ReadyPlanet.com
dot dot
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

ดาวน์โหลดไฟล์ Microsoft word คลิก

เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

:เครื่องดนตรีฝรั่ง


      หากมีคนบอกว่าวิทยุทรานซิลเตอร์ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเพลงลูกทุ่ง ก็คงไม่แปลกอะไร วิทยุทรานซิลเตอร์คือเครื่องสื่อสารที่นำเพลงลูกทุ่งจากภาคกลางเข้าสู่ชนบทไม่ว่าจะเป็นภาคอีสานหรือภาคอื่นๆ

      แต่วงดนตรีลูกทุ่งนั้นมีกำเนิดในกรุงเทพฯ หาใช่ภาคอีสานแต่อย่างใด

      ดนตรี จะมีแกนสำคัญที่สุดคือเครื่องดนตรี และวงดนตรีลูกทุ่งนั้นเครื่องดนตรีนั้นส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีสากลไม่ว่าจะเป็น กลอง ทรัมเป็ต แซกโซโฟน แอคคาเดียร กีตาร์ ทรอมโบน

      ล้วนเป็นองค์ประกอบหลักของวงดนตรีลูกทุ่ง

      แล้ววงดนตรีลูกทุ่งมาจากไหน

      ตอบได้เลยว่ามาจาก วงตรีทหารหรือวงโยธวาทิตหรือที่ชาวบ้านมักจะติดภาพของ “แตรวง”

      แตรวง  เป็นวงดนตรีซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ทำด้วยทองเหลืองจำพวกแตร และเครื่องตี เช่น กลอง  มีทั้งวงเล็กและวงใหญ่  การบรรเลงเพลงจะใช้ผู้บรรเลงหลายคน บรรเลงในลักษณะการนั่งหรือยืนล้อมเป็นวง
         แตรวง เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4  โดยการรับเอาวัฒนธรรมทางตะวันตกเข้ามาหลายอย่าง โดยมีการฝึกทหารแบบฝรั่ง  มีการใช้แตรเดี่ยวเป่าให้สัญญาณ และเป่าเพลงเดินนำหน้าแถวทหาร  แตรวงในสมัยนั้น ยังไม่มีเครื่องลมไม้ มีแต่เพียงเครื่องกระทบจำพวกกลอง  

      งานวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เรื่อง วิวัฒนากรเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย ของ ศิริพร กรอบทอง สำนักพิมพ์พันธกิจ .กทม. ตุลาคม 2547 จัดพิมพ์กล่าวถึงความเป็นมาของเพลงสากลก่อนสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไว้ว่า

      อิทธิพลทางการดนตรีของตะวันตกซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฝึกหัดทหารตามแบบยุโรปแต่ได้ใช้แตรวงบรรเลงประกอบการฝึกมทหาร ได้มีการว่าจ้างนายทหารสองคนที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศอินเดียมาเป้นครูฝึก คือ ร้ยเอกอิมเปย์ เป็นครูฝึกในวังหลวง และร้อยเอกนอกซ์ เป็นครูฝึกในวังหน้า เทาเซนต์ แฮรีส ทูตชาวอเมริกันที่เข้ามาในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2396 บันทึกไว้ว่าวงดนตรีของเขานั้นเป็นของแปลกใหม่ที่ดึงดูดความสนใจของคนไทยที่พบเห็นเป็นอันมาก

      บุคคลในราชสำนัก อาทิ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและมูลนายชั้นสูงต่างนิยมมีแตรวงไว้บรรเลงเพื่อความบันเทิงและประดับเกียรติยศกันแทบทั้งนั้น อีกทั้งความสนใจแตรวงซึ่งเป็นดนตรีตะวันตกยังผลให้ลักษณะการฟังเพลงของชนชั้นสูงเปลี่ยนแปลงจากการฟังเพลงในลักษณะการขับกล่อมที่มีมาแต่เดิม เช่น การฟังเพลงจากวงมโหรีก็เปลี่ยนมาเป็นการฟังเพลงอย่างจริงจังแบบตะวันตก

      ครั้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระองค์ได้ทรงบัญญัติคำว่า “วงโยธวาทิต” ขึ้นโดยนำคำว่า “โยธา”

      เพลงลูกทุ่งมีวิวัฒนาการมาวงดนตรีหน่วยทหารแต่กองทัพต่างๆ สังเกตได้จาก นักร้องที่มีลูกทุ่งที่ผ่านจากวงดนตรีทหาร เช่น สุรพล สมบัติเจริญ ซึ่งเริ่มจากกองดุริยางค์ทหารอากาศ หรือ พยงค์ มุกดา และ เบญจมินทร์  ซึ่งเคยเป็นทหารอาสาในสมัยสงครามเกาหลี(หลังเป็นนักร้อง นักแต่งเพลงดังแล้ว) และนำเพลงอารีดังเข้ามาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้าขวาง

      เพลง โอ้แม่สาวชาวไร่ ซึ่งแต่งโดย ครูเหม เวชกร ขับร้องโดย คำรณ สัมบุณณานนท์ ใช้ประกอบร้องประกอบละครวิทยุในปี พ.ศ. 2481 ซึ่งถือว่าเป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของวงการก่อนจะมีคำว่า เพลงลูกทุ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2504 ในรายการเพลงลูกทุ่งทางช่อง 4 บางขุนพรหมของ ประกอบ ไชยพิพัฒน์

      รากฐานของดนตรีลูกทุ่งนั้นมาจากแตรวงหรือวงดนตรีทหาร แต่ความชัดเจนของดนตรีนั้นเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นก็เมื่อมีการตลาดเข้ามาจัดการโดยผ่ายวิทยุทรานซิลเตอร์

      การละเล่นเพื่อความบันเทิงนี้ในยุคที่วงตรียังไม่เกิด หากจะมีการคงแค่รำวงๆ ต่างซึ่งเป็นละเล่นของผู้คนทั่วไป จึงกลายเป็นวิวัฒนาการของ “เชียร์รำวง” ที่เน้นความสนุกสนานบันเทิงเป็นหลักก่อนยุค “เธคลอยฟ้า”

      ส่วนเรื่องทำนองเพลงนั้นซึ่งมีรากจากเพลงรำวงและเพลงพื้นบ้านนั้นเป็นผลสืบเนื่องหนึ่งของเรื่องเพลง แต่ก่อนที่ยุคลูกทุ่งจะเฟื่องฟูนั้นเป็นยุคที่วิกลิเกมีความนิยมแพร่หลายเป็นอย่างมากภายในภาคกลางโดยมีแหล่งกำเนิดที่ใจกลางของกรุงเทพฯ

      วิวัฒนาการอย่างหนึ่งของวิกลิเกจึงถูกแทนที่ด้วยวงดนตรีลูกทุ่งยุคใหม่ที่อาศัยเครื่องดนตรีจากวงดนตรีทหารโดยทหารเองเป็นนักดนตรีที่หารายได้พิเศษนอกจากงานประจำ และมีเครื่องมือทางดนตรีที่ล้ำสมัยกว่า

      โดย หางเครื่อง นั้น เป็นวิวัฒนาการเข้ามาที่หลังๆจากเริ่มมีการเปิดวิกการแสดงแล้วถือเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่ง

      เมื่อมีการตลาดเข้ามา การขยายวงกว้างของเพลงลูกทุ่งเริ่มนำสู่สังคมชนบทมากขึ้นโดยเฉพาะสื่อสารผ่านวิทยทรานซิลเตอร์

      วิทยุทรานซืลเตอร์ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการนำความล้ำสมัยเข้าสู่สังคมชนบท ผ่านบทเพลงต่างๆ หลังยุค พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

      นักร้องลูกทุ่งในยุคนั้นจึงนิยมเปิดวิกการแสดงตามสถานที่ต่างๆ ตามที่มีแฟนเพลงเหนียวแน่น แต่เครื่องดนตรียังเป็นเครื่องสากลอยู่แม้ว่าบทเพลงจะเล่าถึงสังคมชนบท แม้ว่าจะใช้เครื่องไม่กี่ชิ้น

      เพลงลูกทุ่งจึงมิได้มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481 เท่านั้นหากแต่มีวิวัฒนาการที่สืบเนื่องอย่างยาวนานกว่านั้น และบริบทเพลงลูกทุ่งในยุคที่เรียก “เพลงตลาด” จนกลายมาเป็น “เพลงลูกทุ่ง” เมื่อ พ.ศ. 2504 โดยมีพื้นฐานของเพลงพื้นบ้านผสมกับการแต่งโน๊ดดนตรีให้เข้ากับเครื่องดนตรีสากล

      นักร้องที่รู้จักเสียงดนตรีระหว่างสากลและพื้นบ้านได้กลมกลืนนั้นมีพื้นฐานทางพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก เช่น ชาย เมืองสิงห์,ลพ บุรีรัตน์ แม้กระทั่งบรมครูคีตกวี ไพบูลย์ บุตรขัน

      ชาย เมืองสิงห์ เป็นบุคคลหนึ่งที่นำเพลงมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยนั้นโดยอาศัยพื้นฐานเพลงไทยเดิม,เพลงพื้นบ้าน ผสมกับเครื่องดนตรีสากลได้อย่างลงตัว แม้ว่า ชาย เมืองสิงห์จะไม่ได้เป็นนักดนตรี นักร้องจากวงทหารก็ตาม แต่มีพื้นฐานมาจากเชียร์รำวง

 ความสำคัญของเครื่องดนตรี จึงถูกมองข้ามไปทั้งๆทีมีความสำคัญแรกในการตั้งคำถามขึ้นมาว่า “เพลงลูกทุ่งมากจากไหน”  จากที่จะสืบค้นว่าเพลงนี้ เพลงนั้นมาอย่างไร

      เพลงโอ้สาวชาวไร่ ของครูเหม เวชกร ที่แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481 ที่เชื่อว่าเป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกนั้นอาจจะตกไปก็ได้หากมีการทำความเข้าใจว่าความเป็นมาของเพลงลูกทุ่งหรือเพลงตลาดนั้นเริ่มมีวิวัฒนาการมาจากไหน?

      ซึ่งจริงๆ แล้ว เพลงโอ้สาวชาวไร่ เพิ่งถูกตั้งให้เป็นเพลงแรกของวงการลูกทุ่งเมื่อ ครั้งมีงาน ลูกทุ่งกึ่งศตวรรษ ครั้งที่ 1 จัดโดย สวช.(สำนักงานคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ)เมื่อ พ.ศ. 2531  มานี้เอง
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

: ความพันทางของเพลง

      อุษาคเนย์ส่วนที่ผืนแผ่นดินใหญ่มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุด ถือเป็นแกนของภูมิภาค ผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์มีพื้นที่กว้างขวาง โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มีผู้คนชนเผ่าเหล่ากอตั้งหลักแหล่งทำมาหากินกระจัดกระจายไม่มากนัก จึงเปิดที่ว่างจำนวนมากให้กลุ่มชนหลากหลายจากที่ต่างๆ ทั้งใกล้เคียงและห่างไกลเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตั้งแต่ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

      การเคลื่อนไหวย้ายหลักแหล่งดังกล่าว เข้ามาสู่บริเวณที่เป็นประเทศไทยไม่ได้มีทางเดียว แต่มีทั้งทางบกและทางทะเลตลอดเวลา นับแต่ช่วงเวลา ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว สืบจนสมัยหลังๆ อย่างต่อเนื่องยาวนานมากและเรียกแผ่นดินแถบนี้ว่า สุวรรณภูมิ หรือ สุวรรณทวีป

    สุวรรณภูมิ นั้นปะปนไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ กรุงศรีอยุธยา ก็เป็นส่วนหนึ่งในบริเวณแผ่นสุวรรณภูมิ 

    ชาวต่างชาติเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าราชอาณาจักรสยามหรือเมืองไทย เมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทร์เรียกชื่อประเทศว่ากรุงสยามและประเทศสยาม

    สมัยแรกมีธงช้างเป็นสัญลักษณ์ ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์ที่ได้แบบอย่างมาจากยุโรป

    หลังเปลี่ยนแกลงการปกครองเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ รัฐบาลสมัยหนึ่งให้เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย ซึ่งเป็นชื่อที่เกิดขึ้นจากสำนึกชาตินิยม ผูกพันกับความเชื่อเรื่องชนชาติไทยถูกขับไล่มาจากทางเหนือของจีน แม้ความเชื่ออย่างนี้จะคลาดเคลื่อนจากความจริง แต่ยังทรงอิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้

    ผลของการเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดกระแสความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ผู้คนเผ่าพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ไทย เกิดการดูถูกทางสังคมและวัฒนธรรมจนเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครองเป็นเวลายาวนาน

    สยามประเทศ หรือ ประเทศไทย ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในแผ่นดินสุวรรณภูมิผสมผสานกันอยู่แบบที่เรียกว่า “ร้อยพ่อพันแม่” ซึ่งประชากรในกรุงเทพฯ มีอย่างน้อยๆ 3 กลุ่ม เช่น คนพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกกลุ่มหนึ่งที่ในปัจจุบันซึ่งสำเนียงพูดต่างจากสำเนียงกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นสำเนียงหลวง สำเนียงเยี่ยงนี้เรียกว่าการพูด “เยื่อง” ไม่ออกสำเนียง “เหน่อ”อย่างสำเนียงสุพรรณบุรี – อยุธยา จังหวัดรอบข้างใกล้เคียงอย่าง เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี เป็นอาทิ

      และคนกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มที่ 3 คือ คนต่างชาติภา หรือพวกนานาชาติ เช่น ลาว คนเมือง คนอีสาน มอญ เขมร กูย แต้จิ๋วกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ จาม ชวา มลายู ซาไก มอแกน ทมิฬ เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทดำ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ ฝรั่ง (ชาติต่างๆ) แขก(ชาติต่างๆ) ลูกครึ่ง ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

      ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในชื่อบทเพลงต่างๆ เช่น มอญร้องไห้ ,เขมรกล่อมลูก,แขกต่อยหม้อ ,พราหมณ์ดีดน้ำเต้า,ญวนทอดแห, ลาวดวงเดือน,ฝรั่งรำเท้า, พม่าห้าท่อน ฯลฯ

      เพลงลูกทุ่ง จึงเป็นการปรับขึ้นใหม่แทนที่ ลิเก ซึ่งมีกำเนิดอยู่ในกรุงเทพฯ นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ขณะที่ ลิเก นั้น ก็ยังคงอยู่คู่กับสังคมปัจจุบัน และยังไม่ได้จางหายไป เพียงแต่ปรับวิธีการนำเสนอใหม่เป็นลักษณะแบบเพลงลูกทุ่งซึ่งผสมผสานมหรสพใหม่ขึ้นในกรุงเทพ โดยอาศัยรากฐานเดิมจากการเล่นต่างต่างปรับเข้าดนตรีฝรั่งที่มีมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ในการปรับแถวทหารที่เรียกอย่างชาวบ้านว่าแตรฝรั่ง

      แตรฝรั่งเหล่านี้ กลายมาเป็นต้นแบบให้กลายเป็นแตรวง ตามงานๆ แล้วพัฒนาเป็นวงลูกทุ่ง หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ซึ่งมีวิวัฒนาการร่วมกับมหรสพ

      โดย มหรสพ นั้น แบ่งได้ในสองระดับ ระหว่าง ชนชั้นราชสำนัก กับ ราษฎร ทั่วไป แต่มีความสัมพันธ์กันในความต่างกันบางอย่าง ซึ่งส่งทอดอิทธิพลให้กันและกันไม่ขาดสาย เช่น โขน ละคร ทั้ง ละครนอก และ ละครใน รวมทั้ง ละครพันทาง

      ก่อนจะกลายเป็น ละครพันทาง ใน วงดนตรีลูกทุ่ง ในยุคต่อมาซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลากหลายที่หลอมรวมเป็นภูมิสังคมวัฒนธรรมแล้วปรับเปลี่ยนใช้มาตามยุคตามสมัย จากสำเนียงเสียงต่างๆ พันทางมาอย่างร้อยพ่อพันแม่ จึงปรับมาเป็นเพลงลุกทุ่งและส่งให้การเล่นร้องรำทำเพลงภูมิภาคอื่นปรับตัวไปด้วย เช่น หมอลำ กันตรึม ในภาคอีสาน

      รวมทั้งกลิ่นอายเพลงพื้นบ้านสุพรรณบุรีที่ปรากฏในบทเพลงของวงคาราบาว  และกลิ่นอายเพลงตะวันตกในวงคาราวาน
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

สำเนียงเสียงลูกทุ่ง

      สำเนียง เสียงภาษา นั้นมาก่อนอักษร และสำเนียง จึงที่เป็นบอกภูมิภาคของผู้คน ภาษาพูดนั้นจึงมีมาก่อนภาษาเขียน

      ตระกูลภาษา บาลี – สังสกฤต- ไทย – ลาว –มอญ – เขมร– จีน  ซึ่งเป็นตระกูลภาษาใหญ่ของของสุวรรณภูมิ ทั้งยังเป็นต้นเค้าภาษาไทยและฉันทลักษณ์ ตลอดจนทำนองร้องขับลำ อักด้วย

      สำเนียงเสียงลูกทุ่ง นอกจากเนื้อหาที่กล่าวถึงเพลงชนบทและทำนองเสียงที่ร้องออกสำเนียง “เหน่อ” แบบจังหวัดสุพรรณบุรี อย่างเพลง แม่แตงร่มใบ ของ ชัยชนะ บุญนะโชติ หรือ สำเนียงร้องของ คำรณ สัมบุญณานนท์ ปฐมบทหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง ซึ่งพื้นแพเป็นคนย่านสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ที่ร้องสำเนียงออกสำเนียง “เหน่อ” ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง

      เรื่องสำเนียง “เหน่อ” จิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ไว้ว่า

      “ปลอดเขตภาษาที่เรียกกันว่าสำเนียงสุพรรณทั้งหมด ซึ่งคลุมในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี ,กาญจนบุรี,นครปฐม,ราชบุรี และเพชรบุรี เป็นสำเนียงภาษาที่มีความสูงต่ำทางวรรณยุกต์คล้ายกับภาษาลาวเหนือทางแขวงหลวงพระบางไปถึงซำเหนือ (หัวพัน). นี่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้แปลกใจมานานแล้ว.

      ภาษาพูดที่ชาวสุพรรณบุรีและกลุ่มสำเนียงนี้พูดเป็นภาษาไทย(ที่ว่าภาษาไทยหมายความว่าเป็นภาษาที่ใช้ถ้อยคำและสำนวนอย่างไทยภาคกลาง ไม่ใช่ถอยคำและสำนวนอย่างลาวในประเทศลาว.)แต่สำเนียงเป็นสำเนียงลาวเหนือเจือปนจนสังเกตได้ชัด.

      จริงอยู่ในสมัยกรุงเทพฯนี้ได้เคยมีการกวาดต้อนพวกผู้ไทดำ (โซ่ง) ทางแขวงซำเหนือ และลาวเวียงทางเขตเวียงจันทน์ ตลอดจนชาวเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง) มาไว้ที่จังหวัดสุพรรณบุรี – ราชบุรี –เพชรบุรีเดิม และยังคงใช้ภาษาเดิมของตนจนกระทั่งทุกวันนี้,หาได้เคล้าคละปะปนทั้งชีวิตประจำวันและภาษาเข้ากับชาวเจ้าของถิ่นเดิมไม่ ทั้งสำเนียงของชาวสุพรรณบุรีก็เป็นแบบลาวเหนือมิใช่แบบผู้ไท”

      การเคลื่อนย้ายถ่ายเทผู้คนนำมาซึ่งสำเนียง เสียงภาษา แต่สำเนียง “เหน่อ” เป็นสำเนียงหลวงที่ใช้ในการเจรจาพากษ์โขนหลวง ซึ่งจะผิดจาก “ขนบ”เดิมมิได้ ซึ่งเป็นพระราชประเพณี

      การเจรจาพากษ์โขนจึงไม่ใช่สำเนียงแบบคนบางกอกที่พูดออกสำเนียง “แปร่ง - เยื่อง” ไม่ตรง “เหน่อ” ส่งสำเนียงแปร่งหรือเยื้องจากสำเนียง มาตรฐานของเมืองหลวงในสมัยนั้น

      แม้ว่าในปัจจุบัน เราใช้สำเนียงของคนบางกอก – กรุงเทพมหานคร เป็น มาตรฐานเพราะเป็นเมืองหลวงปัจจุบัน แต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นสำเนียงและภาษาอย่างนี้เป็นท้องถิ่นเล็กๆ ท้องถิ่นหนึ่ง

      สำเนียง เสียง เพลงลูกทุ่ง ในยุคแรกนั้นอาจกระจัดกระจายตามโทนเสียงของนักร้องท่านั้นๆ เช่น สำเนียงเสียงของ คำรณ บุญณานนท์,ชัยชนะ บุณนะโชติ,เมืองมนต์ สมบัติเจริญ,ดำ แดนสุพรรณ ออกเหน่อสุพรรณบุรี ชาย เมืองสิงห์,หนุ่ม เมืองไพร สำเนียงเหน่อสิงห์บุรี และ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ คนเพชรบุรีที่ออกสำเนียงเสียง สุโขทัย

      หรือสำเนียงบางกอก อย่าง ทูล ทองใจ,สมยศ ทัศนพันธุ์,ผ่องศรี วรนุช,ไพรวัลย์ ลูกเพชร  เป็นอาทิ   

      สำเนียงเสียงเหน่อแบบสุพรรณบุรี หรือ เหน่อ ทั่วไปจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ เพลงลูกทุ่งของ ลูกทุ่งขนานแท้

      เสียงเหน่อนี้แหละ จึงเป็นเสียงที่ควบคุมท่วงทำนองเสียงเอก – โท ในเพลงต่างๆในลูกอ้อนและลูกเอื้อนของเพลงลูกทุ่งละปี่พาทย์
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

:พันทางของพื้นถิ่น พื้นเมือง

      เครื่องดนตรีฝรั่ง นอกจากจะเป็นต้นธารหนึ่งของกระแสเพลงลูกทุ่ง เครื่องดนตรีพื้นเมือง ก็เป็นต้นธารกระแสหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง เช่นกัน

      ดนตรีพื้นเมืองนั้นเป็นดนตรีที่เกิดขึ้นเฉพาะถิ่น และเป็นที่นิยมบรรเลง ขับร้องเล่นกันอยู่ในถิ่นนั้นๆ มีทั้งบรรเลงเดี่ยว และประสมวง

      เช่น กลองยาว ซึ่งนิยมเป็นวง ไม่จำกัดจำนวนกลอง มีตั้งแต่สามใบขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น กลองยาว กลองตุ๊กหรือกลองชาตรี และผสมด้วยฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฆ้องราง ซอ เครื่องเป่าต่างอย่าง แคน และเครื่องดนตรีฝรั่ง

      ซึ่ง จะปรากฏตามงานบุญต่างๆ

      ทั้งนี้ เพลงพื้นเมืองซึ่ง ส่งอิทธิพลในการแต่งเพลงที่ใช้ท่วงทำนอง เพลงไทยเดิม และเพลงพื้นบ้านพื้นเมือง

      โดยเพลงไทยเดิมนั้นอาจมีสันนิษฐานมาจากเพลงพื้นเมืองก่อนจะหกลายเป็นการประยุกต์ใหม่

    ความเป็นพ่อเพลง แม่เพลง ของคนพื้นเมือง  เพลงลูกทุ่ง ซึ่งนับเอาเฉพาะภาคกลางก่อน (ลูกทุ่งอีสาน เขียนถึงต่อในภายหน้า) โดยเพลงพื้นบ้านนั้นถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะกลอนเพลงยาว คือ กลอน มีรากเหง้าเค้าเดิมมาจากคำคล้องจองในชีวิตประจำวันของกลุ่มชนตระกูลไทย-ลาว

    กลอน มี ๒ แบบ คือ กลอนส่งสัมผัสร่าย เช่น กลอนทำขวัญ กลอนเทศน์ กลอนสวด กลอนเซิ้ง จนถึงคำเจรจาโขน กับกลอนส่งสัมผัสเพลง เรียกว่า “กลอนเพลง” เช่น กลอนเกี้ยวพาราศี กลอนโต้ตอบอย่างพ่อเพลงแม่เพลงร้องเล่นทั่วไปเรียก เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงเทพทอง เพลงอีแซว เป็นต้น จนถึงเสภา มโหรี บทละคร ฯลฯ

    กลอนเพลง เริ่มแรกๆ มักด้นปากเปล่า จึงเป็นกลอนสั้นๆ เมื่อเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็สั้นๆ อย่างเพลงร้องเล่นมโหรี เพลงกล่อมลูก เป็นต้น

    เมื่อสังคมขยายตัวจากชุมชนหมู่บ้านเป็นชุมชนเมือง มีความซับซ้อนมากขึ้นกลอนเพลงที่เคยด้นเคยแต่งอย่างสั้นๆ ก็ค่อยๆ ยาวขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสนองความต้องการของผู้ฟัง เช่น กลอนเสภา ใช้ขับเล่านิทานยาวๆ

    ในที่สุดมีผู้เขียนลายลักษณ์อักษรเป็นกลอนเพลงยาวๆ บันทึกเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยจัดขนบให้เริ่มด้วยวรรครับ หรือ วรรคที่สอง (ในจำนวน ๔ วรรค เป็น ๑ บท) เช่น กลอนเพลงยาวพยากรณ์ฯ ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ แต่เรียกสั้นๆ เป็นที่เข้าใจทั่วไปว่า เพลงยาว เพราะแต่งยาวขึ้นกว่าแต่ก่อน

    ทั้งนี้ ท่วงทำนอง เพลงพื้นบ้าน เกิดจากการละเล่นในฤดูกาลต่างๆ เช่น หน้าน้ำ อย่างเพลงเรือ (หาฟังได้จากเพลง รอยไถ เพลงแรกในชีวิตของ กังวลไพร ลูกเพชร แต่งโดย สุรพล สมบัติเจริญ)หลังหน้าเกี่ยว อย่างเพลงเกี่ยวข้าว(ซึ่งเป็นปัจจุบันหาดูยากแล้ว)  เพลงเหย่ย เพลงเต้นกำ เพลงสงฟาง เพลงต่างๆ ที่ใช้ร้องเล่นเต้นรำในเทศกาลต่าง อย่างเพลง พวงมาลัย เพลงขอทาน เพลงแห่นางแมว เพลงเย้าผี

    รวมทั้งเพลงที่ไม่จำกัดเฉพาะกาล อย่างเพลงเทพทองรำโทนแอ่วเคล้าซอ อีแซว รายละเอียดเพลงเหล่านนี้สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้อย่างเต็มอิ่มจาก หนังสือ เพลงนอกศตวรรษ ของ อเนก นาวิกมูล

    เพลงลูกทุ่งมีความพันทาง ที่กำเนิดจากหลายๆ อย่าง ประกอบขึ้นด้วยกัน จึงเกิดเป็นเป็นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่และชัดเจนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่มีวิวัฒนาต่อเนื่องมาแต่ยุครัชสมัยที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มิใช่เพิ่งเริ่มมี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

