ReadyPlanet.com
dot dot
ประกาศผลการตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ ๘ (ประจำปี ๒๕๕๔)

ประกาศผลการตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น
รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ ๘ (ประจำปี ๒๕๕๔)
วันพุธที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ โรงแรมตวันนา กรุงเทพฯ



วัตถุประสงค์
๑.  เพื่อพิจารณาคัดเลือกหนังสือดีเด่น และมีคุณภาพ ๗ ประเภท
๒. เพื่อส่งเสริมนักเขียนคุณภาพ
๓. เพื่อสนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม
     และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
๔. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตนเองด้านการอ่าน การเขียน
     และการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ

เวลาดำเนินโครงการ
• ส่งผลงานพร้อมใบสมัคร  กันยายน ๒๕๕๓ – มกราคม ๒๕๕๔
• คณะกรรมการตัดสินพิจารณาผลงาน กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม  ๒๕๕๔
• นำเสนอผลการตัดสินต่อ ๒๐ กรกฎาคม  ๒๕๕๔
    คณะกรรมการกิตติมศักดิ์และประกาศผลรางวัล
• มอบรางวัลหนังสือดีเด่น ๑๑ สิงหาคม  ๒๕๕๔ “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด”
 
ประเภทหนังสือเข้าประกวด ครั้งที่ ๘ (ประจำปี ๒๕๕๔)
กวีนิพนธ์
นวนิยาย
นิยายภาพ (การ์ตูน)
รวมเรื่องสั้น
วรรณกรรมสำหรับเยาวชน
สารคดี (สารคดีชาติพันธุ์วิทยา)
รางวัล “นักเขียนรุ่นเยาว์ แบ่งเป็นหมวดต่างๆ ดังนี้
    - หมวด “กวีนิพนธ์”
    - หมวด “นวนิยายขนาดสั้น”
    - หมวด “รวมเรื่องสั้น”
    - หมวด “นิยายภาพ (การ์ตูน)”

ประเภทกวีนิพนธ์ 
- ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลชนะเลิศ
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต โดย ไพวรินทร์ ขาวงาม แพรวสำนักพิมพ์ และ เรื่อง มหาวิหารแห่งสุวรรณภูมิ โดย บัญชา อ่อนดี พิมพ์ไพรสำนักพิมพ์
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง ประเทศของเราและเรื่องเล่าหลาย ๆ เรื่อง โดย อภิชาติ จันทร์แดง สำนักพิมพ์ชายขอบ

ประเภทนวนิยาย 
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง น้ำเล่นไฟ โดย กฤษณา อโศกสิน สำนักพิมพ์เพื่อนดี
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า โดย ศิริวร แก้วกาญจน์ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง บุษบาเร่ฝัน โดย ร่มแก้ว สำนักพิมพ์พิมพ์คำ (บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด) 

ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน 
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง นักล่าผู้น่ารัก โดย ชนประเสริฐ   คินทรักษ์ สำนักพิมพ์พิมพ์บูรพา
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง สายลมกับทุ่งหญ้า โดย วิเชียร ไชยบัง สำนักพิมพ์โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
- ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

ประเภทรวมเรื่องสั้น 
- ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลชนะเลิศ
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง เส้นผมบังจักรวาล โดย เอื้อ อัญชลี สำนักพิมพ์มติชน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง ไปยาลใหญ่ในปัจฉิมดำริ โดย ผาด พาสิกรณ์ สำนักพิมพ์ คเณศบุรี และ เรื่อง สงครามและความรัก โดย ประชาคม ลุนาชัย  สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่น

ประเภทสารคดี (สารคดีชาติพันธุ์วิทยา)  
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์ โดย องค์ บรรจุน สำนักพิมพ์มติชน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา โดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง สำนักพิมพ์สารคดี
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง เกิดเป็นคนใต้ โดย ล้อม เพ็งแก้ว สำนักพิมพ์ OPEN BOOKS

ประเภทนิยายภาพ (การ์ตูน) 
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง MY INSPIRATION วาดภาพและประพันธ์โดย THE DUANG สำนักพิมพ์ฟูลสต๊อป
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง Love on 20 pages วาดภาพและประพันธ์โดย NUMMON สำนักพิมพ์ LET’S Comic
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง หอมหัวใหญ่ 4 : ฉบับกุมหัวใจผู้พิการ วาดภาพและประพันธ์โดย ศุภชัย จิรคุปต์, ทรงวิทย์ สี่กิติกุล,  b-padung, อภิชาติ รอดวัฒนกุล, อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์, กระเดื่อง, Newworld, มุนินฺ, เอกชัย รอดโตนด, ไตรภัค (puck), เสี่ยแนน, สถาพร ริยะสุ, ทักษ์ ไทยทะเล สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก    
 
ประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์ 

หมวดนวนิยายขนาดสั้น
- ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลชนะเลิศ  
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง เทวดากับยาจก โดย ธามาวา (ธมลวรรณ เกิดจั่น) 
- ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
หมวดรวมเรื่องสั้น
- ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

หมวดกวีนิพนธ์
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง หมอกขาว อาบดอยเขียว โดย หมอกมุงดอย (สุรพันธุ์ สมสีดา) 
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง บนแผ่นกระดาษ โดย รัตนโกสินทร์ศก (ชาตรี ตราชู) 
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง หุบมนุษย์ โดย ธนบัตร ใจอินทร์
หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน)
- ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2          




ผลการตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ครั้งที่ ๘


ประเภท“กวีนิพนธ์ และนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์


รายนามคณะกรรมการตัดสิน
๑.  นายเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์   
    ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (ประธานคณะกรรมการตัดสิน)
๒. นางนิภา  ทองถาวร       
    ที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
๓. นายยุทธ  โตอดิเทพย์       
    อดีตนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
๔. ผศ.ดร.ตรีศิลป์  บุญขจร   
    อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๕. นายโชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์   
    กวีซีไรต์

เลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
นางสาวกรองกาญจน์ ถนอมพล   
บรรณารักษ์ห้องสมุด โรงเรียนสายปัญญาในพระบรมราชินูปถัมภ์

บรรยากาศการตัดสิน กวีนิพนธ์

 

 

ผลการตัดสินรางวัลประเภท “กวีนิพนธ์”

อ่านรายชื่อหนังสือกวีนิพนธ์ทั้งหมดที่เข้าชิงที่นี่!!!

รางวัลชนะเลิศ
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ

 

 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑
 
ประพันธ์โดย ไพวรินทร์ ขาวงาม
จัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์
โล่เกียรติยศ จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท
 

 

คำนิยม
ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต  
       
               ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต ของ ไพวรินทร์  ขาวงาม  เป็นรวมบทกวีที่นำเสนอภาพของสังคมอีสานในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปทุกระดับ ทั้งระดับสังคมโดยรวมและระดับวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล  นโยบายของภาครัฐที่ยังคงเห็นว่าอีสานเป็นดินแดนด้อยพัฒนาและแห้งแล้ง จึงนำเสนอนโยบายเปลี่ยนแปลงทุ่งกุลาร้องไห้เป็นอุตสาหกรรม เป็นแดนกาสิโนและสวนสนุกหรือให้เป็นที่นำขยะของเมือง มาทิ้ง  ผู้ประพันธ์ให้ความสำคัญกับชาวนา ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ทำนาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งแผ่นดิน แต่วิถีชีวิตของชาวนาต้องยากลำบากและระทมขมขื่น  สภาพท้องนาที่เคยอุดมและเป็นที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิตนั้น  บัดนี้แปรเปลี่ยนจนแม่โพสพก็ไม่อาจสถิตอยู่ได้
    ด้านวิถีชีวิต หนุ่มที่เคยมุ่งเข้าเมืองเพื่อความหวังไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า  มาบัดนี้ พิษของสังคมทุนนิยมและเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้รัฐส่งเสริมนโยบายกลับสู่ชนบท แต่เมื่อกลับไป สภาพสังคมก็ไม่เหมือนเดิมเพราะนโยบายการ “พัฒนา” สังคมเกษตรกรรมของอีสานให้กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม  ส่วนสาวอีสานยุคโลกาภิวัตน์มุ่งแต่งงานกับชาวต่างชาติ เพื่อยกระดับฐานะของตนเองและครอบครัว  หมู่บ้านและบ้านอีสานในวันนี้ ผู้ประพันธ์รู้สึกราวกับว่า  “ไม่มีบ้านให้กลับ” ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต
ไม่เพียงให้ภาพสังคมอีสานที่แปรเปลี่ยนในภาพกว้าง แต่ยังเน้นการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกภายใน  ของผู้คนที่รักในท้องถิ่นของตนแต่ต้องขื่นขมกับวิถีที่แปรเปลี่ยนได้อย่าง ร้าวลึกสะเทือนอารมณ์
    ในด้านศิลปะการประพันธ์ ด้วยลีลาที่รื่นไหลและหลากหลาย  บทกวีของไพวรินทร์มีเสน่ห์  ของสีสันท้องถิ่น  การผสมผสานท่วงทำนองของกลอนแบบฉบับกับรูปแบบฉันทลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ผญาและภาษาถิ่นทำให้เกิดท่วงทำนองเฉพาะตนที่สามารถให้ภาพวิถีชีวิต จิตใจและอารมณ์ของผู้คน อีสานได้อย่างเรียบง่าย แต่คมคาย ลุ่มลึกและกินใจ

