ประกาศผลศิลปินมรดกอีสาน 2554
มข.ยกย่อง 2 ศิลปินชื่อดังภาคอีสาน สมคิด สิงสง และ สลา คุณวุฒิ เป็นศิลปินมรดกอีสานประจำปี 2554 พร้อมศิลปินอีกหลายคน ทั้งสาขาทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และ ศิลปะการแสดง รวมทั้งผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์รวมกว่า 30 คน

สมคิด สิงสง(ซ้าย) / สลา คุณวุฒิ
ผศ.วิชัย ณีรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ในปี 2554 นี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกศิลปินภาคอีสานที่มีผลงานโดดเด่นเพื่อยกย่องให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน โดยปีนี้จัดติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้ว ซึ่งผลการคัดเลือกปรากฎว่ามีศิลปินที่มีความสามารถ และมีผลงานอันเป็นประจักษ์จำนวน ทั้งสิ้น 12 คน ใน 3 สาขา ประกอบด้วย
สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่
นายพีระพงษ์ ดวงแก้ว ( ประติมากรรมร่วมสมัย)
นายทวี รัชนีกร (ทัศนศิลป์ร่วมสมัย)
นายสนาม จันทร์เกาะ (จิตรกรรมร่วมสมัย)
และ นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร (ประติมากรรมเทียนพรรษา)
โดยกรณีของนายอุส่าห์ จันทรวิจิตรนั้น แม้จะเสียชีวิตแล้วแต่มีผลงานอันเป็นประจักษ์และสืบทอดมาถึงรุ่นลูกหลานทางคณะกรรมการก็พิจารณามอบรางวัลให้เช่นกัน
ส่วนสาขาวรรณศิลป์ ได้แก่
นายวินัย เตียวตระกูล(ประพันธ์เพลงลูกทุ่งต้นแบบ)
นายสมคิด สิงสง(วรรณกรรมร่วมสมัย)
และ นายสลา คุณวุฒิ(ประพันธ์เพลงลูกทุ่งร่วมสมัย)
ด้านสาขาศิลปะการแสดง ได้แก่
นางแก่นจันทร์ นามวัฒน์ (การแสดงพื้นบ้านอีสานใต้)
นางเทวี บุตรตั้ว (หมอลำกลอน)
นายเทพพร บุญสุข (นักร้องลูกทุ่ง)
นางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร (หมอลำกลอนประยุกต์)
นางผมหอม สกุลไทย (หมอลำผะหยาย่อย)
ส่วนผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ประจำปี 2554 ซึ่งคัดเลือกศิลปินที่มีผลงานโดดเด่น และสามารถนำเอาศิลปะที่มีอยู่ถ่ายทอดสู่ไปเยาวชนคนรุ่นหลังเพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยเป็นที่รู้จัก แพร่หลาย โดยได้มีการแบ่งสาขาต่างๆ ออกเป็น 10 สาขา ประกอบด้วย
1.สาขาเกษตรกรรมได้แก่
- นางกัญญา อ่อนศรี
2.สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
- นายสุด กันหารัตน์
3.สาขาแพทย์แผนไทย
- นายทองอ่อน สิทธิไกรพงษ์
4.สาขานิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
- นายสุทธินันท์ ปรัชญพฤกษ์ (ครูบาสุทธินันท์)
5.สาขาวิสาหกิจและธุรกิจชุมชน
- นางบุญเกิด ภานนท์
6.สาขาศิลปกรรม
- 1. นายโสโชค สู้โนนตาด
- 2. นายกิตติ วรรณวงษ์
- 3. นายคำตา หมื่นบุญมี
- 4. นางจินตนา เย็นสวัสดิ์
- 5. นายบุญช่วย จิวิสาย
- 6. นายสายรุ้ง ภูมิสุข
- 7. นางนิตยา เชิดชู (รังเสนา)
- 8. นายทรงยศ วีระทวีมาศ
7.สาขาภาษาและวรรณกรรม หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
- นายสวิง บุญเจิม
8.สาขาศาสนาและประเพณี ได้แก่
- ศูนย์คชศึกษา จังหวัดสุรินทร์
9.อาหารและโภชนาการ (ไม่มี)
10.สาขาสื่อสารวัฒนธรรม
- 1. นายบุญชื่น บุญเกิดรัมย์
- 2. นางวริศราลี แก้วปลั่ง
- 3. นายเทพบุตร สติรอดชมภู