: ลูกผสมระหว่างไทยเดิมพื้นบ้านและเพื่อนบ้านต่างประเทศ

      นักฟังเพลงลูกทุ่งอย่างผ่านๆ หรือนักวิการหลายคนพยามตีความแบ่ง “เพลงลูกทุ่ง” นั้นเป็นจำพวก เพลงพื้นบ้าน ส่วน “เพลงลูกกรุง” นั้นเป็นเพลงไทยเดิม

      วิธีคิดแบบนี้ ซึ่งผิดไม่เป็นจริงอย่างยิ่ง โดยมองเป็นแบ่งแยก

      วิวัฒนาการจริงๆ ของเพลงลูกทุ่งคือการพัฒนามาจากทั้งเพลงพื้นบ้านและเพลงไทยเดิม รวมทั้งการเล่นๆ ต่างๆ ที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่

      เพลงลูกทุ่งเป็นการเล่นที่ปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่ เฉกเช่น ลิเก ซึ่งเป็นที่นิยมกันในบริเวณภาคกลางของประเทศเช่นกันกับเพลงลูกทุ่ง แล้วกระจายไปสู่ภาคอื่นตามลำดับ

      แต่ทว่า เพลงลูกทุ่ง สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมในภาคอื่นๆ ได้ดีกว่า ลิเก เพราะการประยุกต์ขึ้นมาใหม่  เพลงลูกทุ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะท่วงทำนองหรือบุคลิกนักร้อง

      ความเป็นสากลไม่ยึดกับขนบประเพณีนิยมมาผูกมัดเพียงอาศัยพื้นฐานจากการร้องการเอื้อนทำนองที่ทำให้ดูเป็นเอกลักษณ์ของเพลงลูกทุ่งที่ผสมผสานกันระหว่างเพลงพื้นบ้านกับเพลงไทยเดิมเท่านั้น สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในเพลงลูกทุ่ง ซึ่งถือว่าเป็นของใหม่ในสังคม

      จังหวะของเสียงของเพลง นั้น เพลงลูกทุ่งนั้นมีลีลาเพลงที่ถูกแต่งโดยอาศัยรูปแบบฉันทลักษณ์ “กลอนแปด”หรือ “กลอนตลาด” แต่ไม่ยึดติดตายตัวว่าจะต้องลงที่ 8 คำ หรือ 9 คำ หากแต่ส่งสัมผัสได้เท่านั้น รวมทั้งการใช้สัมผัสแบบ “กลอนหัวเดียว”

      วิธีการ้องที่ใช้จังหวะของถ้อยคำและระดับเสียงสูงต่ำเป็นหลักล้วนๆ

      ทำนองเพลงที่นำมาใช้ในเพลงลูกทุ่งนี้มีมากมายไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าต้องเป็นเพลงพื้นบ้านหรือเพลงไทยเดิมเท่านั้น เพลงต่างชาติก็นิยมนำใช้จะสังเกตได้จากเพลง รักริงโง,อาทิตย์อุทัยรำลึก ของ สุรพล สมบัติเจริญ รวมทั้งเพลง อย่าเดินโชว์ ของ บรรจบ เจริญพร แต่งโดย สุรินทร์ ภาคศิริที่นำทำนองญี่ปุ่น

      เพลงอารีดัง,รักแท้จากหนุ่มไทย ของ เบญจมินทร์ ที่นำเพลงทำนองเกาหลี

      ทั้งนี้ สุรพล สมบัติเจริญ ยังนำทำท่องเพลงจีนมาใช้ในเพลงลูกทุ่งอย่างเพลง ดอกฟ้าเมืองไทย,แซ่ซีอ้ายลื้อเจ๊กนั่ง และยิกเถ้าเลาะซั่ว

      หรือเพลง รอยรักรอยมลทิน ของประดิษฐ์ อุตตะมัง ไพรวัลย์ ลูกเพชร ,สาวนาคอยคู่ บุปผา สายชล,โฉมนาง,ธรณีชีวิต ชาตรี ศรีชล – ยุพิน แพรทอง ซึ่งแต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน และเพลงหนี้กรรม ของยุพิน แพรทอง – สุมิตร สัจจะเทพ ของ สุรินทร์ ภาคศิริ รวมทั้งวอนลมฝากรักที่สุรินทร์ แต่งให้ บุปผา สายชล หรือกามนิต วาสิตฐี ของเพลิน พรหมแดน ซึ่งเป็นทำนองแขก

      โดยรวมทั้งเพลงในยุค ค.ศ. 1970 ที่พบในเพลงของ สุชาติ เทียนทองและสรวง สันติ และเพลงลูกทุ่งตะวันตกในลักษณะเพลงโห่ ซึ่งปรากฏในเพลงของ เพชร พนมรุ้ง และ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีในเพลงของ คำรณ สัมบุณณานนท์ หรือทำนองเพลงกราวนอกในเพลงฉั่ว ของ สังข์ทอง ศรีใส และเพลงตลุยบางกอก ของ เพลิน พรหมแดน

      จึงไม่แปลกอะไร ถ้าหากในเพลงลูกทุ่งจะสำเนียงเพื่อนบ้านอยู่เต็มไปหมด แต่เข้าใจว่านักแต่งนั้นพยามที่สื่อสารเนื้อหาในเพลงที่เข้ากับยุคสมัยนิยมหรือตามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมซึ่งตลาดต้องการอะไร

      ทั้งนี้ ทำนองของเพลงต่างๆ ที่เป็นทำนองบ้านเพื่อนทั้งใกล้และไกลดังที่ปรากฏอยู่ในเพลงลูกทุ่งนั้นอาศัยความเครือญาติทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นสื่อที่นำเสนอความ แม้ว่าแนวทางด้านเนื้อหาจะขึ้นอยู่กับตลาดจะรองรับในการฟัง ซึ่งสิ่งเหล่าจะเกิดขึ้นเองโดยตัวของมันเอง

      ฉะนั้น ในบทเพลงลูกทุ่งจึงกินความหมายได้กว้างทั้งสังคมเมืองและสังคมชนบทโดยสื่อสารผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์จากสังคมเมืองสู่สังคมชนบทอีกทอดหนึ่ง

      อนึ่ง เพลงลูกทุ่งนั้นมีรากกำเนิดจากเครื่องดนตรีฝรั่งจากวงดนตรีทหารที่สามารถนำมาปรับเข้าเครื่องดนตรีไทยได้อย่างกลมกลืนจนบ้างทีแยกไม่ออก

      เพราะความคิดที่ว่า “เพลงลูกทุ่งเป็นไทย”  และเป็นจริงๆ แต่เป็นของที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในกรุงเทพนี่เองโดยรากของการผสมผสานของมารับใช้สังคมของการปรับตัวสมัยใหม่
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

: ลูกทุ่งลิเก

      เพลงลูกทุ่งนั้นเกิดจากการปรับตัวเข้าหายุคสมัยจากพื้นฐานอีกด้านหนึ่งของ “ลิเก” ซึ่งเป็นการละเล่นที่มีกำเนิดในกรุงเทพฯ และเกิดก่อนหน้าเพลงลูกทุ่ง

      ลิเกหรือยี่เกอย่างที่เราเห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้ มาจาก “แขก” มลายูมุสลิม มีต้นกำเนิดที่กรุงเทพฯ บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ วิกแรกคือ “วิกพระยาเพชรปราณี” ซึ่ง “ลิเก” เป็นการละเล่นที่มาแทนที่ “ละครนอก” โดยลิเก ร่วมตับเพลงต่างๆ ไว้อย่างหลากหลาย (ไม่ได้มีขนบนิยมอย่างเช่นทุกวันนี้ รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือ ลิเก มหรสพกรุงเทพรัตนโกสินทร์ มีกำเนิดในกรุงเทพฯ : สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ)

      ทั้งนี้ เพลงลูกทุ่ง ก็คือ ลิเกที่ปรับตัวใหม่เพื่อนสนองอารมณ์ความรู้สึกในระบบใหม่ ไม่ว่าจะด้านละครหน้าวิกการแสดงแสดงร่วมทั้งหางเครื่อง

      นักร้องที่ฉายภาพลักษณ์จากพระเอกลิเกได้เด่นเด่นท่านหนึ่งคงหนีไม่พ้น พร ภิรมย์

      ภาษากวีในบทเพลงของ “พร ภิรมย์” หากลองนึกถึงนักร้องที่ยึดแนวเพลงลิเก เพลงแหล่ เพลงพื้นบ้าน เพลงรำวง เพลงโห่ในอดีต แทบจะนับได้ว่ามีดาวดวงเด่นอยู่ไม่กี่คน นักร้องที่ร้องเพลงลิเกได้เด็ดขาดกว่าลิเกอาชีพก็ต้อง “ไพรวัลย์ ลูกเพชร”

      หากเพลงแหล่ก็มี พร ภิรมย์,ชัยชนะ บุญญโชติ,ชาย เมืองสิงห์ ถ้าเพลงรำวงต้อง เบญจมินทร์,สุรพล สมบัติเจริญ,นิยม มารยาท,กุศล กมลสิงห์,สมานมิตร เกิดกำแพง

      เพลงโห่ยุคแรกมี คำรณ สัมบุญณานนท์ ถัดมาจึงมี เพชร พนมรุ้ง เป็นอาทิ

      ขณะที่นักร้องนักแต่งเพลงที่ใช้คำได้วิจิตรอลังการ นอกจากครูไพบูลย์ บุตรขัน แล้ว ชื่อของ “พร ภิรมย์” ย่อมเป็นอันดับต้นๆ

      พร ภิรมย์ นั้นแฟนเพลงหรือเหล่านักร้องต่างยกย่องยอมรับในอัจฉริยะความสามารถ ทั้งด้านขับร้อง,แต่งเพลง,พระเอกลิเก,พากย์หนัง,แสดงภาพยนตร์,เล่นดนตรีจีน,ด้านกลอนสด,ทำขวัญนาค ฝีมือหรือเชิงการประพันธ์นั้นมีมากมายหลายเพลง ส่วนมากมักจะเป็นนิทานชาดก บางเรื่องนำมาจากธรรมบท รวมถึงนิยายอิงประวัติศาสตร์อย่างสามก๊ก นักร้องนามอุโฆษท่านก็แปลงมาทำเป็นเพลงแหล่ได้อย่างแนบเนียน โดยเนื้อเพลงนั้น

      ความเป็นนักร้องลูกทุ่ง พร ภิรมย์ มีผลงานที่แต่งเองร้องเองประมาณ ๕๐๐ เพลง เช่น ดาวลูกไก่ ,บัวตูมบัวบาน,จำใจจาก,น้ำตาลาไทร,เห่ฉิมพลี,วังแม่ลูกอ่อน,ไม้หลักปักเลน เป็นอาทิ

      ชื่อเดิมของ พร ภิรมย์ นั้นมีชื่อจริงว่า บุญสม มีสมวงษ์ เริ่มต้นเข้าวงการลิเกมาก่อน ต่อมามาเป็นนักร้องวงจุฬารัตน์ บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกคือ ลานรักลานเท เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้รู้จักทั่วประเทศคือ เพลงบัวตูมบัวบาน

      ปัจจุบันบวชเป็นพระอยู่ที่วัดรัตนชัยหรือวัดจีน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

      ภาษาในบทเพลงของ พร ภิรมย์ ถือได้ว่าเป็นชั้นครูและเป็นเจ้านายภาษาคนหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่ง เพราะคำแต่ละคำที่มาใช้นั้นจะเรียกว่าเป็นภาษากวีก็ว่าได้ ทั้งการเล่นคำ จังหวะรับของคำแต่ละคำ ล้วนงดงามและอลังการยิ่งนัก

      เช่นคำในเพลงเห่ฉิมพลี ซึ่งหยิบวรรณคดีมาแต่งเป็นเพลงเห่เรือ อย่างในวรรคแรกที่ว่า “ฉิมพลีพิมานมาศ สุดสวาทนาฏกากี เวนไตยให้ยินดี ปรีดาแนบแอบนางชม สองสุขสองสวาท แสงโสมสาดสองสุขสม สองสนิทสองชิดชม สองภิรมย์สมฤดี” ซึ่งเป็นการเล่นตัวอักษรได้อย่างดงาม

      วรรคถัดไปซึ่งตัวละครในวรรณคดีนั้นเป็น “ครุฑ” แต่ผู้แต่งใช้ “นก” แทนครุฑ ได้อย่างกลมกลืน “นกแนบนวลนางนอน กางสองกรโอบกากี ชื่นชีวัน ขวัญชีวี แนบฉิมพลี หลับไม่ลง สะท้านชานไกรลาส พิศวาสประหลาดหลง พระสุเมรุค่อยเอนลง ทอดยอดตรงหิมพานต์ นาคีสีทันดร เริงสาครกระฉอกฉาน กระเทือนถึงบาดาล แผ่พังพานเข้าถ้ำไป”

      นอกจากจะนำเสนอเรื่องราวระหว่างวรรณคดีมาเป็นเพลงแล้วผู้แต่งยังเล่นคำสัมผัสความได้งดงามยิ่งนัก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเชิงชั้นทางภาษากวีในตัวตนอีกด้วย และเพลงนี้น่าจะเป็นบทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยที่คนร่นใหม่อาจจะไม่ค่อยรู้จัก

      นอกจากเพลงนี้ ยังมีอีกหลายเพลงที่ซ่อนเนื้อความได้อย่างงดงาม อย่างเพลง บัวตูมบัวบาน,น้ำตาลาไทร ฯลฯ

      ผู้แต่งสามารถซ่อนนัยเป็นเชิงอีโรติกได้อย่างแนบเนียนจนผู้ฟังบางท่านจินตนาการไปไกลกว่าผู้แต่งเสียอีก

      แม้กระทั่งเพลงผรุสวาทที่โต้ตอบกันระหว่าง ชาย เมืองสิงห์ นักร้องรุ่นน้องแห่งวงจุฬารัตน์ ซึ่งเป็นโต้ตอบอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

      ในด้านภาษาแล้วถือว่ากระแทกอารมณ์ได้ทั้งสองฝั่ง รวมทั้งยังนำหลักทางพระพุทธศาสนาเข้ามาแทรกในบทเพลง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ พร ภิรมย์ ทำอย่างเป็นแบบฉบับของตัวเอง

      นอกจากผู้ฟังเพลงจะได้รสนิยมในการฟังเรื่องอลังการแห่งคำบันเทิงคดีแล้วยังได้คติความรู้ทางปรัชญาทางพุทธธรรมอีกด้วย ปัจจุบัน พร ภิรมย์ กำลังค้นหาความวิมุติสุขในฐานะศิษย์ขององค์ตถาคต แต่บทเพลงของท่านก็ยังเป็นอมตะ และมีการนำมาขับร้องและมีมนต์เสน่ห์อยู่มิเสื่อมคลาย

      พื้นฐานเหล่านี้จากเพลงพื้นบ้านและไทยเดิมเป็นรากกำเนิดที่มีอยู่ในเพลงลูกทุ่งที่ปรับขึ้นมารับใช้กระแสสังคมที่ตอบรับคนในยุคหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา

      ความเป็น “พ่อเพลง แม่เพลง บวกความเป็น นักเลงกลอน”  ก่อให้เกิดเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่ในยุคต่อมา
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

: ย่านชุมชนคนดนตรี


      เพลงลูกทุ่ง มีกำเนิดในกรุงเทพฯ เฉกเช่น ลิเก ที่มีแหล่งกำเนิดใจกลางกรุงเทพฯ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแหล่งกำเนิดจากถิ่นอื่น หากแต่มีการปรับเปลี่ยนตามวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีการสื่อสาร

      วิกลิเกแห่งแรกอยู่ที่ “วิกพระยาเพชรปาณี” ข้าราชการการกรมวัง บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ลิเกแท้จริงเรียกวิเกทรงเครื่อง ที่สืบถึงทุกวันนี้ มีแหล่งกำเนิดราว พ.ศ. 2440 ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 5 

      ย่านความบันเทิง จึงเริ่มมีแพร่หลายอยู่ย่านเมืองกำแพงเมืองพระนคร ตั้งแต่ ป้อมมหากาฬ ถึง ย่านหลานหลวง ย่านความบันเทิงพอจะอนุมานได้ดังนี้

      ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุนชนบ้านไม้โบราณ วิกลิเกพระยาเพชรปาณี ซึ่งวิกลิเกนั้นอยู่ในตรอกพระยาเพชร เป็นความแปลกใหม่ในสมัยนั้น (พ.ศ. 2440) ทำให้สมเด็จฯ กรมดำรงราชนุภาพ เสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ แล้วมีลายพระหัตถ์เล่าเนื้อความที่ตรัสถามความเป็นมาของลิเกกับพระยาเพชรปาณี (ตรี) บอกรายละเอียดไว้ใน สาส์นสมเด็จ

       ปัจจุบันไม่มีวิกลิเกหลงเหลือแล้ว

      ชุมชนหลานหลวง ใกล้กับ วังวรดิส ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ มี คณะละครโนราห์ – ชาตรี ของ ครูพูน เรืองนนท์ วงแรกและวงเดียวในกรุงเทพฯ สืบเนื่องมาถึง ทองใบ เรืองนนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาละครชาตรี ถึงปัจจุบัน คณะเรืองนนท์ ติดกับวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) หรือวัดมิตร ชัยบัญชา  

      คณะเรืองนนท์ นับตั้งแต่ต้นตระกูล พระศรีชุมพล (ฉิม) ครูละครเร่-เรือลอย แห่งราชสำนักเมืองนครศรีธรรมราช ส่งทอดมรดกความรู้ให้แก่นายเรือง นักละครชาตรีผู้ตัดสินใจอพยพหนีภัยแล้งติดตามกองทัพพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในพระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สนามกระบือ ถนนหลานหลวง และยึดอาชีพแสดงละครชาตรีสืบต่อมา จนถึงคุณปู่พูน เรืองนนท์ บิดาของครูทองใบผู้ให้กำเนิดครูปู – บุญสร้าง เรืองนนท์

      ครูพูนนั้นเป็นคนสำคัญในความทรงจำของนักดูมหรสพไทยสมัยกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีวิชาความรู้แบบแผนการแสดงทางละครชาตรีดีมาก รู้ธรรมเนียมการเบิกโรง การโหมโรงชาตรี การประกาศหน้าบท การเชิญครู การรำซัด การบอกบท การตีกรับรับบท

      เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนก็รู้จักปรับปรุงวิธีการดำเนินเนื้อเรื่อง การขับร้อง ฟ้อนรำ ตลอดจนพัฒนาดนตรีประกอบให้เป็นที่น่าดูน่าชม จนมีชื่อเสียงโด่งดัง มีคนนิยมหาละครชาตรีครูพูน เรืองนนท์ ไปเล่นตามงานแก้บนเป็นประจำทุกวัน

      รวมทั้งการผูกกิจการแก้บนที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพ สอนลูกหลานให้หัดเล่นละคร หัดรำ หัดร้อง หัดดนตรี

      จนในที่สุด ครูทองใบ หนึ่งในบุตรธิดา 18 คนของท่าน (ภรรยา 5 คน) ได้เติบโตขึ้นทำหน้าที่แทนบิดา เป็นผู้สืบทอดอนุรักษ์ความรู้ต่างๆของครูพูนไว้อย่างสมบูรณ์(อานันท์ นาคคง กรุงเทพธุรกิจ 22 สิงหาคม 2549) ครูทองใบ เรืองนนท์ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ด้วยโรคชรา วัย 81 ปี

      ภูเขาทองกับคลองมหานาค เป็นชื่อสถานที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา แล้วกรุงเทพฯ เลียนแบบมาทำให้เหมือนอยุธยา

      เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ต่อมาอีก 3 ปี ถึง พ.ศ.2328 โปรดให้สร้างพระนครใหม่ขุดคลองรอบกรุง สร้างกำแพงเมือง รวมทั้งให้ขุดคลองมหานาค เลียนอย่างกรุงเก่า และคลองมหานาคซึ่งเชื่อมคลองโองอ่าง คลองหลอดวัดเทพธิดาราม คลองบางลำภูทอดยาวไปเรียก คลองแสนแสบ ฉากในนวนิยายเร่องแผลเก่า ของ ไม้ เมืองเดิม

      คลองมหานาค เป็นสถานที่เล่นกลอนสักวา เพลงเรือ มีความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ดังนี้

      “แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกพระราชทานนามว่าคลองมหานาค สำหรับประชาชนชาวพระนครลงเรือไปเล่นศักระวาในเทศกาลน้ำเหนืออย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า ครั้นขุดคลองเสร็จแล้ว วัดสะแกนั้นพระราชทานนามใหม่ว่าวัดสระเกษ แล้วให้ขอแรงพวกเขมรเปนอันมากทำรากก่อพระอุโบสถด้วย”

      คลองเชื่อมย่านป้อมหมากาฬนี้ยังเกี่ยวข้องกับมหากวี สุนทรภู่ เจ้าของลีลา “กลอนตลาด” มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งสุนทรภู่จอดเรืออยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง มีชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวาย แต่ทายกว่าคำถวายไม่เป็น และอาราธนาให้สุนทรภู่ช่วยสอน สุนทรภู่จึงเป็นคำกลอนว่า

       “อิมัสมิงริมฝั่ง อิมังปลาร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง ช่อมะกอก ดอกมะปราง เนื้อย่าง ยำมะดัน ข้าวสุกค่อนขัน น้ำมันขวดหนึ่ง น้ำผึ้งครึ่งโหล ส้มโอแช่อิ่ม ทับทิมสองผล เป็นยอดกุศล สังฆัสสะ เทมิ" บทนี้จริงเท็จประการใดยังไม่มีใครชำระแน่นเพียงแต่เป็นการสันนิษฐานทั้งสิ้น

      ภูเขาทอง วัดสระเกษ หรือที่เรียกอย่างชาวบ้านว่า วัดภูเขาทอง ในยุคหลัง งานวัดภูเขาทองถือว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งกรุงเทพฯและ เวทีการประกวดร้องเพลงที่แห่งนี้ ถือว่าเป็นเวทีแห่งการชิงชนะเลิศของเซียนประกวด

      ซอยบุปผาสวรรค์ อยู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอยที่ 28 หรือซอยบุปผาสวรรค์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ห้องแถวที่เรียงรายตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอยเป็นที่ตั้งของสำนักงานวงดนตรีลูกทุ่งนับร้อย เดินเข้ามาก็จะเห็นป้ายสำนักงาน ชินกร ไกรลาศ เพชร โพธาราม ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ถัดไปเป็น พุ่มพวง ดวงจันทร์ ตรงโน้นเป็น เพลิน พรหมแดน เสรีย์ รุ่งสว่าง ศรเพชร ศรสุพรรณ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ฯลฯ

      รถบัส รถตู้ รถหกล้อ ของวงดนตรีลูกทุ่ง จอดติดกันยาวเหยียดจากหน้าปากซอยไปเป็นกิโลเมตร ปัจจุบัน สังคม วงดนตรีลูกทุ่งบางวงยุบวงไปและย้ายสถานที่ตามเหตุปัจจัยต่างๆ วงสุดท้ายที่ยังอยู่วงสุดท้ายของตำนานคนลูกทุ่ง ซอยบุปผาสวรรค์ คือ สำนักงาน บรรจง มนต์ไพร แดนซ์เซอร์ ทไวไลท์

      ย่านชุมชนคนดนตรี กระจายไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ตามการขยายเมืองของสังคมชุมชนคนลูกทุ่ง – ปี่พาทย์ ก็มีการเคลื่อนย้ายแหล่ง วิก คณะ เช่นกัน
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

: ลูกทุ่ง(ไม่ได้)มาจากอีสาน


      ความแห้งแล้งแร้นแค้นในภาคอีสานบีบบังคับให้ชาวอีสานต้องทิ้งถิ่น..บ้านเกิดเมืองนอนที่เคยอยู่เย็นเป็นสุขกลับกลายเป็นดินแดนที่ร้างไร้ความหวังในอันจะดำรงชีพอีกต่อไป

      ชาวอีสานต้องหลั่งไหลออกจากแดนเกิดระลอกแล้วระลอกเล่า กลิ่นเหงื่อและคราบน้ำตาอันเนื่องมาจากการอพยพย้ายถิ่นนี้เองคือรากเหง้าและที่มาของเพลงลูกทุ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตและชะตากรรมของชาวอีสาน และท่วงทำนอง ถ้อยคำร้อง กระทั่งเนื้อหาแปลกแยกไปจากเพลงลูกทุ่งไทย (ภาคกลาง) จนมีผู้บัญญัติศัพท์เรียกแนวเพลงนี้ว่า”เพลงลูกทุ่งอีสานง”

      เนื้อความใน สารคดีชุด ลูกทุ่งอีสาน บทที่ 6 อีสานวิกฤติ ของ แวง พลังวรรณ บริษัทเรือนปัญญา จำกัด จัดพิมพ์และจัดจำหน่าย กทม.พ.ศ. 2545

      คุณแวง พลังวรรณ เชื่อว่าจังหวะ “รำโทน” คือต้นกำเนิดเพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกทุ่งนั้นมาจากภาคอีสาน และผู้ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการนำเพลงรำโทนมาใช้มากที่สุดและเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสร้างชาติด้วยการเชิดชูวัฒนธรรมของชาติไทย คือ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาท่านผู้นำ จองพล ป. พิบูลสงคราม

      ผู้เขียนไม่ได้เชื่อตามทฤษฎีของคุณแวง พลังวรรณ ว่าเพลงลูกทุ่งมีกำเนิดจากอีสานโดยเพลงรำโทนแต่บ้างอย่างอาจสอดคล้องกันบ้างแต่ไม่มากนัก

      จังหวะตีกลอน ป่ะ ป่ะ โทน โทน หรือจังหวะ รำโทน นี้เป็นวัฒนธรรมร่วมทั้งกันแผ่นดินสุวรรณภูมิ ไม่เฉพาะภาคอีสานทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง หลวงวิจิตรวาทการ มาจัดระเบียบใหม่เป็นรอบวงจึงเรียกรำวงในยุคต่อ

      ส่วน เพลงลาวแพน ซึ่งเป็นเพลงแคนสำเนียงลาวฝีมือครูลาวบ่าวไพร่วังหน้าสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นพวกที่มีส่วนเกี่ยวข้องเนื้อเพลงลาวแพนมาพร้อมกับคนพวนถูกกวาดต้อนลงมาภาคกลางในรัชกาลที่ 3 ราว พ.ศ.2369 เกือบ 200 ปีมาแล้วคราวศึกอนุวงศ์เวียงจัน

      รำโทน เป็นส่วนหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง แต่ไม่ใช่ต้นกำเนิด เพราะเพลงลูกทุ่งในเริ่มแรกนั้น ไม่มีอะไรที่ตายตัว เป็นกฎเกณฑ์ มาตรฐานแน่นอน แต่เพลงลูกทุ่งเป็นวิวัฒนาการที่สืบเนื่องมาจากการละเล่นที่หลากหลาย และเข้ามามีบทบาทแทนที่ “ลิเก”

      การหลั่งไหลของคนอีสานที่เข้ามาสู่เมืองหลวงเป็นผลของเศรษฐกิจสังคมที่เริ่มขยายตัว และต้องการแรงงาน พร้อมๆ กับการตัด “ถนนมิตรภาพ” สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