 

 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

ประพันธ์โดย บัญชา อ่อนดี
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไพร
โล่เกียรติยศ จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท

คำนิยม
มหาวิหารแห่งสุวรรณภูมิ  
     มหาวิหารแห่งสุวรรณภูมิ ของ บัญชา อ่อนดี เป็นผลงานที่นำเสนอสังคมไทยร่วมสมัยซึ่งประกอบด้วยความหลากหลายแตกต่างทาง วิถีชีวิต วัฒนธรรม ค่านิยม และความเชื่อ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง และความเปลี่ยนแปลงที่มุ่งไปสู่ “ความสุขสำเร็จรูป” ผู้เขียนเรียงร้อยภาพเหตุการณ์ โดยเฉพาะภาพวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คนในแต่ละภูมิภาคได้อย่างมีพลังและ มีชีวิตชีวา สามารถจัดวางจังหวะในการนำเสนอเนื้อหาได้สอดคล้องกลมกลืนกันอย่างมีเอกภาพ
ไม่ต่างจากคีตนิพนธ์ที่มีความสอดประสานของท่วงทำนองอย่างลงตัว
    ผู้ประพันธ์สามารถนำเสนอเนื้อเรื่องได้อย่างมีโครงสร้างชัดเจน  มีลำดับการนำเสนอเรื่องราวอย่างมีขั้นตอนโดยแบ่งเนื้อหาเป็น ๓ ภาคคือ ภาคแรก ที่เป็นมา นำเสนออดีตของสังคมไทย  ภาคที่สอง ที่เป็นไป นำเสนอความเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา และภาคที่สาม ที่คงอยู่ คือสภาพการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยในปัจจุบัน 
    ผู้ประพันธ์สามารถใช้สัญลักษณ์ “มหาวิหารแห่งสุวรรณภูมิ” และลีลาทางวรรณศิลป์ซึ่งแม้จะไม่ได้เอ่ยถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อโดยตรงแต่ ใช้การพรรณนา ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่ต้องการนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิผล การใช้ถ้อยคำมีความเรียบง่ายเป็นธรรมชาติ ไม่ประดิดประดอยจนเกินพอดี สอดคล้องกับแนวคิดสำคัญของเรื่อง

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

ประพันธ์โดย อภิชาติ จันทร์แดง
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ชายขอบ
โล่เกียรติยศ จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
ประเทศของเราและเรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง 
   
    ประเทศของเราและเรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง ของ อภิชาติ จันทร์แดง เป็นรวมบทกวีที่นำเสนอเรื่องราวของสังคมไทยร่วมสมัยในมิติต่างๆ เช่น  สื่อและข่าวสารที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คน  สถานการณ์ความรุนแรง ทั้งในเมืองหลวงและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   ผู้ ประพันธ์เล่าเรื่องราวของสังคมจากมุมมองของชีวิตผู้คนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ล้วนต้องตกอยู่ในภาวะแห่งความหวาดกลัวในทุก ขณะของการใช้ชีวิตประจำวัน  ความระทดท้อต่อชีวิตในท่ามกลางความรุนแรงและ ภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ   ผู้ประพันธ์ไม่เพียงแต่พรรณนา เหตุการณ์แต่ยังตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมเพื่อให้ผู้อ่านเห็นใจและเข้าใจสภาพการณ์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น
    ด้านรูปแบบการประพันธ์  ผู้ประพันธ์ใช้กลอนสุภาพและกลอนเปล่าในการนำเสนอ เรื่องเล่าต่างๆ จากหลากหลายมุมมองด้วยลีลาที่เรียบง่ายแต่กินใจ

 

ผลการตัดสินรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด “กวีนิพนธ์”

รางวัลชนะเลิศ

“หมอกขาวอาบดอยเขียว”
ประพันธ์โดย หมอกมุงดอย (สุรพันธุ์ สมสีดา) (หนังสือทำมือ)
เกียรติบัตรจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๑๕,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
หมอกขาวอาบดอยเขียว
    เป็นรวมบทกวีที่มีเนื้อหาสาระสะท้อนความภาคภูมิใจในความเป็น “คนเมือง” หรือคนภาคเหนือได้อย่างมีพลัง โดยนำ “คำเมือง” มาสอดใส่ในผลงานได้อย่างมีวรรณศิลป์ รวมทั้งหยิบยืมความรุ่มรวยทางรูปแบบวรรณกรรมล้านนามาใช้ได้อย่างเหมาะสมกลม กลืน แม้จะมีข้อด้อยเชิงฉันทลักษณ์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการลดทอนพลังในการนำเสนอความประทับใจโดยภาพรวม

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

“บนแผ่นกระดาษ” (หนังสือทำมือ) ประพันธ์โดย รัตนโกสินทร์ศก (ชาตรี ตราชู)
เกียรติบัตรจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
บนแผ่นกระดาษ     
    เป็นรวมบทกวีสะท้อนความคมชัดของทัศนะที่ปรากฏในเนื้อหาแต่ละเรื่องได้อย่างโดดเด่น มีมุมมองในการนำเสนอที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น สามารถเล่นคำได้อย่างมีวรรณศิลป์ ทั้งเสียงและความหมาย แม้จะมีปัญหาเรื่องสัมผัสซ้ำและการใช้ถ้อยคำอยู่บ้าง

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

“หุบมนุษย์” (หนังสือทำมือ) ประพันธ์โดย ธนบัต ใจอินทร์
เกียรติบัตจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๕,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
หุบมนุษย์     
    เนื้อหาที่นำมาสื่อมีความเข้มข้นระดับปานกลางและมีฝีมือในการร้อยกรองระดับดี แม้จะมีข้อควรพัฒนาเชิงฉันทลักษณ์ เช่น การใช้คำสัมผัสซ้ำ หากมีการคัดสรรผลงานที่นำมารวมเป็นเล่มให้มีความเข้มข้นทั้งด้านเนื้อหาและปริมาณให้มากกว่านี้จะเป็นรวมบทกวีที่มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

 


ประเภทสารคดี (สารคดีชาติพันธุ์วิทยา)

รายนามคณะกรรมการตัดสิน
๑. ศ.ดร.กีรติ  บุญเจือ
    ราชบัณฑิต (ประธานคณะกรรมการตัดสิน)
๒. ศ.พิเศษ ทองต่อ  กล้วยไม้ ณ อยุธยา   
    อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร
๓. นายสมหมาย  ปาริจฉัตต์       
    รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
๔. นายวันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์       
    รองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
๕. นายธีรภาพ  โลหิตกุล
    นักเขียนสารคดี
๖. นายโตมร  ศุขปรีชา                   
   
บรรณาธิการ  นิตยสารจีเอ็ม

เลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
นายสุพจน์  ชิตเกษรพงศ์       
รองกรรมการผู้จัดการ สำนักบัญชี-กิจการสนับสนุนและการศึกษา
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
นางชนาภา  ลิมปิวิโรจน์
ผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานบัญชีประกันภัย
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

บรรยากาศการตัดสิน สารคดี (สารคดีชาติพันธุ์วิทยา)

 

ผลการตัดสินรางวัลประเภทสารคดี  (สารคดีชาติพันธุ์วิทยา)

รางวัลชนะเลิศ

ประพันธ์โดย องค์  บรรจุน    
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน
โล่พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์     
    
