มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน
ด้วยมูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกนักเขียนเพื่อรับรางวัล “รพีพร” ตามหลักการรางวัลรพีพร ๔ ข้อ คือ
๑.เป็นนักเขียนอิสระ
๒.มีผลงานคุณภาพ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการพอสมควร
๓.เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพื่อสังคม ในแนวทางเดียวกับสุวัฒน์ วรดิลก
๔.ยังมีชีวิตอยู่ และยังสร้างสรรค์งานอยู่ในปัจจุบัน
คณะกรรมการเห็นสมควรให้มอบรางวัลรพีพร ครั้งที่ ๔ แด่ นางศศิวิมล นทธี สุรเดชชะมงคล เจ้าของนามปากกา “นทธี ศศิวิมล” ความละเอียดสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑ ๒ และ ๓ โดยกำหนดจัดงานคิดถึง “เพ็ญศรี-รพีพร” เพื่อระลึกถึงสองศิลปินแห่งชาติ “สุวัฒน์ วรดิลก และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” และงานมอบรางวัล “รพีพร” ครั้งที่ ๔ ในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยสุขุมวิท ๕๕ (ทองหล่อ) กทม.
มูลนิธิฯ จึงขอเรียนเชิญท่านเผยแพร่ข่าว และเชิญเข้าร่วมงานเพื่อทำข่าวเพื่อเผยแพร่ ตามวันและเวลาดังกล่าวด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
(นายประยอม ซองทอง)
ประธานมูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน
………………………….
หลักการรางวัล “รพีพร”
เมื่อวัยหนุ่ม นายสุวัฒน์ วรดิลก หรือพี่อู๊ด เคยล้มป่วยเป็นวัณโรคถึงอาเจียนเป็นเลือด แต่ยังต้องเขียนหนังสือส่งต้นฉบับเพื่อช่วยแม่เลี้ยงดูน้อง ๆ หลังจากที่แม่แยกทางกับพ่อ ดังนั้น ต่อ เมื่อเป็นนักเขียนเต็มตัว เขาจึงพร้อมช่วยเพื่อนเสมอ นั่นเป็นเหตุให้เขาจัดงานในปี ๒๕๑๑ เพื่อหาเงินช่วยนักเขียนป่วยหนักนาม “เลียว ศรีเสวก” หรือ “อรวรรณ” และใครต่อใครก็มักได้ยินเขาปรารภถึงเรื่องการจัดหาเงินสวัสดิการช่วยนักเขียนเสมอ ๆ และในสามสี่ปีหลังก่อนเสียชีวิต เขาดำริจะให้มีรางวัลรพีพร เพื่อช่วยเหลือนักเขียนด้วย แต่เสียชีวิตไปก่อน
ปี ๒๕๕๑ มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียนฯ จึงได้จัดให้มีการคัดเลือกนักเขียนเพื่อมอบรางวัลรพีพรขึ้น โดยดำเนินการตามเจตจำนงของสุวัฒน์ วรดิลก หรือ “รพีพร” อย่างแน่วแน่ นั่นคือ ให้กำลังใจนักเขียนที่มีใจเป็นนักเขียนจริงแท้ โดยไม่มีเงื่อนไข โดยกำหนดให้มีการมอบรางวัลทุก ๒ ปี รางวัลละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกนักเขียนผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๑.เป็นนักเขียนอิสระ
๒.มีผลงานคุณภาพ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการพอสมควร
๓.เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพื่อสังคม ในแนวทางเดียวกับสุวัฒน์ วรดิลก
๔.ยังมีชีวิตอยู่ และยังสร้างสรรค์งานอยู่ในปัจจุบัน
………………………….
กำหนดการ
โครงการระลึกถึงคุณูปการสองศิลปินแห่งชาติ
“สุวัฒน์ วรดิลก และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี”
มอบรางวัล “รพีพร” ครั้งที่ ๔ และงาน “คิดถึง “เพ็ญศรี-รพีพร” “อ่านบทกวี เสวนา และร้องเพลง”
มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗
ภาคเช้า ณ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
๙.๓๐ น. ลงทะเบียน
๑๐.๐๐ น. ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่สุวัฒน์ วรดิลกและเพ็ญศรี พุ่มชูศรี และนักเขียนผู้ล่วงลับ
๑๑.๓๐ น รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน
ภาคบ่าย ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ (สุขุมวิท ๕๕)
๑๓.๐๐ น ลงทะเบียน
๑๓.๓๐ น. วีดีทัศน์ “คิดถึงเพ็ญศรี-รพีพร”
ประธานมูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน(ประยอม ซองทอง) กล่าวเปิดงาน
อุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย(บูรพา อารัมภีร) กล่าวรำลึก “เพ็ญศรี-รพีพร”
นายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยฯ(สุเทพ วงศ์กำแหง) กล่าวรำลึก “เพ็ญศรี-รพีพร”
อ่านบทกวีระลึก “เพ็ญศรี-รพีพร”-ชมัยภร แสงกระจ่าง
๑๔.๐๐ น. พิธีมอบรางวัลรพีพร
วีดีทัศน์ประกาศเกียรติผู้ได้รับรางวัล ประยอม ซองทอง วันจักร วรดิลก จีรวรรณ พนมยงค์ วรดิลก และฉัตรชัย วรดิลก ร่วมมอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดี
๑๔.๓๐ น. เปิดใจ ผู้ได้รับรางวัล
ดำเนินรายการโดยชมัยภร แสงกระจ่าง
๑๕.๐๐ น. “วงวรรณเสวนาหัวข้อ “หลากรสวรรณกรรมรพีพร สะท้อนสังคมอย่างไร”
โดย นักเขียน/ตัวแทนผู้จัดทำละคร/จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ดำเนินรายการโดย พินิจ นิลรัตน์
๑๖.๓๐ น. เพลงกวี “เพ็ญศรี –รพีพร” จากสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำโดย สุเทพ วงศ์กำแหง(๗ เพลง)
๑๗.๓๐ น. นายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยฯ กล่าวปิดงาน
พิธีกรตลอดงาน /ญาดา อารัมภีร/เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ
………………………….