      วิกลิเก จึงมีชุนชนอีกที่หนึ่ง คือ โคราช หรือ นครราชสีมา จะหยุดตัวอยู่แค่บริเวณนั้น หรืออาจขยายไปแต่ไม่มากนักที่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ตามเส้นทาวงรถไฟ เพราะท้องถิ่นดังกล่าวการละเล่น กันตรึม เจรียง รองรับอยู่แล้วแต่เดิม รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ที่มี หมอลำ เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น

      นครราชสีมาหรือโคราชนั้น อยู่ต้นลำน้ำมูลในอีสาน เป็นบ้านเมืองที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พวก “สยาม” แผ่อำนาจอิทธิพลเหนือบ้านเมืองแว่นแคว้นบริเวณลุ่มน้ำมูล ไม่มีหลักฐานว่า “สยาม” พวกนี้มาจากไหน?แต่มีรองรอยหลายอย่างน่าเชื่อว่ามาจากแคว้นโคตรบูร ซึ่งศูนย์กลางอยู่ที่เวียงจัน

      เมืองพิมายหรือโคราชนั้นผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมและสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ผลสืบเนื่องจากกรมหมื่นเทพพิพิธิ เจ้าก๊กพิมาย เชื้อสายราชวงศ์บ้านพลูหลวงถูกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปรามปรามประหารชีวิตได้แล้ว ไม่ได้กวาดต้อนผู้คนลงมากรุงธนบุรี พวกนี้ได้ปักหลักอยู่ที่นั่นแล้วกลายเป็นบรรพบุรุกลุ่มใหม่ของคนโคราชปัจจุบัน

      ผู้คนที่กรมหมื่นเทพพิพิธได้รวบรวมผู้คนมีทั้งจากหัวเมืองชายละเทตะวันออก เช่นจันทบุรี,ระยอง,ชลบุรี,ปราจีนบุรี และนครนายกเป็นกำลังสำคัญไปตั้งหลัก อยู่เมืองนครราชสีมาและเมืองพิมาย

      ครั้นกรุงแตกยังมีข้าเก่าจากกรุงศรีอยุธยาหนีพม่าขึ้นไปตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติมอยู่ด้วยอีกมาก คนพวกนี้ผสมกลมกลืนกับคติท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิม คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานว่าเป็นวัฒนธรรมแบบกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วเกิดประเพณีใหม่กลายเป็น “วัฒนธรรมโคราช” เช่น สำเนียงโคราช กระเดียดไปทางสำเนียงชายทะเลตะวันออกแถบระยองและจันทบุรีและยังอธิบายต่ออีกว่า เพลงโคราช ก็คือฉันทลักษณ์และลีลาเดียวกับเพลงพาดควาย,เพลงฉ่อย (ไม่ใช่ลำตัดที่เพิ่งเกิดสมัยรัชกาลที่5)นอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่นๆ อีก เช่น กินข้าวเจ้า,เคี้ยวหมาก,ตัดผมเกรียน,นุ่งโจงกระเบน และมีศิลปะสถาปัตยกรรมทำวัดวาอารามแบบอยะยาภาคกลาง

      วัฒนธรรมโคราช จึงต่างจาก วัฒนธรรมอีสานในลุ่มแม่น้ำซี ขึ้นไปที่มี หมอลำ และต่างจากวัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล 

      กลอนลำ นั้นเป็นวัฒนธรรมการขับมโหรี “ขับลำ” เป็นวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นละเล่นที่แพร่หลาย ภาคกลางเรียก ร่าย ภาคเหนือเรียก ฮ่ำ เป็นการเล่าเรื่องแบบส่งสัมผัส

      “เพลงลูกทุ่ง” จึงต่างไปจาก “หมอลำ” แต่คล้ายกันเพราะเป็นวัฒนธรรมร่วมที่ใช้ร่วมกัน และถือกำเนิดมาจากความไม่มีกฎเกณฑ์ระบุ มาตรฐาน แต่อาศัยทำนองและคำร้องที่ส่งสัมผัสเหมือน กลอนแปด กลอนร่าย มีลักษณะเรียบง่าย เนื้อหาและภาษาที่ใช้ตรงไปตรงมา น้ำเสียงลีลาชัดถ้อยชัดคำ มงคล เปลี่ยนบางช้าง ให้ลักษณะที่ชัดเจนของเพลงลุกทุ่งไว้ 2 ประเภท คือ เสียงหรือสำเนียง ของ 1. เสียงร้องนำ 2. เสียงดนตรี

      คำว่า “เพลงลูกทุ่ง” เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 หนึ่งในสัญลักษณ์ของเพลงลูกทุ่งคือเครื่องดนตรีฝรั่งที่เข้ามารัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเฉพาะ แอคคอร์เดี้ยน เพลงลูกทุ่ง จึงมีแหล่งกำเนิดในภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา และใช้วัฒนธรรมร่วมกันทั้งสองฝั่งโขงด้วยความประณีประนอมของเครือญาติ ก่องจะแพร่หลายไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมๆ กับการตัดถนนสายมิตรภาพ จึงมีขุนพลเพลงลูกทุ่งอีสานเข้มามากมายในแถวหน้าของวงการเพลงลูกทุ่งเมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นต้นมานี้เอง ซึ่งมีผลพวงมาตั้งแต่ เบญจมินทร์,เฉลิมชัย ศรีฤชา,พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา,สุรินทร์ ภาคศิริ,เทพพร เพชรอุบล,ดาว บ้านดอน,ศักดิ์สยาม เพชรชมพู,สนธิ สมมาตร,ฉวีวรรณ ดำเนิน,อังคนางค์ คุณไชย และวงเพชรพิณทอง เป็นอาทิ

      นี่แหละ พลังลาว ชาวอีสาน
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

: จากมนต์รักลูกทุ่งถึงมนต์รักทรานซิลเตอร์

      เจนภพ จบกระบวนวรรณ เขียนถึงเพลงลูกทุ่งในยุคเฟื่องฟูถึงขีดสุดในยุคสมัยของ สุรพล สมบัติเจริญ ระหว่าง 2504 – 2511 ภายหลังการเสียชีวิตของสุรพล สมบัติเจริญ เพลงลูกทุ่งก็พุ่งขึ้นสู่ความนิยม ทั้งบ้านนอก บ้านนาร้านค้าในตลาด ระบาดไปทั่วทุกหลัง ก็คงไม่ผิด

      นักร้องที่ครองความยิ่งใหญ่ต่อจาก สุรพล สมบัติเจริญ อย่าง ชาย เมืองสิงห์ ถือเป็นแบบอย่างความชัดเจนของเพลงลูกทุ่ง เพราะมีการปรับเปลี่ยนรูปท่วงทำนองที่ของเพลงไทยเดิมผสมผสานไดอย่างกลมกลืนจนบางที่แยกไม่ออก

      ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ผลผลิตของเหน่อสุพรรณบุรีที่ใช้เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว แหล่ ลิเก กระทั่งกลอนลำ มาใช้ในบทเพลงได้ครบเครื่อง ไวพจน์ นอกจากจะมีฝีมือให้การแต่งเพลงแล้ว ยังได้เพลงจากครูเพลงชั้นยอดจากอดีต ลิเก โฆษก จำอวดละคร นักพากย์หนัง อย่าง จิ๋ว พิจิตร หรือ ดิเรก เกศรีระคุปต์ ในหลายๆเพลงหรือ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ในเพลง สาละวันรำวง รวมทั้ง ทองใบ รุ่งเรือง

      มิตร ชัยบัญชา พระเอกตลอดกาล มีส่วนสร้างแรงกระหึ่มให้เพลงลูกทุ่งเป็นอย่าง หลังการเสียชีวิตของสุรพล สมบัติเจริญมีภาพยนตร์เรื่อง 16 ปี แห่งความหลัง แต่ที่โด่งดังเป็นประวัติการณ์ คือ ภาพยนตร์มนต์รักลูกทุ่ง บทประพันธ์- กำกับการแสดงของ รังสี ทัศพยัคฆ์ เมื่อ พ.ศ. 2513 เพลงสิบหมื่น,แม่ร้อยใจ ที่ เสน่ห์ เพชรบูรณ์ นักร้องวงศรีไพร ใจพระ (หรือ เก่งกาจ จงใจพระ โหรชื่อดัง) ขับร้องที่ประชาชนคิดว่า มิตร ชัยบัญชา เป็นผู้ร้องเองในภาพยนตร์

      มนต์รักลูกทุ่งมีนักร้องลุกทุ่งหลายคนร่วมแสดงด้วย เช่น ศรีไพร ใจพระ,บุปผา สายชล,ไพรวัลย์ ลูกเพชร,บรรจบ เจริญพร,ผ่องศรี วรนุชและพรไพร เพชรดำเนิน

      กระแสความดังของภาพยนตร์เรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ส่งผลให้นักร้องลูกทุ่งหลายคนหันมาแสดงภาพยนตร์อีกอาชีพหนึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.จินตนา ดำรงเลิศ เขียนไว้ในบทความ วิวัฒนาการและองค์ประกอบของเพลงลูกทุ่ง หนังสือกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ภาค 2 .สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ไว้ว่า

      ภาพยนตร์บางเรื่องนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบเป็นเพลงเอก และประสบความสำเร็จโด่งดัง เช่น เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งแสดงนำโดยพระเอกขวัญใจในยุคนั้นคือ มิตร ชัยบัญชา เพลงเอกชื่อเดียวกับภาพยนตร์ ประพันธ์โดยปรมาจารย์ของวงการเพลงลูกทุ่งคือ ไพบูลย์ บุตรขัน ส่วนนักร้องเพลงลูกทุ่งที่ร่วมแสดงด้วยได้แก่บุปผา สายชล โดยขับร้องเพลงดังในภาพยนตร์ชื่อ ยมพบาลเจ้าขา

      ความสำเร็จจากการนำเอาเพลงลูกทุ่งมาประกอบภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ทำให้มีการสร้างภาพยนตร์โดยมีการแสดงเพลงลูกทุ่งประกอบอีกหลายเรื่อง อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคของภาพยนตร์เพลงลูกทุ่ง นักร้องที่เกิดจากภาพยนตร์แนวนี้และโด่งดังสุดขีดในวงการเพลงลูกทุ่งต่อมาได้แก่สังข์ทอง สีใส โดยเป็นผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โทน และแสดงคู่กับพระเอกไชยา สุริยัน นักร้องคนอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในช่วงนี้ เช่น ระพิน ภูไท เสกศักดิ์ พู่กันทอง ศรคีรี ศรีประจวบ สมัย อ่อนวงศ์ พนม นพพร ยุพิน แพรทอง ชาตรี ศรีชล กาเหว่า เสียงทอง กังวานไพร ลูกเพชร ฯลฯ ส่วนนักแต่งเพลงที่ประสบความสำเร็จในช่วงนี้ก็มีไม่น้อย อาทิ กานท์ การุณวงศ์ ฉลอง ภู่สว่าง ช.คำชะอี พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา สุรินทร์ ภาคศิริ ฯลฯ

      ในยุคนี้ถือว่าเป็นเฟื่องฟูที่สุดของเพลงลูกทุ่งและความนิยมที่แพร่หลายของเพลงลูกทุ่งนอกจากภาพยนตร์แล้ว เครื่องมือที่สำคัญมากในการส่งผลให้เพลงลูกทุ่งถึงชนบทคือวิทยุทรานซิสเตอร์

      อย่างในเพลง อีสาวทรานซิสเตอร์ ของ อ้อยทิพย์ ปัญญาธร แต่งโดย ชลธี ธารทอง ที่อิงอยู่เครื่องวิทยุขนาดพกพา ซึ่งใช้สารพัดประโยชน์ในการบันเทิง ทั้ง ฟังข่าว ละคร ขอเพลง ขำขันวิทยุทรานซิสเตอร์ เป็นเครื่องสื่อสารที่เข้าถึงสังคมชนบทได้ดีที่สุดในยุคอดีต โดยเฉพาะการกระจายข่าวสารสู่สังคมชนบท

      เพลงลูกทุ่งเข้าแพร่หลายผ่านนักจัดรายการวิทยุจากจดเหมายขอเพลงรวมทั้งลำนำประกอบเพลงต่างๆ ผ่านวิทยุทรานซิลเตอร์ ปรีชา ทรัพย์โสภา บุคคลหนึ่งที่ดูเหมือนจะคู่กับวิทยุทรานซิสเตอร์ ถือเป็นรายการเล่าข่าว "ยุคคลาสสิก" ช่วงเช้าตรู่ทางคลื่นเอเอ็มวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ที่มีอิทธิพลต่อสังคมชนบทเป้นอย่างยิ่ง

      หรือที่ปรากฏชัดใน มนต์รักทรานซิสเตอร์ นวนิยายขนาดสั้นของนักเขียนนาม วัฒน์ วรรลยางกูล ซึ่งเป็นงานเขียนที่สะท้อนภาพความเป็นสังคมชนบท โดยเฉพาะความรักแบบชาวบ้านที่มีเพลงและวิทยุเป็นสื่อ

      ในฉบับภาพยนตร์ที่กำกับการแสดงโดย เป็นเอก รัตนเรือง นำแสดงโดย ศุภกร กิจสุวรรณ - สิริยากร พุกกะเวส ดำเนินเรื่องโดยให้ “แผน” หรือ “สุรแผน” แห่งบ้านบางน้ำไหล (ในฉบับ นวนิยาย เป็น บ้านบางน้ำใจ) พบเรื่องราวด้วยเหตุการณ์ความบังเอิญทั้งหมด นวนิยายฉบับเดิมนั้น แผน แห่งบ้านบางน้ำใจ เป็นคนเชื่อทุกอย่างที่สื่อสารออกผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์ และเหตุให้วงจรชีวิต

      มนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายที่สะท้อนความเป็นสังคมชาวบ้านในยุคหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ ลงมาจนถึงปัจจุบัน

      วิทยุทรานซิลเตอร์ มีวิวัฒนาการให้เครื่องสื่อสารย่อขนาดเล็กลงจากเดิมพอเหมาะมือแล้วเล็กลงมาหลายเท่าตัวในปัจจุบัน

      วิทยุทรานซิสเตอร์ คือ สะพานเชื่อผ่านทางของนักร้องเพลงลูกทุ่งและเป็นสถานีของมิตรนักเพลงในยุคลูกทุ่งเฟื่องฟู่ ที่นำโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ความศิวิไลของเมืองมาสู่ชนบท


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

: เพลงนิทาน จาก พร ภิรมย์ถึง จรัล มโนเพ็ชร

      พร ภิรมย์ นักร้อง – พระเอกลิเก แห่งวงจุฬารัตน์ ของ ครูมงคล อมาตยกุล ผู้สร้างชื่อเสียงจากเพลง บัวตูมบัวบาน ถือเป็นนักร้องที่นำเรื่องราวในนิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน มาดัดแปลงแต่งเป็นเพลงมากที่สุด เช่น  ดาวลูกไก่ 1-2, วังแม่ลูกอ่อน 1-2 , ริมไกลลาส 1-2,พ่อหม้ายตามเมีย เป็นอาทิ 

      เสน่ห์ในบทเพลงของ พร ภิรมย์ อยู่ที่จุดนี้ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันก็มีนักร้องที่นำเรื่องเรื่องราวนิทานชาดก นิทานพื้นบ้านมาขับร้องในยุค 2500 เป็นต้นมา

      ไม่ว่าจะเป็นเพลง ชูชกสองกุมาร,กาเอ๋ยกา ของ สุรพล สมบัติเจริญ  เพลงพิมพา,พ่อลูกอ่อน,มหาชนก,นกกระยาง ชาย เมืองสิงห์ เพลง ขุนศึกกำสรวล โกมินทร์ นิลวงศ์,น้ำตาเสือตก,ชายสามโบสถ์ คำรณ สัมบุญณานนท์,ยอยศพระลอ ของ ชินกร ไกรลาส (ร่วมแต่งโดย ไถง สุวรรณทัต- พยงค์ มุกดา) ,โสนน้อยเรือนงาม ก้าน แก้วสุพรรณ ที่สุรพล สมบัติเจริญเป็นผู้แต่ง และเพลงประกอบละครจากนวนิยายเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของ ยาขอบ – โชติ แพร่พันธุ์

      เพลงที่บอกเล่าเรื่องราวสังคมในยุคแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ แสงนภา บุญราศี เช่น คนจรหมอนหมิ่น,ชีวิตนักมวย,ชีวิตเด็กวัด,ตื่นเถิดกรรมกร หรือเพลงสุภาพบุรุษปากคลองสาน,ผู้แทนควาย,โปลิศถือกระบอง ของ เสน่ห์ โกมารชุน ก่อนจะหันไปแสดง – กำกับ – อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เพราะเหตุผลทางการเมืองบีบบังคับ

       ตาสีกำสรวล ตอน 1-2 ,มนต์การเมือง,หวยใต้ดิน ที่ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์ หลายเพลงที่ คำรณ แต่งเอง และ ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้ รวมทั้งนักแต่งเพลงร่วมสมัยในยุคนั้น

      รวมทั้งเพลงที่มีอิทธิพลจากวรรณคดีในหลายเพลง อย่าง เพลงจูบมัดจำ ขับร้องโดย ทูล ทองใจ แต่ง นิยม มารยาท ซึ่งน่าจะได้อิทธิพลในเสภาขุนช้าง ขุนแผน ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ไปพบนางแก้วกิริยา

      เพลงนิทาน นี้มีรากฐานจากความเชื่อผูกเป็นเรื่องราวผ่านวรรณคดี ผ่านนิทานมุขปาฐะ ผ่านพระไตรปิฎก ผ่านพระสูตร-ธรรมาบท ผ่านจาก "ฟัง" ด้วยหู ไม่ใช่ "อ่าน" ด้วยตาอย่างทุกวันนี้ คือฟังผู้รู้นักบวชสวด-เทศน์ กับฟังพวกหมอลำ-ช่างขับ ผ่านการละเล่นต่างๆ

      คนดึกดำบรรพ์ยุคแรกๆ ยังมีเรื่องราวบอกเล่าด้วยภาษาพูดปากต่อปากด้วย ถ้อยคำบอกเล่าเหล่านั้น ต่อมาเรียกกันว่านิทาน ซึ่งนอกจากพูดจาตามประสาชีวิตประจำวัน เช่น นิทานตำนานเรื่อง แถนและกำเนิดคน,กำเนิดมนุษย์,หมา 9 หาง กับพันธุ์ข้าวปลูก,พญาคันคาก รวมทั้ง เรื่องพญาพานฆ่าพ่อที่นครชัยศรี มีรากจากเทพปกรณัม อิดีปุสของกรีก เป็นต้น

      คำบอกเล่ายุคแรกๆ ไม่ยึดยาว มักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ (ภายหลังต่อมาเรียกว่า ประวัติ) อำนาจเหนือธรรมชาติ พิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ จนถึงวิถีชีวิตของโคตรตระกูล ผู้คนทั้งชุมชนเชื่อถือร่วมกันอย่างศรัทธาว่าคำบอกเล่าเหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น พิธีขอฝนเพราะมีคำบอกเล่าว่ามีแถนอยู่บนฟ้า เป็นผู้มีฤทธิ์มีอำนาจบันดาลให้เกิดฝนตกลงมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน

      ตำนานเรื่องทุ่งกุลาร้องไห้ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ปรากฏในเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู แต่งโดย สุรินทร์ ภาคศิริ และ ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ของ เทพพร เพชรอุบล รวมทั้งเพลงพูดของ เพลิน พรหมแดน แม้จะแต่งเรื่องราวขึ้นมาใหม่ ก็จัดเป็นเพลงนิทานที่เล่าโดยอาศัยสถานการณ์สังคม

      รวมทั้งเพลง การะเกด,ขุนทองไปปล้น,กล่อมขวัญวีรชน ของวงเจ้าพระยา ก่อน 6 ตุลาคม 2519  นกเขาไฟ ของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ รวมทั้งเพลงนิทาน พงศาวดาร ที่แต่งโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งมีเผยแพร่มากนักเพราะไม่ใช่ขายระบบค่ายเทปแต่ทำแจกเผยแพร่ความรู้ เช่น ดิน หญ้า ฟ้า แถน,เพลงกรุงเทพมหานคร,กำเนิดอยุธยา เป็นอาทิ

       จรัล มโนเพ็ชร ขุนพลเพลงล้านนาผู้ล่วงลับ แต่งเล่าเรื่องราวตำนาน นิทาน แห่งล้านนา มาผูกเรื่องเป็นเพลง อย่าง เพลง อุ๊ยคำ,มิดะ,มะเมียะ ฯลฯ

      รวมทั้งเพลงเจ้าจันทร์ผมหอม ขับร้องโดย สุนทรี เวชานนท์ ซึ่งประพันธ์ขึ้นสืบเนื่องจากวรรณกรรมเรื่อง เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน (นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ พ.ศ. 2534) ของ มาลา คำจันทร์ (เจริญ มาลาโรจน์) ซึ่งทั้งผู้แต่งประพันธ์และเพลง

      เพลงนิทาน ถือเป็นเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวทางสังคมจะเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประวัติศาสตร์สังคม (ความเป็นมนุษย์) ที่หล่อหลอมด้วยเศรษฐกิจ-การเมืองยุคนั้นๆ และช่วยสังคมให้อยู่ร่วมกันระหว่าง ความเชื่อที่อยู่ดั้งเดิมก่อนรับพระพุทธศาสนาและก่อนจะมีวิทยาศาสตร์

      หากจะนับเพลงลูกทุ่งในแง่เพลงนิทานจาก พร ภิรมย์ ถึง จรัล มโนเพ็ชร แล้ว ในปัจจุบันแทบจะไม่ปรากฏเพลงนิทานอีกเลย และเห็นแต่เพลงที่โหยหาความเหงา เรื่องเฉพาะตัวและหาผัวหาเมียเป็นส่วนมาก ทำให้สังคมมีเส้นระหว่างความแตกต่าง ก้าวร้าว เห็นแก่ตัว มากขึ้น

      สังคมไทยขาดหายและโหยหาเพลง- วรรณกรรมนิทาน สังเกตได้จาก กรณีความคลั่ง แฮรี่ พล็อตเตอร์ เพราะสังคมไทยขาดเพลงนิทาน หากจะนับเอาตั้งแต่สิ้น จรัล มโนเพ็ชร ก็ขาดช่วงไป
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

: หางเครื่อง


      สัญลักษณ์หนึ่งที่อยู่คู่เป็นเพลงลูกทุ่งนอกจากนักร้องแล้ว “หางเครื่อง” เป็นเครื่องหมายหนึ่งของวงดนตรีลูกทุ่งเช่นกัน

      นักร้องลูกทุ่งปรากฏตัว ไม่ว่าจะบนเวทีคอนเสิร์ต เวทีงานวัด ออกรายการโทรทัศน์ หรือแม้แต่ในวีซีดีคาราโอเกะ เบื้องหลังนักร้องลูกทุ่งยังคงมีหางเครื่องให้ได้เห็นเสมอ

      ปัจจุบันในแวดวงลูกทุ่ง คำว่า “แดนเซอร์” ถูกนำมาใช้แทนที่ “หางเครื่อง” อย่างกว้างขวาง จนมีข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้ว หางเครื่องกับแดนเซอร์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

      “หางเครื่อง” ถูกนำมาใช้เรียกคนที่ออกมาเต้นประกอบการแสดงดนตรีลูกทุ่งในยุคแรก “แดนเซอร์” ถูกเรียกในยุคต่อมา รวมทั้ง “โคโยตี้”  ที่กำลังระบาดใน คลับ บาร์ สถานบันเทิงในปัจจุบัน ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคมที่จะนำพาไปของแฟชั่น

      ทั้งนี้ หางเครื่อง ในความเข้าใจของคนไทยเมื่อ ๔๐ ปีก่อน หมายถึงเครื่องดนตรีพวกฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง ลูกแซ็ก ไม้แต๊ก ที่ใช้เคาะให้จังหวะอยู่ข้างหลังวงดนตรี ไม่ใช่ผู้หญิงสาวๆ นุ่งน้อยห่มนิด ออกมายักย้ายส่ายสะโพก ให้บรรดาขี้เมาลวนลามด้วยสายตาและท่าทางอย่างทุกวันนี้

      ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เขียนถึงสาวที่ออกมาเต้นประกอบเพลงลูกทุ่งไว้ใน เรื่องของละครและเพลง ว่า ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อเริ่มมีวงดนตรีลูกทุ่งเกิดขึ้นนั้น นักร้องเพลงลูกทุ่งทั้งหญิงและชายแต่งตัวอย่างบ้านนอกบอกลักษณะลูกทุ่งแท้ๆ ต่อมาจึงค่อยปรากฏวิวัฒนาการเรื่องเครื่องแต่งกายเป็นแบบตะวันตก

      กล่าวคือ นักร้องชายสวมชุดสากล ส่วนนักร้องหญิงก็สวมกระโปรงแบบชาวตะวันตก ด้านหลังนักร้องมีหญิงสาวยืนเต้นไปมาตามจังหวะเพลง ไว้ว่า

      “...บางวงมีสาวๆ แต่งสมัยใหม่มายืนเข้าแถวหมุนไปหมุนมา (...) ดูคล้ายกับจะเป็นระบำ (...) สมัยนั้นมีระบำสาวอยู่สองคนเท่านั้น แล้วก็ไม่เห็นมีอีก ต่อมาจึงมีระบำหญิงเป็นคณะเกิดขึ้น เป็นระบำหมู่ของนายหรั่งหัวแดง เรียกกันว่า “ระบำนายหรั่ง” เต้นเป็นแถวเข้ากับเพลงดนตรีสากล มักเต้นตามงานวัด และมีโรงเล่นที่ตลาดบำเพ็ญบุญ ซึ่งชั้นบนเป็นโรงละครอยู่ริมถนนเจริญกรุง ตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุง ระบำนายหรั่งหัวแดง (ผมแดงคล้ายฝรั่ง) มีชื่ออยู่นาน วงลูกทุ่งเวลานี้ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน”

      วงดนตรีลูกทุ่งของ เพลิน พรหมแดน นับเป็นวงดนตรีแรกที่นำแฟชั่นใหม่ๆ มาประกอบให้ หางเครื่องมีความแปลกตาและตื่นเต้นไม่ว่าจะด้วย เสื้อผ้า ขนนก จากต่างประเทศ มาใช้กับการแสดงลูกทุ่งเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

      พลิกสถานการณ์วงดนตรีเพลิน พรหมแดนให้มาผงาดอยู่แถวหน้าของวงการลูกทุ่ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ คือ ศกุนตลา พรหมสว่าง ภรรยาคู่ชีวิตของสมส่วน พรหมสว่าง หรอที่รู้จักกันในนาม เพลิน พรหมแดน

      เอกลักษณ์ความเป็น เพลิน พรหมแดน ที่มีเพลงพูดเป็นจุดขาย ยิ่งช่วยทำให้วงดนตรีของเขาก้าวมาอยู่แถวหน้าของวงการเพลงอย่างเต็มภาคภูมิ

      เกษร สิทธิหนิ้ว เขียนไว้ในบท “หางเครื่อง จังหวะชีวิตบนถนนดนตรีลูกทุ่ง” จากนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 246  สิงหาคม 48 ปีที่ 21 กับการสัมภาษณ์ 3 บุคคลในวงการลูกทุ่ง เช่นศกุนตลา พรหมสว่าง,แดน บุรีรัมย์ และ ชินกร ไกรลาศ ถึง หางเครื่องวงดนตรี เพลิน พรหมแดน   ไว้ว่า