หนังสือเล่มนี้เป็นบทความที่ได้มาจากการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ถึง ๒๒ คน ที่หลากหลายเผ่าพันธุ์จากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย และแต่ละคนล้วนมีความภูมิใจในเผ่าพันธุ์ของตน แม้ทุกคนจะรักและเต็มใจเสียสละให้ประเทศไทย แต่ก็ยังต้องการรักษาเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนเอง ชี้ชัดว่าสังคมไทยเป็น “พหุสังคม” คือมีผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมมาอยู่รวมกันอย่างกลมกลืน สงบสุข
           งานเขียนมีลักษณะเป็นสารคดีชีวิตของผู้ดำรงอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ตนเองไว้อย่างเด่นชัด ซึ่งมิได้มีเพียงชนเผ่าที่เราคุ้นเคย แต่ยังเจาะลึกถึงเผ่าพันธุ์เล็ก ๆ อย่าง ชาวซอง ชาวลาวครั่ง ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้เขียนพากเพียรเดินทางไปสัมภาษณ์ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นสารคดีที่มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ มีข้อมูลน่าเชื่อถือ อันเกิดจากการค้นคว้า ศึกษา วิจัย ส่งผลให้เป็นหนังสือชวนอ่าน จุดประกายความคิดให้สังคมตระหนักว่า ความภาคภูมิใจในตนเอง ควรอยู่บนพื้นฐานของการเคารพและเข้าใจคนอื่นด้วย
           กลวิธีการนำเสนอของหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ เพราะใช้การสัมภาษณ์บุคคลชาติพันธุ์ต่างๆ แล้วนำมารวมไว้ในเล่มเดียว จึงให้เห็นภาพกว้างของความหลากหลายของชนเผ่าในประเทศไทย ด้วยวิธีเขียนที่ไม่เป็นทางการมากเกินไป จึงอ่านสนุก พร้อมกับมีเรื่องเล่าต่างๆ ที่น่าทึ่ง และแสดงสายสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าต่างๆ ให้เห็น ทั้งจากการตั้งสมมุติฐาน การเก็บข้อมูล และการสัมภาษณ์ จึงเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ด้วยภาษาง่ายๆ และอ่านได้ด้วยความเพลิดเพลิน ทรงคุณค่าแก่การเป็นหนังสือชนะเลิศรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภท สารคดีชาติพันธุ์วิทยา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

ประพันธ์โดย วีระศักดิ์  จันทร์ส่งแสง
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สารคดี    
โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา
    สารคดีนำเสนอเรื่องราวกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานอยู่ในเขตภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่เรื่องพิธีวิวาห์ตามวิถีของชาวเผ่าเมี่ยน จังหวัดน่าน เรื่องชนเผ่าปกากะญอ บนเทือกเขาธงชัยกับการรักษาป่ารักษาน้ำ เรื่องของชาวไทใหญ่ กลุ่มชนที่มีที่ดินแดนและประเพณีวัฒนธรรมของตน กับความพยายามแสวงหาเอกราช และกะเหรี่ยงฤษีแห่งป่าตะวันตก ชนกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ยังนับถือฤษีเป็นผู้นำทางความเชื่อและจิตวิญญาณ
               ความงดงามทางวัฒนธรรมของชนเผ่าเหล่านี้ นำเสนอผ่านลีลาภาษาสำนวนอันละเมียดละไม บอกเล่าความเป็นมาเป็นไปของคติความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม อย่างลุ่มลึก และน่าเชื่อถือ จากการที่ผู้เขียนค้นคว้าข้อมูลอย่างรัดกุม สอดแทรกทัศนคติและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนพอประมาณ เป็นการผสมผสานข้อมูลทางกายภาพ เข้ากับข้อมูลทางจินตภาพอย่างมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ส่งผลให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสเต็มอิ่ม จุดประกายคิดให้ตระหนักในคุณค่าของความเป็นมนุษย์อันพึงเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองหลัก หรือชนชาติส่วนน้อย
    อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่หยิบยกประเด็นอื่นขึ้นมาพูด อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อม การสร้างเขื่อน ซึ่งในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่าไม่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นผลกระทบของการจัดการทรัพยากรสมัยใหม่ ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มชาติพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรวมแล้วจึงทรงคุณค่าที่จะเป็นหนังสือรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดีชาติพันธุ์วิทยา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

ประพันธ์โดย ล้อม  เพ็งแก้ว    
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Open books
โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  และเงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
เกิดเป็นคนใต้    
    เป็นอัตชีวประวัติแบบไทยๆ บรรยายความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรไทยสามัญที่อยู่ในชนบทห่างไกลของภาคใต้ ในเรื่องการหาอยู่หากิน และวัฒนธรรมด้านอื่นๆ เช่น ระบบคุณค่า ความสัมพันธ์ทางสังคม โลกทรรศน์และชีวทรรศน์ที่สอดคล้องกันกับภาวะวิสัยของการหาอยู่หากิน ด้วยฝีมือการบรรยายชั้นครู
               แต่ถึงแม้จะมีลักษณะเป็นอัตชีวประวัติ ทว่าเกร็ดต่างๆ ที่แทรกอยู่ คือองค์ความรู้ทางชาติพันธุ์วิทยา โดยผู้คร่ำหวอดและศึกษาหาความรู้ด้วยวิถีอย่างปราชญ์ วิธีเล่าเรื่องสนุกสนาน เป็นกันเอง แต่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ทำให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน อิ่มเอมในอรรถรสและความรู้รอบด้าน  ทรงคุณค่าที่จะเป็นหนังสือรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดีชาติพันธุ์วิทยา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔

หนังสือแนะนำ ประเภทสารคดี (สารคดีชาติพันธุ์วิทยา)

1. “เด็กชายกับนกเงือก ความงาม ความหวัง เผ่าชนคนเดินทาง”
   ของ องอาจ เดชา

                 สารคดีชีวิตชนเผ่าอันหลากหลายบนดอยสูงแห่งภาคพื้นพายัพของประเทศไทย อันประกอบด้วย ชาวปกาเกอะญอ คะฉิ่น ลีซู ดาระอั้ง ลาหู่ ลัวะ อาข่า และไทใหญ่ นำเสนออย่างมีลีลาทางวรรณศิลป์ โดยสอดแทรกนิทานพื้นบ้าน ตำนานท้องถิ่น คติชนนิยมของแต่ละเผ่าพันธุ์ อันเกิดจากการลงไปคลุกคลีกับผู้คนบนดอยสูงเป็นเวลายาวนาน ทำให้เป็นหนังสือชวนอ่าน ชวนติดตาม  และสร้างสำนึกเชิงสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ท่ามกลางความแตกต่าง
               ผู้เขียนเล่าถึงพิธีกรรม จารีตวัฒนธรรม เอกลักษณ์เครื่องแต่งกาย ภาษา ฯลฯ อันแสดงให้เห็นถึงคุณค่า ความหมาย ที่ทำให้เกิดเผ่าพันธุ์หนึ่งขึ้นมา แต่ประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์ของชีวิตที่ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งต่างๆ กับอารยธรรมอื่น ปัญหาเรื่องดินแดน การแย่งชิงทรัพยากร การคุกคามชีวิต สมควรที่บุคคลภายนอกจะทำความเข้าใจกับความหลากหลายเหล่านี้
               จึงนับว่าทรงคุณค่าแก่การเป็น “หนังสือแนะนำให้อ่าน” เล่มที่ 1

2. “ไทดำ” เมืองแถง “ทรงดำ” ถิ่นสยาม จาก หนองแฮด ถึง หนองปรง
   ของ อ.บุญยงค์ เกศเทศ

            สารคดีบันทึกเรื่องราว การปรับเปลี่ยนวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ “ไทดำ” หรือในชื่อเรียกอื่นอีกหลายชื่อ คือผู้ไท ไททรงดำ หรือ ลาวโซ่ง ซึ่งยังรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และพิธีกรรมอันเป็นอัตลักษณ์ตนไว้อย่างน่าชื่นชม แม้ในห้วงสองศตวรรษที่ผ่านมา ชาวไทดำจะถูกกวาดต้อนให้อพยพโยกย้ายกระจัดกระจายไปตั้งถิ่นฐานในหลายถิ่นที่ของภูมิภาคอุษาคเนย์ก็ตามที
            ทั้งนี้ ผู้เขียนยกกรณีศึกษาชาวไททรงดำ บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีหลักฐานว่าแต่ดั้งเดิมอพยพมาจากบ้านหนองแฮด ณ เมืองแถง หรือเดียนเบียนฟู ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม โดยผู้เขียนเดินทางเข้าไปสำรวจ ศึกษาและวิจัย ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทดำบ้านหนองแฮด อย่างละเอียด แล้วนำมาเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมประเพณีของชาวไททรงดำบ้านหนองปรง ก่อนจะนำมาถ่ายทอดเป็นสารคดีชาติพันธุ์วิทยา ด้วยภาษาสำนวนที่เข้าใจง่าย ชวนอ่าน ชวนติดตาม ก่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นถิ่น อันควรค่าแก่การปกปักรักษาไว้ จึงนับว่าทรงคุณค่าแก่การเป็น “หนังสือแนะนำให้อ่าน” เล่มที่สอง

