


ดาวน์โหลดไฟล์ PDF
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
กุลนรี สวพนังกุล
จาก: โพสทูเดย์ เสาร์ที่ 8 ก.ย. 2550
ภาษาคือการใช้คำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อสื่อ
ความรู้สึกของคนที่มีไม่จำกัด...คนฉลาด
ที่สามารถใช้คำเหล่านั้นได้ถือว่าเป็นกวี
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
(กวีนิพนธ์) ประจำปี 2536 ว่าไว้อย่างนั้น ซึ่งรูปแบบหนึ่งในการ
ถ่ายทอดภาษาก็คือ กลอนเปล่า
กลอนเปล่า จึงเปรียบเสมือนบันไดขั้นต้นของกวีที่สามารถสื่อ
อารมณ์ความรู้สึกผ่านคำต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดในภาษาออกมา
ได้ ขณะเดียวกันคำกวีที่ยังไม่ได้เรียบเรียงก็เปรียบเสมือนเพชร
แต่ละเม็ดที่ยังไม่ผ่านการเจียระไน หากเมื่อใดที่เพชรได้รับการ
เจียระไนแล้ว เพชรเม็ดนั้นย่อมเป็นเพชรยอดมงกุฎ
แม้ไม่สัมผัสคำ...แต่สัมผัสใจ
หลายคนคงสงสัยว่าอย่างใดจึงเรียกว่า กลอนเปล่า?! ใช่อย่าง
เดียวกับกลอนแปดที่เคยถูกครูภาษาไทยให้ทำเป็นการบ้านเขียน
ส่งสมัยนุ่งขาสั้น คอซอง หรือไม่...คำตอบคือ ไม่ เพราะ กลอนเปล่า
เป็นงานประพันธ์ที่ไม่มีข้อบังคับทางฉันทลักษณ์อย่างบทกวีนิพนธ์
ทั่วไปที่แต่งด้วยฉันทลักษณ์แบบต่างๆ อาทิ โคลง ฉันท์ กาพย์
กลอน (รวมถึงกลอนแปด) ฯลฯ มีชื่อเรียกอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น
กลอนเปลือย กลอนอิสระ กลอนไร้ฉันทลักษณ์
อะไรก็ได้ที่เป็นภาษาของอารมณ์ความรู้สึก ถ้าอ่านแล้วรู้สึก
ได้ก็เป็นบทกวีได้ ส่วนจะมีรูปแบบหรือไม่มีรูปแบบก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่การมีรูปแบบทำให้มีจังหวะจะโคน มีความไพเราะ นั่นเป็น
เสน่ห์อย่างหนึ่ง กลอนเปล่าไม่มีจังหวะจะโคน แต่มีความรู้สึกที่
เราสัมผัสได้ แม้ไม่มีสัมผัสในคำแต่ก็มีสัมผัสใจ ซึ่งถือว่ายาก
เหมือนกันถ้าจะเขียนให้ได้ความรู้สึกอย่างนั้น เนาวรัตน์ กล่าว
เนาวรัตน์ กวีรัตนโกสินทร์ ยังยกตัวอย่างลำนำกวีที่มีลักษณะ
ของกลอนเปล่า อาทิ ลมฝ่ายยอดไม้ ลมพ้องน้ำเป็นระลอก
ซึ่งปรากฏอยู่ในงานเขียนชิ้นหนึ่งของ ไม้ เมืองเดิม หรือ แดด
ปรุใบกระถิน ฉลักฝอยลายลงบนผิวดินชื้น จากงานเขียนของ
รงค์ วงษ์สวรรค์ จะสังเกตได้ว่าทั้ง 2 บทนี้ ไม่มีสัมผัสในคำ แต่
มีความเป็นโวหารกวีที่ให้ความรู้สึกสัมผัสในใจแก่ตัวผู้อ่านได้
เช่นเดียวกับที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
(กวีนิพนธ์) ประจำปี 2545 ให้คำจำกัดความของ กลอนเปล่า ไว้
ว่า ส่งสัมผัสน้อย ส่งสัมผัสเสรี ซึ่งลีลาเช่นนี้มีปรากฏอยู่ในบท
ละครนอกเรื่องนางมโนราห์ ที่มีการพิมพ์แพร่หลายทั่วไป และเป็น
กลอนต้นแบบของบทละครในทุกวันนี้
ค่อยๆ เริ่มจาก...กลอนเปล่า
ในการเขียนงานประพันธ์โดยเฉพาะบทร้อยกรองหรือกลอน
นั้น แวดวงภาษาไทยบ้านเราคล้ายจะมีบทบัญญัติกลายๆ เสียแล้ว
ว่า ทางที่ถูกที่ควรคือการเขียนให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ข้อบังคับ
ที่มีมาแต่ดั้งเดิม โดยมีบทกลอนของกวีเอกอย่าง สุนทรภู่ เป็น