      ศกุนตลา พรหมสว่าง

       “ออกแสดงครั้งแรกได้รับการต้อนรับจากท่านผู้ชมมากๆ ปี ๒๕๑๕ เรียกว่าวงเพลิน พรหมแดน อยู่ในช่วงพุ่งทะยาน แค่บอกว่า เพลิน พรหมแดน บัตรก็เต็มหมด ต้องเพิ่มรอบเข้าไปเป็นวันละ ๓-๔ รอบ เวลาเล่นรอบค่ำหกโมงเย็น คนแห่กันมาดูมืดฟ้ามัวดิน ได้รับการต้อนรับดีมากๆ บางทีเด็กขายตั๋วเกิน พี่กำลังจะตักข้าวเข้าปากคำแรก ก็มีโทรศัพท์เรียกให้ไปที่งาน เพราะคนล้นอีกแล้ว ไม่มีที่จะอยู่จะไป เกิดโกลาหลทั้งเมือง ตำรวจมาเต็มไปหมด พี่จัดการคุยกับตำรวจว่า จะคืนเงินแล้วให้เขาดูฟรี ต้องเล่นถึง ๒ วัน”

      แดน บุรีรัมย์ ตลกชื่อดัง อดีตครูสอนเต้นที่เคยใช้ชีวิตคลุกคลีกับวงการลูกทุ่งมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
      “วงเพลิน พรหมแดน เริ่มคิดขึ้นมาว่าจะทำจินตลีลาประกอบเพลง จากนั้นก็พัฒนาอีก โดยแต่งตัวให้สวยงามขึ้น ใช้ขนนกมาเสียบหัวเสียบหางอย่างในปัจจุบัน คุณเพลิน พรหมแดน กับคุณศกุนตลา ได้เดินทางไปดูการแสดงแฟชั่นโชว์ คาบาเรต์ ในปารีส ยุโรป ไปเห็นว่าเขาใช้ขนนกอย่างนี้มันสวยงาม ก็เลยซื้อมาเอามาดัดแปลง เสียบหัวบ้าง เสียบข้างหลังบ้าง ความแปลกใหม่พวกนี้เป็นจุดที่ทำให้วงการลูกทุ่งเปลี่ยนไป”

       ชินกร ไกรลาศ ก็เห็นเช่นนั้น “วงที่จุดประกายให้เกิดแฟชั่นพัฒนาหางเครื่องขึ้นมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คือวงเพลิน พรหมแดน จากที่เคยใช้ ๕๐ คนก็กลายเป็น ๗๐ เป็น ๑๐๐“

      หางเครื่อง เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีมาพร้อมกับการกำเนิดลูกทุ่ง จึงเป็นสิ่งใหม่ที่สามารถนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย ตามใจผู้เป็นต้นคิดเพลงลูกทุ่ง ก็เช่นกัน เป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาแทนที่ลิเกที่เริ่มมีกฎระเบียนขึ้นมาเป้นกรอบในภายหลัง ทั้งนี้เพลงลูกทุ่งมีตัวเลือกที่จะเล่นไดมากกว่า ลิเก

      หางเครื่อง คือ สีสันหนึ่งของวงดนตรีเพลงลูกทุ่งและค่อยกลายมาตามชื่อเรียกของยุคสมัย และเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีเพลงลูกทุ่งที่ดูเหมือนจะขาดไม่ได้เลย

       นัยยะของ หางเครื่อง ถึง โคโยตี้ เป็นความหมายคล้ายกันหากจะเปลี่ยนไปบ้าง เพียงคำเรียกขานเท่านั้น


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

:เพลงชีวิต เพลงลูกทุ่ง

      ผละสะท้อนของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สภาพเศรษฐกิจของสยามในยุคนั้นเกิดปัญหาหลายด้าน รากฐานหรือจุดก่อร่างความเป็นลูกทุ่งเริ่มชัดเจนขึ้นมาพร้อมๆ กับยุคสมัยดังกล่าว พร้อมๆ กับ คำว่า เพลงชีวิต และ เพลงตลาด

      แสงนภา บุญราศี ถือเป็นนักร้องเพลงชีวิตหรือเพลงตลาดคนแรกๆ ในยุคเริ่มมีวิวัฒนาการเพลงลูกทุ่ง หลังช่วงสงคราม พ.ศ. 2488 เป็นต้นมาหรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

      เพลงของแสงนภา บุญราศี นั้นช่วงในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2483 – 2491 ผลงานเพลงส่วนมากเป็นเนื้อหาที่พรรณนาถึงชีวิตชนชั้นล่าง

      เช่น คนจรหมอนหมิ่น,คนปาดตาล,คนลากขยะ,ลูกศิษย์วัดลพรานกะแช่ เป็นอาทิ

      รวมทั้ง นักร้องในยุคถัดมาอย่าง เสน่ห์ โกมาชุน,คำรณ สัมบุญณานนท์ และนักแต่งเพลงอย่าง ไพบูลย์ บุตรขัน ,ป.ชื่นประโยชน์ ผลงานยุคแรกนั้นสะท้อนปัญหาชีวิต สังคม เศรษฐกิจ แม้กระทั่งเสียดเย้ยกลุ่มผู้อำนาจในสังคมการปกครอง

      ก่อนจะเปลี่ยนมาแนวเพลงหวานคลาสิก หลังรัฐระหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นล้มรัฐบาลชาตินิยม จอมพล ป.พิบุลสงคราม ในยุค “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” มาสู่ระบบ “พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ที่มีกรอบให้ประชาชนแสดงความคิดในวงจำกัด

      รายละเอียดนั้นสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ ปฐมบทเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตไทย ของ ธีรภาพ โลหิตกุล สำนักพิมพ์โสมสาร จัดพิมพ์ 

      เพลงชีวิต อาจไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาเพลงที่สะท้อนการเมืองต่อต้านเผด็จการในด้านเดียวหรือเรียกสำนวนว่า “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก”

      คำว่าเพื่อชีวิตหรือเพลงเพื่อชีวิตที่มีต้นธารจากเพลงชีวิต-เพลงตลาดในยุคแรก อาจเกิดจากพลังความทฤษฎีชนชั้นที่ถูกบีบบังคับจากชนชั้น ซึ่งปรากฏอยู่ในบทเพลงต่างๆ หลังการปฎิวัติ 2475 และ ภายหลังสงครามโลก

      วัฒน์ วรรลยางกูร อธิบายผลสะท้อนจากปัญหาสังคมผ่านเพลงของ ไพบูลย์ บุตรขัน ไว้ใน คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน (แพรวสำนักพิมพ์ จัดพิมพ์ 2541.กทม.) ว่า

      เพลงเหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์ต่อสู้ทางการเมืองอันดุเดือดสภาพสังคมการเมืองเป็นแรงเร้าให้ผลงานเพลงที่ไพบูลย์เขียนให้คำรณและคนอื่นๆ มีความคมเข้ม เป็นพัฒนาการทางความคิดต่อเนื่องจากยุคเพลงของพรานบูรพ์และแสงนภา บุญราศี

      8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารของฝ่ายจอมพล ป.พิบูลสงครามซึ่งบัญชาการโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้ยึดอำนาจโค่นรัฐบาลของฝ่ายรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ลงไป

      หลังจากนั้นเป็นช่วงของการกวาดล้างทางการเมืองอย่างเหี้ยมโหด ปี 2492 บุคคลสำคัญฟากฝ่ายท่านปรีดีถูกกำจัดหลายคน เช่นสังหารหมู่สี่รัฐมนตรี จำลอง –ทองอินทร์-ถวิล-ทองเปลว จับตายอดีต ร.ม.ต.ทวี ตะเวทิกุล สังหารพันตรีโผน อินทรทัต อดีตเสรีไทยฆ่าแล้วเผา อดีต ร.ม.ต.เตียง ศิริขันธ์ ฆาตกรรมนายอารีย์ ลีวีระ ฆ่าหะยีสุหรง ผู้นำมุสลิมภาคใต้ รัฐบาลของ ป. – ผิน – เผ่า ได้ใช้อำนาจทมิฬผ่านกองทัพตำรวจที่พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้บัญชาการปี 2495 ก็มีการกวาดล้างครั้งใหญ่ที่เรียกว่ากบฏสันติภาพ มีนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง ถูกจับจำนวนมาก สาเหตุเพราะคัดค้านการที่รัฐบาลส่งทหารไปรบที่เกาหลีตามบัญชาของอเมริกา

      เพลงผู้แทนความและเพลงสามล้อแค้น ที่เสน่ห์ โกมารชุน แต่งเองร้องเองในช่วง 2493 – 2495 กลายเป็นเพลงต้องห้ามเพราะเล่นงานกลุ่มผู้มีอำนาจรุนแรง เช่น ท่อนจบของเพลงสามล้อแค้นว่า

      สามล้อนี้หนอเป็นคนชั้นต่ำ แต่เรามีศีลธรรม ไม่ลืมคำวาจา ไม่เคยโกงกินทรัพย์สินของราษฎร ไม่เคยสร้างความเดือดร้อน เหมือนพวกกะล่อนเทวดา

      หน้ากากผู้ดีมันมีกันอยู่มากมาย หน้าจริงแหละคือยักษ์ร้ายที่กลายเกิดมา พวกโกงกาลี มันดีก็แต่หน้า แท้จริงมันนี้ขี้ข้ากว่าสามล้อมากมาย

      หรือในเพลงผู้แทนควาย

      ปักษ์เหนือปักษ์ใต้แดนไกลกันดาร ไม่มีข้าวรับประทาน เพราะคอร์รัปชั่นมันโกงกิน ควายมันอยากร้อง ให้พี่น้องได้ยิน ไปถึงสวรรค์ชั้นอินทร์ ให้พวกโกงกินมันวอดวาย

      แต่เกิดเป็นควายก็ได้แต่ยืนดู ถึงจะรู้ก็เหมือนไม่รู้ ได้แต่ดูเขาขนไป ถ้าควายปากบอน ควายจะต้องนอนตาย เอ้าโกงกันให้สบายเถอะไอ้ควายจะยอมทน

      นอกจากสองเพลงนี้จะเป็นเพลงต้องห้าม เสน่ห์ โกมารชุน ยังถูกคุกคามชนิดพลตำรวจเอก เผ่า และสมุนได้บุกไปถึงบ้านเสน่ห์พร้อมคำขาดว่า มึงอยากจะตายหรืออยากจะอยู่ร้องเพลงต่อไปทำให้เสน่ห์ต้องเลิกร้องเพลงแนวชีวิตไป

      การต่อสู้ทางการเมืองในยุคนั้น ช่วงปี 2490 -2493 เกิดกบฏทางการเมืองถึงสี่ครั้ง คือ กบฏวังหลวง กบฏเสนาธิการ กบฏน้ำท่วม กบฏแมนฮัตตัน

      ปี 2493 พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดยเหมาเจ๋อตุงได้รับชัยชนะทำให้อเมริกาต้องเร่งคาดคั้นไทยให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนของฝ่ายอเมริกา

      ปี 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับจากเยี่ยมชมความศิริไลซ์ของหลายประเทศในยุโรป จึงกลับมาดำเนินนโยบายผ่อนปรนทางการเมืองให้มีรูปแบบประชาธิปไตย เช่น มีการเลือกตั้ง มีการไฮด์ปาร์คโจมตีรัฐบาลได้ ฯลฯ

      ผลงานเพลงเดิมๆ ที่มีเนื้อหาวิจารณ์สังคมของไพบูลย์ บุตรขันส่วนมากเกิดในช่วงปี 2496 – 2497-2498 เช่นกลิ่นโคลนสาบควาย ตาสีกำสรวล

      เป็นการสร้างงานที่มีทั้งพัฒนาการต่อเนื่องจากนักเพลงรุ่นก่อนหน้าและเป็นผลงานสะท้อนยุคสมัยกับทั้งมีความเป็นอมตะไปพร้อมกัน

      เพลงชีวิตหรือเพื่อชีวิตอาจสะท้อนออกมาแง่วิถีชีวิต สังคมเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ เพลงเล่านี้ล้วนเป็นเพลงชีวิต ด้วยกัน

      แต่ที่น่าสังเกตในยุคปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการปกครองอยู่ตลอดนับตั้งแต่ก่อน 24 มิถุนายน 2475 ถึง 19 กันยายน 2549 ซึ่ง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ให้นิยามประชาธิปไตยในอุษาคเนย์ว่าเป็น คณาธิปไตย - oligarchy – เกี่ยเซียะ ทางการเมือง ในความหมายเดียวกัน

      เพลงชีวิตถูกจำกัดอยู่เฉพาะ กลุ่มศิลปินเพื่อชีวิต เช่น วงคาราวาน,วงคาราบาว,พงษ์เทพ กระโดยชำนาญ ฯลฯ แต่เพลงหนักๆ สะท้อนปัญหา สังคม การเมือง เศรษฐกิจ แทบจะไม่ปรากฏในบทเพลงลูกทุ่ง

      ซึ่งช่วง พ.ศ. 2519- 2525 เคยปรากฏเพลง คึกลิดคิดลึก ของ เพลิน พรหมแดน,ข้าวไม่ขาย ศรเพชร ศรสุพรรณ,เราคนจน,โอ้ชาวนา สดใส ร่มโพธิ์ทอง เป็นอาทิ

      ทั้งนี้ ค่ายเพลงต่างๆต้องการนำเสนอตลาดเพลงที่สะท้อนชีวิตการบริโภคนิยมขั้นพื้นฐาน พร้อมๆกับการขาดหายไปของเพลงนิทาน เพลงชีวิตจึงจำกัดเฉพาะกลุ่มไม่ขยายวงทั้งที่ต้นธารเดียวกัน
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

            : ภาษาไทยในบทเพลง 


      เพลงเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันโดยอาศัยท่วงทำนอง จังหวะ ในการขับร้องหรือเปล่งเสียงออกมา

      เพลง จึงสามารถใช้สื่อได้โดยเครื่องดนตรี เป็นองค์ประกอบหลัก และเสียงร้องเป็นเรื่องรองและต้องใช้ภาษาเข้ามาช่วยเสริมในการให้ความสำคัญของสัมผัสเสียงและสัมผัสอักษรหรืออย่างที่เรียกๆ กันว่า “เล่นคำสัมผัสความ”

      เช่น การออกภาษาในบทเพลงดังปรากฏในหนังสือ การละเล่นของไทย มนตรี ตราโมท (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๐)

      ดนตรี เครื่องบรรเลงประกอบการแสดงลิเกใช้ปี่พาทย์จะเป็นขนาดวงเครื่องห้า เครื่องคู่ เครื่องใหญ่ ก็แล้วแต่ฐานะของงานนั้นๆ แต่ว่าจะต้องมีเครื่องประกอบภาษา เช่น กลองจีน กลองต๊อก แจ๋ว โทน กลองชาตรี กลองยาว กลองแขก และกลองฝรั่ง ซึ่งเรียกกันติดปากเป็นสามัญว่ากลองมะริกัน (อเมริกัน) ประกอบด้วย ส่วนกลองรำมะนาแต่เติมเป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้แสดงลิเกหามาและมักจะตีเองด้วยเพราะเพิ่งกลายมาจากลิเกบันตน ที่ต้องมีเครื่องประกอบภาษามาในวงปี่พาทย์ด้วยนี้ ก็เพราะว่าเป็นประเพณีของการบรรเลงประกอบลิเก เมื่อบรรเลงเพลงโหมโรงตามธรรมดาสามัญไปจนจบแล้ว จะต้องบรรเลงเพลงภาษาต่างๆ เรียกว่า “ออกภาษา” เพลงภาษาที่บรรเลงมีดังนี้:-จีน เขมร ตลุง พม่า และฝรั่งการบรรเลงเพลงภาษาที่กล่าวนี้เป็นปรกติที่ใช้อยู่ ผู้บรรเลงอาจเพิ่มเติมภาษาอื่นแทรกเข้ามาในระหว่างภาษาพม่ากับฝรั่งก็ได้ แต่จะต้องกะเวลาพอดีว่า เมื่อถึงเพลงฝรั่งแล้ว จะต้องลงโรงได้เพราะเมื่อสิ้นสุดเพลงฝรั่งแล้ว ก็ถึงเพลงแขกประกอบด้วยกลองรำมะนาซึ่งเป็นเพลงสำหรับปล่อยตัวแขกออกมาเบิกโรงคำนับครูและดำเนินเรื่องต่อไป ในการบรรเลงประกอบเรื่อง ปี่พาทย์จะต้องดำเนินเพลงจังหวะให้ค่อนข้างเร็ว ให้เหมาะสมกับความมุ่งหมายและบทบาทของตัวแสดงที่ต้องการวบรัด และวิธีบรรเลงรับร้องก็มักจะใช้วิธีพลิกแพลงไปบ้าง ยิ่งเพลงรานิเกลิงด้วยแล้ว ปี่พาทย์จะยิ่งหาทางเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ถ้ารับไม่ซ้ำทำนองกันเลยได้ตลอดเวลาการแสดงยิ่งถือว่าสามารถ เนื่องจากมีความนิยมอย่างนี้ การรับเพลงรานเกลิงจึงถึงแก่นำเอาเพลงอื่นทั้งเพลงมารับแล้วบากท้ายด้วยทำนองเพลงรานิเกลิงส่งให้ร้องเท่านั้นก็มี แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่สู้จะถูกต้องนัก การเปลี่ยนทำนองเพลงไทย มีหลักอยู่ว่าจะต้องมีจังหวะเท่ากัน และเสียงที่ตกจังหวะเป็นเสียงเดียวกันจึงใช้ได้ ถ้าเปลี่ยนทำนองได้ตามหลักนี้เสมอๆ นั่นแหละจึงควรนับว่าสามารถจริงๆ

      จะเห็นได้ว่า “ภาษา” เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสีสันให้แก่บทเพลงมีสุนทรียรสมากยิ่งขึ้น นอกจากการฟังแต่เสียงดนตรีโดดๆ

      อรรถรสภาษาไทยในบทเพลงปัจจุบัน มีให้ฟังทั่วไป แต่การออกเสียงให้ถูกวรรณยุกต์นั้นเป็นอีกเรื่องที่เป็นปัญหาของการใช้ภาษาในปัจจุบัน

      มนุษย์ให้ “คำ” เป็นภาษาในการสื่อสาร คลังคำในสมองมีเท่าใดก็สามารถนำใช้ได้มากเท่านั้น ข้อจำกัดในการใช้คำจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่าภาษานั้นมีรากฐานจากความรัฐชาติขึ้นเป็นองค์ประกอบ

      จังหวะของทำนองที่บังคับในการใช้คำมาให้ลงตัวในเนื้อหาของบทเพลง เพราะฉะนั้นการออกเสียงบ้างครั้งบ้างทีจึงดูเพี้ยนไปรากศัพท์เดิม

      เพลงสมัยปัจจุบันจึงป่นไปด้วยภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยที่ใช้ๆ อยู่ในนิยามของภาษาไทยที่เป็นปัจจุบัน แม้กระทั่งสำนวนไทยที่ใช้ในบทภาพยนตร์หรือละครทีวี

      ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในหนังสือ คำมีคม ว่าด้วย ภาษ วัฒนธรรม และอำนาจ สำนักศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ในหัวข้อ ภาไทยของส้มฉุน ไว้ว่า

      ภาษาไทยของคนไทยสมัยปลายอยุธยาหรือแม้แต่ต้นรัตนโกสินทร์จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ดูเหมือนเป็นที่ตกลงกันในหมู่ผู้สร้างละครทีวีแล้วว่า จะต้องพูดเสียงเหมือนอ่านหนังสือ

      ทำให้เกิดสัญลักษณ์ของเสียงภาษาไทย “โบราณ” ขึ้น ในละครทีวี ใครเป็นนักดูละครทีวีฟังปั้บก็รู้ทีเดียวว่าเป็นภาษาไทยพีเรียด

      ผมออกจะนับถือภูมิปัญญาของผู้สร้างละครทีวีตรงนี้ เพราะคนไทยสมัยอยุธยาจะพูดภาษาไทยอย่างไรก็ไม่สำคัญแก่ผู้ชมละครเพียงแต่ผู้ชมต้องรู้สึกว่ากำลังฟังภาษาพูดแบบอยุธยาอยู่ต่างหากที่สำคัญกว่า

      สำเนียงภาษาอย่างที่ว่านี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ตกลงกันในหมู่ผู้สร้างละครและผู้ชมละครว่า นี่แหละคือภาษาไทยอยุธยาหรือต้นกรุงเทพฯ

      ขึ้นชื่อว่า ละคร อะไร ๆ ก็เป็นสัญลักษณ์ทั้งนั้น การสร้างสัญลักษณ์ให้คนยอมรับจึงมีความสำคัญ

      อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ผู้ชมยอมรับอย่างง่ายๆ ว่าคนไทยโบราณต้องพูดภาษาไทยตามอักขรวิธีเป๊ะนี่สะท้อนความนับถือมาตรฐานที่ตัวอักษรและโรงเรียนสร้างเอาไว้ให้อย่างมาก จึงคิดว่าใครที่พูดเสียงตรงตามตัวหนังสือเป๊ะแล้วละก็คงพูด “ถูก” หมด และคนโบราณก็ควรพูดได้ “ถูก” เพราะภาษาไทยเพิ่งมา “เสื่อม” สมัยของเรานี้เอง

      แต่ที่จริงแล้วคนปลายอยุธยาพูดภาษาไทยอย่างไรยังไม่มีใครทราบแน่ โดยเฉพาะเสียงวรรณยุกต์จะเป็นอย่างไรยิ่งยากที่จะรู้มากขึ้นไปใหญ่

      นักวิชาการบางท่านเสนอความเห็นว่า คนอยุธยาน่าจะพูดอะไรเหน่อๆ ไปทางสุพรรณฯ เพราะภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ ที่เราถือเป็นสำเนียงมาตรฐานนั้น น่าจะเป็นภาษาไทยสำเนียงจีน

      เนื่องจากมีจีนในกรุงเทพฯ เยอะ และจีนมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในสมัยต้นกรุงเทพฯ มากกว่าที่เคยยอมรับกันมา

      เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ก็ยกไว้ก่อน แต่ผมเห็นว่าภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ นั้น ไม่ได้เฉพาะกรุงเทพฯ แต่ขยายไปตามลำน้ำเจ้าพระยาจากปากน้ำไปจนถึงปากน้ำโพ อันเป็นทางหลวงใหญ่ที่สุดของการคมนานคมในภาคกลาง

      คนแถวนี้ไม่ได้พูดออก “เหน่อ” แบบสุพรรณฯ หรือเมืองเพชร จะแปร่งจะแปรไปจากกรุงเทพฯ บ้างก็น้อยมาก จนเห็นได้ชัดว่าเป็นสำเนียงเดียวกัน

      ภาษาไทยถิ่นกลุ่มนี้น่าจะมีวรรณยุกต์อยู่เพียง ๕ เสียง จึงทำให้พัฒนาอักขรวิธีสำหรับวรรณยุกต์ ๕ เสียงขึ้นมา ไม่ใช่ ๖ เสียงอย่างสุพรรณฯ หรือ ๘ เสียงอย่างสงขลา

      และตรงกันข้ามกับความเข้าใจที่ว่าคนโบราณน่าจะพูดภาษาไทยตามเสียงที่ปรากฏในอักขรวิธีเป๊ะ ผมเข้าใจตรงกันข้ามว่า คนโบราณน่าจะพูดภาษาไทยด้วยเสียงของภาษาพูดที่ไม่ตรงกับอักขรวิธีเอาเลย ก็เหมือนภาษาพูดของคนไทยปัจจุบันนี้นั่นแหละ

      ก่อนหน้าที่เราจะตกลงพร้อมใจกันว่า ควรเขียนภาษาไทยที่อยู่ในเครื่องหมายคำพูดอย่างไรนั้น ในยุคแรกๆ ของการพิมพ์นิยายไทย บางสำนักยังถือว่าถ้าอยู่ในเครื่องหมายคำพูดแล้ว ต้องเขียนเสียงจริงที่คนไทยใช้ในเวลาพูดกัน

      เหตุดังนั้น จึงมีอักขรวิธีสองชุดเอาไว้เขียนนอกเครื่องหมายคำพูดชุดหนึ่ง และในเครื่องหมายคำพูดอีกชุดหนึ่ง

      เช่น ในเครื่องหมายคำพูดไม่มีตัวกล้ำ, ไม่มีตัว ร.รักษา,เสียงวรรณยุกต์ของคำไม่คงที่ แล้วแต่ตำแหน่งในประโยค เป็นต้น

      หนังสือนิยายเหล่านี้เป็นพยานว่าคนรุ่นปู่รุ่นทวดของเราไม่ได้พูดภาไทยสำเนียงไม่ต่างไปจากจนบ้านนอกในดินแดนแถบริมฝั่งเจ้าพระยาในสมัยหลังไปสักเท่าไร

      คนบ้านนอกที่ผมหมายถึงคงไม่ใช่คนบ้านนอกในปัจจุบันแต่เป็นคนบ้านนอกสมัยที่ผมเป็นเด็กบ้านนอกสมัยที่ผมเป็นเด็กซึ่งไม่ค่อยได้อิทธิพลจากโรงเรียน หรือถึงได้ก็น้อยมาก เพราะเรียนจบแค่ชั้นประถม เป็นต้น

      เท่าที่ผมจำภาษไทยของคนเหล่านี้ได้กลับเป็นตรงกันข้ามกับที่ละครทีวีใช้เป็นสัญลักษณ์ของสำเนียงโบราณเลยทีเดียว

      นั่นก็คือ เสียงวรรณยุกต์ของเขาไม่ชัดเจนอย่างภาษาไทยในปัจจุบัน เช่น จัตวาก็ไม่สูงเท่ากับจัตวาปัจจุบัน, เสียงโทก็ไม่โทจ๋า อย่างปัจจุบัน เป็นต้น

      ยิ่งไปกว่านั้น ในบางคำบางประโยค เสียงวรรณยุกต์ของเขายังมีเกินหนึ่งเสียงอีกด้วย เช่น “จะไปไหม” คำ ไหม ที่พูดในบางกรณีกลายเป็นสองเสียงวรรณยุกต์ คือมีโทนำก่อนจะถึงจัตวาอะไรทำนองนั้น

      ผมจึงคิดว่า เสียงวรรณยุกต์ที่เราคุ้นหูในปัจจุบันนี้นั้น เป็นผลผลิตของโรงเรียน หรือของแบบเรียนเร็วก็อาจเป็นได้ ตรงที่ได้ผันวรรณยุกต์ออกเป็นห้าเสียงที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แล้วเอาคำทั้งหลายในภาษาไทยยัดลงไปใน ๕ เสียงนี้อย่างตายตัว

      ภาษาไทยของคนรุ่นผมจึงมีเสียงวรรณยุกต์ชัดเหมือนที่ครูสอนให้ผันเป๊ะ ไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคนแก่ตามบ้านนอกที่ผมเคยได้ยิน เพราะภาษาไทยของท่านเหล่านั้นมีเสียงวรรณยุกต์ที่ไม่ชัดเด๊ะเท่าไร