3. “ใบสอนว่าซั่น”
   ของ มนตรา เลี่ยวเส็ง

              หนังสือแสดงวิถีชีวิตของชาวอีสาน เป็นตำนานที่สร้างความภาคภูมิใจให้อนุชนคนรุ่นหลัง เพราะได้สะท้อนให้เห็นขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับการดำเนินชีวิตของคนชนบท และสิ่งที่สำคัญคือเป็นแหล่งรวมศูนย์ความรู้อันหลากหลาย นำเสนอด้วยภาษาวรรณศิลป์ที่มีชีวิตชีวา ได้อรรถรส เข้มข้นด้วยสาระน่าประทับใจ ในการเล่าเรื่องตั้งแต่เกิดจนแก่ โดยสอดแทรกข้อคิด คติธรรมความรู้ไว้มากมายในระหว่างบรรทัด มีการใช้ภาษาไทยปนลาวอย่างกลมกลืน ทำให้รู้สึกว่าอยู่ในวัฒนธรรมลาวฝั่งไทยอย่างชัดเจน
             จึงนับว่าทรงคุณค่าแก่การเป็น “หนังสือแนะนำให้อ่าน” เล่มที่ 3


ประเภทเรื่องสั้น

รายนามคณะกรรมการตัดสิน
๑. นายประภัสสร  เสวิกุล   
   อดีตอัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต ณ ประเทศชิลี
   และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรม กระทรวงวัฒนธรรม
   (ประธานคณะกรรมการตัดสิน)
๒. นายอัศศิริ ธรรมโชติ   
   ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์/นักเขียนรางวัลซีไรต์
๓. นายนิเวศน์ กันไทยราษฎร์   
   นักเขียน / คอลัมนิสต์
๔. รศ. ยุพร แสงทักษิณ   
   ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๕. นางเพ็ญแข  คุณาเจริญ   
   ข้าราชการบำนาญ  ราชบัณฑิตยสถาน
๖.  นายนิรันศักดิ์  บุญจันทร์   
   นักเขียน/บรรณาธิการ “จุดประกายวรรณกรรม” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
๗.  นายพินิจ  นิลรัตน์   
   นักเขียน/คอลัมนิสต์วรรณกรรม กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

เลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
นางสาวพัชรี  ลินิฐฎา       
กรรมการบริหาร สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย

ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
นางสาวนิภาพรรณ  ธาราสันติสุข   
อาจารย์ภาษาไทยโรงเรียนสตรีวัดระฆัง

บรรยากาศการตัดสิน รวมเรื่องสั้น

 

ผลการตัดสินรางวัลประเภทรวมเรื่องสั้น

รางวัลชนะเลิศ
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

ประพันธ์โดย เอื้อ อัญชลี
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน
โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
เส้นผมบังจักรวาล
    “เส้นผมบังจักรวาล” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ถ่ายทอดความเป็นไปของชีวิต ผ่านบทบาทของตัวละครในฉากเล็กๆ แคบๆ และธรรมดาดังที่พบเห็นกันอยู่  แต่ด้วยมุมมองและจินตนาการของผู้เขียน ภาพที่ปรากฏต่อผู้อ่านกลับมีแง่มุมแปลกใหม่ที่น่าสนใจและชวนให้ขบคิดตาม
     ผู้เขียนมีศิลปะในการเล่าเรื่องด้วยลีลาภาษาร่วมสมัย และสร้างโครงเรื่องที่หลากหลาย ใช้กลวิธีต่างกัน มีทั้งแนวสมจริง เหนือจริง สัญลักษณ์ และอื่นๆ  นำผู้อ่านไปสัมผัสกับความรัก ความชัง ความทุกข์ ความสุข ความเจ็บปวด และความเฉยชาที่มีอยู่ในการเกิด การตาย  และการดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตอยู่ของตัวละคร  และสื่อความหมายเป็นนัยว่า ถ้ามองทะลุตัวละครเหล่านั้นไป ก็จะได้พบความจริงเช่นเดียวกันในโลก

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ (มี ๒ รางวัล)

ประพันธ์โดย ผาด พาสิกรณ์
จัดพิมพ์โดย คเณศบุรี
โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
ไปยาลใหญ่ในปัจฉิมดำริ         
    “ไปยาลใหญ่ในปัจฉิมดำริ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีเอกลักษณ์ เพราะหลายเรื่องผู้ประพันธ์นำเสนอประเด็นโต้แย้งที่เกิดจากมุมมอง  แง่คิด  จากพฤติกรรมที่เห็นและเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมไทยยุคปัจจุบัน  เช่น  ประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ – การฉกฉวยโอกาส    ค่านิยมด้านเพศรส – พรหมจรรย์    วิถีกรุง – วิถีชนบท ฯลฯ  ซึ่งประเด็นโต้แย้งต่าง ๆ ดังกล่าวนี้  ท้ายที่สุดผู้อ่านจะได้รับคำตอบที่กระจ่างเมื่ออ่านเรื่องจบลงอย่างใคร่ครวญ
    ผู้ประพันธ์มีกลวิธีการนำเสนอด้วยลีลาที่แตกต่าง  ทั้งยั่วล้อ  เสียดสี  ประชดประชัน  และเคร่งขรึมจริงจัง  และด้วยศักยภาพในการใช้ภาษาได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง  รู้จักเล่นสนุกกับคำและสำนวนทั้งในด้านเสียงและความหมาย  ทำให้หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นงานเขียนที่มีเสน่ห์  มีชีวิตชีวา  ชวนอ่าน

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ (มี ๒ รางวัล)

ประพันธ์โดย ประชาคม  ลุนาชัย
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์
โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
สงครามและความรัก
    “สงครามและความรัก” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีความเด่นในด้านการใช้ภาษาซึ่งสามารถควบคุมและขับเคลื่อนเรื่องราว เพื่อสื่อความคิดมาถึงผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ประพันธ์มีชั้นเชิงในด้านการสรรคำมาร้อยเรียงได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนและมีคุณค่าทางวรรณศิลป์
    นอกจากนี้เนื้อหาในเรื่องสั้นยังมีแง่มุมหลากหลายในขณะเดียวกันก็มีเอกภาพที่สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์จำเป็นต้องดำรงอยู่ร่วมกันด้วยเสรีภาพและความรักเป็นหลักสำคัญ

 


ประเภท “นวนิยาย”

รายนามคณะกรรมการตัดสิน   
๑. ศ.ดร.รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์   
   อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ประธานคณะกรรมการตัดสิน)
๒. นายอดุล  จันทรศักดิ์   
   ตุลาการหัวหน้าคณะกลางศาลปกครองกลาง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
๓. นางชมัยภร  บางคมบาง   
   ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
๔. นายฐนธัช  กองทอง   
   อาจารย์สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
๕. นางสาวมณฑา  ศิริปุณย์   
   บรรณาธิการ นิตยสาร “ขวัญเรือน”
๖. ผศ.สมเกียรติ คู่ทวีกุล   
   อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๗. นางพรธาดา สุวัธนวนิช   
อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
นางสาวพัชรี  ลินิฐฎา
กรรมการบริหาร สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย

ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
นางสาวนิภาพรรณ  ธาราสันติสุข    อาจารย์ภาษาไทยโรงเรียนสตรีวัดระฆัง