ประวัติ “นทธี ศศิวิมล”
“นทธี ศศิวิมล” นามจริงว่า ศศิวิมล นทธี สุรเดชชะมงคล เป็นบุตรนางนิตยาและนายทศพร มีน้องสาว 1 คน คือนางสาว ปัณฑัต เกิด(วันที่ ๘ พฤศิกายน ๒๕๒๓)และโตที่ อ.เมือง จ.ตาก เข้ามาเรียนต่อและทำงานในกทม.เมื่อปี 2541 ทำงานหลายอย่างตั้งแต่สมัยเรียน หลังจากนั้นออกมาทำงานประจำสามแห่งไล่เรียงกันดังนี้ คือครูโรงเรียนเอกชน พิสูจน์อักษรสำนักพิมพ์ และนักจิตวิทยาคลินิก ปัจจุบันใช้ชีวิตกับสามี(ติณ นิติกวินกุล นักเขียนนามปากกา “จารี จันทราภา”) และเลี้ยงลูก(ไอย์ นิติกวินกุล) เขียนหนังสือเลี้ยงชีพ ประเภทเรื่องสั้น นวนิยาย อยู่ที่ย่านลำลูกกา จ.ปทุมธานี
การศึกษา
ระดับประถม ร.ร.ตากสินราชานุสรณ์ ระดับมัธยม ร.ร.ผดุงปัญญา สาขาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ปริญญาตรีคณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ.2545 และคณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยาคลินิกและชุมชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ.2552
รางวัลทางวรรณกรรม
* ปี 2550 เรื่องสั้น “กระต่ายตายแล้ว’ เข้ารอบสุดท้าย รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด
* ปี พ.ศ.2551 เรื่องสั้น ‘ดอยรวก’ ได้รับรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยม รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด
* ปี พ.ศ.2552 วรรณกรรมเยาวชน ‘อุดมโลก’ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด(และได้รับพิจารณาตีพิมพ์ในชื่อเรื่อง “2075 สงครามพันธุ์อัจฉริยะ”)
* ปี พ.ศ.2553
- เรื่องสั้น “ลูกของลูกสาว”ได้รับรางวัลสุภาว์ เทวกุล (และรางวัลพิเศษอันดับ 1 จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย)
- เรื่องสั้น “หาย” เข้ารอบสุดท้าย รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด
* ปี พ.ศ.2554
- เรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด
- เรื่องสั้น “โนรี(โก๊ะ)” ได้รับรางวัลอิวากิ
* ปี พ.ศ.2555
- เรื่องสั้น “ช่างทำกุญแจที่หัวมุมถนน” เข้ารอบรางวัลราหูอมจันทร์
* ปี พ.ศ.2556
- รวมเรื่องสั้น “อรุณสวัสดิ์สนธยา” ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2556 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- เรื่องสั้น “25 ปี ต่อมา” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยมสุภาว์ เทวกุล ประจำปี 2556
- รวมเรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” ได้รับรางวัล รองชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2556
- เรื่องสั้น “ทรงจำ” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยมประเภทวิทยาศาสตร์ รางวัลมติชนอวอร์ดประจำปี 2556
*ปี พ.ศ.2557
-เรื่องสั้น “มักกะลีผล” เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อวอร์ด
ผลงานรวมเล่ม
- วรรณกรรมเยาวชน “2075 สงครามพันธุ์อัจฉริยะ” ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์
- รวมเรื่องสั้นสยองขวัญ “เรื่องหลอนในโรงเรียน”(เล่ม 1-2) ได้รับการตีพิมพ์ โดย สนพ. นานมีบุ๊คส์
- รวมเรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” ตีพิมพ์โดย สนพ. อมรินทร์
- รวมเรื่องสั้น “อรุณสวัสดิ์สนธยา” ตีพิมพ์โดย สนพ. มติชน
- รวมเรื่องสั้น “มหรสพยังไม่ลาโรง” ตีพิมพ์โดย สนพ.มติชน