ReadyPlanet.com
dot dot
การะเกด

ต้นกล้า....20  ปีในความทรงจำ
(ปัจจุบัน พ.ศ.2550 วงต้นกล้ามีอายุ 32 ปี แล้ว) 


คำให้การนายกระเวก

นายกระเวก


      ข้าฯเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   เมื่อปีการศึกษา 2515   เสร็จการปฐมนิเทศ   ก็ขึ้นไปป้วนเปี้ยนที่ชุมนุมดนตรีไทย    ซึ่งอยู่ชั้น  3  ของโรงยิมเนเซียม   ด้านติดคณะนิติศาสตร์

      ข้าฯ   เล่นดนตรีไทยมาก่อนสมัยเรียนมัธยม     เล่นบทต้วมเตี้ยม    เตาะแตะ   และติดตาม   ใช่   เล่นแบบมั่ว ๆ นั่นแหละ  ตรงที่สุด

      ชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์     มีคนมาเล่นดนตรีเป็นประจำหลายรุ่น   ที่เรียนจบไปแล้วก็มีมาก    เพื่อน ๆ   ของสมาชิกที่อยู่ต่างสถาบันก็มีพอสมควร   ยังมีรุ่นครูบาอาจารย์อีกไม่น้อย

      เป็นชุมนุมชนเล็ก ๆ   เป็นโลกใบน้อย ๆ   ของชาวดนตรีไทย

      อันนี้ต้องเท้าความเล็กน้อย

      โลกใบน้อย  ๆ   นี้แหละเป็นที่พบปะ  เฮฮา   ของสองผู้ยิ่งใหญ่ทางด้านวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย   คือ ท่านเนาวรัตน์    พงษ์ไพบูลย์    ซึ่งเรียนอยู่ธรรมศาสตร์นี้    กับท่านสุจิตต์   วงษ์เทศ ซึ่งศึกษาอยู่ ณ ศิลปากร วังท่าพระ

      การไหลบ่าของวัฒนธรรมอเมริกัน   ท่วมท้นและทับถมเมืองไทย   มีอาการน่าเป็นห่วง


ท่านทั้งสองนี่แหละเป็นหัวเรือใหญ่ชักชวนเพื่อนฝูงพี่น้องที่คุ้นเคยและพูดจากันรู้เรื่องตั้งวง   “เจ้าพระยา”  ขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.  2513  จำได้ไม่แน่ชัด

      รูปแบบที่นำมาใช้เป็นวงมโหรีแบบกรุงศรีอยุธยา    ตามที่เห็นการแสดงของวงเจ้าพระยา    ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง   มีดังนี้

      ท่านไพศาล   อินทวงศ์   สีซอสามสาย   ท่านสุจิตต์   วงษ์เทศ ดีดกระจับปี่   ท่านเนาวรัตน์   พงษ์ไพบูลย์ เป่าขลุ่ย ท่านชาญ ชูเชื้อ ตีโทนรำมะนา   ท่านนิคม  ขจรศรีเดช ตีฉิ่ง   นักร้องจำชื่อไม่ได้

      เพลงที่วงเจ้าพระยาเล่น   เป็นเพลงไทย 2  ชั้น  มีท่วงทำนองจำง่าย   เช่น  เพลง  “เจ้าพระยาฮาเฮ”    ใช้ทำนองเพลง   “คางคกชอบสระ”   ซึ่งเป็นเพลงเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา    เพลง  “คนทำทาง”   ใช้ทำนอง  “ขอมทรงเครื่อง  2  ชั้น”    ซึ่งเป็นเพลงไทยเก่าแก่สำเนียงเขมร   เพราะพริ้ง   เพลงทั้งหมดนั้นพยายามไม่ใส่เอื้อนตามแบบเก่า   และใส่เนื้อเต็มตามทำนองบรรเลง

      ผู้ชมที่สำคัญก็มีท่านขรรค์ชัย   บุนปาน    ท่านเสถียร  จันทิมาธร    ท่านเรืองชัย   ทรัพย์นิรันดร์    ท่านพงษ์ศักดิ์   พยัฆวิเชียร   และท่านชาญวิทย์   เกษตรศิริ   เป็นต้น

      เนื้อหา    แทนที่จะใช้ตามบทขุนช้าง – ขุนแผน   หรืออิเหนา   ตามที่เคยเล่นกันมาแต่เดิม   ก็เขียนขึ้นใหม่มีความคิดเห็นทางสังคม   เสียดสีความพิกลพิการของสังคม

      นับเป็นความเคลื่อนไหว   เกิดมิติใหม่ทางวัฒนธรรมสยามอย่างสำคัญในครั้งกระโน้นซึ่งคำว่า   “เพื่อชีวิต”  ยังไม่ได้ประดิษฐานบนเขาควายเฒ่า

      ฉะนั้น    หากจะศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมสยามร่วมสมัยในเรื่องของเพลงการ    หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวทางสังคม    จะละเลยงานของท่านเนาวรัตน์   พงษ์ไพบูลย์   และท่านสุจิตต์  วงษ์เทศ หาได้ไม่

      ข้าฯ   กับพวกถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมเล่นกับวง “เจ้าพระยา”     หลังจากเข้าเรียนธรรมศาสตร์แล้วไม่นาน

      เมื่อผู้คนมากเข้า    การจะเล่นแบบมโหรีโบราณกรุงศรีอยุธยาก็ดูจะไม่เหมาะ     จึงได้นำรูปแบบมโหรีกรุงรัตนโกสินทร์   ซึ่งใช้ระนาด   ฆ้องวง   ซอ   จะเข้   เพิ่มเข้ามา

      เนื้อหาใจความของเพลงวงเจ้าพระยา    แสดงถึงความงุนงงสงสัยในสังคม   เช่น   คนทำไมต้องแบ่งเป็นชนชั้น    ทำไมไม่มีความเท่าเทียมกัน    ทำไมเราจึงถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมอเมริกัน

      ขบวนการรักอิสระเสรีภาพที่ไม่มีใครสั่ง    ไม่มีใครสอน   ก็หนักแน่นดังแผ่นผา   ก้าวไปพร้อมกับความรับรู้   และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม     ดูเหมือนว่าจะเป็นชี้นำและการสร้างจิตสำนึกของสังคมด้วยซ้ำไป

      ไม่นานเหตุการณ์ 14  ตุลาคม   2516   ก็เกิดขึ้น   บทกวีบทแรกที่กล่าวถึงวีรชนในเหตุการณ์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ก็คือ   “เจ้าขุนทอง”    ของท่านสุจิตต์    วงษ์เทศ   หากจำไม่ผิด   ลงตีพิมพ์หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในบ่ายวันที่  18  ตุลาคม  2516

      เป็นบทกวีที่สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง    รูปแบบ   เนื้อหาแนบแน่นกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ความเป็นจริง    ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกรณี 14  ตุลาคม  2516   ยากที่จะหาบทใดเทียมได้    ต่อมาก็ได้นำมาใส่ทำนองเป็นเพลง   “เจ้าขุนทอง”

      เหตุการณ์  14  ตุลาคม  2516  มิได้เกิดขึ้นลอย ๆ  โดด ๆ จากการนำพาของผู้คนในขบวนเคลื่อนไหวเท่านั้น   แต่มีการกระตุ้นเตือน    ปลุกเร้าจากคนรุ่นก่อนมาแล้วเป็นเวลานาน   เช่น   งานของท่านเนาวรัตน์    และท่านสุจิตต์   ดังให้การแล้วในข้างต้น    ส่วนงานของท่านอื่น ๆ    ก็คงมีอีกเป็นอันมาก เช่น  งานของวิทยากร   เชียงกูล

      หลังเหตุการณ์   14  ตุลาคม  2516   ไม่นาน   วง  “เจ้าพระยา”   เต็มวงเข้าแสดงที่หอประชุมใหญ่   ธรรมศาสตร์  ท่านสุจิตต์   วงษ์เทศ   ได้แต่งบทร้องที่สำคัญขึ้นอีก  2  บทใหญ่   คือ   “ตับวีรชน”

      อันนี้   ขออธิบาย

      “ตับวีรชน”   มิได้หมายถึง   ตับ ไต   หรืออวัยวะภายในใดใดของวีรชน    แต่เป็นศัพท์สังคีต    ดนตรีไทย  ที่เรียกเพลงชุดซึ่งมีเนื้อถ้อยกระทงความหรือเรื่องราวและทำนอง    สำเนียงเพลงที่กลมกลืนในแนวเดียวกันแล้ว    นำมารวมกันว่า “ตับวีรชน”  นี้   ท่านสุจิตต์ได้นำเพลงใน    ตับลาวเจริญศรี  (เรื่องพระลอ)   มาใช้กับเนื้อหาที่กล่าวถึงการต่อสู้ของประชาชน ในกรณี  14  ตุลาคม  2516  ดังเพลงในนั้นก็คือ   “หนุ่มสาวเสรี”   นำทำนองลาวเฉียงมาใช้ขึ้นต้นด้วย    “คึกคักหนักแน่นดังแผ่นผา     กลมเกลียวแกล้วกล้าสดใส” ฯลฯ   รับด้วยสร้อยที่ว่า  “เจ้าหนุ่มเจ้าสาวเอยเจ้าเคยแล้วหรือยัง    ตายเพื่อสร้าง   ตายเพื่อสร้าง เสรี”


อีกบทหนึ่งก็คือ    “ตับตาลุงท่าช้าง”   นำเพลงกราวตะลุงมาใส่    เนื้อหากล่าวถึงผู้ปกครองบ้านเมืองทรราชเผด็จการในสมัยนั้น

      เนื้อหาทางการเมืองเด่นชัดมาก คือ การต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการทรราช    ซึ่งกดหัวคนไทยมานมนานคัดค้านการครอบงำทางวัฒนธรรมของจักรพรรดินิยมอเมริกา    ซึ่งครอบไทยอยู่ถ้วนหน้า    อันนี้ก็แจ่มชัด

      หลังจากนั้น   พวกข้าฯ   ก็ยิ่งเล่นดนตรีมากยิ่งขึ้น    ไม่ใคร่ได้ร่ำได้เรียนนัก    หากไปเล่นกับวงเจ้าพระยาก็เล่นเพลงแนวเจ้าพระยา    หากไปเล่นงานบวชนาค    งานแต่งงาน   งานศพ    ก็เล่นไปตามประเพณี

      การเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์ต่าง ๆ     ก็เริ่มถี่ขึ้นเรื่อย ๆ   ความขัดแย้งในสังคมถูกเปิดเผยออกมามากมายนับไม่ถ้วน    กรรมกรเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องค่าแรงและสวัสดิการ     ชาวนาเรียกร้องที่ทำกิน    ราคาพืชผลที่ตกต่ำ    การขูดรีดต่าง ๆ นานา   ดูแล้วเหมือนเป็นความยุ่งเหยิง    และท้าทายอำนาจปกครองซึ่งสืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน

      กรรมกร    ชาวนาผู้รักความเป็นธรรมถูกคุกคาม    ตามเข่นฆ่า    ใส่ไคล้เป็นจำนวนมาก    สินค้าญี่ปุ่นครอบงำการอุปโภคบริโภคของคนไทยถ้วนหน้า      จักรพรรดินิยมอเมริกาดิ้นรนเฮือกสุดท้ายในการคงสภาพฐานทัพเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามตนอย่างดุเดือด     วัฒนธรรมเน่าเฟะเละเหลวพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

      สมาชิกรุ่นอาวุโสที่เล่นอยู่ในวงเจ้าพระยาการงานรัดตัวยิ่งขึ้น    การรวมตัวก็ยากเข้าเป็นธรรมดา    การออกงานวงเริ่มห่างขึ้นเรื่อย ๆ    กระทั่งจางไป   แต่ท่านสุจิตต์และท่านเนาวรัตน์    ยังเสมอต้นเสมอปลายในการพบปะพูดคุยกับสมาชิกผู้เยาว์ทั้งหลาย

      การปล้นสะดมทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานรุนแรงขึ้นมากในกระบวนการต่อสู้ของประชาชนแต่ละครั้ง   มีการพัฒนาและยืดเยื้อขึ้น   การนอนค้างอ้างแรมในที่ชุมนุมก็เกิดขึ้น

      ในปี พ.ศ. 2517  ทางด้านวัฒนธรรมก็เกิดวงคาราวาน     ซึ่งสนองตอบความต้องการและความรู้สึกของมวลประชาชนพื้นฐานอันไพศาลอย่างตรงเป้า    การเกิดขึ้นของวงดนตรีเพื่อชีวิตก็ตามมาอีก   เช่น  วงกรรมาชน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล    เป็นต้น

      ปลายปี พ.ศ.  2517  ประมาณเดือนกันยายน    มีกรณีชาวนาทางภาคอีสาน  (ภาคกลางด้วยหรือไม่   อันนี้ไม่แน่ใจ)   แต่ชาวนาภาคอีสานเป็นชาวนาบ้านหนองวัวแดง     เข้ามาชุมนุมเรียกร้องจะเป็นเรื่องใดจำไม่ได้   แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงพอสมควร    ดูเหมือนจะเป็นการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง      ฝนตกอย่างถล่มทลาย   พร้อมกับการไล่ล้างของฝ่ายปกครอง    ผู้ชุมนุมจึงต้องอพยพเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

      พ่อใหญ่   แม่ใหญ่มากมายได้เข้ามาชุมนุมด้วย     ที่ ๆ พอคุ้มฟ้าฝนได้ก็มีแต่โรงยิมเนเซียมเท่านั้น

      วันนั้น   สุรชัย  จันทิมาธร    กลายสภาพจากนักดนตรีมาเป็นการ์ดให้กับพ่อใหญ่   แม่ใหญ่   มงคล  อุทก   เป็นผู้โกนศีรษะให้สุรชัย     เพื่อให้รู้กันว่าเป็นผู้รักษาความปลอดภัยตามรูปแบบที่ตกลงกันด้วยความไม่ประมาท    เพราะเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนั้นจะกระทำด้วยความเลินเล่อไม่ได้เด็ดขาด     หน่วยก่อกวนที่ใช้ชื่อสัตว์เดรัจฉานต่าง ๆ   ก็อาละวาดไม่หยุดหย่อน

      ก็แหละวันนั้นเอง     สมาชิกวงเจ้าพระยารุ่นเยาว์     ซึ่งอาศัยกินอยู่หลับนอน    ณ   ชุมนุมดนตรีไทยประมาณ  3  คน  ได้เฝ้าดูเหตุการณ์นั้นอยู่ตลอดเวลา     จึงได้คว้าเครื่องดนตรีคนละชิ้น   คือ ขิม กับ ขลุ่ย และ ฉิ่ง   ลงจากชั้น 3  เข้าสู่พื้นโรงยิมฯ

      ไม่พูดพร่ำ   แต่ทำเพลงเลย    กล่อมขวัญผู้เฒ่าทั้งหลายด้วยเพลงของวงเจ้าพระยาจนกระทั่งถึงเพลงรำวงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของท่านผู้เฒ่าทั้งหลาย

      ความอิ่มอาบซาบซึ้งระหว่างผู้เล่นและผู้ฟัง   ยากที่จะเอ่ยความประทับใจที่ได้จากบรรยากาศจริงแท้แจ่มแจ้งงดงามเหมือนดอกบัวที่ตูมกลีบยามดึก   แย้มกลีบรับตะวันยามเช้า

      คืนนั้น    หลังจากเล่นดนตรีแล้ว    สมาชิกผู้เยาว์แห่งวงเจ้าพระยา 3  คนนั้น   ได้พูดคุยถึงหนทางความเป็นไปได้ในการตั้งวงดนตรีไทยแนวเจ้าพระยาขึ้นมารับใช้พี่น้องชาวไร่ชาวนา    กรรมกร   และผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย

      ตกลงกันด้วยความมั่นใจว่าทำได้แน่   นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร   วังท่าพระซึ่งเป็นเพื่อนกัน    เสนอชื่อวง  “ต้นกล้า”    พลันชื่อนี้เป็นที่ยอมรับเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

      วันต่อมา   เพื่อนฝูง   เพื่อนรุ่นพี่   รุ่นน้อง  5-6  คนในชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์   ถูกชักชวน   ชี้แจง   ก็ตกปากรับคำโดยไม่รีรอ

      เพลงของวงต้นกล้าเองยังไม่มี     ก็ใช้เพลงวงเจ้าพระยาบางเพลงมาเล่น     และได้ปรึกษากันสม่ำเสมอเรื่องเพลงของวงต้นกล้าเอง


ในช่วงนั้น    การต่อสู้เรื่องขับไล่ฐานทัพอเมริกาเป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่งในการเคลื่อนไหวเรื่องเอกราชประชาธิปไตยของคนไทย

คนท้องโตผู้เป็นนักร้องและนักดนตรีในวง      ซึ่งชอบดูลำตัดและเพลงฉ่อยเป็นชีวิตจิตใจ    จำสร้อยลำตัดซึ่งออกสำเนียงลาวได้ลำหนึ่ง   ขึ้นต้นว่า

“เจ้าการะเกดเอย   เจ้าขี่ม้าเทศ    จะไปท้ายวัง

ชักกริช   ออกมาแกว่ง   ว่าจะแทงฝรั่ง

เมียห้ามก็ไม่ฟัง เจ้าการะเกดเอย”

      จับใจมานานแล้ว    ก็ปรึกษากับคนเป่าขลุ่ยผมยาวให้แต่งกาพย์ยานีขึ้นมาเพื่อเดินเนื้อเพลง    คนเป่าขลุ่ยผมยาวก็แต่งให้ 3  ช่วง    พูดถึงความรักชาติ   ต่อสู้การครอบงำของฝรั่ง   เรียกร้องให้ผู้คนต่อต้านได้อย่างแนบเนียนแจ่มชัด   ปลุกเร้าจิตใจรักชาติเป็นอย่างยิ่ง

      นับเป็นการประสานกันระหว่างประวัติศาสตร์    เหตุการณ์ต่อสู้ในปัจจุบัน   และศิลปะเป็นอย่างดี

      ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี   ลักษณะ  “เจ้าการะเกด”   เป็นรูปแบบพื้นบ้านที่ใช้กับเพลงกล่อมเด็ก    และสอดคล้องกับรูปแบบเพลงสมัยกรุงศรีอยุธยามากกว่าที่จะเป็นสมัยรัตนโกสินทร์   ทางด้านเนื้อหาก็ดูเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์    เพราะสมัยรัตนโกสินทร์    มีแต่คดีพระยอดเมืองขวางเท่านั้นที่โด่งดัง     และอาวุธที่ใช้ก็เป็นปืนที่ทันสมัยไปแล้ว

      แต่ภาพของเจ้าการะเกด     เป็นภาพของคนอยุธยาตอนปลาย (เช่นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ   สมเด็จพระเพทราชา)     เพราะถือว่ากริช   ขี่ม้าเทศ   และจากรายละเอียดที่กล่าวมาเจ้าการะเกดก็คงเป็นชนชั้นสูง    ทนไม่ได้กับพฤติกรรมเลวร้ายของพวกฝรั่งมังค่า    ก็ลุกขึ้นต่อสู้    แม้เมียห้ามก็ไม่ฟัง    นับว่าเข้ารับเหตุการณ์ต่อต้านอเมริกาพอดิบพอดี

      ส่วนทำนองที่ใส่กับเนื้อเพลงที่คนเป่าขลุ่ยผมยาวแต่งนั้น     ใช้สำเนียงลาวคล้ายแอ่วเคล้าซอ    แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว เป็นการไล่ทำนองโดยอัตโนมัติของคนร้อง

      เนื้อร้องของเพลงการะเกด   เป็นดังนี้

(สร้อย)    เจ้าการะเกดเอย   เจ้าขี่ม้าเทศ   จะไปท้ายวัง
ชักกริชออกมาแกว่ง    ว่าจะแทงฝรั่ง
ใครห้ามก็ไม่ฟัง    เจ้าการะเกดเอย

1    เจ้าการะเกดเขาไปแล้ว       เป็นทิวเป็นแถวทุกแห่ง
ไปตามตะวันสีแดง     ที่สาดทั่วแผ่นดินไทย
ไปกับกริชคู่มือ     กระชับถือด้วยมั่นใจ
เลือดใครก็เลือดใคร     คงจะได้นองปฐพี
แผ่นดินถิ่นกำเนิด     ตั้งแต่เกิดมาจนเป็นผี
ไอ้กันมันกล้ามาราวี     ไอ้อัปรีย์   จัญไร    (รับสร้อย)

