
(ซ้าย) ภาพถ่ายเก่าเสาชิงช้าที่โบสถ์พราหมณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ขวา) ภาพพิธีโล้ชิงช้า ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
หลักฐานเชื่อได้ที่เก่าแก่ที่สุดของพระราชพิธีตรียัมปวายปรากฏอยู่ในกฎพระมณเฑียรบาลของกฎหมายตราสามดวงที่น่าจะเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาว่าพิธีตรียัมปวายกลายมาจาก "ติรุเว็ม?ปาไว" ซึ่งเป็นการสวดกล่อมเทพเจ้า ก็จะเห็นได้ว่าดั้งเดิมนั้นพิธีนั้นคงจะไม่เกี่ยวกับการ โล้ชิงช้าใหญ่
หลักฐานจากดินแดนต้นแบบคือประเทศอินเดีย จะพบได้ว่ามีเฉพาะการนำเทวรูปมาไกวในชิงช้า เช่น พระราชพิธีมาฆวิธานำ ที่ชาวเมืองพาราณสีจะประกอบขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 และงานโล้ชิงช้าสำหรับพระอิศวรในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือนไจต (ร(เดือน 5) เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ชวนให้นึกถึงพิธีการช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมปวายด้วย
แม้ว่าจะไม่มีการกล่าวถึงการโล้ชิงช้าในกฎมณเฑียรบาล แต่เอกสารที่น่าจะกำหนดอายุได้ในช่วงที่ใกล้เคียงกับฉบับอื่นคือ โคลงทวาทศมาส ได้กล่าวถึงพระราชพิธีตรียัมปวายโดยพรรณนาความเปรียบภาพในพระราชพิธีดังกล่าวกับหญิงอันเป็นที่รัก โดยบรรยายภาพบางส่วนในเทศกาลว่าประกอบพิธีในเดือนหัวกวางคือเดือนอ้าย มีพราหมณ์ทำพิธีแขวนแผ่นกระดาน มีขบวนรำและการรำเสนง เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติอยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
อย่างไรก็ดี การแขวนกระดานดังกล่าวไม่สามารถใช้พิสูจน์หรือยืนยันได้อย่างชัดเจนว่ามีการให้พราหมณ์นาลิวันขึ้นไปโล้ชิงช้า เนื่องจากโคลงดังกล่าวไม่ได้อ้างไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับที่หลักฐานบางส่วนได้ระบุให้ทราบว่าการแขวนกระดานที่เสาชิงช้าไม่จำเป็นต้องมีการโล้ชิงช้าเสมอไป เช่น หนังสือตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชที่มีข้อความที่กล่าวถึงพระราชพิธีตรียัมปวายในเขตพื้นที่ดังกล่าวโดยระบุว่า "...ฝั่งเสาชิงช้าผูกต้นกล้วยอ้อยแขวนบรมหงษ์..."

(ซ้าย) บรรยากาศในพิธีโล้ชิงช้า ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 (ไม่ทราบปี พ.ศ. (ขวา) นาลิวันรำเสนง ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข้อความในพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.2476 ที่กล่าวถึงการเสด็จชมโบสถ์พราหมณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่ามีนางกระดานสามแผ่น แต่เมื่อพระองค์ทรงถามพราหมณ์ผู้เฝ้ารักษากลับตอบว่า ไม่มีการถีบชิงช้า เพียงแต่นำกระดานขึ้นแขวนเท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชอรรถาธิบายมาก่อนแล้วว่า การที่พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชประกอบพิธีตรียัมปวายโดยการนำกระดานขึ้นแขวนเพียงสังเขปนั้น เป็นการทำพิธีพราหมณ์อย่างย่อๆ ตามมีตามเกิด แต่หากพิจารณาในมุมกลับกันแล้วก็อาจเป็นไปได้ว่า พิธีตรียัมปวายอย่างที่กลุ่มพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชประกอบนั้นเป็นพิธีอย่างเก่า ส่วนการประกอบพิธีโดยมีการให้พราหมณ์นาลิวันขึ้นไปโล้ชิงช้านั้นคงจะเป็นการขยายให้เกิดขึ้นภายหลังโดยมีหลักฐานยืนยันได้เก่าสุดในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิตที่เขียนขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองแล้วเล่าย้อนไปในช่วงก่อนหน้า

