาตุเรศกุลมดาล ดลให้อาไลยเรา”