2     จากอุบลราชธานี    มาถึงตาคลี   อู่ตะเภา
น้ำพองนั่นเป็นของเรา     แต่มันทำเป็นซ่องโจร
จากระเบิดมหาภัย    เป็นเปลวไฟที่ลุกโชน
ดินชะอุ่มเป็นหลุมโคลน    ทุกตารางบนแผ่นดิน
บ้านแตกสาแหรกขาด    ด้วยอุบาทว์จากเครื่องบิน
เสียงร้องไห้   จะมีใครยิน     นอกจากเราประชาชน  (รับสร้อย)

3    ประเทศไร้เอกราช     เพราะถูกต่างชาติมันมาครอบงำ
ฐานทัพนั่นเลวระยำ     มันเหยียบย่ำมันทำลาย
จักรพรรดินิยมชั่ว    เถอะ   ไสหัวมันออกไป
ชูธงประชาไทย      ผสานใจเป็นสายธาร
ไปเถิด   เจ้าการะเกด     ไปเพื่อประเทศ   ไม่เกินนาน
ใครฤา   จะต้านทาน       แรงมหาประชาชน (รับสร้อย)

      ส่วนการขึ้นต้น    ลงท้าย   และลีลาการบรรเลง   คนตีเครื่องหนังละแวกวัดเศวตฯ   บางลำพูล่าง   เป็นคนจัดการเรียบเรียง   ขึ้นต้นก็ใช้เพลงสำเนียงลาวสั้น ๆ    เพลงหนึ่ง    แล้วขึ้นต้นแอ่ว   โอ่นอ...แล้วรับสร้อย   แล้วจึงเดินเนื้อหาตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

      ที่เปลี่ยนคำว่า  “เมีย”    เป็นคำว่า “ใคร”   ในสร้อยของเดิมนั้นเพราะได้รับการทักท้วงจากผู้ร่วมวงซึ่งเป็นสตรีว่าคำว่า “เมีย”  นั้นดูไม่สุภาพ   และจะกด ๆ   สตรีเพศอยู่บ้าง    ทั้งความหมายก็คับแคบ    ก็เลยเปลี่ยนคำว่า “เมีย”  เป็นคำว่า “ใคร”   ตามความรับรู้และความเข้าใจของพวกเราในยุคนั้น

      เพลง “การะเกด”   ก็กลายมาเป็นสัญญลักษณ์ในการต่อต้านอเมริกา    ต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยของไทยอย่างมีพลัง   ทั้งรูปแบบและเนื้อหา

      ต่อมา   เพื่อน ๆ   ที่อยู่นาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล   ก็ได้นำเพลงการะเกดไปใส่ท่ารำ    ก็กลายเป็นนาฏศิลป์ชุดแรก ๆ ของขบวนการประชาชน


หลังจากนั้นวงต้นกล้าก็ได้รับการติดต่อให้เล่นในการชุมนุมต่าง ๆ   มาโดยตลอด   ท่านเนาวรัตน์และท่านสุจิตต์ก็ให้การสนับสนุนด้วยดีตลอดมา

      โดยเฉพาะท่านเนาวรัตน์   พงษ์ไพบูลย์   ได้กลายมาเป็นสมาชิกอาวุโสของวงต้นกล้า    ต่อมา    คนที่เข้าร่วมวงต้นกล้าก็ไม่เฉพาะแต่นักดนตรีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น     นักดนตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   วิทยาลัยพาณิชยการ     นักเรียนโรงเรียนมัธยมต่าง ๆ   กระทั่งกรรมกรจากโรงงานปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นมือระนาดเอก

      หลังจากนั้น   กระแสการต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยเขม็งเกลียว   ทางด้านวัฒนธรรม   มีการศึกษาข้อเขียนของ จิตร   ภูมิศักดิ์   ที่ว่าด้วยศิลปะเพื่อชีวิต    ศิลปะเพื่อประชาชน    มีการตีความ   จำแนกแจกแจงด้วยบรรยากาศคึกคักฮึกห้าวยิ่งนัก

      ประมาณเดือนพฤษภาคม   2518  มีการจัดมหกรรมดนตรีเพื่อชีวิต ครั้งที่  1  ขึ้นที่เวทีลีลาศ  สวนลุมพินี   วงต้นกล้าเป็นวงหนึ่งที่ได้ร่วมมหกรรมครั้งนั้น

      เพลงที่เล่นก็เป็นเพลงของวงต้นกล้าเองซึ่งมีจำนวนพอสมควร   เช่น  การะเกด   แร่ไทย  แร่ใคร(ซัดอเมริกัน)  ใบไม้ป่าฯ    ผสมกับเพลงของวงเจ้าพระยาบางส่วนตามเคย    เช่น   หนุ่มสาวเสรี   เจ้าขุนทอง  เป็นต้น

      เพลงที่ประทับใจครั้งนั้น    นอกจากเพลงการะเกดแล้ว   ก็คือ   เพลงใบไม้ป่า   ของท่านเนาวรัตน์   พงษ์ไพบูลย์   ซึ่งพูดถึงจิตร   ภูมิศักดิ์     ใช้ทำนองหุ่นกระบอก   เคล้าซออู้อย่างเดียว

      มหกรรมดนตรีเพื่อชีวิตครั้งที่  1  จบลงด้วยดี  พร้อมการเจริญเติบโตของวงต้นกล้า   ทั้งด้านฝีมือ ดนตรี และจิตวิญญาณอย่างเต็มภาคภูมิ

แลกเอา-ด้วยเยาว์วัย
ป่า  แคโยง

      การแสดงครั้งแรกของวงดนตรีต้นกล้าในงานมหกรรมดนตรีเพื่อชีวิตที่สวนลุมฯ     ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง

      เพราะเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสเพลงเพื่อชีวิตใน  พ.ศ. 2518

      กลายเป็นพลรบหนึ่งของขบวนการต่อสู้ทางวัฒนธรรม   ซึ่งก็คือฟันเฟืองของการเมือง

      บรรยากาศหลังจบการแสดงที่สวนลุมฯ   ชุลมุนวุ่นวายพอดู    เพราะผู้ชมส่วนใหญ่ชื่นชอบและอยากจะให้กำลังใจเรา   นักศึกษาต่างจังหวัดบางรายติดต่อเราทันทีให้ไปแสดงในสถาบันของเขา

      ผู้ชมรายหนึ่งเป็นบุคคลที่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมาอยู่กลางฝูงชนที่หลงใหลดนตรีเพื่อชีวิตหรือดนตรีการเมือง    เธอเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพ    เคยมาร่วมร้องเพลงกับวงดนตรี   “เจ้าพระยา”    อยู่ช่วงหนึ่งราวปลาย  ปี  2516  จากนั้นก็ห่างเหินกันไป

      วันนั้นเธออยู่ในฝูงชนและเมื่อการแสดงดนตรีของวงต้นกล้าจบลง  เธอเบียดฝูงชนเข้ามาหาเราที่หลังเวที แสดงความชื่นชมยินดีที่เราสามารถนำดนตรีไทยมาร่วมในขบวนการดนตรีเพื่อชีวิตได้สำเร็จ    เธอบอกว่า   เธอชื่นชมวงคาราวานมาก   แต่ในฐานะนักดนตรีไทย    เธออยากฟังดนตรีไทยในเนื้อหาแบบคาราวาน    อยากฟังเสียงระนาด   เสียงขลุ่ย   เสียงซอ   ที่บอกเล่าชีวิตปัจจุบันและวันนั้นแม้เธอจะเป็นนักร้องนักดนตรีไทยที่ขับร้องเพลง “แขกลพบุรี”   ได้อย่างไพเราะ   แต่เธอก็สามารถรับบทเพลงของต้นกล้า    เพลงที่ใช้ทำนอง 2  ชั้น   ชั้นเดียวง่าย ๆ พื้น ๆ ได้ด้วยความเต็มใจ

      ความสำเร็จของการแสดงดนตรีไทยครั้งแรก    ทำให้เราเกิดความมั่นใจที่จะทำงานในลักษณะนี้ต่อไป   และมันเป็นข้อพิสูจน์ว่า   เราเลือกช่องทางไม่ผิด

      ก่อนหน้านี้ สัก 2-3 เดือน   ในช่วงที่ความคิด   “ดนตรีไทยเพื่อชีวิต”    ฟูมฟักอยู่ในหัวพวกเรา  4-5 คน  ซึ่งเป็นนักดนตรีของชุมนุมดนตรีไทย    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    เรามีความคิดว่า    ควรจะเริ่มต้นด้วยการผลักดันชุมนุมไปในแนวทางดังกล่าว    ซึ่งนอกจากการขายความคิดในหมู่สมาชิก    เราควรเข้าไปบริหารชุมนุมเสียด้วยด้วยเลย

      ความคิด  2  กระแสจึงปะทุ  และก่อความขัดแย้งขึ้นในชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ สมัยนั้น

ก่อนอื่น   คงต้องเข้าใจในสภาพและวัฒนธรรมของนักดนตรีไทยในมหาวิทยาลัยเสียก่อน

      นักศึกษาหนุ่มสาวซึ่งเป็นสมาชิกชุมนุมดนตรีไทยของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง    ก็มีแนวทางความคิดวัฒนธรรมไม่ต่างจากวงการนักดนตรีไทยอาชีพทั่วไป     คือมีความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม    ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมและแบบแผนแต่โบราณ     ต่อต้านพฤติกรรม “นอกครู”   และลึก ๆ ก็ดูแคลนคนที่นำดนตรีไทยไป “ประยุกต์”   ให้ฟังง่าย   เข้าหูคน   เช่นเอาดนตรีไทยไป   “ใส่เนื้อเต็ม”    ตัดลูกเอื้อนบรรเลงแต่เพลง  2  ชั้นดาด ๆ

      พวกเราเองก็ได้รับการปลูกฝังมาอย่างนั้น     เพียงแต่เหตุการณ์ 14  ตุลาคม  2516  นำความคิดใหม่   ทัศนะใหม่เข้ามาสู่ชุมนุมดนตรีของเรา

      เราอยากให้ดนตรีพูดถึงปัญหาปัจจุบัน    พูดกับคนปัจจุบัน   หรือ   พูดด้วยศัพท์แสงในสมัยนั้นก็คือ   “ทำดนตรีไทยให้เป็นดนตรีของยุคสมัย”

      ความคิดนี้ปรากฏเป็นข้อเขียนและทัศนวิจารณ์อยู่ในหนังสือประจำปีของชุมนุมดนตรีไทย    ธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2516 – 2517  เพราะพวกเราบางคนเป็นบรรณาธิการหรือสาราณียากรของหนังสือประจำปี

