ReadyPlanet.com
dot dot
ข้อมูลนิราศเมืองสุพรรณ

นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่และเสมียนมี : บันทึกการเดินทางและการอ่านเพื่อเข้าถึงเรื่องเล่าท้องถิ่น

                                                                                                                                                วารุณี โอสถารมย์*

 

 ดาวน์โหลดไฟล์ทั้งหมด Microsoft Word คลิก...

 

ความหมายนิราศยุคต้นรัตนโกสินทร์

                นิราศในการศึกษาวรรณกรรมร้อยกรองไทยอย่างสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพลงมาจนถึงเปลื้อง ณ นคร มักเข้าใจกันว่า นิราศเป็นคำเรียกกวีนิพนธ์ประเภทหนึ่งที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 มีเนื้อหาสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกเป็นทุกข์ หวั่นวิตกและความกลัว ที่ต้องแยกหรือพรากจากสถานที่และผู้คนอันเป็นที่รัก เนื่องจากต้องมีการเดินทาง แบบแผนการเขียนนิราศจึงมีแก่นเรื่องของการพลัดพรากจากกัน-ความรัก-การเดินทางไกล (ดูเปลื้อง ณ นคร ในคำนำนิราศเมืองสุพรรณฉบับสมบูรณ์ของสุนทรภู่ , 2509 : ข) จนกระทั่งต้นทศวรรษ 2520 มนัสจึงได้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและเนื้อหานิราศ ว่า มีอยู่ 2 ประเภท คือ นิราศที่เดินเรื่องด้วยเวลาตามวัฏจักรฤดูกาล และนิราศชนิดที่เป็นเพียงการเดินทางในจินตนาการ เป็นนิราศสมมุติ อาศัยข้อมูลจากวรรณคดีเป็นตัวเดินเรื่องไม่มีการเดินทางจริง จนถึงยุครัตนโกสินทร์ นิราศได้พัฒนาการประสมกลมกลืนรูปแบบคำประพันธ์ทั้งสองประเภท จนเป็นนิราศชนิดใหม่ที่เดินเรื่องตามลำดับระยะเวลาของการเดินทางที่เกิดขึ้นจริง และสัมพันธ์กับกระบวนการเดินทางของกวีผู้เขียนนิราศนั้น นิราศแบบใหม่จึงเป็นบันทึกการเดินทางของผู้เขียนตามระยะเวลา นิราศไม่ได้เป็นแค่เพียงการเดินทางในจินตนาการ แต่เป็นการพรรณนาถึงการเดินทางจริง โดยบันทึกเล่าเรื่องตามที่ตัวเองเห็นว่าสำคัญ หรือน่าสนใจ ได้แก่ ฉากทางภูมิศาสตร์เส้นทาง ชุมชน และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยสร้างความสัมพันธ์กับตัวตนกวี นิราศจึงเป็นเรื่องที่เล่าถึงตัวเองเป็นหลัก แก่นเรื่องความรัก ความโหยหา แม้จะไม่ได้หายไป แต่ก็มีความสำคัญเป็นเรื่องรอง มนัสถือว่า กวีที่ประสบความสำเร็จและเป็นครูต้นแบบการเขียนนิราศชนิดนี้ จนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายและสืบทอดมาจนทุกวันนี้ คือ สุนทรภู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการสร้างรูปแบบและเทคนิคการประพันธ์เนื้อหาที่ต้องการสื่ออารมณ์โหยหาความรัก และการพรากจาก ด้วยการเลือกชื่อสถานที่ พันธุ์ไม้ และธรรมชาติ แล้วสร้างความหมายของภาษาให้มี 2 นัย จากนั้นก็เคลื่อนย้ายรูปแบบและความหมาย ให้จบลงด้วยการสื่อความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หรือสื่อความทรงจำในอดีตที่เป็นประวัติชีวิตตัวเอง รวมถึงความรักที่เป็นความสัมพันธ์ของเขากับหญิงคนรักที่มีตัวตนจริงและมีความสัมพันธ์ในชีวิตจริงของเขา (Manas, 1972 : 139 - 149)