บรรยากาศการตัดสิน นวนิยาย



ผลการตัดสินรางวัลประเภทนวนิยาย

รางวัลชนะเลิศ

ประพันธ์โดย กฤษณา  อโศกสิน
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เพื่อนดี
โล่พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
น้ำเล่นไฟ
    นวนิยายเรื่องน้ำเล่นไฟของกฤษณา  อโศกสิน  นำเสนอคุณค่าของอาชีพเกษตรกรรมผ่านเรื่องราวของครอบครัวเกษตรกรหัวก้าวหน้าไปพร้อมกับครอบครัวของเศรษฐีเจ้าของ ตลาดสดสมัยใหม่  ทั้งสองครอบครัวมีลักษณะที่เหมือนกันคือประกอบอาชีพด้วยจิตใจมุ่งมั่น  ขยันขันแข็ง  อดทน  และดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์ และอดออม ประกอบกับใช้สติ  ปัญญา ความรู้ที่สืบทอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ  และนำแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพและดำรงตน  ให้พอดี  พอประมาณ  และพอใจ  อันสร้างความสุขแก่บุคคลและสังคมอย่างยั่งยืน  เส้นทางของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าคุณภาพ ปลอดสารพิษ  ที่ใส่ความรักความอาทรลงในทุกพืชผลและพื้นดิน  รับผิดชอบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม  จึงมาบรรจบกับนายทุนเจ้าของตลาดผู้มีเจตนารมณ์ในการจำหน่ายสินค้าดี  สร้างเสริมคุณภาพชีวิตแก่ผู้บริโภค  พร้อมกับดำเนินธุรกิจของตนให้เป็นตลาดสดครบวงจรที่สะอาด  สะดวก  ปลอดภัย  เป็นธรรม และเป็นมิตรทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ
    นายทุนและเกษตรกรดูเหมือนจะเป็นคู่ตรงข้าม  โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เอาเปรียบ  อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียเปรียบ  แต่ในนวนิยายเรื่องนี้  ผู้ประพันธ์แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่แลดูเหมือนอยู่คนละขั้ว  คนละฝ่าย อาจไม่ใช่สิ่งที่แย้งกัน  หากแต่อาจจะเป็นสิ่งที่เสริมให้อีกฝ่ายหนึ่งโดดเด่นขึ้นเมื่อความสัมพันธ์นั้นดำเนินไปตามธรรมะ และตามธรรมชาติ  น้ำเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับไฟ  หากแต่แสงเจิดจ้าของไฟที่ส่องกระทบน้ำทำให้เกิดประกายระยิบระยับ  คลื่นน้ำและแสงไฟจึงเล่นล้อกันไปมาเป็นภาพงดงามจับใจ   ดังข้อความที่ผู้ประพันธ์บรรยายไว้ว่า  “ยามเมื่อลมพัดมาพาเอาระลอกน้ำในนากุ้งแล่นละลิ่วพลิ้วตามกัน  ครั้นกระทบแสงอาทิตย์อันกราดกล้า  ก็ยิ่งสะท้อนประกายพาให้น้ำระยิบระยับจับนัยน์ตาจำเริญใจ”  ดังนั้น  นวนิยายเรื่องน้ำเล่นไฟจึงเสนอให้เห็นว่านายทุนและเกษตรกรต่างต้องพึ่งพาเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกัน  อันเป็นการดำเนินเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์  โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมคุณภาพของชีวิต  คุณภาพของสังคม  คุณภาพของประเทศชาติ  และคุณภาพของประชาคมโลกในที่สุด
    ถึงแม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะนำเสนอประเด็นทางสังคมที่หนักหน่วง  แต่ผู้ประพันธ์ก็มิได้ละเลยเสน่ห์ของนวนิยายที่ชวนอ่านด้วยการสร้างปมขัดแย้งในครอบครัว   ปมขัดแย้งในใจของตัวละคร  และความไม่ลงรอยกันของตัวละครคู่เอก  ซึ่งในที่สุดก็คลี่คลายลงด้วยดีเพราะมีความรักและอุดมคติชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน  
    ด้วยเหตุที่นวนิยายเรื่องน้ำเล่นไฟมีความโดดเด่นในด้านเนื้อหา  แนวคิดที่สร้างสรรค์  การสร้างตัวละครที่มีชีวิตชีวา  การนำเสนอรสอารมณ์ที่บันเทิงใจ  ภาษาและกลศิลป์ที่เนียนงามด้วยฝีมือของผู้ประพันธ์ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์  คณะกรรมการจึงมติให้นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด  ประจำปี  ๒๕๕๔

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

ประพันธ์โดย ศิริวร แก้วกาญจน์
จัดพิมพ์โดย แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)
โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า
    ศิริวร  แก้วกาญจน์สร้างสรรค์นวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้าโดยนำเสนอประเด็นเนื้อหาในระดับมหภาค  นั่นคือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ที่ผู้มีอำนาจกระทำต่อชนกลุ่มน้อย  การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารเพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย   และอำนาจทุนนิยมที่ฉกฉวยประโยชน์ทุกวิธีแม้กระทั่งจุดไฟสงคราม 
    เรื่องราวของชาวกระเหรี่ยงอพยพหนีทหารพม่าที่ปล้น ฆ่า ข่มขืน  บ้านเรือนถูกเผา  ครอบครัวกระเจิดกระเจิงพลัดพราก  และเรื่องราวของนักศึกษาพม่าที่หลบหนีลี้ภัยจากการกวาดล้างของรัฐบาลทหารมาใช้ชีวิตในค่ายอพยพและเมืองเล็กบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า  รวมทั้งเรื่องราวของประชาชนชาวพม่าที่ถูกกดขี่รังแกต้องหลบซ่อนในป่าเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศของตนเอง   ถูกถ่ายทอดในนวนิยายชื่อยาวนี้ด้วยเทคนิควิธีต่าง ๆ  ได้แก่ การเล่าเรื่องตัดสลับไปมาที่ทำให้เวลาเลื่อนไหลอยู่ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน  การใช้ภาพเหนือจริง  การแทรกตำนานและนิทานพื้นบ้าน  เรื่องราวของคนชายขอบ  นัยเปรียบเทียบระหว่างความทุกข์เศร้าส่วนตัวกับความทุกข์เศร้าของมนุษยชาติ  และการใช้รูปแบบของนวนิยายที่แทรกด้วยบันทึกส่วนตัวของตัวละคร ผู้เล่าเรื่องซึ่งเป็นการสร้างเรื่องเล่าคู่ขนาน     ๒    เรื่องเพื่อทำลายนิยามของนวนิยายตามขนบเดิมกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่มีลักษณะของคตินิยมหลังสมัยใหม่ (post-modernism) อันเป็นพัฒนาการของวรรณกรรมไทย ร่วมสมัย
    ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้าอยู่ที่การสร้างบรรยากาศของความเศร้าที่กัดกินใจของผู้อ่าน แววตาหม่นมัว  ใบหน้าโศกหมอง  น้ำตาที่ต้องกักกั้นกันไว้ในอกเพื่อไม่ให้ความเศร้าแพร่ออกไปสู่ผู้อื่นเหมือนโรคระบาด  ความหวาดกลัว  หวั่นระแวง  ที่เกาะกุมใจจนแทบไม่อาจควบคุมสติ  ลมหายใจแห่งความหม่นหมอง  มืดมน  มัวซัว  สลดหดหู่    ไร้ความหวัง  ระบายอยู่แทบทุกบรรทัด  ผู้อ่านจึงได้ซึมซับความรู้สึกสูญเสียของคนที่ถูกปล้นชิงทรัพย์สิน  และความเป็นคน   และเศร้าสร้อยไปกับความเจ็บปวดของคนพลัดถิ่นที่ไม่มีผืนแผ่นดินใต้ฝ่าเท้าให้เหยียบยืน
    นวนิยายเรื่องนี้บอกเราว่า   ยิ่งโลกก้าวรุดไปข้างหน้า   มนุษย์ก็ยิ่งถอยห่างจากความรัก  ความดีงาม  ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันซึ่งเคยหยั่งรากอยู่ในจารีตวัฒนธรรมเก่าแก่มากยิ่งขึ้น
    นวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้าได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี ๒๕๕๔

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

ประพันธ์โดย ร่มแก้ว
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์พิมพ์คำ
โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
บุษบาเร่ฝัน
    ความทุกข์ที่กัดกร่อนใจมนุษย์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือความอิจฉา  มนุษย์ส่วนใหญ่มักไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีและเป็น  “ร่มแก้ว” นำเสนอความคิดนี้ผ่านหญิงสาวคนหนึ่งที่ไม่มีอะไรโดดเด่น ไม่ว่าหน้าตา  การเรียน ความสามารถในการทำงาน เธอกลืนหายไปในหมู่ผู้คน  เธอมักคิดจะเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นอยู่เนืองๆ  และเฝ้าฝันแต่เพียงว่าเธอจะเป็นเช่นนั้นบ้าง  เพราะเธอรู้ตัวดีว่าไม่อาจปรับบุคลิก เปลี่ยนนิสัย รื้อภูมิหลัง หยิบฉวยพรสวรรค์ของใครมาเป็นของตัวเองได้  นอกเสียจากว่าปาฏิหาริย์จะบังเกิด
    เหมือนชะตากรรมเล่นตลก สิ่งสมมุติในใจเธอกลับเป็นจริง  เธอสวมชีวิตของคนอื่นที่เอาเข้าจริงๆแล้วก็ไม่ได้หรูเลิศวิไลดังในความฝัน  ทุกชีวิตล้วนมีปัญหา มีความลับที่ซ่อนเร้น มีทุกข์ที่แบกไว้ซึ่งผู้อื่นไม่เคยล่วงรู้  ในร่างของคนอื่น  เธอได้มองตัวเองและเห็นชีวิตที่ผ่านมาซึ่งอาภัพและอับโชค  ว่าช่างดีเสียยิ่งกว่าชีวิตของคนอื่นที่เธอเคยอิจฉา  เธอเคยมองข้ามกระทั่งความรักความปรารถนาดีของผู้คนที่รายล้อม  เฝ้าครุ่นคิดแค้นเคืองโชคชะตา  แต่แล้วในที่สุดโชคชะตาก็กลั่นแกล้งเธอ
    ร่มแก้ว” สามารถนำเสนอชีวิตของผู้หญิงสี่คนสี่แบบได้อย่างมีมิติ  ทุกคนมีทุกข์ที่ ต้องทน มีฝันที่ต้องก้าว มีความรักที่อยากครอบครอง  ”สลับร่างสร้างเรื่อง” ไม่ใช่กลวิธีใหม่แต่ “ร่มแก้ว” สามารถใช้กลวิธีนี้ดำเนินเรื่องอย่างน่าติดตาม  และคนอ่านเอาใจช่วยให้ปาฏิหาริย์บังเกิดแม้จวนเจียนจะหมดหวัง ราวกับแฝงนัยว่าการเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราเป็นเรื่องยาก แต่การหวนกลับมาเป็นตัวเราที่เปลี่ยนไปเป็นคนอื่นแล้วแสนเข็ญเสียยิ่งกว่า  สารของเรื่องนี้ชวนให้ฉุกคิดย้อนทบทวนมองหาความสามารถที่ไม่เคยรู้ตัวว่ามี ให้ภูมิใจในตัวเอง รักในสิ่งที่มี   เห็นค่าในสิ่งที่เป็น  เพราะนั่นคือพรอันประเสริฐยิ่งที่มนุษย์พึงมอบให้แก่ตนเอง
    คณะกรรมการตัดสินนวนิยาย รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด  ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔  ลงมติให้นวนิยายเรื่องบุษบาเร่ฝันได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