แบบอย่างที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดแล้ว แต่ สุจิตต์ ให้อรรถาธิบาย
ว่า กลอนเปล่าต่างหากคือพัฒนาการขั้นต้นก่อนที่ความรู้ทางด้าน
การประพันธ์จะต่อยอดออกมาและสร้างเป็นกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิด
ความไพเราะอยู่ในปัจจุบัน
สังคมกำหนดให้มีทางเลือกเดียวคือทางสุนทรภู่ ถ้าไม่
กำหนด ไม่บังคับ ก็ไม่มีปัญหาหรอก เราเข้าใจพื้นฐานกาพย์
กลอน คำคล้องจองกันน้อยไป จึงมีจินตนาการว่าสุนทรภู่เกิดมา
ปุ๊บก็เขียนกลอนส่งสัมผัสเลย อย่างน้อยท่านก็ต้องเริ่มจากการ
อ่านและเขียนกลอนเปล่าก่อนนั่นแหละ เพราะกว่าจะเร่หาสัมผัส
ได้ครบ 8 คำ ได้ต้องใช้เวลานาน ต้องอ่านหนังสือมาก แม้กระทั่ง
สิ่งที่สุนทรภู่เขียนเป็นสัมผัสกลอนแปดก็ไม่ใช่สุนทรภู่เขียนเป็น
คนแรก แต่มีการเขียนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีก่อนสุนทรภู่เกิด
เสียอีก
สุจิตต์ บอกว่า กลอนเปล่าเป็นโลกที่เปิดกว้างมหาศาลให้คน
ทั่วไปได้เข้าถึงตัวอักษร ความรู้ และความเป็นกาพย์กลอนทั้ง
หลาย การเขียนกลอนเปล่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การเริ่มจากกลอน
เปล่า กลอนเปลือย แล้วไปส่งสัมผัสทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มมาก
ขึ้นให้มันแพรวพราวไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นการเจริญงอกงาม
หากคิดอะไรไม่ออกก็ให้เขียนกลอนเปล่าก่อน อย่าไปดัดจริต
เป็นนักกลอนที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ เอาไว้โอกาสข้างหน้าถ้าเรา
สั่งสมประสบการณ์มากขึ้นก็ค่อยเลียนแบบเขาไป สุจิตต์ บอก
นำภาษาพูดมาเขียนเป็นตัวอักษร
คำว่า กลอนเปล่า นี้ อาจได้รับอิทธิพลมาจากวลีอิสระ หรือ
Blank Verse ในงานประพันธ์ของฝรั่ง ซึ่งเป็นวลีที่อิสระปลอด
จากข้อกำหนดบังคับจริง แต่การเขียนกลอนเปล่ามิใช่การหยิบยืม
รูปแบบมาจากฝรั่งอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะในภาษาไทยของ
เราก็มีการใช้กลอนเปล่ากันมาเนิ่นนาน ซึ่ง สุจิตต์ บอกว่า กลอน
เปล่าก็คือการเขียนอย่างภาษาพูด หรือการเอาภาษาพูดมาเขียน
เป็นตัวอักษรนั่นเอง
การนำภาษาพูดมาเขียนเป็นตัวอักษรนี้มีหลักฐานยืนยันมา
นาน เช่น ในศิลาจารึกที่คุ้นหูกัน ได้แก่ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
นับว่าเป็นกลอนเปล่าแบบหนึ่ง โดย สุจิตต์ ยกตัวอย่าง นิทาน
กำเนิดมนุษย์ในพงศาวดารล้านช้าง เมื่อ พ.ศ.2000 ว่า กาลเมื่อ
ก่อนนั้นก็เป็นดิน เป็นหญ้า เป็นฟ้า เป็นแถน ผีและคนเที่ยวไป
มาหากันบ่ขาด บทดังกล่าวนี้ สำหรับสุจิตต์ บอกว่า เป็นกลอน
เปล่าหรือจะเรียกกลอนเปลือยก็ได้ เนื่องเพราะมีความธรรมดา
เป็นธรรมชาติ หากแต่งดงาม และให้อารมณ์ความรู้สึก
ปัจจุบันเราเอาภาษาเขียนมาเป็นตัวกำหนดสถาปนามาตรฐาน
ต่างๆ โดยละทิ้งภาษาพูด ทั้งที่เราพูดกันอยู่ทุกวัน ส่งผลให้ครู
วรรณคดีทั่วประเทศลืมวรรณคดีภาษาพูด อย่างเรื่องขุนช้างขุนแผน
ก็มาจากภาษาพูดก่อนแล้วจึงค่อยเป็นกลอนเสภาทีหลัง นอกจาก