      จำได้ว่า   บุคคลที่มีส่วนเสนอความคิดเช่นนี้ในสมัยนั้นมีอยู่   2  ท่าน  คือ ดร.ชาญวิทย์  เกษตรศิริ และพี่จิต (สุจิตต์   วงษ์เทศ)

      ดร.ชาญวิทย์  เกษตรศิริ   เขียนบทความในหนังสือไหว้ครูประจำปี  2517  ของชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ชื่อ “เรื่องดนตรี”  ไว้ว่า

      “ดนตรี  (ไทย)  มักจะไม่เคยเสนออะไรใหม่เลย   มีแต่การเล่นซ้ำ ๆ   เล่นเพลงเดิม   เล่นแบบวิธีเดิม    ฟังทีไร ก็มีแต่ตับพระลอ    ถ้าไม่ตับพระลอก็ลาวดวงเดือน    ถ้าไม่ลาวดวงเดือนก็เขมรไทรโยค   เพลงทั้งหมดเป็นเพลงเพราะและเป็นคลาสสิค   แต่ความเพราะและความเป็นคลาสสิคไม่สามารถจะสะกดผู้ฟังได้ตลอดไป    บรรดาศิลปะต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้นก็เพื่อตอบสนองอารมณ์ของตน    เป็นอารมณ์ของยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง    ลาวดวงเดือนนั้นก็ดวงเดือนอันเก่า     เป็นดวงเดือนที่งดงามในอดีต    แต่ดวงเดือนปัจจุบันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นแล้วก็ได้     สภาพของสังคมสมัยใหม่ที่รถราวุ่นวาย   มีปัญหาทางเศรษฐกิจ    ได้กลายเป็นอิทธิพลที่ทำให้คนเราไม่สามารถจะหยุดชื่นชมกับดวงเดือนดวงเก่าได้     คืออาจไม่มีเวลา    อาจไม่มีอารมณ์หรือมู้ดที่จะสนใจกับเดือนดวงนั้น    ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่จะมีคนไปชื่นชมกับ   The  Sound  of  Silence  ของไซม่อนและกาฟังเกล    เพราะเพลงนั้นบรรยายสภาพของสังคมปัจจุบัน    สังคมที่เห็นจริงเห็นจังว่ามนุษย์ไปนั่งบูชาแสงไฟนีออน  (วิทยาศาสตร์สมัยใหม่)   ราวกับเป็นพระเจ้า   พูดง่าย ๆ   คือสามารถจะบรรยายสภาพปัจจุบันและอารมณ์ของคนปัจจุบันได้    ความสำเร็จของเพลงลูกทุ่งที่เราเห็นในปัจจุบันอาจจะเข้าในข่ายนี้   คือเพลงลูกทุ่งสามารถจะบรรยายความรู้สึกใหม่ ๆ   ได้อย่างง่ายดายตรงกันข้ามกับดนตรี (ไทย)  ซึ่งหยุดอยู่กับที่  มีแต่รักษาความเป็นคลาสสิคอยู่ทุกครั้งที่ตั้งวงกันเล่นดนตรี....”

      ส่วนสุจิตต์   วงษ์เทศ อดีตผู้ก่อตั้งวงดนตรี “เจ้าพระยา”    มิตรสนิทของชุมนุมดนตรีไทย   ธรรมศาสตร์ และเป็นผู้ให้ความอนุเคราะห์นักดนตรีไทยรุ่นเยาว์มาโดยตลอด   เขียนเรื่อง “ดนตรีไทยกำลังเดินทางเข้าพิพิธภัณฑ์”  ไว้ว่า

      “ความจริง นักดนตรีไทยออกจะเห็นแก่ตัวอยู่ไม่น้อยที่พยายามลงโทษคนฟังว่าไม่สนใจในดนตรีไทย   แล้วก็เอาบุญเก่าของความที่ดนตรีไทยเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติมาอ้าง    แต่นักดนตรีไทยและผู้นิยมดนตรีไทยไม่หันกลับมองตัวเองบ้างเลยว่าในดนตรีไทยเองนั้น   ทำหน้าที่บกพร่องอย่างไรบ้าง

      ผมพยายามตั้งปัญหานี้มาหลายครั้งหลายหน   ผลที่สุดก็ตกไปอยู่ในประเด็นของความเชื่อ (Beliefs)  ทั้งหมด  เช่น  เชื่อว่าดนตรีไทยดีที่สุดในโลก    เชื่อว่าเพลงไทยไพเราะที่สุดในโลก   เชื่อว่าเพลงไทยเก่า ๆ ดีที่สุดในโลก เชื่อว่าแต่งเพลงใหม่ไม่ได้   เชื่อว่าดนตรีจะต้องเป็นเถา   ประกอบด้วยจังหวะสามชั้น   สองชั้น ชั้นเดียว   เชื่อว่า  “ครู”  ของตัวเท่านั้นที่ถูกที่สุด   เก่าที่สุด  และวิเศษที่สุด  ฯลฯ   ทั้ง ๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วในกาลามสูตร  10  ข้อว่า  “อย่าเชื่อ”.....”

      หลังจากความสะเทือนใจที่ได้เห็นชาวนามาพักอาศัยอยู่ในโรงยิมฯ    ไต้ชุมนุมดนตรีไทย เราปักใจว่าควรจะเริ่มต้นทำในสิ่งที่เราคิดได้แล้ว

      กลุ่มคนที่มีความคิดใกล้เคียงกัน    จัดทีมเข้าแข่งขันเป็นกรรมการบริหารชุมนุมดนตรีไทย    มีเสือ  (ทวีศักดิ์ โตรักษา)   เป็นประธาน  เราคิดง่าย ๆ ว่า เมื่อเราบริหารชุมนุม   เราก็จะกำหนดนโยบายชุมนุม   กำหนดเพลงที่จะเล่น  ทำยังกับจะเป็นรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดิน     และชี้นำนักดนตรีให้ปฏิบัติตามความคิดของเราได้

      ปลายปี 2517  จึงเป็นปีแรกที่ชุมนุมดนตรีไทยแยกค่ายเป็นสองขั้ว   เรียกว่ากลุ่ม “ทิพยดนตรี”   กลุ่มหนึ่งกับ “คีตพัฒนา”  อีกกลุ่มหนึ่ง (ฟังชื่อกลุ่มก็คงรู้แล้วว่าเป็นพวกดนตรีไทยแน่ ๆ)  

      “การสรรหา”  ทีมบริหารชุมนุมแบบพี่ ๆ น้อง ๆ ซึ่งเป็นประเพณีเดิม ๆ เปลี่ยนเป็น “การเลือกตั้ง”   มีการติดประกาศโฆษณานโยบาย    และแนวความคิดกันเหมือนการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป     ป้ายโปสเตอร์ส่วนใหญ่ก็ปิดกันไว้แถว ๆ หน้าชุมนุม  (ชั้น 3  โรงยิมฯ)    กับตามผนังริมบันได   ซึ่งเป็นบรรยากาศที่รุ่นพี่ ๆ รุ่นน้า ๆ รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ   พวกนักเพาะกายซึ่งแบกหามก้อนเหล็กเล่นกันอยู่แถวที่ทำการชุมนุมเพาะกายชั้น 1  ก็รู้สึกงง ๆ ว่าไอ้พวกดนตรีไทยซึ่งเป่าขลุ่ย   สีซอ   กันสนุกสำราญไม่รู้ร้อนรู้หนาว มันกำลังทำอะไรกัน

      ผลการเลือกปรากฏว่ากลุ่ม  “คีตพัฒนา”  ชนะขาดลอย   คะแนนเสียงแยกออกเป็น  2  กลุ่ม   นักดนตรีจริงของชุมนุมดนตรีไทยเลือก   “ทิพยดนตรี”   แต่พวกที่เล่นดนตรีไม่เป็นและไม่ตั้งใจจะเรียนดนตรีจริงจังคือ   สมัคร เป็นสมาชิกเฉย ๆ แวะเวียนมาคุยกับเพื่อนเทคะแนนให้กลุ่ม  “คีตพัฒนา”

      ผลก็คือ   ทีมบริหารชุดใหม่   มีแต่ความคิดกับนักดนตรี 4 – 5 คน  มีเพลงจะเล่น   เช่นเพลง  “สีนวล”   เนื้อใหม่ที่จิตร   ภูมิศักดิ์   แต่งในคุกลาดยาว   แต่นักดนตรีของชุมนุมไม่ยินดีจะเล่น

      ความจริงนักดนตรีเหล่านี้ก็คือเพื่อน   คือน้อง   ที่รักใคร่ชอบพอกันมาตั้งแต่เดิมทั้งสิ้น   พวกเขาคงไม่ได้แอนตี้เพลง  “สีนวล”   ฉบับจิตร   ภูมิศักดิ์   ซึ่งคำร้อง  “เบา”   มากถ้าเทียบกับบรรยากาศการเมืองสมัยนั้น

      จิตร ภูมิศักดิ์   เขียนว่า

“สีนวล  ยั่วยวนชวนชม  แม้ได้สุขสมภิรมย์อุรา
สันติภาพเรืองรอง   แสงทองส่องฟ้า
จะมัวนิทรา ชักช้าอยู่ใย”

      แต่พวเขาแอนตี้ “วิธีการ”    ของเรามากกว่า   เพราะในที่สุดแล้ว   หลังจากนั้น   พวกเขาก็มีมิตรไมตรีอันดีต่อพวกเราไม่เปลี่ยนแปลง

      บทเรียน  “ยึดอำนาจชุมนุม”   หรือแค่ “ยึดเครื่อง   ไม่ได้คน”   ให้สติเราว่า   ควรเริ่มจากจุดเล็ก ๆ จากคนที่พอเข้าใจกันและลงมือทำไปตามกำลังที่แท้จริงของตัว

      “ต้นกล้า”   ที่ไร้รูปแบบแต่เป็นอิสระ   จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้

      ประสบการณ์นี้    เราเคยแนะนำเพื่อน ๆ ดนตรีไทย   มหาวิทยาลัยรามคำแหง    เมื่อพวกเขามาปรึกษาเรื่องจะสร้างวงดนตรีไทยขึ้นมาอีกวงหนึ่ง   แต่พวกเขาก็เดินซ้ำรอยความเขลาของเราอีกจนได้    คือ “ยึดแต่เครื่องไม่ได้คน”   แต่ก็ต้องยอมรับว่า  พวกดนตรีไทยรามคำแหงสมัยนั้น   มีลูกฮึด   ลูกบ้ามากพอสมควร   โดยเฉพาะประธานชุมนุม   เด็กหนุ่มจากปราจีนบุรีที่ชื่อ “เชิดชอ เชื้อสมบูรณ์”