 


“วรรณกรรมสำหรับเยาวชน และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์
หมวดนวนิยายขนาดสั้นและรวมเรื่องสั้น”

บรรยากาศการตัดสิน วรรณกรรมสำหรับเยาวชน


ผลการตัดสินรางวัลประเภท “วรรณกรรมสำหรับเยาวชน” 

 

รางวัลชนะเลิศ

ประพันธ์โดย ชนประเสริฐ  คินทรักษ์
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์  พิมพ์บูรพา
โล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท


 

คำนิยม
นักล่าผู้น่ารัก
    นักล่าผู้น่ารัก เป็นนวนิยายเกี่ยวกับสุนัขที่นำเสนอโดยเน้นเรื่องราวชีวิตของสุนัขสองตัวที่มี
ภูมิหลัง และพฤติกรรมแตกต่างกัน แต่ชะตาชีวิตทำให้ได้พบและร่วมเดินทางผจญภัยจนเกิดมิตรภาพแน่นแฟ้น และนำไปสู่ความสำเร็จ แม้ว่าเป็นเรื่องของสัตว์เลี้ยงธรรมดา แต่หนังสือเรื่องนี้ก็มีความโดดเด่นด้วยโครงเรื่องที่สนุกสนานให้สาระความรู้ที่มีประโยชน์ และสอดแทรกข้อคิดที่เหมาะสมไว้อย่าง แยบยล
    “นักล่าผู้น่ารัก” มีองค์ประกอบของวรรณกรรมเยาวชนที่ดี ทั้งในด้านโครงเรื่อง ตัวละคร แนวคิดและสำนวนภาษา โครงเรื่องสนุกสนานชวนติดตาม มีปมปัญหาและข้อขัดแย้งทั้งในด้านความคิดจิตใจของตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งตัวละครต้องใช้สติปัญญา ความกล้าหาญ และความร่วมมือแก้ปัญหาโดยไม่เคยสิ้นความหวัง  ตัวละครมีความชัดเจนทั้งรูปร่างลักษณะ ความคิดและความรู้สึก ด้วยการบรรยายเรียบง่าย บทสนทนาที่เหมาะสมกับบทบาทและบุคลิกของตัวละคร และข้อมูลพื้นฐานพฤติกรรมของตัวละคร ผู้ประพันธ์มีกลวิธีที่แนบเนียนในการนำเสนอแนวคิด โดยสะท้อนตัวละครเอกที่มีความแตกต่าง และขัดแย้งกัน   แต่เมื่อต้องเดินทางร่วมทุกข์ร่วมสุข ฟันฝ่าอุปสรรคอันตรายต่าง ๆ จึงเกิดมิตรภาพแน่นแฟ้น เป็นที่ประทับใจ และสะท้อนแนวคิด และคุณธรรมด้านความสุขของการเป็นผู้ให้ความเอื้อเฟื้อ การยอมรับและรับฟังผู้อื่น ความกล้าหาญอดทน ความหวัง ซึ่งช่วยให้ผ่านพันอุปสรรคไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ นอกจากนี้ยังเสนอความคิดต่อสังคมเรื่องสัตว์เลี้ยงผ่านบทสนทนาของตัวละครที่เป็นคนโดยสะท้อนพฤติกรรมของผู้ที่รักและเมตตาสัตว์อย่างแท้จริง ซึ่งจะคงอยู่ตลอดไป กับ ผู้ที่รักอย่างมีเงื่อนไข หรืออาจเปลี่ยนเป็นความโหดร้าย และการทอดทิ้ง เมื่อสิ้นประโยชน์หรือเสื่อมค่าลง ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงจึงต้องมีความรัก ความเมตตา และรับผิดชอบดูแลสัตว์เลี้ยงของตนตลอดไป
    หนังสือเรื่องนี้เรียบเรียงด้วยสำนวนภาษากระชับสละสลวย และมีความไพเราะ งดงามสอดคล้องกับเนื้อหา มีการเปรียบเทียบคมคาย ให้ภาพพจน์และเข้าใจง่าย การนำเสนอเนื้อหาซึ่งแบ่งเป็นบทย่อย มีการขึ้นต้น และจบบทที่สอดรับสัมพันธ์กันอย่างดี และแทรกภาพประกอบสวยงามเข้ากับ เนื้อเรื่อง นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่า ทั้งสำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่
    หนังสือเรื่อง “นักล่าผู้น่ารัก” จึงสมควรได้รับการยกย่องเป็นหนังสือดีเด่นรางวัล “ เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด” ประเภท “วรรณกรรมสำหรับเยาวชน” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

ประพันธ์โดย วิเชียร ไชยบัง
จัดพิมพ์โดย โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
โล่เกียรติยศ จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
สายลมกับทุ่งหญ้า
    เรื่องราวของตากับหลานที่มีรายละเอียดอันอ่อนโยนของชีวิต  ซึ่งดำเนินไปตามวิถีโลก  บอกเล่าถึงความผูกพันของคนสองวัย  คือ  กายในวัยที่กำลังเรียนรู้เพื่อความเข้มแข็งกับตาคำผู้ซึ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตอันเข้มข้นและมองทุกอย่างผ่านสายตาอันลึกซึ้งแหลมคม
    การดำรงอยู่และเติบโตขึ้นของกายสวนทางกับความร่วงโรยและการจากพราก ของตาคำ  แต่เรื่องราวระหว่างบรรทัดนั้นเองที่ทำให้กายและผู้อ่านได้ค้นพบความหมายของชีวิตผ่านสายลมกับทุ่งหญ้าอันงดงามในความเป็นจริง
    วิเชียร  ไชยบัง  สามารถใช้ภาษาและจินตนาการก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และชวนติดตามเรื่องราวของตัวละครที่เปรียบเสมือนบุคคลที่เราได้พบเห็นในสังคมชนบทที่ยังมีความรัก  ความผูกพันและอบอุ่นไปด้วยน้ำใจไมตรีซึ่งไม่มีวันลบเลือนไปจากสังคมไทย

 
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

 

ผลการตัดสินรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด “นวนิยายขนาดสั้น”    

รางวัลชนะเลิศ
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

“เทวดากับยาจก” (หนังสือทำมือ)
ประพันธ์โดย ธามาวา (ธมลวรรณ  เกิดจั่น)

เทวดากับยาจก (หนังสือแนะนำ)