บรรยากาศในพิธีโล้ชิงช้า ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 (ไม่ทราบปี พ.ศ.)
ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับดังกล่าวมีข้อความที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า พระเจ้าแผ่นดินแห่งเมืองรามรัฐ (Rammaradt) ชายฝั่งโจฬะมณฑล (Coromandel) ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะหมายถึงเมืองราเมศวรัม ที่มีลักษณะเป็นเกาะ ได้ขอเจริญสันถวไมตรีหลังจากพ่ายแพ้ต่อบุญญาธิการของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ผู้สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ) โดยได้ถวายกระดานโล้ชิงช้าและชิงช้า
พงศาวดารฉบับดังกล่าวอ้างว่าการโล้ชิงช้าเป็นการละเล่นไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนในสยาม พร้อมกันนี้ได้ส่งพราหมณ์ผู้ทรงความรู้อีกสองท่านให้แสดงวิธีโล้ชิงช้าเพื่อเป็นที่รู้จักและคงอยู่ในสยามตลอดไป ความตอนนี้คงจะเกี่ยวกับพระราชพิธีโล้ชิงช้าค่อนข้างแน่เนื่องจากฟาน ฟลีต หรือที่เรียกอย่างไทยว่าวันวลิต ได้อธิบายต่อไปว่าในสมัยที่ท่านเข้ามา (ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ยังมีการละเล่นชนิดนี้อยู่ในอยุธยา โดยจัดเป็นงานฉลองพิเศษประจำปีที่ใช้เวลาหลายวัน
ข้อความข้างต้นชวนให้นึกไปได้ว่าพิธีโล้ชิงช้าอย่างไทยคงจะรับมาจากแขกอินเดียในสมัยดังกล่าว อย่างไรก็ดี เรื่องราวที่อ้างถึงการถวายชิงช้าดังกล่าวในเอกสารของฟาน ฟลีต ยังมีลักษณะเป็นตำนานที่เต็มไปด้วยพระกฤดาภินิหารของกษัตริย์อยุธยา
ตำนานดังกล่าวยังมีรายละเอียดที่ใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่งกับข้อความในช่วงต้นของตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชที่กล่าวถึงการเข้าสู่ราชอาณาจักรสยามของพวกพราหมณ์ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เว้นแต่ว่าชิงช้าที่กล่าวถึงนั้นกลายเป็นชิงช้าทองแดงที่ใช้ในการไกวขับกล่อมเทวรูป ดังนั้นข้อความที่ปรากฏในเอกสารของฟาน ฟลีต จึงน่าจะมีลักษณะเป็นตำนานที่ชาวอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองใช้ในการอธิบายเหตุของการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโลกทรรศน์ของชาวอยุธยาในช่วงสมัยนั้นว่าการโล้ชิงช้าเป็นพิธีการที่รับมาจากพราหมณ์อินเดียในช่วงต้นกรุงฯนั่นเอง
จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงอาจจะอนุมานได้ว่าการโล้ชิงช้าใหญ่นั้นควรเกิดขึ้นในดินแดนอุษาคเนย์มากกว่า โดยแต่แรกเริ่มอาจจะมีที่มาจากการรับประเพณีการขับกล่อมเทพเจ้าบนชิงช้าขนาดเล็กจากอินเดียมาในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่เป็นและขยายกลายเป็นพิธีการโล้ชิงช้าใหญ่ซึ่งมีหลักฐานจากการบอกเล่าของฟาน ฟลีต อย่างน้อยตั้งแต่ในรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง
ทั้งนี้เมื่อสืบค้นจากหลักฐานต่างๆ แล้วพบว่าประเพณีการโล้ชิงช้าอย่างพราหมณ์มีปรากฏเฉพาะในสยามประเทศเท่านั้น

ภาพจาก www.manager.co.th
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
มติชนรายวัน หน้า 34 วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10772