ลืมแล้วยังดูถูกอีกต่างหาก ยกย่องแต่ภาษาเขียนและเป็นภาษาเขียน
เฉพาะในราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยาเสียด้วย สุจิตต์ กล่าว
ในวรรณคดี (ก็) มีกลอนเปล่า
กลอนเปล่ามีอิทธิพลกับงานเขียนในบ้านเรามาตั้งแต่ครั้ง
อดีต โดยเฉพาะในวรรณคดีที่แพร่หลายต่างๆ ก็ปรากฏว่ามี
กลอนเปล่าแฝงอยู่ กระนั้นกลอนเปล่าในวรรณคดีไทยไม่สู้
จะตรงกับกลอนเปล่าที่แปลตรงๆ มาจาก Blank Verse ใน
วรรณคดีอังกฤษนัก (กลอนในวรรณคดีอังกฤษไม่มีการสัมผัสคำ
แต่มีการเน้นเสียงในลักษณะ Iambic Pentameter คือ 1 บาท
แบ่งเป็น 5 จังหวะ จังหวะละ 2 พยางค์ พยางค์แรกเสียงเบาหรือ
ลหุ พยางค์หลังเสียงหนักหรือครุ)
วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2550
อธิบายว่า กลอนเปล่าในวรรณคดีไทยที่มีอยู่เดิมจะมีลักษณะเป็น
กวีร้อยแก้วที่มีลีลาการสัมผัสอย่างบางๆ อาทิ ในวรรณคดีเรื่อง
สามก๊ก และเรื่องราชาธิราช ซึ่งไม่ได้เขียนเป็นลักษณะโคลงหรือ
กลอนมีฉันทลักษณ์ อย่างเช่นในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน หรือ
พระมหาอภัยมณี เป็นต้น
ถ้ามองในแง่ของกวีร้อยแก้ว วัฒน์ บอกว่า มีนักเขียนไทย
มากมายหลายคนที่เขียนกลอนเปล่าไว้ในบทประพันธ์ ไล่เรียง
ตั้งแต่ยาขอบ ไม้ เมืองเดิม ศรีบูรพา อิศรา อมันตกุล เสนีย์
เสาวพงศ์ รมย์ รติวัน อาจินต์ ปัญจพรรค์ รงค์ วงษ์สวรรค์
อัศศิริ ธรรมโชติ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น สำนวนเขียนของยาขอบ ในวรรณคดีเรื่องผู้ชนะ
สิบทิศ ตอนที่จะเด็ดตอบคำถามของตะละแม่นันทวดี ซึ่งบอกเขา
ว่าเที่ยวโปรยหว่านหัวใจไปให้ผู้หญิงไปทั่ว 10 ทิศ แล้วยังจะมี
หัวใจให้ใครอีก ความว่า ที่ตะละแม่พูดมานั้นเป็นความเข้าใจ
อย่างเด็กๆ หัวใจของข้าพเจ้าแท้จริงแล้วเปรียบเสมือนผลไม้
กายสิทธิ์ ถึงถูกตัดแบ่งแจกจ่ายไปแล้วก็มิขาดพร่องลงเลย
สำนวนของไม้ เมืองเดิม ในวรรณกรรมเรื่องรอยไถ ตอนที่
บัวเผื่อนหนีไอ้ลือไปมีสามีใหม่ที่กรุงเทพฯ ความว่า หัวใจของ
แม่บัวเผื่อนก็เยี่ยงเดียวกับบัวน้ำ คอยแต่จะกระเพื่อมไปตาม
ระลอกลม
สำนวนของศรีบูรพา ในวรรณกรรมเรื่องข้างหลังภาพ ตอนที่
คุณหญิงกีรติกำลังจะสิ้นใจได้กล่าวกับนพพร ความว่า ฉันตาย
โดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจที่มีคนที่ฉันรัก
วัฒน์ บอกว่า หากเอาเนื้อความของแต่ละบทประพันธ์ข้างต้น
มาจัดวางให้เป็นบรรทัดก็จะกลายเป็นบทกวีชิ้นหนึ่ง ที่อ่านได้ง่าย
ไม่มีฉันทลักษณ์บังคับ แต่มีความคมแล้วเห็นภาพ เห็นปรัชญาอยู่
ในนั้น
การเขียนกลอนเปล่าสมัยนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าเท่หรือไม่เท่กว่า
เขียนกลอนฉันทลักษณ์ แต่อยู่ที่ว่าถึงหรือเปล่า เหมือนนักมวยที่
ใส่กางเกงมวยสวย ไหว้ครูสวย แต่ชกจริงไม่เข้าเป้า เหนืออื่นใด
ปัญหาที่ท้าทายกวีคือความเป็นจริงของชีวิตและสังคม ที่คนเขียน
ต้องใช้สติปัญญา ต้องศึกษาค้นคว้า แล้วถ่ายทอดแสดงทัศนะ
ออกมาให้คนอ่านได้ วัฒน์ ทิ้งท้ายให้คิด