- 4. อีสานทีวี
- 5. ไทยพีบีเอส (รายการไทยโชว์ ดนตรี กวีศิลป์ พันแสงรุ้ง)
"มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มีความเจริญรุ่งเรือง และสนับสนุนผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะพื้นบ้านอีสาน และศิลปะอีสานร่วมสมัย ให้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า จึงได้จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินม รดกอีสาน เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯในวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548 จนถึงปัจจุบัน สำหรับกิจกรรมการเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน ครั้งที่ 6 ประจำปีพุทธศักราช 2554 นั้น ทางมหาวิทยาลัยจะมีทั้งการแสดงเพื่อเชิดชูเกียรติ และ การจัดแสดงนิทรรศการประวัติและผลงานของศิลปินแต่ละท่านด้วย โดยพิธีมอบรางวัลจะมีขึ้นในค่ำวันที่ 2 เมษายนนี้ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และจะมีการจัดแถลงข่าวในวันที่ 28 มีนาคมนี้ด้วย"ผศ.วิชัย กล่าว และว่า
นอกจากนั้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 นี้ จะมีการจัดงาน "รวมคน รวมใจ มอบให้ เทพพร เพชรอุบล" ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ จัดเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อปี 2553 ได้จัดงาน "รวมคน รวมใจ มอบให้ ปอง ปรีดา"มาแล้ว โดยงานครั้งนี้ ต้องการจัดเพื่อช่วยเหลือศิลปิน ที่เดือดร้อน ทั้งเจ็บป่วย และ ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการนำไปใช้รักษาพยาบาล โดยการจัดงานได้รับความร่วมมือจาก เครือข่ายต่าง ๆมาร่วมกัน ทั้งสมาคมสื่อมวลชน จ.ขอนแก่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครขอนแก่น และ อื่นๆ อีกจำนวนมาก โดยปีที่ผ่านมา ในการจัดงานสามารถระดมทุนให้กับ ปอง ปรีดา มากถึง 1 แสนบาท และปีนี้ ก็คาดว่าจะมีเครือข่ายและประชาชนมาร่วมงานคับคั่งเช่นกัน
โดยงานในวันที่ 1 เมษายนนี้ จะมีศิลปินรับเชิญที่เป็นลูกศิษย์ ลูกหาของเทพพร เพชรอุบล มาร้องเพลงให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็น อังคนางค์ คุณไชย , ศักดิ์สยาม เพชรชมพู หรือแม้แต่ ครูเทพพร เพชรอุบลเอง แม้จะไม่สบายก็อยากจะร้องเพลงให้แฟนๆ ได้รับฟังกัน โดยท่านที่สนใจ สามารถสั่งจองโต๊ะ ได้ที่ สำนักวัฒนธรรม คุณบุญยืน เปล่งวาจา โดยจะมีอาหารไว้รองรับ โดยไม่ได้มีการขายโต๊ะแต่อย่างใด เพียงแต่ขอเชิญชวนร่วมบริจาค และหวลรำลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ กลิ่นอายของท้องถิ่น โดยเฉพาะเพลงดังของ เทพพร เพชรอุบล ที่รู้จักกันในท่อน "หอมดอกผักกระแยง ยามฟ้าแลงค่ำลงมา" ซึ่งเป็นท่อนที่แฟนเพลงเทพพรทุกคนต้องรู้จักแน่นอน
"เราจัดงาน เพื่อหวังสานต่อและช่วยเหลือสำหรับศิลปินที่เดือดร้อน อย่างน้อยก็เป็นการแสดงมุฑิตาจิตให้กับบรรดาศิลปินเหล่านั้น แม้จะเป็นการแบ่งเบาได้ไม่มากนัก แต่ก็ถือเป็นการช่วยเหลือและตอบแทนจากคนรุ่นหลังที่อยากจะมอบให้คนที่เคยสร้างสรรค์ผลงานเอาไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานและคนอีสานในอนาคต โดยผู้สนใจสามารถมาร่วมงานได้ และร่วมบริจาคได้ตามวันและเวลาที่กำหนด"ผศ.วิชัย บอก