      ตั้งแต่งานมหกรรมดนตรีเพื่อชีวิต   พวกเราซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ละทิ้งการเรียนโดยสิ้นเชิง    เพราะฐานะและบทบาทของเรากลายเป็นนักรบทางวัฒนธรรมของขบวนการนักศึกษาไปแล้ว

      วงต้นกล้าเริ่มมีสมาชิกใหม่สมทบเข้ามาเรื่อย ๆ   บุคคลเหล่านี้คือนักดนตรีไทยที่กระจัดกระจายอยู่ในสถาบันต่าง ๆ บางคนเรารู้จักมาก่อนก็ชวนกันมา   บางคนไม่เคยรู้จัก แต่ตามไปดูแล้วติดต่อขอมาเล่นด้วย

      ปี 2518  สมาชิกวงดนตรีต้นกล้ามีอยู่เกือบ 20  คน   นอกจากรุ่นก่อตั้ง คือ พ้ง (พงษ์ศักดิ์  เกตุจรูญ) ป่อง (รังสิต   จงฌานสิทโธ)  อึ่ง (สันธวิทย์ อุณหสุวรรณ์)   พี่เนาว์  (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)   ป้อม  (นิธินันท์   ยอแสงรัตน์)  เสือ  (ทวีศักดิ์ โตรักษา)  ยี  (อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์)   ชาญ ธาระวาส   เราเริ่มมีนักดนตรีจากมหิดล  จุฬาฯ รามคำแหง   นักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศฯ   และกรรมกรนักระนาดจากสระบุรี

      รูปแบบการแสดงก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพ   สำหรับงานใดที่นักดนตรีส่วนใหญ่ว่างตรงกัน    วงดนตรีต้นกล้าก็อาจจะผสมวงคล้าย ๆ วงมโหรี คือมีระนาดเอก   ฆ้องวง  ซอ  ขลุ่ย ขิม กลองแขก   รวมทั้งหางเครื่องและนักร้องหมู่อีก  4-5  คน   บางงานรูปแบบวงกลายเป็นวงเครื่องสาย  คือ มีแค่ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ย ขิม และโทนรำมะนา

      งานที่มีนักดนตรีน้อยที่สุดเพราะส่วนใหญ่ติดงาน   ก็คือการแสดงประกอบการปราศรัยที่หน้าตลาดสดเมืองสุรินทร์   คือมีแค่ขลุ่ย   ขิมกับซออู้ เท่านั้น   แต่ที่เราสามารถตากหน้าแสดงอยู่ได้  ก็เพราะเราถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่ “นักดนตรี”    หรือเป็น  “วงดนตรี”   ในความหมายปกติ   แต่ทำหน้าที่สารพัด  เช่น   ช่วยพูดคุยฆ่าเวลา ( เนื่องจากนักร้องและโฆษกหญิงเป็นนักพูดน้อง ๆ ดาวไฮปาร์ค)    ส่งเสียงดนตรีเรียกผู้ชมก่อนการปราศรัยทางการเมืองจะเริ่มต้น    โดยเฉพาะการแสดงให้ม็อบในโรงงาน   หรือในหมู่บ้านชนบท


เราจะมีโอกาสแสดงดนตรีจริง ๆ ก็เมื่อได้เล่นในหอประชุมของสถาบันการศึกษาเท่านั้น

      การปรับสภาพวงตามสถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่สมาชิกในวงพอใจนัก    เพราะบางครั้งมันดูทุเรศทุรังแต่สถานการณ์ตลอดปี  2518  การชุมนุมทางการเมือง   การสไตร๊ค์ของกรรมกร    เกิดขึ้นเกือบทุกสัปดาห์   และหลาย ๆ   ม็อบมีลักษณะยืดเยื้อ   เช่น  ม็อบชาวนาในธรรมศาสตร์   ม็อบกรรมกรโรงงานผลิตกางเกงยีน “ฮาร่า”  ม็อบกรรมกรสแตนดาร์ดการ์เม้นท์    บางงานเราต้องกินนอนอยู่ในโรงงานเดียว  2-3  วัน เพราะบรรยากาศในโรงงานตึงเครียด   ผู้นำกรรมกรขอให้เราอยู่เป็นกำลังใจ   บางครั้งไปเล่นดนตรีในโรงงานแห่งหนึ่งตามคำเชิญของสหภาพแรงงานนั้น   เช่น  โรงงานย่านสมุทรปราการ   หรือ   ย่านอ้อมน้อย   กระทุ่มแบน   โรงงานข้างเคียงเมื่อรู้ข่าวก็จะขอให้ไปช่วยแสดงที่โรงงานของพวกเขาบ้าง

      สภาพเช่นนี้เมื่อย้อนกลับไปมองดูอีกครั้ง   ก็คงต้องถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตอันมีค่า    เพราะมันทำให้เรามีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับกลุ่มชนหลากหลาย   ได้พบเห็นชีวิตความเป็นอยู่   ความทุกข์ยากของคนระดับล่างและได้เห็นพลังต่อสู้ของประชาชนอย่างใกล้ชิด   อีกทั้งยังมีโอกาสได้พบเห็นสถานการณ์แปลก ๆ เป็นประจำ

      ที่โรงงานย่านจอหอ   นครราชสีมา   วงดนตรีต้นกล้าเดินทางไปตระเวนแสดงร่วมกับวงคาราวาน   ขณะกำลังแสดง    ฝ่ายก่อกวนปะทะกับฝ่ายชุมนุมไล่ชกต่อยกันหน้าเวที    หน่วยรักษาความปลอดภัยเข้าเคลียร์พื้นที่   ส่วนนักดนตรีก็เล่นไปเรื่อย  ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

      ส่วนเสียงปืน   เสียงระเบิด   เป็นสิ่งที่ได้ยินจนชินหู   แต่เราก็ไม่เคยได้รับอันตรายจากการแสดงดนตรีเลยสักครั้ง    หรือแม้แต่การก่อกวนหน้าเวทีอย่างที่เพื่อน ๆ โดนกัน   วงดนตรีต้นกล้าก็ไม่เคยประสบ

      ครั้งหนึ่ง    เราเดินทางไปเล่นดนตรีในสถาบันศึกษาแห่งหนึ่งที่มหาสารคาม    ร่วมกับวงแคนจากชุมนุมนักศึกษาอีสานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   บรรยากาศที่เราสัมผัสเมื่อย่างเหยียบเข้าไปในสถานที่แห่งนั้น    มีเงาของความอำมหิตแฝงอยู่ซึ่งเราอาจจะรู้สึกมากไปเองก็ได้     แต่มันเป็นผลมาจากคำบอกเล่าของนักศึกษาผู้จัดงานนั้นเอง

      เขาบอกว่า   จังหวัดมหาสารคาม  อิทธิพลฝ่ายขวาเข้มแข็ง    เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดมีหัวคิดต่อต้านนักศึกษารุนแรง   คือเป็นนักปราบคอมมิวนิสต์ลือชื่อ    และรังเกียจนักศึกษา “ฝ่ายซ้าย”   เข้ากระดูก   ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด    เขาจึงผลักดันสนับสนุนขบวนการฝ่ายขวาในส่วนราชการต่าง ๆ   อย่างจริงจัง   ในสถาบันการศึกษาก็มีการจัดตั้งนักศึกษามาสู้กับนักศึกษา

      วันนั้น    วงดนตรีต้นกล้าแสดงก่อน    พอวงแคนอีสานขึ้นแสดง    ร้องเพลงไม่ทันจบ   ก็มีเสียงปืนดัง 1  นัด การแสดงหยุดกลางคันเพราะนักดนตรีคนหนึ่งถูกกระสุนปืนที่ขา    โชคดีที่ฝ่ายต่อต้านใช้แค่อาวุธปืนสั้น   จึงไม่เกิดอันตรายถึงชีวิต

      ความเป็นวงดนตรีไทย    น่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราไม่เป็นที่มุ่งร้ายหมายขวัญจึงทำให้เรามีโอกาสแอบ   “ตีหัวเข้าบ้าน”   หลายครั้ง

      ภาพของวงดนตรีเพื่อชีวิตในสมัยนั้น    เหมือนกับภาพทั่วไปของขบวนการนักศึกษา   หรือภาพของศูนย์นิสิตฯ (ศนท.)   คือเป็นพวกฝ่ายซ้าย   พวกปลุกระดมมวลชน    ชื่อวงดนตรีก็ฟังดูเข้มแข็ง   น่ากลัว   เช่น  คาราวาน กรรมาชน   โคมฉาย  รูปลักษณะของนักดนตรีเพื่อชีวิต    คือคนผมยาว   สะพายกีตาร์   เป่าเมาท์ออร์แกน   แต่ชื่อ “ต้นกล้า”   กับเครื่องดนตรีไทยเดิมประเภท  ระนาด ขิม ซอ  ขลุ่ย ทำให้คนที่ไม่รู้จักโดยเฉพาะครูบาอาจารย์   ตามโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างจังหวัดรู้สึกเป็นมิตรตั้งแต่แรกเห็น


บางงาน   ก่อนการแสดง   ครูบาอาจารย์ซึ่งเข้าใจว่าเป็นฝ่ายปกครองของโรงเรียนยังมาต้อนรับเราด้วยดี   ออกปากชมเชยว่าเป็นหนุ่ม ๆ สาว ๆ เล่นดนตรีไทยนี่น่ารักดีจริง ๆ   ช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย    ชื่อวงอะไรนะอ๋อ !  “ร่มเกล้า”  ใช่มั้ย

      เมื่อถึงเวลาแสดง   พอขึ้นเพลง  “หนุ่มสาวเสรี”   ....คึกคักหนักแน่นดังแผ่นผา   กลมเกลียวแกล้วกล้าสดใส   ฟันเฟืองฟาดฟันบรรลัย   กนกห้าสิบให้ชีวิตพลี”   .......ถึงตรงนี้บรรดาครูอาจารย์นั่งตะลึง   อ้าปากหวอ    แต่ก็หยุดกันไม่ได้แล้ว   เมื่อการแสดงจบลง   ทั้งเขาทั้งเราต่างก็หลีกหนีกันไปคนละทาง