      ผมอยากจะเดาด้วยว่า เสียงเอกเสียงโทในอักขรวิธีไทยนั้นคนสุพรรณบุรีโบราณ หรือคนเพชรบุรีโบราณไม่รู้สึกเลยว่าจะต้องออกเสียงแตกต่างไปจากที่ตัวออกเสียงอยู่ขณะนั้น ที่มีรูปเป็นเสียงโทก็สามารถออกเสียงได้หลายอย่างตามแต่สำเนียงในท้องถิ่น

       คนสุพรรณฯ คนเพชรฯ มารู้สึกว่าตัวพูดเหน่อก็ต่อเมื่อการศึกษาแบบโรงเรียนแพร่หลายแล้วต่างหาก เพราะโรงเรียนไปวางมาตรฐานที่ตายตัวของภาษาขึ้น อักขรวิธีไทยกลายเป็นอักขรวิธีสำหรับรอบรับภาษาถิ่นแคบๆ (ซึ่งเป็นภาษาถิ่นที่อาจไม่มีอยู่จริง แต่เป็นภาษาของหนังสืออันเป็นมาตรฐานในจินตนาการ)

      ตั้งแต่นั้นมา ก็มีคนพูด “เหน่อ” เกิดขึ้นในเมืองไทย

      ผมได้ยินคนเหนือ, คนใต้ และคนอีสานบ่นเสมอว่า เดี๋ยวนี้ภาษาถิ่นของตนถูกภาษากรุงเทพฯ ทำให้เพี้ยนไปเป็นอันมากเสียแล้ว โดยเฉพาะรุ่นเด็กๆ แทบจะพูดภาษากรุงเทพฯ ด้วยสำเนียงท้องถิ่นเท่านั้น

      ผมก็เห็นใจความห่วงใยของคนท้องถิ่น แต่ที่จริงแล้ว แม้แต่ภาษากรุงเทพฯ เองก็ถูกเปลี่ยนไปด้วยมาตรฐานที่มากับโรงเรียนไม่น้อยเหมือนกัน

      เหตุดังนั้น แทนที่จะเพ่งเล็งไปยังอิทธิพลกรุงเทพฯ เราน่าจะหันมาทบทวน “มาตรฐาน” ทุกชนิด ทุกชนิดในระบบโรงเรียนของเรากันใหม่ดีกว่า เพื่อที่ว่าโรงเรียนจะได้สร้าง “มาตรฐาน” ที่มีความยืดหยุ่นแก่คนต่างถิ่นและต่างเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม

      ในขณะเดียวกันก็เป็นมาตรฐานที่ให้เสรีภาพมากขึ้น กล่าวคือ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการบังคับ แต่เกิดขึ้นเพราะเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

      จากบทความดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจทางภาษาที่มีความหลากหลายนั้นยังเป็นข้อจำกัดอยู่เฉพาะสังคมกรุงเทพฯเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ภาษาที่เรียกว่า ภาษาไทย และภาษาท้องถิ่นดังเดิม

      โดยเฉพาะสำเนียงภาษาที่สื่อมากับบทเพลง ยิ่งเด่นชัด เช่น เพลงลูกทุ่งอีสานและลูกทุ่งแบบปักษ์ใต้ ซึ่งในอดีตถูกครอบคลุมด้วยสำเนียงภาษาแบบลูกทึ่งภาคกลางอย่าง สุพรรณบุรี แม้จะมีสำเนียงภาษาแบบลูกทุ่งอีสานอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก

      แต่ในเพลงที่รุ่นสมัยปัจจุบันฟัง สำเนียงอาจเพี้ยนไปจากวรรณยุกต์ที่บังคับตายตัวในแบบเรียนภาษาไทย แต่ทั้งนี้เข้าใจว่า ภาษาที่การเกิดขึ้นมาโดยวิวัฒนธรรมทางสังคมเป็นส่วนรองรับและมีอำนาจทางการเมืองอยู่ในอิทธิพลทางภาษาไทยว่าจะเป็นศัพท์แสงต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นตามวาทกรรมวาระต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อสิ่งพิมพ์แล้วเกิดกระแสจึงแปลงประยุกต์ไปสู่ในบทเพลง ซึ่งถือเป็นสื่อที่สื่อสารได้สะดวกที่สุด

      แต่ทั้งนี้ในแงของนักภาษาศาสตร์ที่อนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภาษา แม้กระทั่งมีมุมในแง่ของการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเป็นไปในทิศทางที่ตนรู้จักและอยากให้เป็นเท่านั้น

      หากต่างไปจากนี้ เรียกว่า “ภาษาวิบัติ” โดยเฉพาะวิธีคิดแบบ “คลั่งชาติ” 
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

      :เบื้องหลังเพลง หลังเพลงมีเรื่องเล่า   

       “เบื้องหลังเพลงดัง” เขียนโดย สุรินทร์ ภาคศิริ ในเล่มยังแถม ซีดีเพลง ๑๕ เพลงดังไว้ด้วย หาฟังยากครับ ยิ่งต้นฉบับแท้แล้วด้วยยิ่งหาฟังยากกว่า

      เพราะอารมณ์แรกๆ มันบริสุทธิ์กว่าครับ

      ครูเพลงชาวอีสานท่านสร้างผลงานเพลงไว้มากมาย ให้นักร้องหลายท่านดังดังๆ ก็เยอะ เช่น ศรชัย เมฆวิเชียร ในเพลงทหารเกณฑ์ผลัดสอง พรไพร เพชรดำเนิน เพลงงานนักร้อง บุปผา สายชล วอนลมฝากรัก บรรจบ เจริญพร เพลงอย่าเดินโชว์ กาเหว่า เสียงทอง เพลงบ้องกัญชา เพลงผ้าขาวม้า สุนทร สุจริตฉันท์ หรือ สุราอันว่าเหล้า ชาตรี ศรีชล เป็นอาทิ

      โดยเฉพาะ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู นักร้องจากมหาสารคาม

      มีหลายเพลงมาก จนแทบจะบอกว่าเกือบทุกเพลงที่ดัง

      เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ ,อ.ส. รอรัก ,รวมอักษร ฯลฯ

      ครูสุรินทร์ นั้นไม่ใช่ชื่อจริงหรอกครับ ชื่อจริงของครูนั้นชื่อ ชานนท์ ภาคศิริ เป็นชาวจังหวัดอำนาจเจริญ

      เพลงของ ครูสุรินทร์ นั้นร้องไว้เกี่ยวกับอีสานย่อมมีเยอะเป็นธรรมดา ผมเองก็เพิ่งรู้ว่าเพลง หนาวลมที่เรณู ที่ ศรคีรี ศรีประจวบ ร้องนั้นรู้ว่าครูสุรินทร์แต่ง แต่ไม่รู้มาก่อนเลยว่าตอนแต่งเพลงนี้ครูสุรินทร์ไม่เคยไป อ.เรณูนคร จ.นครพนม เพียงที่เฉียดๆ ไปงานพระธาตุพนมเท่านั้น

      สมัยนั้นเรณูนคร ยังเป็นเพียงตำบล ยังไม่ได้เป็นอำเภออย่างปัจจุบันนี้

      เรณูนคร นั้น เป็นเมืองที่มีผู้คนชาวผู้ไทอยู่มากไปจนถึงจังหวัดสกลนคร

      ในเนื้อเพลงมีเขียนถึง ดูดอุร้อยไหไม่คลายหนาวได้หรอกหนา ห่างน้องพี่ต้องหนาวหนักอุรา คอยนับเวลาจะกลับมาอบไอรักเก่า

      อุ เป็นน้ำเมาอย่างหนึ่งซึ่งหมักด้วยแกลบและปลายข้าวใส่ไว้ในไห เวลาจะกินก็เติมน้ำแล้วเจาะไม้ดูด ไม่ใช่เฉพาะที่เรณูนคร-นครพนมหรอกครับที่ ทางเหนือก็มีเยอะ ที่ฝั่งลาวก็มีหลาย

      ดูดไปดูดไปสลับกันดูด เมาไม่รู้ตัว เมาเป็นเงียบๆ พอมืนๆ

      อีกเพลงของครูสุรินทร์ ภาคศิริ ที่ คุณศักดิ์สยาม เพชรชมพู ร้อง คือเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้

      เพลงนี้ดังมากครับ เป็นเพลงช้าหวานปนเศร้า และเล่าถึงทุ่งกุลาร้องไห้ แผ่นดินอีสานเป็นพื้นที่กว้าง พอบอกว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” คนก็คิดถึงความแห้งแล้ง กันดาร ก็ไปคิดถึงหน้าแล้งมันก็แล้งสิครับ ไม่คิดถึงหน้าฝนต้นไม้กำลังสีเขียว ต้นหนาวใบไม้กำลังผลัดใบเปลี่ยนสี

      ช่วงนี้แหละงามมากเลยล่ะ ลองไปดูสิ

      ทุ่งกุลาก็มีนิทานครับ ผมเลยคัดมาให้อ่านกันจาก พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน ของคุณ

สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ๒๕๔๙ ดังนี้

      ทะเลกว้างใหญ่ได้กลายสภาพมาเป็นท้องทุ่งทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลจนมองสุดลูกหูลูกตา มองเห็นขอบทุ่งจดขอบฟ้าประหนึ่งว่าทองดูทะเล

      ตำนานเรื่องทุ่งกุลาร้องไห้นี้ นับว่าเป็นตำนานที่มีความใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุดเพราะตรงกับข้อสันนิษฐานทางภูมิศาสตร์กล่าวว่า

      “บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะเป็นแอ่งแผ่นดิน ๒ แอ่ง เป็นที่ต่ำ  มีบ่อ หนอง บึงหรือมีน้ำท่วมถึงในฤดูฝน แอ่งแผ่นดินตอนล่างมีอาณาเขตกว้างขวางคือ แอ่งโคราชมีแม่น้ำมูลและสาขาใหญ่น้อย คือ ลำชี ลำน้ำพอง ลำปาว ไหลผ่านลงสู่แม่น้ำโขงทางด้านตะวันออก แต่แม่น้ำเหล่านี้โดยเฉพาะแม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขงไม่สะดวกเพราะพื้นดินตรงกลางเป็นแอ่งดังกล่าวทำให้บริเวณนี้มีน้ำขังตลอดฤดูน้ำเกิดน้ำท่วมล้นฝั่งแทบทุกปี บริเวณทุ่งราบที่กว้างขวางเป็นแอ่งนี้ ได้แก่ ทุ่งกุลาร้องไห้ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ ยโสธร พอถึงหน้าแล้งน้ำจะแห้งระเหยไปจนกลางเป็นทุ่งโล่ง ดินกร่อย ทำการเพาะปลูกไม่ได้ มีแต่ป่าละเมาะขึ้นประปราย หญ้าที่ขึ้นก็ใช้เลี้ยงสัตว์ไม่ได้ พอถึงหน้าน้ำก็มีน้ำท่วมเต็มบริเวณถึงกับมีการจับปลากันได้มีผู้สันนิษฐานว่าเมื่อหลายพันปีมาแล้วบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน”

      นิทานทุ่งกุลาร้องไห้

      เมื่อทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลได้กลายสภาพมาเป็นท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ ทำให้มองเห็นดินจดขอบฟ้ามาแล้วเป็นเวลานานเท่าไรไม่มีใครสามารถจะบอกได้ แต่คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าสืบต่อกันมา ว่าเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ได้มีการไปมาค้าขายติดต่อกับพ่อค้าต่างบ้านต่างเมือง ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกลกัน มีพ่อค้าหาบสินค้าเที่ยวขายไปตามหมู่บ้านแถบทุ่งกว้างนี้เป็นประจำ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง

      บรรดาพ่อค้าที่มาค้าขายในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นี้ ได้มีพ่อค้าพม่าเผ่าหนึ่งมีชื่อว่า เผ่ากุลา ได้นำสินค้าเร่ขาย และมากันเป็นหมู่ๆ ละ ๒๐ – ๓๐ คน สินค้าที่นำมาขายได้แก่ สีย้อมผ้า เข็ม แพรพรรณ ยาสมุทรไพร เครื่องถมซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ทารักลงสี ลวดลายสวยงาม เป็นกล่องคล้ายกระติบข้าวเหนียว ชาวบ้านนิยมซื้อไว้ใส่บุหรี่และหมากพลูเวลาเดินทางไปไหนมาไหน พวกพ่อค้าจะนำสินค้าใส่ถังใบใหญ่ที่เรียกว่า ถังกระเทียว มาขาย จะหาบเร่ร่อนรอนแรมไปเรื่อยๆ เป็นแรมเดือนแรมปี ขายหมดที่ใดจะซื้อสินค้าหาบขายไปเรื่อย ๆ

      ครั้งหนึ่ง ได้มีกุลาพวกหนึ่งเที่ยวเร่ขายสินค้าจากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมาจนถึงสุรินทร์ พอมาถึงท่าตูม พวกกุลาได้พากันซื้อครั่งเป็นจำนวนมากเพื่อจะนำไปทำสีย้อมผ้ามาขายอีกต่อหนึ่ง พวกกุลาต่างพากันหาบครั่งข้ามแม่น้ำมูล พอมาได้สักหน่อยหนึ่งก็ถึงท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ หมายใจว่าจะเดินตัดทุ่งไปสู่เมืองป่าหลาน (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่พ่อค้าพวกนี้ยังไม่เคยเดินผ่านทุ่งนี้มาก่อน ทำให้ไม่ทราบระยะทางที่แท้จริง เพราะมองเห็นเมืองป่าหลานอยู่หลัดๆ หาทราบไม่ว่า ใกล้ตาแต่ไกลตีน (สำนวนภาษาอีสาน คือ มองเห็นเป็นใกล้แต่ต้องเดินไกล)

      ขณะที่เดินข้ามทุ่ง รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาก และเป็นฤดูแล้งด้วย น้ำจะดื่มก็ไม่มี ต้นไม้จะอาศัยร่มเงาแม้เพียงต้นเดียวก็ไม่มีทั้งแดดก็ร้อนจัด ต่างก็พากันอิดโรยไปตามๆ กัน ครั่งที่หาบมาจะทิ้งก็เสียดาย จึงพากันโอดครวญ และคิดว่าคงจะเอาชีวิตมาตายในทุ่งนี้เป็นแน่ จึงพากันร้องไห้ไปตามๆ กัน ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานว่า...

            ตกกลางทุ่งแล้งล้าเดินฝ่าเทิงหัว

      เห็นแต่ทุ่งเป็นทิวมือกุมควันกุ้ม

      เหลียวไปไสฟ้าหุ่มงุมลงคือสักสุ่ม

      มือกลางเวนจุ้มกุ้มคงไม้กะบ่มี

      คักละนอบาดนี่หลงท่งคนเดียว

      ถิ่มฮอดถงกะเทียวย่ามของสินค้า

      เหลียวทางหลังหางหน้ากุลายั้งย่อยู่

      ลมออกหูจ้าวจ้าวไคค้าวย่าวไหล

      จนปัญญาแล้วไห้เทิงจ่มระงมหา

      คึดฮอดภรรยาลูกเมียอยู่ทางบ้าน

      ลมอัสสวาสกั้นเนื้อสะเม็นเย็นหนาว

      อ้าปากหาวโหยแฮงแข้งลาขาล้า

      เพื่อไปนำกองหญ้าเวลาค่ายค่ำ

      ยากนำปากและท้องเวรข่องจ่องเถิง

      ป่าหญ้าแฝกอึ้งตึงกุลาฮ่ำโมโห

      ตายย้อยความโลภล่องเดินเทียวค้า

      ใจคะนึงไปหน้าโศกาไห้ฮ่ำ

      คึดผู้เดียวอ้ำล้ำทางบ้านบ่เห็น

      ในหนังสือกล่าวไว้บอกว่ากุลา

      หรือแม่นไปทางได้แต่นานมาไว้

      ท่งกุลาฮ้องไห้ที่หลังท้ายหมู่

      อยู่โดนมาแต่พ้นพันร้อยกว่าปี

      พวกกุลาต่างพากันร้องไห้ แล้วได้พากันพักพอหายเหนื่อยจึงเดินทางต่อไปอีก แต่ครั้งที่หาบมาหนักมาก พวกกุลาจึงพากันเทครั่งทิ้งบ้างเล็กน้อย ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

      เมื่อกุลาเดินต่อไปอีก รู้สึกอิดโรยมาก ครั้นไปถึงกลางทุ่งจึงตัดสินใจเทครั่งทั้งหมดทิ้ง ต่อมาได้ชื่อว่า บ้านครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

      เมื่อพวกกุลาเดินทางมาพ้นทุ่งแล้ว เข้าสู่หมู่บ้าน มีคนมามุงดูจะขอซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่พวกกุลาไม่มีสินค้าจะขายให้แก่ชาวบ้าน พวกกุลาพากันเสียใจและเสียดายสินค้าที่ตนได้เททิ้งกลางทุ่งพวกกุลาจึงพากันร้องไห้เป็นครั้งที่สอง ทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ มาตราบเท่าทุกวันนี้

      ในเพลงก็มีประวัติศาสตร์ถ้ามีการเอามาอธิบายขยายต่อ คนก็ได้รู้ทั่วกัน เพลงนั้นสื่อสารได้ง่ายกว่าการอ่านและหลังจากเพลงที่มีเบื้องหลังแล้วก็ยังมีปมประวัติศาสตร์ให้ศึกษากันในหลายด้าน หลายมุมอีกทีเดียว

      หนังสือ เบื้องหลังเพลงดังของ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ซึ่งเกร็ดหนึ่งของเพลงที่เราน่าจะมาศึกษาว่าเพลงแต่ละเพลงนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วมาค้นหาดูภูมิศาสตร์ในเพลงผมว่าน่าจะสนุกดี
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

:เพลิน พรหมแดน ราชาเพลงพูด


      ขุนแผนลูกทุ่ง เพลิน พรหมแดน หรือที่สื่อมวลชนคนลูกทุ่นขนานนามว่า “ราชาเพลงพูด” แต่เหตุที่เรียกกันว่า ขุนแผนลูกทุ่งนั้นไม่ใช่คุณเพลินพี่แกจะเป็นเจ้าชู้ประตูดินแต่อย่างใด อดีตนั้นวงดนตรีลูกทุ่งเพลิน พรหมแดนนั้น มีชื่อเสียงเรื่องหางเครื่องอยู่อันดับต้นๆ ของวงการ ทั้งนี้เพราะว่าคุณเพลินแกเป็นคัดหางเครื่องเองและต้องสวยต้องเนี้ยบกว่าวงดนตรีลูกทุ่งอื่นๆ

      “หางเครื่อง” คือคำที่ใช้เมื่อยุคนั้นแล้วกลายมาเป็น “แดนซ์เซอร์” ในยุคหลัง มาวันนี้ก็ “โคโยตี๊” นี่แหละ

      วงดนตรีลูกทุ่งเพลิน พรหมแดน ถือว่าเป็นวงที่ผลิตตลกหรือจำอวดเยอะที่สุดวงหนึ่งเช่นกัน

      ที่นี้เรื่องเพลงของ เพลิน นั้นในยุคแรกเป็นเพลงรำวงพูดถึงชีวิตคนชนบทชาวบ้านทำนาทำไร่ อย่างเพลงแรกที่ดังชื่อเพลง บุญพี่ที่น้องรัก แต่งโดย นิยม มารยาท

      “พี่ชาวนาพี่อยู่นาป่าเขาไถ่นาทำไร่ไม่สร่างเซาทั้งหนักเบาทนสู้ ในนามีน้ำหว่านไถ่ดำจนพร่างพรูแดดและฝนทนอยู่ สาวเอยอย่าดูพี่เหมือนควาย”

      น่ารักดีครับแบบชาวบ้านๆ หรือเพลงที่กล่าวถึงระบบสื่อสารอย่างหนึ่งเช่นจดหมาย ซึ่งคุณเพลิน พรหมแดน แต่งเองร้องเอง คือเพลงจดหมายบรรยายรัก มีฉากคล้ายๆ นิยายของไม้ เมืองเดิม โดยเฉพาะท่อนแยกของเพลงที่ว่า

      “หรือว่ามีลูกชายกำนัน มาผูกมาพันหมายมั่นแม่เนื้อทอง หรือว่ามีผู้หมวดและผู้กองเอาแหวนเพชรมาจองเอาแหวนทองมาหมั่น”

      และเพลงนี้เป็นแบบอย่างให้นักแต่งเพลงรุ่นหลังอย่าง สลา คุณวุฒิ ในการแต่งเพลง มนต์รัก ต.จ.ว.และ โทรหาเน่เด้อ

      นิยายของ ไม้ เมืองเดิม แทบทุกนั้น พี่จะเป็นชาวบ้านคนจนๆ ตัวโกงมักจะเป็นลูกผู้ใหญ่บ้านหรือลูกกำนัน ฉากในเพลงก็ดูจะคล้ายกัน เพลงของเพลิน พรหมแดน ในยุคเพลงรำวงจะออกทำนองนี้เยอะมากครับ เช่นเพลง คนเดินดิน ,คนไม่มีดาว,สาวเจ้าจงเอ็นดู,ชัยภูมิบ้านพี่,ตะลุยบางกอก,อย่าลืมเมืองไทย,เงิน เงิน เงิน,ชมทุ่ง เป็นอาทิ

      ชมทุ่ง เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เพลิน พรหมแดน มากที่สุด ซึ่งเป็นทั้งผู้ประพันธ์เพลงเอง และเพลงนี้เล่าถึงวิถีชีวิตของชุมชนมีความงดงามในวิถีและความรักอยู่ในบทเพลงที่ครบเครื่องเพลงหนึ่ง บรรยากาศแบบนี้คงพบยากในสังคมกรุงเทพฯ ปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าจะหาได้ตามท้องที่ชนบททั่วไป

      “เขียงเหลืองเรืองรองข้าวรวงสีทองมองไสวชูช่อ นั่นคันไถแล้วเอ๊ะนั่นใครยกยอ เสียงก่อไผ่สีซอฟังเป็นเพลงตลุง”

      เห็นภาพเลยครับ

      อีกเพลงหนึ่งผมเองไม่ทราบว่าใครแต่งให้หรือว่าเพลิน พรหมแดนแต่งเองก็ไม่แน่ใจนัก ชื่อเพลงว่า แม่ตาหวาน แต่เนื้อหาท่อนแรกหวานดีจนอยากเจอผู้หญิงคนนั้นในบทเพลงเสียงจริงๆ ท่อนแรกร้องว่า

      “หวานตาแม่ช่างหวานนงค์รามช่างหวานจับ หวานยิ่งกว่าน้ำตาทราย น้ำผึ้งยังอายสู้เธอไม่ได้เพราะแม่งาม”

      อะไรช่างหวานปานนั้น

      นิยม มารยาท ถือว่าเป็นผู้ชักนำเพลิน พรหมแดน เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่ง นิยม มารยาท เป็นทั้งนักร้องและนักแต่งเพลง ๆ ที่รู้จักกันดีในเพลง บ้านนาสัญญารัก (พี่นี้มีความสุข สนุกอยู่กับสาวบ้านนารักกันนักหนาต่างสัญญาว่าจะอยู่คู่กัน...)

      พ.ศ. 2500 – 2516 บรรยากาศการเมืองในยุค สฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส – ณรงค์ เป็นเหตุให้แวดวงวรรณกรรม หนังสือพิมพ์ และดนตรี เข้าสู่พาฝัน มีสิทธิ์มีเสียงวิพากย์การเมืองผ่านวรรณกรรมบทเพลงหรือวรรณกรรมแขนงต่างๆ

      ขณะที่ยุคจองพล ป.พิบูลสงคราม มีเพลงเสียดสีการเมืองไม่ว่าจะเป็น แสงนภา บุญราศี,เสน่ห์ โกมาชุน,คำรณ สัมมบุณณานนท์ รวมทั้ง ครูไพบูลย์ บุตรขัน ซึ่งมีส่วนในการประพันธ์เพลงเสียดสีการเมืองให้แก่ คำรณ สัมบุณณานนท์ ก่อนจะปรับมาแต่งเพลงหวานโรแมนติกให้แก่ ทูน ทองใจหลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

      ขณะที่เพลงของเพลิน พรหมแดน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นต้นมาเป็นเพลงสลับกับการพูดหรือเพลงพูดจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของนักร้องจากอรัญประเทศท่านนี้

      เพลงพูดเพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียงคือเพลง ข่าวสดๆ ซึ่งแต่งโดย สงเคราะห์ สมัตถภาพงศ์ ชาวชัยภูมิ เพลงพูดในยุคนั้นมีหลายเพลงมาก คึกลิดคิดลึก,ผู้แทนมาแล้ว,กำนันเงินผัน พรรคกระสอบหาเสียง,เผลอสะบัดซ่อ, ข้อยยังบ่พอ, ขอจนได้, คนไม่กลัวเมีย, จอมเจ้าชู้, คนเก่งภาษา, คนโคราช, บุญน้อยบุญมาก, กีฬามหาสนุก, อาตี๋สักมังกร, โกนจุกสิงโต เป็นอาทิ

      จะเห็นได้ว่าเพลงพูดนั้นจะฉากล้อเลียนการเมืองในยุค พลตรี ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่มาก ในยุคนั้นเรียก “ยุคผันเงิน”

      แต่เพลงแนวล้อการเมืองของเพลิน พรหมแดน ก็หยุดไว้ยุครัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เท่านั้น แล้วกลับมาอีกครั้งในยุครัฐบาลชวน หลีภัย 1 แต่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่บรรยายการการเมืองหากแต่เป็นการล้อเลียนบรรยากาศการเลือกตั้งหรือสถานการณ์สังคมทั่วไป เช่น การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 2537 ,เรื่องข้อยุติรถไฟฟ้าใต้ดิน – บนดิน

      เพลิน พรหมแดน ชื่อจริงว่า สมส่วน พรหมสว่าง เป็นชาวอรัญประเทศ เกิด พ.ศ. 2482 (ปีเดียวกันกับ ชาย เมืองสิงห์ ศิลปินแห่งชาติ) เคยแสดงภาพยนตร์หลายเรื่องและเคยเป็นพระเอกในเรื่อง แค้นไอ้เพลิน

      ปัจจุบัน ยังร้องเพลงอยู่ และช่วยแต่งเพลงประวัติบูรพาจารย์อย่าง หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ร่วมทั้งโครงการผ้าป่าช่วยชาติเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2539-2541

      เพลงของเพลิน พรหมแดน จึงมีลักษณะสังคมชาวบ้านภาคกลางแบบฉากนิยาย ไม้ เมืองเดิม ขณะที่เพลงพูดทีลักษณะเสียดสีการเมืองที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน และกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แบบวรรณกรรมขนาดสั้นที่จบในบทเพลง

      รวมทั้งเป็นต้นธารหางเครื่องชั้นนำของยุค 2500 – 2520 และที่มาของตลกชื่อก้องฟ้าหลายคน เช่น จุ๋มจิ๋ม เข็มเล็ก เป็นอาทิ
 

 

เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

      :เสน่ห์ในเพลงของไพรวัลย์ ลูกเพชร


      ไพรวัลย์ ลูกเพชร ขุนพลเพลงลูกทุ่งคนสำคัญคนหนึ่งซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนอกจากเสียงจะหวานนุ่มไม่แพ้ ทูน ทองใจ และลีลาขับกลอนลิเกกินขาดลิเกมืออาชีพเลยก็ว่าได้