    เรื่องของเทวดาวรินทร ผู้ทำหน้าที่เป็นเทวดาอารักษ์ กับนายศรัทธา วิริยะ ผู้ที่แสนดี แต่ยากจน  ชีวิตของเขาประสบแต่ความโชคร้าย และถูกเอารัดเอาเปรียบโดยตลอด เขามีความสุขที่เห็นคนอื่นมีความสุข ยึดมั่นอยู่กับการกระทำแต่ความดี พอใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นทุกโอกาสเท่าที่จะทำได้ เทวดาวรินทรที่อยากให้คนดีอย่างนายศรัทธาได้รับผลตอบแทนที่ดีบ้าง  จึงเพียรพยายามหาทางช่วยเหลือนายศรัทธาทุกวิถีทาง เทวดาวรินทรต้องไปพบเทวดาตามกระทรวง ต่างๆบนสวรรค์ เช่น กระทรวงชะตากรรมมนุษย์  กระทรวงมั่งคั่ง กรมโอกาส กรมลาภ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถช่วยเหลือนายศรัทธาได้แล้ว ยังส่งผลกระทบมาถึงตัวเทวดาวรินทรอีกด้วย เรื่องดำเนินไปอย่างน่าติดตาม และคลี่คลายในที่สุด คือตัวละครเอกทั้งสองได้รับผลแห่งการทำความดี
    เทวดากับยาจก เป็นหนังสือที่ส่งเสริมการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม  ชี้ให้เห็นถึงความสุขที่เกิดจากใจ การมองโลกในแง่ดี  เกิดความเชื่อมั่นว่า การทำดีจะส่งผลดีต่อผู้กระทำอย่างแน่นอน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

 

ผลการตัดสินประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด “รวมเรื่องสั้น”

รางวัลชนะเลิศ
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒


“นิยายภาพ (การ์ตูน)
และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน)”

รายนามคณะกรรมการตัดสิน
๑. นายนิวัฒน์  ธาราพรรค์   
   นักเขียนการ์ตูนอาวุโส “ราช เลอสรวง” (ประธานคณะกรรมการตัดสิน)
๒. นายประสาท  สอ้านวงศ์   
   อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ
๓. นายศักดา  แซ่เอียว   
   อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทย
๔. นายพนม  พรกุล   
   รองอธิการบดี สำนักบริหารเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
๕. นายสำเริง  พันธ์สนิท   
   อดีตผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง
๖. นายดินหิน  รักพงษ์อโศก   
   อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

เลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
นายชูศิลป์   จิรวงศ์ศรี    
รองกรรมการผู้จัดการ  สำนักกระจายสินค้า บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 

ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
นางมลิวัลย์  ทองเทพ
บรรณารักษ์ห้องสมุด โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม

บรรยากาศการตัดสิน นิยายภาพ (การ์ตูน)



ผลการตัดสินรางวัลประเภท “นิยายภาพ (การ์ตูน)”

รางวัลชนะเลิศ

วาดและประพันธ์โดย THE DUANG
จัดพิมพ์โดย ฟูลสต๊อป
โล่พระราชทาน  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
MY INSPIRATION
    “MY INSPIRATION” เป็นการรวมผลงานการ์ตูนสั้น 7 เรื่อง  “THE DUANG”  ผู้สร้างเรื่องและภาพ วางเค้าโครงเรื่องแต่ละเรื่องได้อย่างลึกซึ้งและแสดงให้เห็นถึงสภาวะแก่นแท้ของมนุษยชนที่ยังเป็นปุถุชน ในแง่มุมที่คมคายและแตกต่างกันไป  สื่อสารด้านจิตใจ และความคิดได้อย่างลุ่มลึก   ใช้สัญลักษณ์ในการสื่อความคิดสู่ผู้อ่าน  และแสดงความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน แสดงวิถีชีวิตที่ดำเนินเรื่องด้วยภาพในรูปแบบใหม่  โดยกำหนดหน้ากระดาษหนังสือเป็นกรอบดำเนินเรื่อง การสร้างภาพประสานกับเรื่องได้อย่างดี  มีอารมณ์บุคลิกกลมกลืนกับเนื้อเรื่อง ลีลาเส้นสายฝีมือและเทคนิคการวาดภาพสวยงามทันสมัย
    เรื่องที่โดดเด่นในเล่มคือ RETURN เป็นการ์ตูนที่เล่าเรื่องด้วยภาพ  โดยไม่มีบทบรรยายและบทพูด  เนื้อหาโดยรวมสะท้อนปัญหาของวัยรุ่น โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาที่ตามมาคือตั้งครรภ์และมีบุตรโดยพ่อแม่วัยรุ่นซึ่งยังไม่พร้อมจะมีความรับผิดชอบ 
    นอกจากนี้  ผู้เขียนยังสะท้อนภาพปัญหาสังคมผ่านการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมุมมองที่น่าสนใจ
    “MY INSPIRATION” ให้คุณค่าแง่คิดด้านปรัชญาและสังคม ผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่

 

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

วาดและประพันธ์โดย NUMMON
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ LET'S  COMIC
โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
LOVE ON 20 PAGES
    หนังสือการ์ตูนเล่มนี้เมื่ออ่านแล้วให้ความรู้สึกใกล้ตัวเหมือนมีประสบการณ์ชีวิตร่วม ทั้งภาพ เรื่องราว และเนื้อหามีบรรยากาศแบบไทยๆ ที่ทำให้เกิดบรรยากาศที่คุ้นเคย
    “LOVE ON 20 PAGES”  นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความรักในหลายๆ รูปแบบ เช่น พระเอกนางเอกซึ่งเป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ แม้มีอุปนิสัยแตกต่างกัน ทำให้ชีวิตครอบครัวดูปั่นป่วน แต่ก็มีความรักและอบอุ่น มีเรื่องราวความรักของคนสูงอายุ ความรักของตัวประกอบ ความรักของพ่อแม่ลูก มิตรภาพความรักระหว่างผู้ให้และผู้รับ รวมทั้งความรักของผู้คนทั่วๆ ไปในสังคมไทย
    การ์ตูนเล่มนี้มีลายเส้นที่ทันสมัย ดำเนินเรื่องราวและภาพได้สนุกเต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีอารมณ์ มีข้อคิดและแง่มุมดีๆ  ในการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างครอบครัว สามีภรรรยา  พ่อแม่ลูก เพื่อน ฯลฯ  กลิ่นไอของการ์ตูนโดยรวมให้อารมณ์ที่อบอุ่น

 

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

วาดและประพันธ์โดย ศุภชัย  จิรคุปต์, ทรงวิทย์  สี่กิติกุล, b-padung, อภิชาติ  รอดวัฒนกุล, อิทธิวัฐก์  สุริยมาตย์, กระเดื่อง , Newworld, มุนิน, เอกชัย รอดโตนด, ไตรภัค (puck), เสี่ยแนน, สถาพร ริยะส , ทักษ์ ไทยทะเล
จัดพิมพ์โดย สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก
โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท

 

คำนิยม
หอมหัวใหญ่ ๔: ฉบับกุมหัวใจผู้พิการ        
    หนังสือการ์ตูนเล่มนี้เป็นการรวมนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ ๑๓ คนมาสร้างสรรค์ผลงานที่ถ่ายทอดมุมมองและเรื่องราวชีวิตอันเกี่ยวเนื่องกับผู้พิการที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้อ่านได้ สัมผัส รับรู้ความรู้สึกนึกคิด เห็นคุณค่าและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
    เรื่องราวของการ์ตูนแต่ละเรื่อง นำเสนอชีวิตของผู้พิการแต่ละประเภท และบุคคลปกติทั่วไปที่ต้องเกี่ยวข้องหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน บางเรื่องนำเสนอเนื้อหาด้วยความละเมียดละไม  บางเรื่องแฝงอารมณ์ขัน แต่ก็มีมุมมองที่ลึกซี้ง หลายเรื่องแสดงถึงความอบอุ่นที่ผู้พิการและคนปกติมีชีวิตร่วมกัน การ์ตูนเล่มนี้น่าจะเป็นสื่อที่ทำให้ผู้อ่านทั้งคนพิการและไม่พิการได้เปิดใจยอมรับซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น

 

 

ผลการตัดสินรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด “นิยายภาพ (การ์ตูน)”

รางวัลชนะเลิศ
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒
ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒

หนังสือแนะนำ
ประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด “นิยายภาพ (การ์ตูน)”


หนังสือเรื่อง บ้าน (หนังสือทำมือ)
ประพันธ์โดย สะอาด (ธนิสร์  วีระศักดิ์วงศ์)
    ผู้เขียนสร้างงานออกมาด้วยลายเส้นที่สนุกสนาน  แม้จะไม่มีตัวอักษรหรือบทพูดใดๆ ก็ยังอ่านได้เข้าใจดี นำเสนอเรื่องลูกชายที่แสนซน ถูกแม่ตีเสียใจหนีออกจากบ้าน ระหว่างการหนีออกจากบ้านผู้เขียนได้สอดแทรกมุขตลกด้วย   สุดท้ายลูกชายที่แสนซนคิดถึงความดีของแม่เลยตัดสินใจกลับบ้าน  ปิดท้ายเรื่องราวด้วยความอบอุ่น