      มีอีกครั้งหนึ่ง   เป็นการแสดงสดทางโทรทัศน์ช่อง 4  บางขุนพรหม  ในรายการของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย    มีคนติดต่อวงดนตรีต้นกล้าไปแสดง    สมาคมนักข่าวสมัยนั้นก็แตกกันเป็นสองฝ่าย    เหมือนกับหนังสือพิมพ์ที่แยกกันเป็นฝ่ายหัวดำ เช่น  “ประชาชาติ”   “ประชาธิปไตย”   “เสียงใหม่”   กลุ่มหนึ่ง  กับฝ่ายหัวสี  เช่น  “บ้านเมือง”   “ดาวสยาม”  “ตะวันสยาม”  กลุ่มหนึ่ง

      พวกเรายกเครื่องไปตั้งเตรียมแสดงโดยมีบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ของสมาคมฯ มาคอยอำนวยความสะดวก ในจำนวนนั้นมีนักหนังสือพิมพ์อาวุโสแห่งค่าย   “ตะวันสยาม”   ซึ่งอาฆาตแค้นขบวนการนักศึกษา   ยืนถือแก้วเหล้าสนทนากันออกรส    เรื่องที่เขาคุยกันขณะเรากำลังตั้งสายเตรียมวง   ก็คือเรื่อง “ดนตรีเพื่อชีวิต”

      นักหนังสือพิมพ์อาวุโสกำลังยืนด่าวงดนตรีคาราวานกันสนุกปากว่า   ไอ้พวกนี้ต้องรับเงินจากศูนย์นิสิตฯ   ซึ่งรับเงินจากพวกคอมมิวนิสต์มาอีกทอดหนึ่งแน่ ๆ

      เขาบอกว่า “พวกมันเล่นดนตรีฟรีกันอยู่ได้ยังไง    งานการก็ไม่ทำ   แล้วมันเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย   ไอ้....เจ้าของห้องอัดเสียงที่บางโพ   มันเล่าให้ฟังว่า   ไอ้พวกคาราวานมันไปอัดเสียง   แม่ง !  เอาเงินที่ไหนจ่ายค่าเช่าห้องอัดเป็นหมื่น ๆ ถ้าไม่ใช่รับเงินจากคอมมิวนิสต์

      วงดนตรีต้นกล้า    บรรเลงออกทีวีช่อง 4   ท่ามกลางความตกตะลึงของนักหนังสือพิมพ์อาวุโสกลุ่มนั้น   พอจบเพลง  “เจ้าการะเกด”   เราก็ยกเครื่องกลับทันทีเช่นกัน    และนักหนังสือพิมพ์ท่านนั้นคงมีเรื่องไปคุยต่อแน่ ๆ ว่า ไอ้พวกดนตรีเพื่อชีวิตมันเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าเช่าเวลาของโทรทัศน์รัฐบาล    ซ้ำยังเช่าเวลาเดียวกันกับสมาคมนักข่าวอีกด้วย

      หลังจากวันนั้น    วงดนตรีต้นกล้าได้มีโอกาสไปแสดงสดทางทีวีของจังหวัดลำปางอีกครั้ง     ก็ด้วยสถานการณ์คล้าย ๆ   กัน    คือนักศึกษาเชียงใหม่จัดให้ไปตระเวนเล่นดนตรีในภาคเหนือ    แล้วมีรายการพิเศษสอดแทรกขึ้นมาว่า   ได้ติดต่อทีวีลำปางไว้แล้ว

      วงดนตรีไทยเดิมออกรายการสดตอนบ่ายซึ่งแพร่ภาพทั่วภาคเหนือ    เช้าวันรุ่งขึ้น   หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเชียงใหม่ก็ลงข่าวโจมตีสถานีโทรทัศน์ลำปางอย่างรุนแรงว่ารู้เห็นเป็นใจ   ให้วงดนตรีเพื่อชีวิตไปออกรายการปลุกระดมมวลชน

      ประสบการณ์แสดงดนตรีที่สำคัญที่สุดของวงดนตรีต้นกล้า     และมีผลต่อความคิดทางการเมืองของพวกเรามากที่สุดก็คือ     การทัวร์ภาคเหนือและทัวร์ภาคใต้ในปี  2518 

      ทัวร์ทั้งสองครั้ง   เราไม่รู้เลยว่าจะต้องไปแสดงที่ไหนบ้าง   รู้แต่เพียงเมืองจุดหมายปลายทางเท่านั้น

      ทัวร์ภาคเหนือ    ปลายทางคือจังหวัดเชียงใหม่    นักศึกษาเชียงใหม่พาเราไปในหอพักของมหาวิทยาลัย   การแสดงก็วนเวียนอยู่ในเชียงใหม่     แล้วเย็นวันหนึ่ง   เขาก็ให้เราขึ้นรถสองแถวออกจากเมือง   รถยนต์พาเราวิ่งเลี้ยวออกจากถนนดำ    ฝ่าความมืด   เข้าถนนลูกรัง   ถนนดิน   ผ่านทุ่งนา   เข้าสู่หมู่บ้านอันเงียบสงบ

      กลางหมู่บ้าน   มีเวทียกพื้นสูงขนาดเอว    จุดตะเกียงเจ้าพายุสว่างจ้า    นี่คือเวทีแสดงคืนนี้   มองไปรอบ ๆ เวทีมีชาวบ้านหนุ่ม ๆ   ถือปืนแก๊ป   ปืนลูกซอง   รายล้อม   ส่วนผู้ชมข้างล่างก็สะพายปืนแก๊ปกันเกือบทุกคน

      ตอนเช้า    เราถึงรู้ว่านี่คือบ้านแม่สะป้วด   อำเภอแม่ทา   จังหวัดลำพูน    ซึ่งชาวบ้านกำลังพิพาทกับนายทุนเหมืองแร่   และชาวบ้านได้ใช้กำลังปิดเหมืองไปเรียบร้อยแล้ว     ขณะเดียวกัน    นายทุนก็นำกำลังตำรวจทหารปิดล้อมหมู่บ้านแม่สะป้วดไว้อีกชั้นหนึ่งเรียบร้อยแล้วเหมือนกัน

      ภาคใต้   ปี  2518  ปลายทางเราคือสถานีรถไฟบ้านส้อง   จังหวัดสุราษฎร์ธานี    รถกระบะรับเราที่สถานีบ้านส้องแต่เช้าตรู่   จุดหมายปลายทางคือบ้านช่องช้าง   เพื่อร่วมงานศพชาวบ้านที่ถูกทหารฆ่าตาย

      เราพักอยู่ในหมู่บ้าน   ซึ่งมีแต่เด็ก   ผู้หญิง และคนแก่

      กลางคืน ลานบ้านถูกเตรียมเป็นเวทีแสดง    แล้วชายฉกรรจ์ก็โผล่ออกมาจากความมืดทีละคนสองคนจนเต็มไปหมด

      การแสดงของชาวบ้านก็ประหลาดมาก    มีการฟ้อนรำ   ขับร้องเพลงแปลก ๆ เช่น  เพลง  “นักเรียนของประชา”

      “พวกเราเป็นนักเรียนของประชา เกิดขึ้นมาท่ามกลางการต่อสู้
หาวิชาความรู้สู้ศัตรู                         เพื่อกอบกู้เอกราชของชาติไทย
พรรคสอนเรารับรู้การปลดแอก       รู้จำแนกศัตรูมิตรคือใคร
รู้ทิศทางสร้างสรรค์ชีวิตใหม่           ให้อำไพไปทั่วพสุธา”

      การแสดงคืนนั้นจบลงใกล้สว่าง    แล้วบรรดาชายฉกรรจ์ก็หายไปในป่าละเมาะ

      เราถูกจัดให้พักแรมอยู่ในโรงเรียนเล็ก  ๆ ใจกลางหมู่บ้าน    และเมื่อตื่นขึ้นมาราว 8  โมงเช้าวันรุ่งขึ้น  ทั้งหมู่บ้านเงียบสงัด เด็ก  ผู้หญิง   และคนแก่ไปนั่งรวมกันเป็นกระจุกอยู่รอบ ๆ เสาธง จนเราอดแปลกใจไม่ได้

      แต่เมื่อเปิดประตูห้องเรียนออกมา   จึงรู้ว่าได้เกิดอะไรขึ้น   ทหารรัฐบาลชุดเขียวขี้ม้าประมาณเกือบ 30  คน  ถือปืนเอ็ม 16   โอบล้อมพวกเราไว้หมดแล้ว

      นายทหารยศร้อยโท   ซึ่งเป็นหัวหน้าชุด   เชิญพวกเราซึ่งมีอยู่ประมาณสิบกว่าคนไปสนทนาอย่างสุภาพและเป็นกันเอง

      เขาถามว่า   “พวกน้อง ๆ มาทำอะไรกันที่นี่”

      หัวหน้าทีม นักศึกษาจากมหิดล  ผู้ประสานงานการเดินทาง  ตอบว่า   “มาแสดงดนตรีงานศพ”   ซึ่ง   คำตอบนี้น่าจะพอรับฟังได้   เพราะเราเป็นวงดนตรีไทยซึ่งสอดคล้องกับสภาพงาน    ไม่มีวี่แววว่าจะเป็นวงดนตรีปลุกระดมของนักศึกษาแต่อย่างใด

      ประสบการณ์จากแม่สะป้วดและช่องช้าง     มีผลต่อความรู้สึกและทัศนะทางการเมืองของเรามากพอสมควร   เพราะสิ่งที่เราพบเห็นในชนบทและโอกาสที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ผ่านการต่อสู้มายาวนาน    ได้ก่อรูปเป็นความคิดความเชื่อต่อสิ่งที่เรียกว่า   “การต่อสู้ในชนบท”   สร้างความเข้าใจและความมั่นใจในนามธรรมประเภท “พลังประชาชน”   หรือ   “มวลชนอันไพศาล”


      ความคิดฝันของบางคนเริ่มพัฒนาไปตามกระแสการต่อสู้ทางการเมืองที่ดุเดือดยิ่งขึ้นทุกวัน     เรากำลังเดินข้ามรอยต่อชีวิตจาก  “นักกิจกรรม”   ไปสู่วิถียิ่งใหญ่ที่เรียกขานกันลับ ๆ ในขบวนการนักศึกษาสมัยนั้นว่า   “นักปฏิวัติอาชีพ”

      กลางปี  2518  วงดนตรีต้นกล้าเริ่มมีความพร้อมมากขึ้นในหลาย ๆ   ด้าน   เรามีเครื่องดนตรีของเราเองจากที่เคยหยิบยืมจากชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์   และบางส่วนจากการอนุเคราะห์ของพี่จิต   (สุจิตต์   วงษ์เทศ)   ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีเก่า ๆ   ของวงเจ้าพระยา