      ไพรวัลย์ ลูกเพชร เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2545 ด้วยสาเหตุจากโรคร้ายรุมเร้าที่โรงพยาบาลชลประทาน ปากเกร็ด ชื่อเดิมว่า สมนึก นิลเขียว เป็นคนบางขุนไทร บ้านแหลม เพชรบุรี บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกยังใช้ชื่อ สมนึก นิลเขียว เพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียงคือเพลง ดาวบ้านนา แต่งโดย พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา

      แนวเพลงของไพรวัลย์ ลูกเพชร นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างหนึ่งคือลีลาการร้องกลอนลิเก มีเรื่องเล่าอยู่ว่าเมื่อมีการประชันกันระหว่างทูน ทองใจ กับ สมนึก นิลเขียว ในขณะนั้น

      โดยเพลงหวานนั้น ทูน ทองใจ กินขาด แต่ไพรวัลย์ อาศัยความสามารถเฉพาะตัวด้านการขับกลอนลิเกได้จับใจคนฟังจนเอาชนะการประชันครั้งนั้น

      ท่อนลิเกดังกล่าว สุรพล สมบัติเจริญ นำมาแต่งท่อนร้องสองวรรคแรกและวรรคจบเอาวรรคลิเกไว้ท่อนแยกในเพลง คำเตือนของพี่ ซึ่งเป็นเพลงดังของไพรวัลย์ ซึ่งเป็นภาคต่อจาก ดาวบ้านนา

      ท่อนลิเกนี้เสมือนคำเตือนแต่ทิ้งข้อน่าสนใจว่าที่ห่วงหวงนั้นคืออะไรกันแน่ “ไอ้ผิวตรงไหนที่ดำน้องจงถนอมมันหน่อย น้องจงเอาแป้งคอยลูบอย่าให้จูบซ้ำรอย” ครับไอ้ตรงที่มันดำในวงเหล้าก็เอามาล้อกันสนุกสนานว่าตกลง “ดำตรงไหน”

      ไพรวัลย์นั้นมีคนแต่งเพลงดีๆ ให้เยอะครับ และได้ความหมายดีๆ หลายเพลง อย่างสุรพล สมบัติเจริญ แต่งเพลง แม่ชานอ้อย เปรียบเปรยผู้หญิงว่าอย่างมีเชิงโวหาร “แต่ชานอย่างเจ้า เขาชิมแล้วคว้าทิ้งเล่น เปรอะเปื้อนถนนคนเห็นเหม็นเบื่อระอาราคาไม่มี” หรือเพลง แม่ผักบุ้งบ้านดอน เพลงนี้ออกแนวอิโรติกแบบชาวบ้านดีครับ

      ทั้งเพลงสองนี้เป็นเพลงลิเกเหมือนกันครับ

      หรือเพลงที่ตัดพ้อต่อว่าผู้หญิงอีกเพลงหนึ่งก็ได้ความหมายดี ชื่อเพลงดาวจำลอง ร้องได้โดนใจจริง ๆโดยท่อนที่เน้นเสียง “ไม่นึกสักนิดว่าเธอจะมีพิษเหมือนดังงู กัดแล้วฉันได้รู้ เสียแรงฉันอุ้มชูมา เห็นหน้าซื่ออ่อนหวานเหลือพรรณนาพอได้เป็นดาราสูงค่าเลิศหน๋อยกับผยอง”

      เน้นตรงคำที่ “หน๋อย” ไม่ “หน่อย” ได้อารมณ์ดีครับ จุดละเอียดเช่นนี้ที่สื่อสะท้อนอารมณ์ของเสียงของคำในลีลาที่สะท่อนอารมณ์

      อีกเพลงหนึ่งเป็นของนักพากย์ ปราศรัย กีรติจินดา คนที่แต่งเพลง ใต้เงาโศก แต่อีกเพลงหนึ่งที่คุณปราศรัยแต่งนั้นบอกถึงวิถีชีวิตคนเรือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อเพลง คนึงนอนนครสวรรค์

      “ปิง วัง ยม น่าน ร่วมประสานเป็นธารใหญ่โตเรียกว่าปากน้ำโพ เชื่อมโยงเป็นโซ่ผูกพัน จากเหนือน้ำไหลเจือน้ำใจด้วยกันจารึกไว้มั่นแม่น้ำสายนั้นคือเจ้าพระยา

      ชาวเรืออย่างพี่เหนื่อยเต็มที่ชีวีขาดลอยเฝ้าปักหลักไว้ค่อย เมื่อไรเธอลอยผ่านมา สิ้นหวังเพราะริมฝั่งนั้นไกลเกินคว้า ดินสูงเกินกว่าศรัทธาของพี่คงไม่มีทาง

      ปากน้ำโพใหญ่โตเกินไป พี่ล่องเรือขายไม้ที่เผ่าไหม้หมดยาง ซ้ำเนื้อตัวมีรอยดำด่างเรือนร่างเปรอะเปื้อนฝุ่นโคลนแล้วล่มลึกจนสมใจ

      จึงเจียมใจมั่นว่าสักวันคงมีคู่ชม ช่วยให้พี่หายตรม โอ้ลมจงพาโบรกไป รุ่งเช้าแล้วนะเจ้าถอยเรือแรมไกลคงย้อนมาใหม่ทิ้งใจไว้นอนนครสวรรค์”

      ถ้าผมสันนิษฐานไม่ผิดพระเอกในบทเพลงนี้เป็นพ่อค้าหรืออาจเป็นพ่อค้าขายถ่านสังเกตจากวรรคในเพลงที่ร้องว่า “พี่ล่องเรือขายไม้ที่เผ่าไหม้หมดยาง ซ้ำเนื้อตัวมีรอยดำด่างเรือนร่างเปรอะเปื้อนฝุ่นโคลน”

      ปัจจุบันเรือเผ่าถ่านพบเห็นแล้วเพราะสังคมเปลี่ยนไปคนหันมาใช้เรือเครื่องยนต์ที่มีน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง แต่สิ่งเหล่านี้จะมีบอกเล่าในวรรณกรรมหรือไม่ก็บทเพลง

      เพลงเพราะๆ อย่างวิวาห์สะอื้นของครูพีระ ตรีบุปผา แต่งให้ก็เพราะได้อารมณ์คนอกหักตามระเบียนเรียบร้อยแล้วดีเพลงหนึ่ง

      เพลงที่โชว์ลูกคอลูกเอื้อนอย่างเพลง เมีย ถ้าบ้างท่านจำเนื้อไม่ได้จะเกริ่นให้ฟังครับ “จันทร์จะจากฟากฟ้า....น้ำตาหลั่งคิดถึงสิ้นเจ้าหลีกหนีโอ้เมียรักจากพี่ไปไม่ปราณีเมียแสนดี....” เพลงนี้ผมไม่แน่ใจว่าใครแต่ง หรือเพลงที่ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้ดูเหมือนจะดังทุกเพลง เช่น กลิ่นธูปสุโขทัย,นิราศรักนครปฐม,เป้าหลอมดวงใจ และ มะนาวไม่มีน้ำ เป็นอาทิ

      หรือเพลงจังหวะอินเดียอย่างเพลง รอยรักรอยมลทิน ซึ่ง ประดิษฐ์ อุตมัง และยุคหนึ่งของเพลงที่จากเพื่อนมาเป็นลูกวงแล้วมาเป็นนักแต่งเพลง ถือว่าเป็นนักแต่งเพลงคู่บุญของไพรวัลย์ก็ว่าได้ และชื่อจริงเหมือนกันด้วย คือ สมนึก ทองมา หรือรู้จักกันในนาม ชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ ครูชลธีเคยร้องลิเกร่วมกันกับไพรวัลย์ในเพลง ลิเกสอนน้อง... “ไม่ใช่ว่าจิตคล้ายมิใช่ว่าใจดำ”

      เพลงที่ชลธีแต่งให้ดัง เช่น ไอ้หนุ่มตังเก,สำรวยลืมคำ,แฟนผมคนไหน, แจกใบหย่า,ใต้ถุนธรณี (เพลงนี้ได้รางวัล เสาอากาศทองคำ)

      เสน่ห์เพลงของไพรวัลย์นั้นอยู่ที่ลีลาการขับกลอนลีลาลิเกรวมทั้งน้ำเสียงที่หวานุ่ม ทุกวันนี้หาคนขับไว้อารมณ์อย่างไพรวัลย์ยากครับ เพราะลีลาของไพรวัลย์นั้นเน้นตรงที่เสียงของคำ
 
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

      :รำลึก ๒ ขุนพลเพลงแห่งยุค ไพบูลย์ บุตรขัน – สุรพล สมบัติเจริญ

      บทบาทเพลงพื้นบ้านผสมอิทธิพลวรรณคดีในบทเพลง


      บุคคลของวงการเพลงลูกทุ่งสองคนคือ ไพบูลย์ บุตรขัน คีตกวีเพลงคนสำคัญ และ สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งเลือดสุพรรณบุรี ผู้ล่วงลับ

      เหตุใด? ผมโยงประเด็นเข้าหาบุคคลสองท่านในเดือนสิงหาคมนี้ นั่นเพราะว่า วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ สุรพล สมบัติเจริญ ถูกลอบยิงเสียชีวิตหน้าวิกแสงจันทร์ วัดหนองปลาไหล อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมด้วย ๓๗ ปี ๑๐ เดือน ๒๓ วัน ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์สุดขีด นับล่วงจากวันนั้น ๓๘ ปี

      และวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ไพบูลย์ บุตรขัน เสียชีวิตด้วยโรคลำไส้ ณ โรงพยาบาลเปาโล กรุงเทพฯ ด้วยวัย ๕๔ ปี ขณะที่ชีวิตก็กำลังจะกลับมารุ่งเรืองโรจน์อีกครั้ง นับจากวันนั้น ๓๔ ปี

      นี่แหละครับ เหตุที่ผมจะต้องเขียนถึงสองนักเพลงผู้ยิ่งใหญ่ของวงการ ณ บัญชรแห่งนี้

      สองท่านนี้อยู่ในยุคเดียวกัน จะเรียกว่าอยู่ร่วมสมัยแม้ว่าวัยจะห่างกันไม่มากนัก และสองท่านนี้เคยร่วมงานโดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แต่งและอีกฝ่ายเป็นผู้ร้อง

      ภาพความเป็นเพลงลูกทุ่งมักถูกสะท้อนในย้อนนึกถึงภาพหรือเสียงเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ หากย้อนกลับมานึกถึงภาพนักแต่งเพลงที่ใช้คำได้วิจิตรงดงามภาพของ ครูไพบูลย์ บุตรขันย่อมอยู่ในในอันดับต้นๆ เช่นกัน

      นักแต่งเพลงหลายๆ ท่านยึดถือครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นแม่แบบ อนึ่ง เนื้อในบทเพลงนั้นไพบูลย์ได้แทรกเนื้อทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างไว้อยู่ครบครัน ทั้งนี้ทำนองยังผสมผสานเพลงพื้นบ้านเข้าไปยิ่งเพิ่มมนต์เสน่ห์เข้าไปอีก

      แต่ต้องนึกถึงแง่เรื่องบทเพลงเสียก่อนเพื่อจะง่ายแก่การทำความเข้าใจในเรื่องวรรณศิลป์ เพลงกับบทกลอน เหมือนและต่างกันอย่างไร

      กลอนหรือบทกวีคือเพลงที่ยังไม่ใส่ทำนอง เพลงคือบทกวีหรือกลอนที่ใส่ทำนองแล้ว

      นี่แหละ ความเหมือนในความต่างของบทเพลงและบทกลอน

      บทเพลงของไพบูลย์ บุตรขัน มีกลิ่นอายของเพลงพื้นบ้านอยู่มากมายหลายเพลงทั้งในยุคแรกและยุคหลัง ไม่ว่าจะเป็น ลิเกชีวิต, มือพี่มีพลัง (ปรีชา บุญยเกียรติ),ตาสีกำสรวล ๑-๒ (คำรณ สัมบุณณานนท์), ดอกดินถวิลฟ้า,บางกอกกรุงเก่า ๑-๒-๓,แม่แตงร่มใบ (ชัยชนะ บุนะโชติ), แม่ผิวพม่านัยน์ตาแขก (ชาย เมืองสิงห์),แว่วเสียงซึง,แคนลำโขง (เรียม ดาราน้อย),หนุ่มเรือนแพ (กาเหว่า เสียงทอง) เป็นอาทิ

      ขณะที่เพลงของสุรพล สมบัติเจริญ ก็มีลีลาจังหวะเพลงรำวงอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลาวเวียง,เดือนหงายที่ริมโขง,อีสานตื่นกรุง,ใกล้เกลือกินด่าง,หนาวจะตายอยู่แล้ว,ลาวตีเขียด,รำเกี้ยวสาว,ของปลอม ฯลฯ

      ขณะที่ยุคแรกของไพบูลย์นั้น เริ่มจากแนวเพลงสายลมแสงแดดและเสียดสีการเมือง ที่เด่นๆ อย่างในเพลงตาสีกำสรวล ๑-๒ เป็นทำนองลำตัดเข้าในบทเพลงซึ่งเสียดสีเรื่องข้าราชการกับการจัดเก็บภาษีในยุคนั้น

      “ข้าราชการขอให้ทำงานเพื่อประชาชน อย่าได้คิดว่าตนอยู่เหนือหัวคนเพราะใส่ชฎา ตาสาตาสียายมายายมีอย่างผมเข้ามาเพื่อเสียภาษีค่านา อย่าใช้วาจาเป็นเจ้านาย”

      หรือเพลงเทวดาขี้โกงที่ตีแสกหน้านักเมืองได้อย่างแสบสันต์

      “โกงกันกินกันเข้าไป พ่อพวงมาลัยลอยไปลอยมา สงสารแต่ราษฎรเขาเดือดร้อนขาดคนพึ่งพา เลือกผู้แทนเข้าในสภาหวังว่าจะได้พึ่งพิงเอิงเอย”

      วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนนามอุโฆษยุคปัจจุบันเขียนถึงบทเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ผู้นี้ว่า

      บางเพลงเป็นการวิจารณ์การแบ่งชนชั้นราวกับมีทฤษฎีศิลปวรรณคดีที่ได้รับพลังความคิดเชิงสังคมนิยม

      ในวรรณคดีร้อยกรองเหยียดน้องว่าต่ำ รูปชั่วตัวดำเหมือนกับอีกา เขาเอ่ยประณามหยามลูกตาสาไม่น่าเคลียเคล้า แต่เขากินข้าวน้ำมือนางตลอดปี

      เพลงลูกสาวตาสี ไพบูลย์ บุตรขัน ประพันธ์เพลง คำรณ สัมบุญณานนท์ ขับร้อง

      พลังความคิดจากทฤษฎีชนชั้นยังสำแดงชัดในเพลงขวานของทองไทย

      อันคนไทยที่อยู่ในภาคอีสาน ขออย่าล้อว่าเป็นบักหนาน หรือการเหยียดหยามนำหน้า มันหมดสมัยแล้วเอยเพื่อนไทยฟังว่า เมื่อครั้งก่อนนั้นชั้นต่ำช้า ถือศักดินากันจนเกินไป

      ในวรรณคดีที่แต่งเป็นเรื่องอื้อฉาว มักจะย้ำเอ่ยคำว่าลาว หรือการต่ำต้อยเอาไว้ นี่แหละผู้ดีซึ่งมีทาสคอยรับใช้ เดี๋ยวนี้สมัยทาสสิ้นหมดไปเพื่อนไทยเสมอหน้ากัน

      เพลงเหล่านี้นี้เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์ต่อสู้ทางการเมืองอันดุเดือดสภาพสังคมการเมืองเป็นแรงเร้าให้ผลงานเพลงที่ไพบูลย์เขียนให้คำรณและคนอื่น ๆ มีความคมเข้ม เป็นพัฒนาการทางความคิดต่อเนื่องจากยุคเพลงของพรานบูรพ์และแสงนภา บุญราศรี

      ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารของฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งบัญชาการโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้ยึดอำนาจโค่นรัฐบาลของฝ่ายรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ลงไป

      วัฒน์ วรรลยางกูร ยังให้ทรรศนะในแง่วรรณศิลป์ของครูไพบูลย์อีก

      เพลงแสบทรวง ที่มีวรรคทองให้แฟนเพลงจดจำ

      น้ำตาผู้ชายที่ไหลรินหมายถึงความสูญสิ้นอเนกอนันต์นานาผู้ชายที่หลั่งน้ำตายิ่งกว่าฟ้าร้องไห้ หรือ ฉันทำทุกอย่างเพราะเธอ ชื่นเพราะเธอ ช้ำเพราะเธอคนเดียว

      ฟังไปฟังมาหลายบทตอนในกลอนเพลงของไพบูลย์ บุตรขัน มีจังหวะโคนเหมือนกาพย์ฉบัง ๑๖ ดังในวรรคทองของเพลงแสบทรวงที่ยกมา หรือในเพลงโลกนี้คือละครที่ยกมาในตอนที่แล้ว เพียงแต่ลดทอนคำออกนิดหน่อยก็สามารถวางผังเป็นฉบัง ๑๖ ได้

      โลกนี้คือละคร  บทบาทบางตอน

      ชีวิตยอกย้อนยับเยิน

            บางคนรุ่งเรืองจำเริญ บางคนแสนเพลิน

      เหมือนเดินหนทางวิมาน

      เป็นการทดลองเปรียบเทียบเพื่อความประจักษ์ในทักษะวรรณศิลป์ของครูเพลง

      วรรคทอง น้ำตาผู้ชายที่ไหลริน นี้ยังเป็นที่โปรดปรานของเพื่อนนักเพลงอย่างเบญจมินทร์ ซึ่งยกย่องว่าไพบูลย์คือ “กวีชาวบ้าน” ทั้งยังตั้งคำถามว่า

      ในหนึ่งร้อยปี เราสามารถมีนักการเมืองมากมาย

      แล้วหนึ่งร้อยปี เราจะมีกวีเกิดมาสักกี่คน

      (วัฒน์ วรรลยางกูร,คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน,แพรวสำนักพิมพ์,จัดพิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม ๒๕๔๑,หน้า ๕๑ – ๕๒,๒๐๔-๒๐๕)

      บทเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ ส่วนมากจะเป็นเพลงผูกกับสถานการณ์หรือเพลงที่หยอกล้อหญิงสาวสมัยนั้น ทั้งแต่งเองร้องเอง เพลง ของปลอม

      ผู้หญิงไทยสมัยนี้ผิดกว่าเดิม หน้าอกเสริมใส่ฟองน้ำกันให้ยุ่ง ผิดกับยายของฉันที่บ้านทุ่ง เอ้า ยายของฉันที่บ้านทุ่ง แกใส่เสื้อเลยพุงยานเป็นถุงกาแฟ

      บางเพลงที่อุปมาถึงคนอีสานที่เข้ากรุงเทพเกิดอาการขยาดผ่านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อย่างเพลงอีสานตื่นกรุง

      พี่อยู่อีสานเที่ยวทั้งวันทั้งคืน เก็บผักฟืนนั่งหลังเกวียนสุขสันต์ ห้าสิบสตางค์เที่ยวไปได้ทั้งวัน ไม่เหมือนเมืองสวรรค์ต้องพกเงินพันตลอดปี

      เพลงของสุรพล สมบัติเจริญ นั้นทีความเป็น ลาว หรือ อีสานอยู่ค่อนข้างจะมาก โดยเฉพาะเพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียง คือ เพลง น้ำตาลาวเวียง ซึ่งบันทึกแผ่นเสียงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖

      หนาวลมพัดผ่านแหล่งแล้งลม ตัวข้อยมานั่งเดี๋ยวเหมิดเพื่อน ยามยากใจ ไผ๋ไผ๋บ่เหลือตน ข้อยทุกข์ทนล้นใจเด๋ บ่มีผู้ได๋มาเยือน ข้องเบิ่งเว้าสาวเจ้าถือเฮือน เจ้ามาเลือนข้อยไปใจข้อยช้ำเด๋ โอ้ละเนอผู้สาวเอ่ย ซางมาลืมคำเว้าแต่เฮาฮักกันปางพุ่น ลืมวาจา ฮืยฮืยซางบ่อาย ฯลฯ

      และยังมีอีกหลายๆ เพลงที่ สุรพล สมบัติเจริญ ใช้ลีลาเพลงรำโทนและภาษาอีสานเข้ามาสอดรับกับเนื้อเพลง ซึ่งข้อนี้ แวง พลังวรรณ ตั้งข้อสันนิษฐานจากข้อสนทนากับนักแต่งเพลงร่วมสมัยกับสุรพลว่า เป็นไปได้ที่บางเพลง หรือหลายเพลง หรือทุกเพลงเป็นผลงานของ เฉลิมชัย ศรีฤาชา ศิลปินเพลงรำวง เลือดเนื้อเชื้อไขร้อยเอ็ด เจ้าของฉายา “ไส้เดือนถูกขี้เถ้า” เพื่อนสนิทของสุรพลตั้งแต่อยู่วงกองดุริยางค์ทหารอากาศ (รายละเอียดมีใน อีสานคดีชุดลูกทุ่งอีสาน แวว พลังวรรณ เรียบเรียง บริษัทเรือนปัญญาจำกัด จัดพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๔๕)

      ตรงนี้ดูเหมือนจะไม่เป็นธรรมนักสำหรับทั้งสุรพลและเฉลิมชัย ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วทั้งคู่ สุรพล นั้นเป็นชาวสุพรรณบุรี มีวัฒนธรรมลาวอยู่มากมาย โดยเฉพาะ ลาวโซ่ง และอนึ่ง เป็นข้อที่น่าสังเกตเรื่องสำเนียงเสียงภาษาและวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานมายาวนาน

      พลังลาว ชาวอีสานมาจากไหน ? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักศิลปวัฒนธรรม บริษัทมติชนจัดพิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม ๒๕๔๙ กล่าวถึงประเด็นเรื่องสำเนียงภาษาพูด ไว้ว่า

      ร่องรอยอีกอย่างหนึ่งคือสำเนียงภาษาพูดของกลุ่มชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำยมที่เมืองสุโขทัยลงมาทางฝั่งตะวันกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี (ตามชื่อเมืองในจารึกพ่อขุนรามคำแหง) ที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่าพวกเสียนหรือสยามนี้ ล้วนใกล้ชิดกับสำเนียงหลวงพระบาง (ล้านช้าง) อย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำเนียงสุพรรณฯ ที่คนต่างถิ่นฟังเป็นเหน่อ ยิ่งใกล้เคียงสำเนียงหลวงพระบางจนเกือบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์เคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้ว (สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา,สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖.) ว่า

      “ปลอกเขตภาษาที่เรียกกันว่าสำเนียงสุพรรณทั้งหมด ซึ่งคลุมในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี,กาญจนบุรี,นครปฐม,ราชบุรี และเพชรบุรี เป็นสำเนียงภาษาที่มีความสูงต่ำทางวรรณยุกต์คล้ายคลึงกับภาษาลาวเหนือทางแขวงหลวงพระบางไปถึงซำเหนือ (หัวพัน). นี่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าแปลกใจมานานแล้ว.

      ภาษาพูดที่ชาวสุพรรณบุรีและกลุ่มสำเนียงนี้พูดเป็นภาษาไทย(ที่ว่าภาษาไทยหมายความว่าเป็นภาษาที่ใช้ถ้อยคำและสำนวนอย่างไทยภาคกลาง ไม่ใช่ถ้อยคำและสำนวนอย่างลาวในประเทศลาว.) แต่สำเนียงเป็นสำเนียงลาวเหนือเจือปนจนสังเกตได้ชัด

      จริงอยู่ในสมัยกรุงเทพฯ นี้ได้เคยมีการกวาดต้อนพวกผู้ไทยดำ (โซ่ง) ทางแขวงซำเหนือ และลาวทางเวียงทางเขตเวียงจันทน์ ตลอดจนชาวเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง) มาไว้ที่จังหวัดสุพรรณบุรี – ราชบุรี – เพชรบุรี;แต่นั่นไม่ใช่จ้นเหตุที่ทำให้สำเนียงภาษาไทยของชาวสุพรรณเป็นดังที่เป็นอยู่นี้ เพราะพวกที่ถูกกวาดมาในชั้นกรุงเทพฯ นี้ ตั้งบ้านของเขาอยู่เป็นหมู่ใหญ่ต่างหากไม่ปะปนกันกับชาวสุพรรณบุรี-ราชบุรี – เพชรบุรีเดิม และยังคงใช้ภาษาเดิมของตนจนกระทั่งทุกวันนี้, หาได้เคล้าคละปะปนทั้งชีวิตประจำวันและภาษาเข้ากับชาวเจ้าของถิ่นเดิมไม่ ทั้งสำเนียงของสุพรรณบุรีก็เป็นแบบลาวเหนือมิใช่แบบผู้ไทย”

      สุรพล สมบัติเจริญ เป็นคนสุพรรณบุรี แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่ามีเชื้อชาติพันธุ์เป็นคนลาวโซ่ง ดังที่ แวว พลังวรรณ กล่าวพาดพิงถึง แต่ก็ใช่ว่าคนไทยจะมีสายพันธุ์ที่เป็นไทยแท้บริสุทธิ์หรือลาวแม้ที่บริสุทธิ์ หากแต่มีการรวมอยู่ผสมผสานกันอย่างมากมาย และใช้ว่าคนที่ไม่ได้เป็น ลาว จะไม่รู้สำเนียงเสียงภาษาและวัฒนธรรมการเล่นเต้นร้อง อย่างน้อยก็เรียนรู้ได้จากคนรอบข้างเป็นปฐม

      กลับมาที่ระหว่าง ไพบูลย์ บุตรขันกับสุรพล สมบัติเจริญ สองศิลปินท่านนี้ได้ร่วมงานเพลงกันไม่มากนัก สุรพลนั้นรุ่นเยาว์กว่าไพบูลย์ราวหนึ่งรอบ เข้าวงการตั้งแต่อายุ ๒๓ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ งานเพลงของไพบูลย์ เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

      เพลงที่สุรพล สมบัติเจริญ ได้ร้องเพลงที่แต่งจากปลายปากกาของไพบูลย์ บุตรขัน ที่ใช้นามปากกาว่า สาโรช ศรีสำแล ไม่ว่าจะเป็นเพลง

       น้ำค้างเดือนหก,รักจริงหรือเล่น,ดอกกระถินในกระท่อม และ ชูชกรำพัน เป็นต้น

      ลีลาเพลงที่ไพบูลย์ แต่งให้สุรพล นั้นเป็นลีลาโทนเดียวกันกับสุรพลใช้แต่งคือแบบกลอนแปดเล่นสัมผัสอักษรและเป็นเพลงร้องง่ายๆ แต่งดงามด้วยจังหวะของเสียงและภาษา มีแอคคอร์เดี้ยนเป็นตัวนำ ควบคู่ไปกับการเล่นคำ

      หากพี่เสนอแล้วเธอไม่ตอบสนอง น้ำค้างจะน้ำคลอง คู่จองก็เป็นคู่จาง ห้องจะกลายรังหนู เรือนหอที่รอรักอยู่จะกลับเรือนร้าง ข้าวที่มองเห็นอยู่เต็มฉางคงเหมือนก้อนดินที่วางอยู่ตามท้องนา