หนังสือเรื่อง เรื่องลึก (ลับ) ของไดโนเสาร์ไทย (หนังสือทำมือ)
ประพันธ์โดย โทณะวัฒน์  โทณะวณิก
    ผู้เขียนสร้างงานออกมาด้วยลายเส้นและภาพประกอบที่เรียบง่าย ดูเป็นวิชาการมาก แต่ก็เหมาะสมกับเนื้อหาเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอในลักษณะการ์ตูนความรู้แนวผจญภัย ซึ่งนอกจากจะต้องใช้ทักษะด้านการวาดภาพแล้ว ยังจำเป็นจะต้องเป็นนักค้นคว้าหาข้อมูล ผลงานการ์ตูนเล่มนี้ลายเส้นหรือตัวการ์ตูนอาจไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก   แต่นำเสนอสาระความรู้ได้อย่างละเอียดแนบเนียน


ผู้เขียนบทความ: สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย




ข่าวสารประชาสัมพัธ์

เชิญส่งผลงานประกวด “อมตะ อาร์ต อวอร์ด” ครั้งที่6
เชิญส่งผลงานประกวดชิงรางวัลพานแว่นฟ้าปี 2558
กิจกรรม จากมองโกเลียอัลไต สู่ไทยเจ้าพระยา
อสรพิษ – แดนอรัญ แสงทอง – รางวัลซีไรต์ 2557
ผลการประกวดข้อเขียนแรงบันดาลใจจากหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
เวทีกลอนเดือนสิบ ๒๕๕๗
ชวนประกวดเรื่องสั้นกับ สสส.
ผลรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 11, 2557
ประกาศรางวัล รพีพร 13 ก.ค. 2557
เชิญร่วมสงกรานต์นักกลอน และ ๗๕ ปี นิภา ท่าพระจันทร์
จัดงาน "๗๕ ปี นิภา ท่าพระจันทร์"
ขอเชิญร่วมการบำเพ็ญกุศลพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ผลการตัดสิน รางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ประจำปี ๒๕๕๖
ขอเชิญส่งบทกลอนไปร่วมสนุกในรายการ "ประกายดาว"
คอนเสิร์ตเพลงดังหนังไทย ครูสุรินทร์ ภาคศิริ
"หัวใจห้องที่ห้า" รางวัลซีไรต์ 2556
ร่วมแสดงมุทิตาจิต สู่ 80 ปี สุเทพ วงศ์กำแหง
ประชันกลอนสดกลอนกระดาษ “การเมืองและการเลือกตั้ง” ครั้งที่ ๒
ประชันกลอนสดกลอนกระดาษ “การเมืองและการเลือกตั้ง” ครั้งที่ ๒
7 เล่มสุดท้าย ซีไรต์ 2556
เยาวชนอายุระหว่าง 8-18 ปี เชิญส่งภาพประกวดวันแม่
Young Thai Artist Award 2013
ประกวดรางวัลวรรณกรรมรามคำแหงครั้งที่ 3
งานประชันกลอนสด ชิงชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ข้าวไทย เด็กไทย เรียงความชิงแชมป์ประเทศไทย”
เชิญร่วมกิจกรรม “ค่ายกวีน้อยเมืองนคร” 20-21 ก.ค. 56
พิธีมอบรางวัลสุนทรภู่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๖
เรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้าย รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ปี 2556
โครงการอบรมยุวกวีศรีศิลป์ รุ่น ๒๒ (นิราศภูเขาทอง)
รางวัลศรีบูรพา เป็นคนที่ 25 (2556) ธีรภาพ โลหิตกุล
ประสพโชค เย็นแข นักกลอนอาวุโส นักเขียนรางวัลนราธิป เสียชีวิต
ประกวดพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยประจำปี ๒๕๕๖
5 พฤษภาคม วันนักเขียน
วันนักแปลและล่าม ครั้งที่ 7
ร่องรอยกาลเวลา : ลาว เพื่อนบ้านอาเซียน วัฒนธรรมร่วมสองฝั่งโขง
รายชื่อกวีนิพนธ์และรายชื่อกรรมการซีไรต์ 2556
เปิดตัวหนังสือตำนานครูเพลง เพลงไทยสากล ลูกกรุง (30 มีนาคม 56)
รางวัลศรีบูรพา ปี 2556
นำชมศิลปะเขมร 7 วัน 12-18 เมษายน 2556
รางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี 2556 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ล่องเรือเพลง และสังสรรค์รวมพลคนมีนา ประจำปี 2556
ลาว คำหอม และ พนมเทียน รับรางวัลอมตะครั้งที่ 6
สัมมนา ปันหยีอิเหนา ๒-๖ มีนาคม ๒๕๕๖
พิธีมอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ครั้งที่ ๖
งานมอบรางวัลนักเขียนบทความดีเด่นและฟังสักวา
“ราชมงคล รักษ์เหลืองจันท์ วันดอกไม้บาน” ครั้งที่ 12
เชิญประกวด “กวีนิพนธ์” และ “นักเขียนรุ่นเยาว์ กวีพนธ์” เซเว่นบุ๊คอวอร์ด
รางวัลนักเขียนอมตะประจำปี 2555
ประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2555
เชิญร่วมประกวด “กวีนิพนธ์” รางวัลซีไรต์ 2556
การประกวดรางวัลพระยาอนุมานราชธน
ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555
ผลการตัดสินรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ประจำปี 2555
ประกวดรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ครั้งที่ ๒, ๒๕๕๕
ประชุมวิชาการ 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ครั้งที่ 8
สมาคมนักกลอนเชิญชวนแข่งขันกลอนสดประจำปี ๒๕๕๕
นายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
ผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2555
นวนิยาย "คนแคระ" ของ วิภาส ศรีทอง คว้าซีไรต์ปี 2555
สัมมนาวิชาการ “ท้องถิ่นอีสานกับการปรับตัวยุคโลกาภิวัฒน์”
ภาพงานรับรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2555
การคัดเลือกกวีรางวัลสุนทรภู่ ประจำปี ๒๕๕๕
ร่องรอยกาลเวลา: ลุ่มน้ำน่าน
รายการศิลป์สโมสร - รางวัลสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2555
จัดงานเปิดตัวหนังสือชุดบทกวีคำเมือง
โครงการเที่ยวเชียงใหม่ ไหว้พระ(เกิน)เก้าวัด กับนายกสมาคมนักกลอน
โครงการแทนคุณแผ่นดิน ปี ๒๕๕๕
ร่องรอยกาลเวลา : สุรินทร์
ร่อยรอยกาลเวลา : ตรัง
งานมหกรรมทุเรียนโลก จังหวัดจันทบุรี
สงกรานต์นักกลอน" วันอาทิตย์ที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๕
สัมมนา "จ้วง-ไท ศึกษา การค้นพบอักษรภาพของชนเผ่าไท"
เชิญชมหนังสือตัวอย่าง "ทางอีศาน" งานสัปดาห์หนังสือ
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 40, 2555
รางวัล "ศรีบูรพา" ประจำปี 2555
ชิงรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ ๑๑ ประจำปี ๒๕๕๕
รวมพล คนมีนา" โดยพร้อมเพรียงกัน
กำหนดการชุมนุมเสวนา 72 ปี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ประชุมใหญ่สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
เสวนากวี ม.แม่โจ้ ๔ ธ.ค
โครงการ สานสายสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 2
เชิดชูปูชนียบุคคลและผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กระทรวงวัฒนธรรม
“รักสร้างสรรค์สยาม” โดยกลุ่มสห+ภาพ
ขอเชิญร่วมเปิดตัวนิตยสาร "อีศาน" และหนังสือ "บทนำชีวิต"
ประกาศผลรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี ๒๕๕๔
ประกวดเรียงความ เรื่องสั้น บทกวี รางวัลธรรมวรรณศิลป์
ขอเชิญร่วมแข่งสักวากลอนสด
โครงการกล้าวรรณกรรม ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน
เสวนา ๒๕ ปีสำนักพิมพ์แม่คำผาง
เปิดรับ “ศิษย์เก่า” รางวัลพานแว่นฟ้า
กาดผญาครั้งที่ ๕ ทัวร์วัฒนธรรมรถรางไหว้พระ ๙ วัด
Young Thai Artist Award 2011
นิทรรศการจัดแสดงผลงานของท่านสุนทรภู่ แนวร่วมสมัย
โครงการกล้าวรรณกรรม รุ่นที่ 8 เข้าอบรมฟรี
กิจกรรม คุณ...จะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน?
โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จุดประกายความคิด
งานประกาศผลรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ครั้งที่ ๑๒
วิจารณ์วรรณกรรม ชั่วฟ้าดินสลาย
เสวนาอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