      เครื่องดนตรีส่วนหนึ่งซึ่งราคาแพง   ดร.ธวัช   มกรพงศ์   ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนสมัยนั้นซึ่งเพิ่งถูกย้ายมาจากจังหวัดพังงา   หลังกรณีเท็มโก้   เป็นผู้เอื้อเฟื้อ   เพราะท่านเคยร่วมชมการแสดงของวงดนตรีต้นกล้าที่เชียงใหม่    และทราบว่าวงดนตรีของเรายังขาดเครื่องมือ     ต้องหยิบยืมของคนอื่นมาใช้    คราวนั้นท่านให้เงินมาหลายพันบาท ซึ่งทำให้เรามีระนาดเอก  ระนาดทุ้ม กลองแขก   และโทนรำมะนา  ของเราเอง

      และเครื่องดนตรีชุดนี้ก็ถูกปล้นไปเรียบร้อย    เมื่อกลุ่มการเมืองกระทิงแดงบุกเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เมื่อวันที่ 20  สิงหาคม 2518

      บทบาทของวงดนตรี  เพื่อชีวิตในสมัยนั้นเป็นไปตามทฤษฎี  “ศิลปะเพื่อชีวิต   ศิลปะเพื่อประชาชน”  ซึ่งเป็นกระแสความคิดหลัก

      สาระสำคัญของความคิดนี้ก็คือนิยามที่  จิตร  ภูมิศักดิ์  ได้เขียนไว้

      “จงใช้ศิลปะของท่านให้เป็นเสมือนหอกและโคม   เป็นหอกที่ทิ่มทะลวงแทงศัตรูของประชาชน   ศัตรูที่ทำให้ชีวิตของประชาชนต้องเผชิญกับความอัปลักษณ์....    เป็นโคมที่ส่องนำประชาชนให้สามารถเคลื่อนขบวนอันยาวเหยียดของเขาไปสู่สภาพที่ดีงามได้อย่างมีสัมฤทธิภาพ...   จงเปิดเผยให้ทุกคนได้มองเห็น

      1.  ลักษณะอันอัปลักษณ์ของชีวิตที่เป็นอยู่จริง
      2.  ที่มาของความอัปลักษณ์แห่งชีวิต
      3.  วิธีแก้ไข   เปลี่ยนแปลงความอัปลักษณ์แห่งชีวิตให้กลายกลับเป็นความดีงาม
      4.  ตัวอย่างอันเจิดจ้าของความดีงามใหม่ชีวิตที่จะมาถึง

      ......นี่คือการนำศิลปะเข้ารับใช้ชีวิตของประชาชน”

      ดูเหมือนนักดนตรีทุกคนจะยอมรับความคิดหลักนี้ได้      แต่ในทางปฏิบัติมีรายละเอียดทางความคิดที่แตกต่างกันอยู่สมควร

      เฉพาะภายในวงดนตรีต้นกล้า    การสร้างสรรค์เนื้อหาที่รับใช้ประชาชน   สะท้อนปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน   เป็นเรื่องที่ทุกคนคิดเห็นตรงกัน   ไม่ใช่เพียงเพราะทุกคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน   แต่เพราะทุกคนเผชิญประสบการณ์เดียวกัน

      จำได้ว่า     สมาชิกวงดนตรีต้นกล้าเริ่มแตกแยกกันครั้งแรกก็คือปัญหาอันเนื่องจากเพลง   “เต่าคลองหลอด” 

      เพลง “เต่าคลองหลอด”  เขียนเนื้อหาโดยพี่เนาว์ (เนาวรัตน์   พงษ์ไพบูลย์)    ใช้ทำนองไทยเดิมเพลง  “เขมรไล่ควาย”

      พี่เนาว์เขียนเนื้อเป็นกลอนแปดว่า


“ฝนปีนี้ดีนักตกหนักหนา   ทุกท้องนาน้ำมากเหมือนใจหมาย
กูแบกจอบจ้ำมาจนตาลาย  เฮ้ย   สัตว์ร้ายมันเข้ามาในนากู
ค่อยแหวกกอข้าวกล้ามองหาทั่ว นั่นแน่ะตัวเต่านาตั้งท่าขู่
ไอ้เต่าดำกระดองใหญ่ไล่ปลาปู  ตัวเองชูคอยาวแย่งข้าวกิน
เฮ้ยไอ้เต่าพันปีมึงมีบาป   ต้องคำสาปหรืออย่างไรไอ้เต่าหิน
เขาเดือนร้อนกันอย่างไรมึงไม่ยิน กระดกลิ้นแต่ละคราวเหม็นขี้ฟัน
กูจะจับเต่าร้ายปล่อยคลองหลอด ไม่ให้รอดออกมาจนอาสัญ
สร้างรูปปั้นไอ้เต่าที่ตรงนั้น   เป็นของขวัญไดโนเสาร์เต่าพันปี”

      เพลงนี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐมนตรีมหาดไทย   นายบุญเท่ง   ทองสวัสดิ์   ออกคำสั่งห้ามเผยแพร่เพลง  “คนกับควาย”  และเพลง “ข้าวคอยฝน”  ของวงดนตรีคาราวาน

      มีการจัดปราศรัยที่สนามหลวง    และองค์การนักศึกษาติดต่อวงดนตรีต้นกล้าไปแสดง   พี่เนาว์เขียนเพลงนี้ในบรรยากาศที่มีการต่อต้านคำสั่งรัฐมนตรีมหาดไทย

      วงดนตรีต้นกล้าเล่นเพลง “เต่าคลองหลอด”  บนเวทีสนามหลวง   หลังจากงานไฮด์ปาร์ควันนั้น   สมาชิกบางคนก็เริ่มรู้สึกไม่สบายใจ   บางคนยอมรับได้ว่าจะต้องคัดค้านคำสั่งนี้   แต่ไม่เห็นด้วยกับ “ถ้อยคำ”  และ “อารมณ์”  ที่รุนแรง   ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นเป็นเรื่องปกติ

      หลังจากนั้น   สมาชิก  2  คนที่เริ่มไม่เห็นด้วยกับแนวทางของวงก็ถอนตัวออกไป

      แต่สมาชิกส่วนใหญ่   เชื่อว่าเราจะต้องเดินไปตามวิถีนี้

      ในช่วงเวลาเกือบ  1  ปี  นับแต่รวมวง เพลงของวงดนตรีต้นกล้าเกือบทั้งหมดล้วนแต่ผลิตขึ้นจากสถานการณ์เช่น  “เต่าคลองหลอด”   “ซัดอเมริกัน”   (แร่ไทย  แร่ใคร)  “เจ้าการะเกด”  และ “กระทุ่มแบน”

      เพลง “กระทุ่มแบน”   เป็นเพลงที่พี่เนาว์เขียนให้กับกรณีสังหาร   คุณสำราญ   คำกลั่น กรรมกรโรงงานเซรามิคที่อำเภอกระทุ่มแบน    จังหวัดสมุทรสาคาร   เมื่อวันที่ 26  กรกฏาคม 2518

      ในพิธีเผาศพ    คุณสำราญ   คำกลั่น   วงดนตรีต้นกล้าได้รับหน้าที่ให้ไปบรรเลงที่หน้าเมรุ   งานครั้งนั้นเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ของนักศึกษาและกรรมกร   วงดนตรีต้นกล้าจัดวงขนาดมโหรี    มีครูกิ่ง พลอยเพ็ชร   ครูดนตรีไทยอาวุโสของชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ไปร่วมแสดงด้วย   และพี่เนาว์ได้เขียนกลอนบทหนึ่งที่หน้าเมรุเผาศพให้พวกเราขับร้องกันสด ๆ   ขณะไฟกำลังลุกท่วมโลงศพ   คุณสำราญ   คำกลั่น

      เพลงบทนี้  ชื่อ  “ไฟบนโลงศพ”  มีความว่า 

“จุดไฟวาบวับรับตะวัน   ดับชีพนับพันรับคนแสน
ละลายเลือดและร่างลงดินแดน  เพื่อล้างแผ่นดินนี้ด้วยสีแดง
เปลวไฟลุกโพลงเหนือโลงศพ  คือแสงคบเรืองรองส่องแสง
เส้นทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง  ทุกหนแห่งไสวสว่างกลางตะวัน
ความจริงและความกล้าต้องปรากฏ  ความเลวร้ายทรยศต้องอาสัญ
แรงเงินแรงงานต้องปานกัน  ไฟต่อไฟฟันต่อฟันประจัญประจญ
จุดไฟวาบวับรับตะวัน   ประชาชนทั้งนั้นทุกแห่งหน
ไม่มีใครใหญ่กว่าประชาชน  วิญญาณคนอย่างเราไม่เคยตาย
”

      หลังกรณีคุณสำราญ   คำกลั่น ตลอดเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม 2518  ขบวนการลอบสังหารของอิทธิพลขวาจัดก็ลุกลามไปทั่วประเทศ    เป้าหมายหลักคือการลอบสังหารผู้นำชาวนาในภาคเหนือ

      เหตุการณ์ที่จุดชนวนสำคัญ    ก็คือการลอบสังหารพ่อหลวงอินถา   สีบุญเรือง   ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ   เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2518  ที่ตำบลป่าดง   อำเภอสารภี  จังหวัดเชียงใหม่

      วันที่ 3  สิงหาคม 2518  ตำรวจภาคเหนือได้จับกุมนักศึกษาและชาวนาจำนวน 9  คน  ด้วยข้อหาใช้กำลังปิดเหมืองแม่วะ จังหวัดลำปาง

      วันที่ 4  สิงหาคม   นักศึกษา  ประชาชน   ได้จัดชุมนุมประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ประตูท่าแพ  จังหวัดเชียงใหม่

      ช่วงเวลานั้น สุรชัย  จันทิมาธร   และวงคาราวาน   ได้แต่งเพลงที่สะท้อนความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน   ซึ่งเป็นพัฒนาการอีกขึ้นหนึ่งของการต่อสู้    คือเพลง “ตายสิบเกิดแสน”

      ความรุนแรงและความตาย คือสถานการณ์ที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนต้องเผชิญหน้าอย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้น