      จากวรรคหนึ่งในเพลง น้ำค้างเดือนหก จะเห็นการเล่นสัมผัสอักษรที่มีความลื่นไหลในภาษา จังหวะรำวง ส่งจังหวะกลอนได้อย่างมีทักษะทางวรรณศิลป์

      นี้ยังไม่ได้คัดมาให้ชิมสุนทรีรสอีกหลายเพลงของ  ๒ ขุนเพลงผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้

      บทเพลงเป็นเรื่องของเสียง และภาษา วรรณคดี กวีนิพนธ์ ก็เป็นเรื่องของเสียงและภาษาเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องเสียงของคำกับเสียงของอักษร ที่สำคัญคือวิธีคิดที่จะนำเสนอออกมาเป็นรูปแบบใด

      ปัญหาของการศึกษานั้นคือการขาดแคลนการเผยแพร่ความรู้ เพราะคนส่วนใหญ่มักอยากจะ “สั่งสอน” จนไม่ยอมใช้วิธีการ “สั่งสม” ระบบการศึกษาจึงขาดการทำความเข้าว่าศาสตร์ทุกศาสตร์นั้นสัมพันธ์ แต่กลับมองว่าไม่เข้าเรื่องไม่เข้าทางไม่เกี่ยวข้องกันอยู่คนเดียวโดดๆ ก็เลยหลงทาง

      ทั้งนี้ก็เพราะ ครูสอนสังคมไม่อ่านวรรณคดี ครูสอนภาษาไม่อ่านประวัติศาสตร์ ครูสอนคนตรีไม่ชอบเล่นขับกลอน ก็เลยกลอนธรรมไม่ใส่ทำนองไม่เป็น ดังไพบูลย์ บุตรขัน และสุรพล สมบัติเจริญ หรือนักแต่งเพลงท่านอื่นๆ นำมาใช้ได้อย่างง่ายดาย

      นี่แหละ ไม่รู้จักเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบันเลยมองไม่เห็นอนาคต

 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

:แม่โขงกอดแคว้นไทยเฮา ตูข้อยตูเจ้าลุงป้าน้าอา

      ชื่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ครูเพลงซึ่งถือว่าเป็นปราชญ์อีสานอาวุโสท่านนี้ คงไม่ต้องไปเปิดดูในทำเนียบ “ศิลปินแห่งชาติ” ให้เสียแล้วหรอกครับ ไม่มีอย่างแน่นอนเพราะยังไม่ได้เป็น ไม่รู้ว่าทาง สวช. (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ) กระทรวงวัฒนธรรม มองผ่านหรือมองข้ามครูเพลงชาวโขงเจียม อุบลราชธานีท่านนี้ไปหรืออะไรไม่ทราบ ยากจะคาดเดาครับ

      ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ท่านนี้แหละครับที่ ครูสลา คุณวุฒิ ครูเพลงยุคปัจจุบันยกย่องถือว่าเป้นครูต้นแบบของครูสลาและน้องนักเพลงรุ่นถัดมา

      กรุเพลงครูพงษ์ศักดิ์ มีเยอะมาหลายเพลง แต่งให้นักร้องดังๆ หลายท่าน ตั้งแต่เพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียงของเพลง ดาวบ้านนา - ไพรวัลย์ ลูกเพชร ตั้งแต่ใช้จริงว่าสมนึก นิลเขียว

      ทุ่งรัก,เสียงซุงเว้าสาว - ศรคีรี ศรีประจวบ,รักร้าวหนาวลม - บรรจบ เจริญพร, สาละวันรำวง -ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ,ดอกจานบาน,ด่วน บขส.อดีตรักทุ่งอีสาน – สนธิ สมมาตร

      เทพพร เพชรอุบล นักร้อง – แต่งเพลง ชื่อดัง ก็มีหลายเพลงที่มาจากกรุเพลงครูพงษ์ศักดิ์ ที่รู้จักกันดีในเพลง อีสานบ้านเฮา แต่มีเพลงหนึ่งที่ครูพงษ์ศักดิ์ แต่งให้เทพพรร้องถึงความอุดมสมบูรณ์ของภาคอีสานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอีสานบ้านเฮา คือ “ลำนำอีสาน” ลองอ่านเนื้อเต็มๆดูครับ

      “(เกริ่น) เสียงฟ้าฮ้อง...ข้ามภูพานมาฮืนฮืน โอ้นอ ฟังเสียงฝนสะอื้นฟังเสียงลมพัดอ็ ปานเสียงชู้ ฮ้องสั่งแฟน (ซ้ำ) โอ้...ละนา

      แดนแผ่นดินอีสาน อยู่ยั่งยืนนานแต่กาลก่อนมา แม่โขงกอดแคว้นไทยเฮา ตูข้อยตูเจ้าลุงป้าน้าอา พ่อเฒ่าแม่เฒ่าผู้บ่าวซุมแซง ฮักกันเข้มแข็งคู่หน้าคูตา พริกเฮือนเหนืออันว่าเกลือเฮือนใต้ พึ่งพาอาศัย ข้าวน้ำซ่ามปลา (ซ้ำ)

      ม่วนซื่นโฮแซวแม่นแล้วอีสาน ถึงดินกันดารแห้งโหยโรงรา แต่ใจของคนบ่หม่นบ่หมอง ตุ้มอ้ายตุ้มน้องอิหลึกปึกหนา น้ำอกน้ำใจแขกไปไทยมา ต้อนรับเหมือนว่าเป็น พี่น้องซุมแซง (ซ้ำ)

      โอ้...ละนอ จากเทือกเขาไกลไหลมาบ่สูญคือสายน้ำมูลบ่เคยเหือดแห้ง น้ำซีน้ำป่าวน้ำพองน้ำเลยน้ำก่ำแม่เอ๋ยชุ่มเย็นทุกแห่ง เสียงแคนเสียงซออ้อนอ่ออีอ๊อย อ้อยอิ่งสำออยฟังแล้วมีแฮง ดอกดู่ดอกจานบานเบ่งยวนเย้า ดอกกากะเลา ดอกกาสะแบง บ้านเฮาเมืองเฮาแต่เก่าแต่ก่อน เป็นตาออนซอนอยู่ดีมีแฮง

      แต่มาเดี๋ยวนี้ โอ้...โอ้ย...แต่มาเดี๋ยวนี้ปุ้นจี้กันหลาย ข้าวของงัวควายบ่ได้ปล่อยจากแหล่ง เป็นจั๊งใด๋น้ออีพ่ออีแม่ หากินร่อแร่ขาดข้าวขาดแกง แสงลำบ่แน่นเสียงแคนบ่หวาน ลำนำอีสานแห้งโหยโรงแรง ฟังเสียงเพลงนี้จงอยู่ดีมีแฮง ชื่นบานทุกแห่งเถิด พี่น้องหมู่เฮา (ซ้ำ)”

      ครูพงษ์ศักดิ์ได้บอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของอีสานที่มีสายน้ำไหลผ่านบริเวณแผ่นดินที่ราบสูงแห่งนี้แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมทั้งวัฒนธรรมการละเล่นเครื่องดนตรี ความน่ารักแบบชาวบ้านของคนอีสาน

      แม่น้ำโขงไหลโอบผ่านอีสานตั้งแต่เชียงคาน จังหวัดเลย จรดถึงอำเภอโขงเจียมอุบลราชธานีก่อนกลับเข้าประเทศลาวแล้วไปลุออกเขมรแล้วเวียดนามตามลำดับ

      แม่น้ำโขง คือ เส้นเลือดหลักของ อุษาคเนย์ และก่อให้เกิด นิทาน ตำนาน ต่างมากมาย

      วรรณคดีเรื่อง พระลอ ฉบับที่แพร่หลายทุกวันนี้ บอกความเป็นมาของตัวละครสองฝ่าย คือ พระลอ กับฝ่ายพระเพื่อนพระแพง

      ศูนย์กลางของเรื่องนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ที่ไหน ? และแต่งขึ้นเมื่อใดยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่คาดคะเนกันต่างๆ นานา โดยเฉพาะเรื่อง แม่น้ำกาหลง จุดที่พระลอเสี่ยงข้ามแม่น้ำ เคยมีนักค้นคว้าชี้ไปที่เวียงกาหลงนั้น ปัจจุบันน่าจะอยู่ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย แต่เวียงป่าเป้านั้นทำเลเป็นเนินเขาเตี้ย มีลำน้ำชื่อแม่น้ำลาว ไม่ใช่แม่น้ำกาหลง และคงไม่เกี่ยวพันอันกับแม่น้ำกาหลงในวรรณคดีเรื่องพระลอ

      เพียงแต่ชื่อพ้องกันเท่านั้น

      คัดจาก ภูมิสังคมวัฒนธรรม มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานว่าตามหลักฐานว่า “แท้จริงแล้วน้ำแม่กาหลงก็คือแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำแม่ของ มีอยู่ในโคลงกลอนท้าวฮุ้ง ท้าวเจือง ที่ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ รวบรวมต้นฉบับให้บริษัทมติชน พิมพ์แยกกัน ๒ เล่ม ใส่กล่องแข็งแรง

      เล่มแรกเป็นโคลงสองฝั่งโขงยาว ๔,๙๙๗ บท เรียกมหากาพย์แห่งอุษาคเนย์ มีรูปเก่าลงประกอบ เล่มหลัง เป็นร้อยแก้วถอดจากโคลงกลอนทุกคำ ทุกวรรค ทุกบรรทัด เรียกวีรบุรุษสองฝั่งโขง พร้อมคำอธิบายว่าชื่อน้ำกาหลง มาจากเก้าลวง หมายถึงพญานาค ๙ ตัว (เพราะคำว่าลวง ในภาษาลาว แปลว่านาค) นานเข้าชื่อเก้าลวง เพี้ยนเป็นกาหลง

      น้ำแม่กาหลงในท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นแม่น้ำเดียวกันกับน้ำแม่กาหลงในพระลอ เพราะวรรณคดีสองเรื่องนี้เกี้ยวข้องต่อเนื่องกัน พูดง่ายๆ ว่าท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นเรื่องตอนต้อของพระลอ ส่วนพระลอเป็นเรื่องตอนปลายของท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง

      ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง (เรียกแม่กาหลง) ชื่อดินแดน “โยนก” บริเวณที่ราบลุ่มน้ำกก – อิง ทางเขียงแสน-เชียงราย-พะเยา ได้ขยายอำนาจข้ามน้ำแม่โขงไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเขตของแถนกับแมน โดยมีแถนลอเป็นใหญ่ ได้ร่วมกันต่อต้านแล้วฆ่าท้าวฮุ่งขาดคอช้างตายในสนามรบ เชื้อสายของท้าวฮุ่งสืบมาถึงพระพิษณุกร ครองเมืองสรองอยู่ตะวันตกของน้ำแม่กาหลง (ในพระลอ) มีลูกสาว ๒ คนชื่อ พระเพื่อน พระแพง”

      พงศวาดารไทลื้อระบุว่า ขุนเจื่อง หรือ พญาเจื่อง นั้นคือพระเจ้าแผ่นดินของชาวไทลื้อพระองค์แรก ที่สามารถรวบรวมชาวไทลื้อกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยให้เป็นปึกแผ่น

      พญาเจื่องก็คือ ท้าวเจื่อง หรือท้าวฮุ่ง นั่นเอง ไม่แปลอะไรที่วีระบุรุษในตำนาจะถูกยกย่องจากผู้คนให้เป็นกษัติย์ ลางทีวีระบุรุษอาจไม่มีตัวตนจริงอย่างในตำนาน แต่ตำนานเป็นเครื่องมือในการสร้างวีระบุรุษเพื่อความเป็นรัฐชาติ

      ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง นั้นเป็นวรรณคดีที่เป็นมหากาพย์แห่งอุษาคเนย์ หรือวีระบุรุสองฝั่งโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของภูมิภาคนี้

      ความสำคัญของแม่น้ำโขงนั้นไม่เป็นแต่เพียงแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนที่อยู่ตลอดริมฝั่งเท่านั้นยังเอื้อไปยังผู้คนรอบข้างอีกจำนวนมหาศาลบนความเป็นพหุลักษณ์ทางสังคมของแม่น้ำโขงนี้เองจำเป็นที่มาของการแสวงผลประโยชน์จากสายน้ำแห่งนี้

      แม่น้ำโขง นั้นไหลผ่าน ตั้งแต่ทิเบต – ยูนนาน ประเทศจีน ผ่านรัฐฉานประเทศพม่า สปป.ลาว ตั้งแต่ต้นประเทศจนปลายประเทศแบ่งสองกับประเทศไทยลงผ่ากลางประเทศกัมพูชาและออกที่ประเทศเวียตนามทางตอนใต้

      ผลกระทบที่กำลังเป็นปัญหาของแม่น้ำโขงนั้นคือ การสร้างเขื่อนจำนวนมากตลอดแม่น้ำสายนี้ และการระเบิดเกาะแก่งต่างๆ เพื่อการเดินเรือสินค้าจากประเทศจีนมาค้าขาย

      การระเบิดเกาะแก่งต่างตามลุ่มน้ำแม่โขงตั้งแต่จีนจนถึงหลวงพระบาง ซึ่งขณะนี้ระเบิดได้เขตแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านเขตแดนพม่ากับลาว เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนตลอดสายน้ำเปลี่ยนอย่างน้อยๆ ระดับแรงของแม่น้ำโขงก็เพิ่งขึ้นเรือขนาดใหญ่ที่แล่นผ่านค่อยๆ เซาะตลิ่งให้พังลง ปัญหาน้ำท่วมที่ตามมา

      ที่สำคัญเมืองท่าเรือมีความคึกคักปัญหาเรื่องสถานรับกระทำชำเราให้บุรุษก็พุดขึ้นมากระแสที่เป็นเฟชั่นนิยม

      หลายคนในคณะผิดคาดกับเมืองเชียงรุ่งที่จินตภาพถึงอดีตและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แต่ความงามที่ยังคงอยู่ในบ้างส่วน บ้างจุด หลายคนเคยนั่งเรือเห็นเกาะแก่งต่างมากมายตลอดสายน้ำที่จะถึงสามเหลี่ยมทองคำที่เชียงแสน ในขณะนั้นแก่งหินกำลังท้าทายระเบิดที่กำลังคุกคามแม่น้ำโขง บัดนี้ไม่มีเห็นแล้วเหลือแต่ภาพที่จดจำและจางหาย

      ภาพท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ยกทัพสู้รบระหว่างแม่น้ำโขงหรือคณะสำรวจของนายแพทย์วิลเลียม คลิฟตัน ด็อดด์ หรือรู้จักกันนามหมอด็อดด์ผ่าอุปสรรค์จากเกาะแก่งกว่าจะถึงสิบสองปันนา ไม่มีให้เห็นเห็นเรือท้องแบนขนาดใหญ่ขนสินค้าแล่นสวนมาส่งผลให้เรือเล็กครื้นเครงกระหึ่มคราง
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

:กลอนลำ ฉันทลักษณ์สองฝั่งโขง

      แผ่นดินอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นลักษณะ บึง หนอง บุ่ง ซึ่งอยู่ในความหมายเดียวกันเพียงแต่เรียกต่างกันเพราะการกร่อนคำ

      พื้นที่ชุ่มน้ำในภาคอีสานจึงมีลักษณะคล้ายๆ กับเส้นฝอยที่แตกตัวไปทั่วผืนดินอีสานหากเรากางแผ่นที่ดู ต้นน้ำจะแตกสายจาก บึง หนอง หรือ ป่าบุ่ง ป่าทาม โดยมีแม่น้ำเส้นเลือดใหญ่โอบข้างอย่าง แม่น้ำโขง และสายเลือดที่หล่อเลี้ยงอีสานตอนบนอย่าง แม่น้ำสงคราม อีสานตอนกลาง แม่น้ำซี และอีสานตอนใต้ แม่น้ำมูน เมื่อมีพื้นที่ชุ่มน้ำความอุดมสมบูรณ์จึงมีวิธีการถนอมอาหารโดยการหมัก “ปลาร้า”  จาก “เกลือ”

      สัญลักษณ์หนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงอย่างหนึ่งคือ “หมอลำ” แต่ลักษณะกลอนลำนั้นมีมายังไง ตรงนี้น่าสนใจและน่าตั้งข้อสังเกตจาก “พลังลาว” ชาวอีสานมาจากไหน? ,สุจิตต์ วงษ์เทศ.ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ.พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ปรับปรุงจาก เบิ่งสังคมและวัฒนธรรมอีสาน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๑ผมจึงคัดมาให้อ่านกันดังนี้

      ร่าย – โคลงในโองการแช่งน้ำฉันทลักษณ์จากสองฝั่งโขง

      โองการแช่งน้ำ แต่งเป็นร่ายกับโคลง สลับกันตามเนื้อความของโองการ

      ร่าย เป็นกลอนแบบหนึ่ง มีเค้าต้นจากคำคล้องจองของผู้คนชนเผ่าเหล่ากอตระกูลไทย – ลาว ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ก่อนรับศาสนาจากชมพูทวีป เรียกกลอนร่ายหรือภาษาร่าย ถือเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของหมอผีหรือหมอขวัญ

      โคลง ก็เป็นกลอนอีกแบบหนึ่ง เรียกกลอนลำ คำกลอนประเภทนี้ไม่ยึดถือสัมผัสคล้องจองอย่างกลอนเพลงของภาคกลาง แต่อาศัยจังหวะถ้อยคำและระดับเสียงสูงเสียงต่ำเป็นหลักล้วนๆ พบร่องรอยอยู่ในคำพูดประจำวันของประชาชนตระกูลไทย – ลาวกลุ่มอีสาน ลื้อและลาว มีตัวอย่างอยู่ในคำคมหรือภาษิตที่เรียกกันว่าผญา

      ภาษาลาว ในตระกูลไทย – ลาว มีธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่ง คือคำคล้องจอง ที่จะมีพัฒนาการเป็นภาษาขับลำทำเพลง หรือเรียกง่ายๆ ว่าภาษาเพลงต่อไป แต่ที่สำคัญคือเป็นต้นเค้าฉันทลักษณ์ ที่จะเรียกต่อไปในวรรณคดีว่า ร่าย และ โคลง

      ผู้คนในตระกูลภาษานี้ มีคำพูดคล้องจองกันสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นธรรมดา ๆเช่น ทำไร่ไถนา, ทำมาหากิน, เป็นต้น เป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ฯลฯ แม้คำพูดว่า เฮ็ดไฮ่เฮ็ดนา,กินข้าวกินปลา, กินแลงกินงาย ฯลฯ เหล่านี้ก็นับเนื่องเป็นคำคล้องจองด้วยทั้งนั้น

      ฉะนั้น ในคำบอกเล่าทั่วไปจึงมักมีคำคล้องจองสอดแทรกอยู่ด้วยเสมอ ดังพบในคำบอกเล่าเรื่องแถนและกำเนิดคนจากน้ำเต้าปุง ที่เป็นเอกสารเก่าแก่จดจากปากชาวบ้านโบราณกาล มีคำคล้องจองสอดสลับเป็นระยะๆ ตามธรรมชาติของคนบอกเล่าในตระกูลไทย – ลาว เช่น สร้างบ้านเมืองลุ่มกินปลา เฮ็ดนาเมืองลุ่มกินข้าว,กินข้าวให้บอกให้หมาย กินแลงกอนงายให้บอกแก่แถน,ได้กินชิ้นให้ส่งขา ได้กินปลาให้ส่งรอย เป็นต้น

      ในขณะบอกเล่าเรื่องราวที่มีรายละเอียด จะมีบางตอนต้องเน้นต้องย้ำเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์กว่าตอนอื่น และเพื่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจหรือกระทบใจร่วมกันเป็นพิเศษ แล้วจดจำเป็นอาจิณตราบนานเท่านาน ตรงนี้แหละที่ผู้เล่าเรื่องจะผูกเป็นคำคล้องจอง ดังมีตัวอย่างอยู่ในคำบอกเล่าเรื่องแถน ตอนขุนบูลม (ขุนบรม) สั่งสอนแล้วแช่งลูกทั้งเจ็ดให้ประสบภัยพิบัติถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสอน ตรงนี้ต้องผูกเป็นคำคล้องจองมีว่า

      ๏เฮ็ดอันใดอย่าให้เป็น เข็นอันใดอย่าให้ได้ ปลูกไม้อย่าให้ทันตาย ปลูกหวายอย่าให้ทันล่อน ข้อม่อนอย่าให้รี ปีมันอย่าให้กว้าง เที่ยวทางให้ฟ้าผ่า เมือป่าให้เสือกิน ไปทางน้ำให้เงือกท่อเฮอฉก ไปทางบกให้เสือท่อม้ากิน มันแล

      นานเข้า คำคล้องจองก็มีความสำคัญมากขึ้น เพราะในพิธีกรรมที่มีหมอเป็นหัวหน้า (คือหมอผี หรือหมอพร หรือหมอขวัญ ต้องท่องบ่นบอกเล่าความเป็นมาของเผ่าพันธุ์แก่โคตรตระกูลทั้งชุมชนเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งในพิธีเลี้ยงผี (บรรพบุรุษ) ซึ้งต้องสร้างพลังให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์เพื่อเข้าทรงร่วมกัน

      พิธีกรรมอย่างนี้มีขึ้นในโอกาสพิเศษย่อมต้องการสิ่งพิเศษ เช่น ภาษามีลีลา สำนวน โวหารพิเศษ ที่ต่างจากภาษาพูดในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือเพิ่มคำคล้องจองเข้ามามากกว่าปกติ แล้วกำหนดทำนองเมื่อทำพิธีกรรมนั้น ทั้งสองอย่างนี้เกื้อหนุนกันอย่างกลมกลืน คือคล้องจองทำให้เกิดทำนอง/หรือทำนองทำให้ต้องสร้างคำคล้องจองมากขึ้น

      ผลอีกอย่างหนึ่งคือช่วยให้จำได้ไม่ลืมถ้อยความ เพราะยังไม่มีตัวเขียน ยังไม่ได้จดเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องใช้ความจำเท่านั้น ต่อเมื่อมีตัวเขียนแล้วจึงจดไว้

      ตัวอย่างเรื่องนี้มีในความโทเมืองของพวกผู้ไทที่มีหลักแหล่งอยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม คำว่า โท แปลว่าบอก,เล่า ฉะนั้นความโทเมืองตรงกับคำบอกเล่าความเป็นมาของเมือง (ต้นฉบับและคำอธิบายมีอยู่ในบทความชื่อความโทเมืองจากเมืองหม้วย โดย James R” Chamberlain ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาถิ่นตระกูลไทย – ลาว พิมพ์ในหนังสือรวมบทความประวัติศาสตร์ ของสมาคมประวัติศาสตร์ฯ ฉบับที่ ๘ :กุมภาพันธุ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ หน้า ๗๑ – ๑๐๙.) ว่าดังนี้

      “จี่ก่อเปนหย้า ก่อเปนฟ้าท่อถวงเหด  ก่อเปนดินเจดก้อน ก่อเปนน้ำเก้าแควปากแททาว

      ฟ้าต่ำเซื่องหม้อขาง  ฟ้าบางเอยื่องเปือกถ้วย ตำเข้ายังคุ้งสาก  ตากเข้ายังคุ้งเพิง งัวดำไปคุ้งหนอก หมูผอกไปคุ้งดัง

      ยามนั้นปู่เจ้าโซโค้มฟ้า  จั่งตัดสายโบนให้หม้า  ตัดสายฟ้าให้ขาด ฟ้าจั่งฮวาดเมือเหนือ  จั่งเปนฟ้าเตมเหน  เปนแถนเตมผ่อ

      จั่งเอาสิบตาวหน้าห้าตาวโองแบ่นตามกันขึ้น ก่อเบ่าฮอด จั่งเอาซาวกองบายท่อแม่ช้างมาสืบตามกันขึ้น ก่อเบ่าฮอด

      จั่งเอาสิบตาวหน้าห้าตาวโองแบ่งตามกันขึ้น ก่อเบ่าฮอด

      จั่งเอาสิบเสียงด้องกับเก้าเสียงกองมาทับตามกันขึ้น ก่อเบ่าฮอดเบ่าเงิน

      ยามนั้นโตสัดหนั่งเมืองลุ่ม ชู่โตชู่ฮู้ปาก ชู่โตทากฮู้จา ชู่โตหมูโตหมา ชู่ฮู้เว้าฮู้ว่า โตสัดหนั่งเมืองลุ่มจังเมืองก่าวเถิงแถน แถนจั่งแต่งแผบข้าโคนเมืองลุ่มเสิยเหมด

      ยามนั้นฟ้าจั่งแล้งสีแสด แดดสีสาว งัวควายจั่งตายอยากอย้าบ่าวค้าตายห่างทาง เข้าอยู่ไฮ่ตายผอย หอยอยู่นาตายแล้ง แป้งอยู่สาควนโฮม มันอยู่ชุ่มตายเอ้า เป้าอยู่ป่าตายแขวน บ่าวเฮือตายอยากน้ำ

      ยามนั้นปู่เจ้าโชโค้มฟ้า เอางูมาเอยิยด เอาเขิยดมาดอย เอาหอยมายดว่างเด้า แมงงวนมาเยดช่างปาด ปาหลาดมาเยดบ่าวชัว โนกถัวมาเยอดนางล่าม...”

      ในที่สุดคำคล้องจองเหล่านั้นจะมีพัฒนาการส่งสัมผัสแยกออกไปอย่างน้อย ๒ ทาง คือ กลอนส่งสัมผัสร่ายอย่างหนึ่ง และกลอนส่งสัมผัสเพลงอีกอย่างหนึ่ง ที่ปัจจุบันเรียกกลอนเฉยๆ

      รวมทั้งคำร้องของ “หมอลำ” หรือ “หมอพร” 
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

:เขาว่าน้อง เป็นลาว เป็นสาวเมือง อีสาน ใจน้องนั้นเลื่อนลอย


      คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ประกาศตนว่าเป็น จปล. หรือ “เจ๊กปนลาว” ชอบใช้นิยามสร้างแง่ความรู้สึกภูมิใจในคนอีสานว่า “พลังลาว” และยังเขียนหนังสืออกมาเป็นเล่มหนากว่า ๔๗๐ หน้า ชื่อ “พลังลาว” ชาวอีสานมาจากไหน? สำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม ๒๕๔๙

      ครับ! ผมเชื่อว่าคนดินแดนที่ราบสูงนั้นมีพลังในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยมเพียงแต่มีความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเป็นลาว เลยดูถูกตัวด้วยความไม่เข้าใจในพลังของคนลาวชาวอีสานที่มีอารยธรรมวิวัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับแม่น้ำโขง แม่น้ำสายหลักของย่านอุษาคเนย์

      อะไรที่พอจะบอกได้ว่าคนลาวอีสานมีความน้อยเนื้อต่ำใจ คงต้องฟังจากเพลงที่เขาร้องกันนั่นแหละ แต่มาชัดเจนยิ่งนักในเพลง สาวอีสานรอรัก ของ อรอุมา สิงห์ศิริ แต่งโดย สุมทุม ไผ่ริมบึง ในวรรคหนึ่งคุณอรอุมาร้องไว้ว่า “เขาว่าน้อง เป็นลาว เป็นสาวเมือง อีสาน ใจน้องนั้น เลื่อนลอย จง เอ็นดู แน้เด้อ อ้ายเด้อ” หรืออีกวรรคท้ายของบทเพลงที่ร้องว่า “เห็นเป็นลูกชาวนา อ้ายจึงบ่อยากจา บ่อยากมาหมั้นหมาย”

      เพลงนี้ทั้งจังหวะได้อารมณ์สุนทรีย์สนุกสนานตามประสาคนม่วนซื่นโฮแซวแม่นแล้วอีสานที่ซ่อนพลังไว้ภายใน สังเกตไว้คนในกรุงเทพฯแรงงานข้าวเหนียวมีชาวอีสานและค่ายเพลงที่ขายความเป็นลาวอยู่เต็มไปหมด

      ไม่ว่าจะเป็นนับตั้ง จินตรา พูลลาภ ไมค์ ภิรมย์พร,ต่าย อรทัย,ปอยฝ้าย มาลัยพร แห่งวงเสียงอีสาน แม้กระทั่ง พรศักดิ์ ส่องแสง ที่ยังยืนยงคงพันอยู่ทุกวัน นักร้องเหล่านี้สะท้อนความพลังของคนอีสานด้วยบทเพลงได้อย่างงดงาม

      ซึ่งมีผลพวงมาตั้งแต่ เบญจมินทร์,เฉลิมชัย ศรีฤชา,พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา,สุรินทร์ ภาคศิริ,เทพพร เพชรอุบล,ดาว บ้านดอน,ศักดิ์สยาม เพชรชมพู,สนธิ สมมาตร,ฉวีวรรณ ดำเนิน,อังคนางค์ คุณไชย และวงเพชรพิณทอง เป็นอาทิ

      คนอีสานที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ บางคนบางจำพวกไม่กล้าเว้าลาวอีสานเพราะอายกลัวเขาดูถูกว่า “เขาว่าน้องเป็นลาว เป็นสาวเมืองอีสาน” อะไรประมาณนั้น

      ทั้งนี้ เพราะความอยากเป็นไทยแบบล้าหลังคลั่งชาติก็มีส่วนนะครับ! ยกตัวอย่างเอาง่ายๆความเป็น“สยาม”นั้นก็จากการผสมผสานประยุกต์ปรุงแต่งขึ้นมาบนความหลากหลายทางอยู่ในชุมชนจึงเกิดความเป็นไทย เป็นสยาม เปรียบเทียบง่ายๆ คือความว่างเปล่า (อนัตตา) จึงเกิดตัวตน (อัตตา)ขึ้นมาก็ต่อเมื่อ มีลาว มีเขมร มาเป็นข้อเปรียบเทียบ ว่านี่คือลีลาไทย...ว่าไปนั้น

      ลูกทุ่งอีสานก็ยังเป็นที่ยอมรับโดยกว้างขวางทั้งเหนือ,ใต้,ออก,ตก จังหวะขับลำหรือรำวง รำโทน ก็ยังมีลีลาที่สนุกเร้าใจทั้งคนฟังและคนร้อง มนต์เสียงเพลงนั้นมีเสน่ห์และมีนัยยะซ่อนปมให้ขมคิดถึงวิธีคิดของผู้แต่งสื่อออกมาผ่านนักร้องและเสียงดนตรีในลีลากลอน อย่างน้อยๆ ก็สะท้อนภาพสังคม สำหรับภาพของผู้หญิงในยุคนั้นเพลงลูกทุ่งก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นผู้หญิงที่ต้องทำไร่ทำนา  เหมือนกับผู้ชาย เช่น เพลง สาวอิสานรอรัก ของ อรอุมา สิงห์ศิริ ที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า” สาวอิสานบ้านป่า เช้าก็ไปทำนา ค่ำแลงมาเหงาหงอย”  นอกจากนั้นก็ยังเป็นหญิงที่เรียกได้ว่าเป็นกุลสตรีอย่างเพียบพร้อมและหากจะนำมาเทียบกับภาพของผู้หญิงที่สะท้อนผ่านเพลงลูกทุ่งในยุคต่างๆ (บทความรายงานการวิจัย เรื่องภาพสะท้อนพฤติกรรมของสตรีในสังคมยุคปัจจุบันจากเพลงลูกทุ่ง:ไสว คำมูล ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

      เพลง เป็นสื่อทางเสียงที่เข้าถึงได้ในทุกระดับ การขับร้อง ขับลำนั้นเป็นสื่อทางภาษาให้คนได้แสดงพลังออกมาเพริศพรายว่าสังคมมีกระบวนการวิวัฒนาการมิใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ

      ปัจจุบัน สุมทุม ไผ่ริมบึง เสียชีวิตแล้วเมื่อปี ๒๕๔๐ สุมทุม คนนี้แหละที่สร้างสาวจันทร์กั้งโกบ ซึ่งเป็นเพลงลำเต้ย กระหึ่มเมืองเมื่อปี ๒๕๒๙

      แล้วที่นี้ พลังลาว ชาวอีสาน ยังดูถูกตัวเองอยู่หรือเปล่าล่ะ?
 
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

      : เพลงของ สดใส ร่มโพธิ์ทอง

      สดใส ร่มโพธิ์ทอง มีหลายเพลงและดังๆ ก็มีมาก ไม่ว่าจะเป็นที่แต่งเองร้องเองอย่าง ข้าด้อยเพียงดิน(เพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียง),รักจางที่บางประกง,เราคนจน,โอ้ชาวนา,ตามองใจ,ศาลรักหลักเมือง,ขวัญใจชาวนา,นั่งห้องโชว์,ลอยกระทงเสี่ยงรัก เป็นอาทิ

      หรือที่ผู้อื่นแต่งให้ร้อง หน้าอย่างเธอจะรักใครจริง ชลธี ธารทอง,บอกรักฝากใจ ทินกร ทิพยมาศ,สาวงามเมืองเมืองพิจิตรแจ่ม ชาว ไร่ และล่าสุด รักน้องพร เกียรติ เฉลิมชัย

      นอกจากที่แต่งให้พุ่มพวง ดวงจันทร์ในเพลง ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน แล้วยังแต่งให้สายัณห์ สัญญา ร้องในเพลง ขออยู่ด้วยคน

      “คนงามพี่ตามน้องเจ้า ดังเงาให้ค่อยปกป้องผองภัย เดินตามเจ้าหันมาทำยิ้มให้ ดวงใจพี่ดังโดนมีดกรีดเฉือน”

      คุณสดใส ร่มโพธิ์ทอง นั้นเมื่อก่อนเคยถูกคนในวงการขนานนามว่า “ลูกทุ่งนิติศาสตร์” เนื่องเพราะว่าคุณสดใส เคยเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

      แต่เท่าที่รู้อีกประเด็นหนึ่งก็คือในเรื่องฝีมือการแต่งเพลงนั้น คุณสดใส มีพื้นฐานมา “หมอขวัญ” มาจากครอบครัว

      แต่เพลงคุณสดใส นั้นเกี่ยวพันกับการเมืองมีอยู่สองเพลงที่เกี่ยวนั้นคืออิทธิพลของเพลงเพื่อชีวิตและกลายเป็นเพลงต้องห้ามข้อหาเพลงปลุกระดม คือเพลง เราคนจน และเพลง โอ้ชาวนา

      ทั้งสองเพลงนี้มีอิทธิพลมาจากสองเพลงของวงคาราวาน

      เราคนจน มีอิทธิพลทำนองเพลง คนกับควาย แต่งเนื้อร้องโดย สมคิด สิงสงกับวิสา คัญทัพ

      “คนก็คนทำนาประสาคน คนกับควายทำนาประสาควาย คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ ลึกล้ำทำนามาเนิ่นนาน แข็งขันการงานมาเนิ่นนาน สำราญเรื่อยมาพอสุขใจ”

      ถ้าเป็นวรรคแรกของ เราคนจน

      “เรามันคนชาวนายู่กับควาย เรามันจนๆ ทนเดียวดาย จะหน้าหนาวหน้าร้อนก็นอนหนาว ขาดสาวนอนอยู่คู่หมาย แน่แล้วตัวเราคงหนาว ไร้สาวคู่กายแนบอุรา”

      ส่วนเพลงอีกเพลงหนึ่งคือ โอ้ชาวนา

      “กลิ่นร่ำสาวชาวกรุง  ล้วนหอมฟุ้งทุกเวลา แต่เราโอ้ชาวนา กลิ่นข้าวกล้าก็ว่าหอม กลิ่นโคลนป่นสาปควาย เราพอใจได้ดมดอม ไอกลิ่นแกล้มพะยอม ดอมไม่ได้ เอื้อมไม่ถึง”

      ถ้าเป็นของคาราวานก็จะเป็นเป็นเพลง เปิบข้าว ซึ่งเป็นยานี 11 ของ จิตร ภูมิศักดิ์

      “เปิบข้าวทุกเช้าค่ำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน..ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชนชั้น เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว..”

      หากสังเกตจังหวะท่วงทำนอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อยอดกันระหว่างลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตจะสัมพันธ์กันระหว่างสังคมเมืองกับชนบทซึ่งมีวิทยุทรานซิลเตอร์เป็นเครื่องมือสื่อสาร

      แต่หากมองการใช้ภาษาที่นักแต่งเพลงใช้นั้น ใน “เปิบข้าว” จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้ลีลาการสัมผัสอักษรและเสียงของคำที่ก่อให้เกิดความรู้สึก

      ขณะที่ในเพลงลูกทุ่งความแพรวพราวของภาษาก็เป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของบทเพลง เนื้อหาก็เช่นกันแม้ว่าจะเน้นไปในเรื่องความรักของหนุ่มสาวแต่แทรกวิถีชีวิตสังคมอยู่ในนั้น เรียกว่าไม่ทิ้งสังคมชนบท

      แต่ลองให้ สดใส ร้องเพลง คนกับควาย คนก็ย่อมคิดว่าเป็นเพลงลูกทุ่งไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิต เช่นกัน หากให้พี่หงา คาราวาน ร้องเพลง เราคนจน คอเพลงเพื่อชีวิตก็ย่อมรู้สึกว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตไม่ใช่เพลงลูกทุ่ง

      นี้แหละ! เขาเรียกว่าความรู้สึกในด้านสามัญสำนึกอย่างหนึ่งที่มีต่ออิทธิพลที่สัมผัสสัมพันธ์อันคุ้นเคยโดยปกติวิสัย

      แต่ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งสำหรับตับเพลงของคุณสดใสที่ดังๆ นั้นมีอิทธิพลอย่างสูงมากโดยเฉพาะเพลงไทยเดิม เพลงที่โด่งดังเป็นพลุแตก เพลงรักจางที่บางประกง ต้นธารเดิมนั้นมาจากเพลง แขกมอญบางขุนพรหม ถ้าหากคอเพลงลูกกรุงจะคุ้นกับเพลงพรพรหมและจูบเย้ยจันทร์ เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เป็นพระนิพนธ์ในของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

      หรือล่าสุดเพลงรักน้องพร ที่เกียรติ เฉลิมชัยแต่งให้ก็มาจากเพลง ลาวกระทบไม้ และอีกหลายๆ เพลงแม้จะไม่ดังมากนัก แม้กระทั่งที่แต่งให้คุณสายัณห์ สัญญา เพลง ขออยู่ด้วยคน ก็เป็นเพลง โหมโรงชวาหรือะไรนี้แหละจำได้ไม่ดีนัก รู้แต่ว่าเป็นทำนองที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) นำมาประยุกต์ใช้ และลิเกชอบใช้ออกแสดง

      กรณี เพลงของ คุณสดใส ร่มโพธิ์ทอง นี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่สามารถนำเอาเพลงที่เป็นของดีมีอยู่มารับใช้ได้อย่างกลมกลืน ซึ่งบางทีจนมองไปว่าปัจจุบันนักแต่งเพลงจะบางท่านไม่ยอมเอาของเก่ามาใช้เพราะเกรงว่าจะเหมือนคนอื่นเลยอยู่แค่ร้อยเนื้อทำนองเดียว

      ทั้งนี้ ในเพลงของนักร้องท่านนี้มีแก่นอะไรบ้างอย่างให้น่าศึกษา โดยเฉพาะเพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียงเมื่อราวๆ พ.ศ. 2514 ประมาณนั้น คือเพลง ค่าด้อยเพียงดิน ซึ่งแต่งเองร้องเอง

      มีไม่กี่คนหรอกครับที่จะกล้าแต่งเองร้องเอง ทั้งๆที่ยังเป็นนักร้องน้องใหม่เพิ่งเข้าวงการ แต่ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของเจ้าตัวนักร้องเอง บอกว่าการที่เราเป็นเด็กมาใหม่นั้น อาจารย์นักแต่งเพลงอาจคัดเพลงที่ไม่ใช่หัวกะทิเป็นแน่แท้ นี้แหละเป็นเหตุที่ทำให้คุณสดใส แต่งเพลงร้องเองโดยอาศัยพื้นฐานจากครอบครัวที่เป็นหมอขวัญ

      มาอ่านเอาชัดๆ ดูนะครับว่าเนื้อว่าอย่างไรแล้วค่อยๆ ว่ากันไปตามเนื้อเพลงดูนะครับ

      “เลิกมองดูฟ้า ก้มหน้ามองดิน เพราะพี่จน ต้อยต่ำ ถูกประณาม หยามหมิ่นว่าศักดิ์ศรี เพียงกา ซ้ำมีค่าเพียงดิน มิวายถวิล หวังจะบิน เทียมหงษ์ทอง


      เคยมองดูฟ้า เดี๋ยวนี้ไม่กล้าจะมอง เพราะเจ้างามสง่า พี่ไม่กล้าแตะต้อง เจ้าอยู่สูงสุดสอย ดั่งเดือนลอยละล่อง กระต่ายน้อยคอยมอง ไม่แคล้วต้องหมองซบเซา

      เลิกแบ่งชั้นกันเถิดหนา ลืมศักดินาเถิดน้องเจ้า เลิกอยู่อย่างดอกฟ้า มารักเจ้ากาคนเก่าเฝ้าแต่เพ้อ แต่ฝัน จนคนหยันเย้ยเรา จึงต้องเศร้า เพราะค่าเราเพียงดิน

      ลาก่อนดอกฟ้า น้ำตาไหลริน ใครจะเห็นคุณค่า น้ำตาเราชาวดิน คนเหยียดหยันกันทั่ว ว่าเป็นวัวลืมตีน ดินเอ๋ยดิน ควรนึกถึงถิ่นเจียมตน”

      ครับ !เมื่อฟังเนื้อเพลงมองอย่างสังคมชนชั้นกรรมาชีพ เอาล่ะใช่เลย เพลงเพื่อชีวิต มองอย่างนวนิยาย ไม้ เมืองเดิม ก็ใช่อีกนั่นแหละ พระเอกต้องถูกหยามเหยียด ดูถูกโดยชนชั้นศักดินา เมื่ออ่านไปฟังไป ก็อดคิดถึงกำสรวลเสียมิได้

            หะหายกระต่ายเต้น   ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน                     ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน                   ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย                   ต่ำต้อยเดียรฉานฯ
 โดยเฉพาะท่อนแยกยิ่งอดคิดไม่ได้ถึงบทโต้ตอบกัน

            หะหายกระต่ายเต้น    ชมแข
สูงส่งสุดตาแล                       สู่ฟ้า
ฤดูฤดีแด                               สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า                     อยู่พื้นดินเดียวฯ

      ”ศรีปราชญ์”เป็นใคร? มีจริงหรือไม่? ยังเป็นคำตอบไม่แน่ชัด หรือเป็น “พระยาตรัง” เสกสสรค์ก็มาก็ได้ใครจะทราบล่ะ ในเมื่อท่านผู้นี้พูดถึง “ศรีปราชญ์” มากที่ที่สุด แล้ว ศรีปราชญ์เป็นอะไรกับ  “ศรีธนนทชัย”  เกี่ยวพันอย่างไรคงต้องถกเถียงเพื่อให้เกิดประเด็นกันอีกที

      ถ้าประวัติศาสตร์ปล่อยให้เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลป์โดยหลงลืมประวัต์ศาสตร์สังคมก็คงกร่อย และถ้าวรรณคดีปล่อยให้นิ่งสงบก็ยิ่งไม่เคลื่อนไหวเยี่ยงน้ำในคลองหลอดที่ไม่ระบายน้ำให้มีชีวิตก็เน่า

      หากถามว่าผมชอบหรือเปล่าล่ะเพลง “ข้าด้อยเพียงดิน” ตอบอย่างไม่ต้องคิดเลยว่าชอบ เพราะอย่างน้อยๆก็ช่วยให้เราเจียมเนื้อเจียมตัวมากขึ้น แต่เพลงก็ยังเป็นเพลง แต่ต้องไม่ลืมว่าเพลงนั้นมีพื้นฐานมาจากสังคมโดยองค์รวม โดยเฉพาะการคาดหวังต่อมนุษย์ด้วยกันแล้วล่ะก้อความรักมักปรารถนาเอาผลตอบแทนว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ก็มีอยู่ร่ำไป แม้ว่าเราจะปฏิเสธเรื่องสังคมชนชั้นก็ตามที

      คุณสดใส ร่มโพธิ์ทอง อาจมิได้แต่งเพลงเพื่อสะท้อนความเป็นเพื่อชีวิต แต่แนวเพลงมีความเป็นลูกทุ่งเพื่อชีวิตอยู่ในเพลง

      อย่างน้อยๆ ทัศนะในการมองสังคมแล้วนำมาเป็นเพลง เพื่อสร้างผลงานให้คงอยู่ เพลงและวรรณคดีอยู่ในแก่นเดียวกันคือลีลาของบทกลอน แต่ต้องไม่ลืมว่าเพลงและกลอนก็ต้องอยู่แก่นเดียวกันกับสังคมมนุษย์ เพราะต่างเป็นผู้บริโภคศิลปะและกลมกลืนอยู่ในภาวะของความเป็นจริงของสังคม

      หากใครบอกว่าคุณสดใส เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งบริสุทธิ์ ผมล่ะขอเถียงเลยว่าเขาเป็นนักร้องที่แต่งเพลงเกี่ยวกับลูกทุ่งเพื่อชีวิตได้ชัดเจนอีกด้วยท่านหนึ่งล่ะ

      อย่างน้อยๆ เพลงแรกที่บันทึกแผ่นเสียงมันก็เป็นความหมาย บ่งบอกความเป็นเพลงเพื่อชีวิตอยู่ในตัวมันแล้วล่ะ

      นั่น เพราะไม่เห็นความเหมือนในความต่าง ที่นำมารับใช้ซึ่งกันและกันนั่นแล
 


เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?

:ชาย เมืองสิงห์ ลูกทุ่งลิเกป่นแหล่


      ผมเป็นแฟนพันธุ์คนหนึ่งของ ชาย เมืองสิงห์ ที่ชอบก็มาชอบตอนโตแล้วเรียนมัธยมนุ่งขาสั้นโน่นน่ะ

      ในยุคที่ผมเริ่มรู้ปะสีประสานั้นเป็นยุคของ สายัณห์ สัญญา ยอดรัก สลักใจ แต่ก็นิยมฟังเพลงลูกทุ่งแต่เล็ก แต่น้อย เพราะโตมากับบ้านนอก แม้ว่าจะเกิดที่กรุงเทพฯ ก็ตามทีเถอะ

       เหตุที่ชอบนั้นเพราะลีลาเพลงของ ชาย เมืองสิงห์ นั้นไม่เหมือนใครคือลีลาผสมด้วย ลิเกป่นแหล่ ประยุกต์ระหว่างเพลงไทยเดิมเข้าช่วย ซึ่งเจ้าตัวมีพื้นฐานจากเชียร์รำวงมาก่อนจะเข้าวงการเพลงลูกทุ่ง

      จะบอกว่า ชาย เมืองสิงห์ เป็นนักร้องที่ใช้เพลงไทยเดิมเยอะที่สุดคนหนึ่งก็คงไม่ผิด แต่เมื่อจับทางเพลงแล้วไม่ใช่ทั้งหมด แต่ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว

      นักร้องนามอุโฆษท่านนี้นอกจากจะเป็นนักร้องที่ไม่เป็นสองรองใคร หลังหมดยุคสุรพลแล้ว ฝีมือการแต่งเพลงก็ยังฉกาจยิ่งนัก

      โดยใช้นามจริงในการแต่งเพลง คือ สมเคียร พานทอง ชื่อ ชาย เมืองสิงห์ นี้มาได้เมื่อมาเป็นนักร้องอยู่วงจุฬารัตน์ ของครูมงคล อมาตยกุล จริงๆ แล้ว ชื่อนี้จะเป็นของนักร้อง – นักแต่งเพลง คนสิงห์บุรี ที่ชื่อ สุรพล พรภักดี เมื่อเด็กหนุ่มจากเพาะช่างชาว บางมัญ สิงห์บุรี ใช้ชื่อว่า ชาย เมืองสิงห์

      สุรพล พรภักดี จึงใช้ชื่อ พล พรภักดี คนเดียวกันที่ร้องเพลง ดาวหาง และที่แต่งเพลง เธอรู้หรือเปล่า ของ ทูน ทองใจ

      ชาย เมืองสิงห์ อัดแผ่นเสียงเพลงแรกคือเพลง ชมสวน เป็นเพลงแหล่ และเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้คือเพลง มอดกัดไม้ แต่งโดยครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งเป็นเพลงที่ครูมงคลใช้ทำนองไทยเดิมเพลงแรกๆ แล้วจึงมาแต่งเพลงในจังหวะสองไม้ให้นักร้องท่านนี้อีกคือเพลง ลูกสาวใครหนอ

      เพลงมอดกัดไม้นี้เป็นการโต้วิวาทะทางบทเพลงกับ พร ภิรมย์ ซึ่งเป็นอุบายในการสร้างกระแส ซึ่งจะเล่าไปในเบื้องหน้า

      ในแง่เพลงของ ชาย เมืองสิงห์ นั้นก็คงหนีไม่พ้นเพลงรักๆ ใคร่ๆ แบบชาวบ้านนั่นแหละ แต่มีเสน่ห์ในการใช้เปรียบเปรย รวมทั้งการเล่นคำ

      อย่างเพลง เรือหล่มในหนอง นั้นเปรียบหญิงสาวแรกรุ่นว่า “ฝรั่งข้างรั้วจะสุกคาขั่วไว้ค่อยใคร อีกนนานเท่าไหร่ของแรงจงได้จำนรรจ์ หากจะสอยก็จงค่อยๆ พูดกันเดี๋ยวแม่รู้ทันจะต้องนอนฝันค้างปี”

      เพลงนี้ เป็นเพลง ชาย เมืองสิงห์ เพลงแรกที่ผมหัดร้อง สมัยเรียนร้องประกวดหน้าห้อง

      หรืออย่างเพลงเป็นงั้นไป ก็เตือนสาวไว้ดี “จะเปรียบมะนาวหน้าฝนก็เหมือนกับคนสาวๆ ถึงแม้จะเปรี้ยวจนเหลือกล่าวไม่พ้นถูกเขามาขาย น้องเปรี้ยวเกินตัวถึงกับไม่กลัวความเค็ม ชอบคบผู้ชายเลือดเข้มปากคมกว่าเข็มทั้งหลาย” หรือ “เพราะแม่สาวคราวกำดัดไม่ค่อยประหยัดร่างกาย”

      อย่างเพลง รอหน่อยน้องติ๋ม ที่ทหารหนุ่มเตือนเมียก่อนไปทหารว่า “เรือนหอเราอย่าให้เสาเรือนเซ เพราะแรงลมเสน่ห์หนุ่มไกล”

      แม่สื่อแม่ชัก เป็นเพลงหนึ่งที่ชอบมากเช่นกัน จังหวะดนตรีสนุกไพเราะดี อย่างกรณีเพลงพ่อลูกอ่อน ที่นำเอาเพลงกล่อมเด็กมาร้อง “วัดเอ่ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี ยามเมื่อผัวตกยาก เมียก็ตีจากเมินหน้าหนี โอ้ข้าวโพดสาลี ผัวอยู่ทางนี้ต้องโรยรา”

      นอกจากจะความเป็นทั้งนักร้องและนักแต่ง ชาย เมืองสิงห์ ยังเคยรับบทเป็นพระเอกภาพยนตร์ในเรื่อง เทพบุตรสิบสองคม ซึ่งภาพยนตร์จะออกแนวลูกทุ่งตะวันตก แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

      ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบภาพยนตร์ที่โด่งดังคือเพลง บ้านใกล้เรือนเคียง ซึ่งแต่งโยมือกลองประจำวงและกลายมาเป็นนักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง นาม วิเชียร คำเจริญ หรือ ลพ บุรีรัตน์ ผู้สร้างให้พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นราชินีเพลงลูกทุ่ง

      ทั้งนี้ ชาย เมืองสิงห์ ยังเป็นนักแต่งเพลงให้นักร้องคนอื่นๆ ในวงจุฬารัตน์มากมาย เช่นเพลง ลั่นทม (งามจริงนะดอกลั่นทมไสว....) อนิจจา (ข่าวเศร้าทรวงต้องยืนน้ำตาร่วงดวงใจจ๋า...) โฆษิต นพคุณ ,ชวนชม (เจ้าช่อชวนชม ลั่นทมหรือจะงามกว่า แม่ยอดกัญลยากานดาใยซ่อนกลิ่นหอม...) แมน เนรมิต

      โดยเฉพาะการให้โอกาสเด็กจากอู่ทองคนหนึ่ง แต่งเพลงหวานคลาสิกให้ร้องอัดแผ่นเสียงเพลงแรก จนคนฟังคิดว่าเป็น ชาย เมืองสิงห์ ร้องเพลง ๆ นี้คือเพลง อกอุ่น  (อกสตรีนี่แสนอุ่น แม่คุณไฉนถึงอุ่นอย่างงี้...)ซึ่งขับร้องโดย สังข์ทอง สีใส

      ยังไม่นับเพลงที่จะอัดแผ่นเสียงแต่วันนั้นไม่มีเสียง เลยให้เด็กหนุ่มจากพิษณุโลกในวงร้องดูปรากฏว่าร้องได้ดีเพราะมีโทนเสียงแนว ชาย เมืองสิงห์ ผสม รุ่งเพชร แหลมสิงห์ แต่เพลงนี้แต่งโดย สุชาติ เทียนทอง

      ภายหลังนักร้องคนใช้ชื่อว่า ระพิน ไพรวัลย์ เพลงนั้นคือ คนสวยใจดำ

      แต่ใครจะว่านักร้องคนไหนเป็นพ่อพวงมาลัย ชาย เมืองสิงห์ ว่าเป็นพ่อพวงมาลัยคนหนึ่งละ เพราะมีเพลงดังที่เกี่ยวกับมาลัยถึงสามเพลง เริ่มจาก

      มาลัยดอกรัก

      มาลัยน้ำใจ เพลงนี้จังหวะสนุกเหาะขาดิ้น
      แล้วจึงมา มาลัยลอยวน ซึ่งดังทั้งสามเพลง

      โดยเฉพาะยุคแรกคือเพลง มาลัยดอกรัก นั้นเพราะมาก มีทั้งจังหวะเพลงแบบขับร่ายลงไปด้วยในบทเพลง

 

ผู้แต่ง: ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