      นักดนตรีมือดีและเป็นผู้ดูแลเทคนิคของวงดนตรีต้นกล้ามาแต่ต้น   ซึ่งปกติจะไม่สนใจเขียนเพลงเลย   นอกจากเล่นดนตรีอย่างเดียวคือ  พ้ง (พงษ์ศักดิ์   เกตุจรูญ)  ได้แต่งเนื้อเพลงใหม่ในทำนองพื้นบ้าน  “เต้นกำรำเคียว”  พูดถึงปัญหาชาวนาและทางออกสุดท้ายคือ   การลุกขึ้นสู้

      สถานการณ์รุนแรงและความเป็นความตายที่นักดนตรีเผชิญหน้าร่วมกันทุกเวทีทำให้ใจคนผนึกเข้าหากันและทำให้ข้อขัดแย้งปลีกย่อยในวงค่อย ๆ เลือนหายไป

      ในสถานการณ์เช่นนี้   ภารกิจอย่างหนึ่งที่เราถูกเรียกร้องผ่านกันมาเป็นทอด ๆ ก็คือ การยกระดับการศึกษา  ยกระดับการจัดตั้ง

      กิจกรรมนักศึกษาการเมืองก็เป็นไปตามรูปแบบที่ขบวนการศึกษาทำกันเป็นปกติ คือ การจัดตั้งกลุ่มศึกษา

      นอกจากศึกษาเรื่อง  “เยนอาน”   แบบรู้เรื่องบ้าง   ไม่รู้เรื่องบ้าง   ก็ยังมีการศึกษาจิตใจวีรชนปฏิวัติ  เช่น  ชีวิตของจางซือเต๋อ   นักปฏิวัติจีน

      รูปแบบการศึกษาและรูปธรรมที่ศึกษาได้สร้างความหงุดหงิดให้หลายคนพอสมควร    สมาชิกบางคนถึงกับออกปากว่า  “กูจะมาเล่นดนตรี   กูไม่ต้องการศึกษาเรื่องของไอ้จางซือเต๋อ”

      แต่ชีวิตจริงในฐานะนักดนตรีผู้ใช้ชีวิตอยู่ในม็อบ   ในโรงงานเป็นส่วนใหญ่    ทำให้เรากลายเป็นจางซือเต๋อโดยไม่รู้ตัว   และไม่ว่าพื้นฐานความคิดของเราจะมาจากจุดที่แตกต่างกันอย่างไร    การเมืองกลับทำให้เราเขียนเพลง   เล่นดนตรี   ขับร้อง   ตะเบ็งเสียง   ออกมาด้วยสำเนียงเดียวกัน

      ภายในเวลา  1 ปี  เราก็สามารถรวบรวมผลงานเพลง   จัดทำเทปได้ 1  ชุด ในชื่อ  “คนเหมือนกัน”   โดยมีวีระศักดิ์   สุนทรศรี   จากวงคาราวาน   เป็นธุระในการประสานงานการผลิต   และมอบให้บริษัทสหกวงเฮงจัด  จำหน่าย

      ปี 2519  กระแสเรียกร้องเอกราชอธิปไตยขึ้นสูงมาก   เนื่องจากใกล้กำหนดเส้นตายที่สหรัฐอเมริกาจะต้องถอนฐานทัพและเครือข่ายการทหารการจารกรรมออกจากประเทศไทยภายในวันที่  20  มีนาคม   ในขณะเดียวกัน   เครือข่ายกองกำลังฝ่ายขวาทั้งในรูปของการโฆษณาชวนเชื่อและองค์กรมวลชน  เช่น  นวพล  ลูกเสือชาวบ้าน   ก็ขยายกำลังออกไปอย่างกว้างขวาง   ปฏิบัติการรุนแรง  เข่นฆ่า   เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นปี   2519

      ด้านการโฆษณาชวนเชื่อ    หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาผนึกกำลังกันให้ร้ายป้ายสีขบวนการนักศึกษาอย่างสนุกมือ   ชมรมวิทยุเสรีซึ่งมีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแม่ข่ายเป็นหัวหอกที่สร้างกระแสความเกลียดชังปกคลุมไปทั้งประเทศ

      บทเพลง “หนักแผ่นดิน”   และคำสอนของกิตติวุฒโฑภิกขุ   เรื่อง  “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”  คือ มาตรการทางจิตวิทยาขั้นสุดท้ายที่ปูทางให้กับการสังหารหมู่ 

      วันที่ 20  มีนาคม  2519  ขบวนนักศึกษาประชาชนถูกขว้างระเบิดที่หน้าสยามสแควร์   มีผู้เสียชีวิต  4  คนและบาดเจ็บกว่า  80 คน

      บทเพลงเพื่อชีวิตสะท้อนบรรยากาศปี 2519   ไว้อย่างครบถ้วน เพลง  “ลุกขึ้นสู้”  “อเมริกันอันตราย”   และเพลง จากสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย   (สปท.)  เริ่มมีผู้นำมาขับร้องเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

      เพลง “วีรชนปฏิวัติ”   “เลือดต้องล้างด้วยเลือด”   คือ ภาพสะท้อนความคิดความเชื่อของยุคสมัยได้ชัดเจนที่สุด

      ในท่ามกลางบรรยากาศเรียกร้องเอกราชอธิปไตย   และต่อต้านการครอบงำทางเศรษฐกิจ   วัฒนธรรม   ความคิดของขบวนการนักศึกษาด้านหนึ่งที่งอกงามขึ้นมาก็คือ   การหวนกลับมาสู่   “พื้นบ้านพื้นเมือง”  หรือการรื้อฟื้นลักษณะ “ประชาชาติ”

      งานวัฒนธรรมเริ่มหันมาฟื้นชีวิตและสร้างความหมายใหม่ ๆ   ให้แก่ประเพณีเก่า ๆ ของชาวบ้าน   เช่น  การจัดงาน “สงกรานต์เบิกฟ้าประเพณี”  งาน “ลอยกระทงรักไทย”

วงดนตรีต้นกล้าเกี่ยวข้องกับงานลักษณะนี้มากที่สุด    และเป็นโอกาสที่นักดนตรีได้สร้างงานประเภทพื้นบ้าน   พื้นเมืองกันจริงจังยิ่งขึ้น    ในช่วงเวลานี้ได้เกิดหน่วยงานวัฒนธรรมพื้นบ้านเพิ่มขึ้น เช่น  ลำตัดวรรณศิลป์ของชุมนุมวรรณศิลป์    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    และนาฏศิลป์มหิดล   ของชุมนุมนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

      เพื่อรับใช้กิจกรรมด้านพื้นบ้านพื้นเมือง   สันธวิทย์   อุณหสุวรรณ์ สมาชิกวงดนตรีต้นกล้าผู้ล่วงลับไปแล้ว  ได้เขียนเพลงรำวงไว้หลายเพลงที่ยังพอจดจำได้บ้าง     คือเพลง “รำวงสงกรานต์”   ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อแสดงในงานสงกรานต์เบิกฟ้าประเพณี ที่สนามฟุตบอล   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   และเพลง “รำวงลอยกระทงรักไทย”  ในงานลอยกระทงที่ลานโพธิ์


“เรามารำวงวันปีใหม่    ปีใหม่ของไทยคือวันสงกรานต์
ประชาร่วมสามัคคี    เรามีหัวใจเบิกบาน
เชิดชูประเพณีพื้นบ้าน   ปีใหม่สงกรานต์ของไทยนี่เอย
ฟ้าใหม่ปีใหม่สงกรานต์   เสร็จจากการงานมาร้องมารำ
เสร็จงานไถคราดหว่านดำ   ลำบากตรากตรำเรื่อยมาทั้งปี
พี่ทำ  น้องทำ   ร่วมทำ  ร่วมสามัคคี

ร่วมแรงประสานไมตรี   อุทิศชีวิตเพื่อแผ่นดินไทย
เหนื่อยยากตรากตรำทำนา   ทุกวันเวลาแต่เช้าจนเย็น
ต้องทนลำบากยากเข็ญ   แต่เช้าจนเย็นอยู่ในท้องนา
ปลูกข้าว เลี้ยงเขา     พวกเราต้องกินน้ำตา
เหงื่อรินหลั่งไหลเรื่อยมา   ชีวิตชาวนาแสนสุดลำเค็ญ
ฟ้าใหม่ปีใหม่สงกรานต์   เสร็จจากการงานมาร้องรำวง
จับเคียวไว้ให้มั่นคง    พี่น้องขอจงจับเคียวขึ้นมา
ร่วมกันสำแดง     พลังของเราชาวนา
ช่วงชิงผลงานคืนมา    ร่วมคว้าเอาชัยปีใหม่สงกรานต์....”

      เดือนสิงหาคม 2519  จอมพลประภาส จารุเสถียร  เดินทางกลับประเทศ   เป็นสัญญาณเตือนภัย   แผนรื้อฟื้นอำนาจเก่ากำลังเริ่มต้นปฏิบัติการ    ขบวนการนักศึกษาดูเหมือนจะตระหนักในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น    คำขวัญ  “ต้านรัฐประหาร”   ได้รับการแพร่กระจายทั้งด้านกว้างและด้านลึก   แต่ผู้ที่กำหนดเกมคือพลังอำนาจเก่าที่มีความมั่นใจ   ความพร้อม   และความเหี้ยนกระหือรือเต็มเปี่ยม

      ก่อนการชุมนุมที่ลานโพธิ์   เราฝึกซ้อมดนตรีกันที่บ้านเช่าหลังหนึ่งริมถนนเจริญนคร    สถานการณ์บอกเราว่าความรุนแรงคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

      เราเลิกซ้อมดนตรี   หากระดาษมาเขียนโปสเตอร์ต่อต้านแผนการรัฐประหาร    ราวเที่ยงคืน  พวกเรา 5-6 คน  หิ้วกระป๋องแป้งเปียกกับโปสเตอร์ออกจากบ้าน   ช่วยกันปิดโปสเตอร์ตั้งแต่วัดเศวตฉัตรมาจนถึงท่าเรือคลองสาน

      ปลายฤดูฝน  2519........

      วงดนตรีต้นกล้าทำหน้าที่ขับขานเพลงบทเก่า     บทเพลงเพื่อเอกราช ประชาธิปไตย   และความเป็นธรรมในสังคมบนเวทีปราศรัยที่สนามฟุตบอล  ธรรมศาสตร์  เป็นครั้งสุดท้าย

      ตรงรอยต่อของคืนวันที่ 5 ตุลาคม  กับวันใหม่อันมืดมน....6  ตุลาคม  2519
 


ที่มา : คณะกรรมการประสานงาน 20 ปี 6 ตุลา, ตุลากาล, ตุลาคม 2539, หน้า 184-216




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง
ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ...



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