                ในขณะที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนแรกๆ ที่ใช้วรรณกรรมเป็นข้อมูลหลักฐานเขียนประวัติศาสตร์สังคมไทย ได้วิเคราะห์ถึงลักษณะพัฒนาการนิราศอีกด้านหนึ่ง  ระบุว่า “นิราศ” เป็นคำใช้เรียกบทร้อยกรองที่มีโครงเรื่องการพลัดพราก จากหญิงคนรักในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง โดยมีพัฒนาการจากกำเนิดสมัยปลายอยุธยา นำเอา “เพลงยาว” ซึ่งเป็นการฝากรักในวรรณกรรมชาวบ้าน มาใช้แต่งจดหมายเหตุระยะทางกวี หรือบันทึกจดหมายเหตุ เหตุการณ์สำคัญในชีวิตกวี ซึ่งจดหมายเหตุเป็นวิวัฒนาการเขียนแบบราชสำนักอย่างหนึ่ง หากแต่เนื้อหาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเดินทางมากไปกว่าเรื่องความรัก จนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ นิราศจึงใช้เรียกคำประพันธ์ที่มีรูปแบบกลอนเพลงยาวผสมผสานกับจดหมายเหตุ หากแต่มีเนื้อหาพรรณนาการเดินทางที่เป็นเรื่องของเวลา สถานที่ และประสบการณ์ที่ดูเหมือนจริง ประสานกับการรำพันถึงหญิงคนรัก วรรณกรรมนิราศที่เกิดจากฉันทลักษณ์ร่วมระหว่างวรรณกรรมราชสำนักกับวรรณกรรมประชาชน จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน(1) นิธิอธิบายเหตุผลนี้ ว่าเป็นเพราะนิราศยุคนี้ เกิดขึ้นภายใต้จารีตแบบใหม่ที่สอดคล้องกับชีวิตของกระฎุมพีคนเมืองในกรุง พวกเขาเป็นกระฎุมพียุคเริ่มแรก ถือกำเนิดภายใต้บริบทเศรษฐกิจสังคมที่มีการขยายตัวของการค้าในกรุง และเมื่อมีการเดินทางกว้างขวางขึ้น ทำให้ขอบข่ายชีวิตผู้คนกว้างขวาง ผู้คนในเมืองจึงอยากรู้เรื่องราวพื้นที่อื่นที่พวกเขารู้ว่ามีอยู่จริงนอกกรุงเทพฯ เช่น เพชรบุรี ภูเขาทอง แกลง พระแท่นดงรัง และพระปฐมเจดีย์ นิธิถือว่าการเดินทางครั้งนั้นเป็นการให้ภาพผจญภัยที่ไม่เป็นอันตราย หากแต่มีสีสัน ความสนุกสนาน รวมถึงการเขียนถึงก็ทำให้ผู้ที่ไม่ได้ไปด้วยได้ลิ้มรสความสนุกสนานขึ้น ด้วยเนื้อหาความสนุกที่บรรยายถึงทิวทัศน์ การผจญภัยจริงบ้างเท็จบ้าง ภาษิตคำคมที่เข้าใจง่าย มีทำนองกลอนอ่อนหวาน ฟังเพลิดเพลิน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความหมายมากนัก ทำให้นิธิวิเคราะห์ว่านิราศแบบใหม่นี้จึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรม “เพื่อการอ่าน” ที่มีไว้ตอบสนองกระฎุมพี กลุ่มคนที่อ่าน-เขียนได้ มีเวลาว่าง เพราะมีฐานะดีพอที่จะแสวงหาความเพลิดเพลินจากการอ่านได้มากขึ้น ที่สำคัญนิราศยังมีลักษณะเด่นที่สะท้อนความเป็นสัจนิยมและมานุษยนิยมด้วย นิธิเองยอมรับว่าสุนทรภู่ เป็นกวีที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์วรรณกรรมประเภทนี้ (นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2527. ข. : 198-200 , 246-249 และ 290 และ ก. : 36 , 65 และ 71)

                ประเด็นนี้สมบัติ จันทรวงศ์ นักรัฐศาสตร์ผู้เคยศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ความคิดไทยก่อนหน้านี้ ได้ใช้กรณีศึกษาโลกทัศน์สุนทรภู่ อธิบายฐานะความเป็นกวีของสุนทรภู่ว่ามีลักษณะพิเศษ เพราะเป็นสามัญชนที่บังเอิญมีชีวิตใกล้ชิดกับทั้งราชสำนักและประชาชน เขาจึงเป็นทั้งกวีผู้เขียนงาน และเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินผู้อยู่ใต้การปกครอง งานเขียนของเขาจึงสะท้อนความคิดของสังคมไทยได้ดี และกว้างขวางกว่ากวีส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ปกครอง ผลงานของเขาจึงเป็นที่นิยมของคนทุกยุคทุกสมัย การใช้ฉันทลักษณ์ชนิด “กลอนตลาด” ยังทำให้เป็นที่นิยมติดตลาดผู้อ่าน ผลงานเขียนประเภทหนึ่งของสุนทรภู่นั้น คือ นิราศซึ่งสมบัติมองเห็นว่า นอกจากมีแก่นเรื่องคร่ำครวญถึงหญิงคนรักและพรรณนาสิ่งที่เห็นในการเดินทาง แล้วยังเป็นคำประพันธ์แสดงความรู้สึกที่แท้จริง ซึ่งเขาคิดว่านิราศเป็นบทประพันธ์ประเภทที่สุนทรภู่และกวีคนอื่นๆ แสดงออกถึงภาวะความเป็นจริงได้มากกว่าบทร้อยกรองชนิดอื่น (สมบัติ จันทรวงศ์. 25. 274-275, 277)

                ในแง่นี้ดูเหมือนว่านักวิชาการไทยปัจจุบันต่างเห็นพ้องกันถึงสถานะทางวรรณกรรมนิราศ ว่าเป็นเสมือนบันทึกเล่าเรื่องการเดินทางที่เกิดขึ้นจริงหรือมีอยู่จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่นักประวัติศาสตร์ปัจจุบัน ต่างให้ความสำคัญกับนิราศ ในฐานะข้อมูลบันทึกการเดินทางแบบจารีตของนักเดินทางชาวไทย S.J. Terweil เป็นหนึ่งในนักวิชาการนั้น ที่ประมวลข้อมูลการเดินทางทั้งชาวไทยและชาวตะวันตก รวมถึงนิราศที่เขียนในยุคต้นรัตนโกสินทร์เข้าไปด้วย เขายอมรับความเป็นจริงที่มีอยู่ในนิราศ เพื่อให้ความสำคัญแก่นิราศในฐานะการเป็นข้อมูลท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องของการผลิตในชุมชน จำนวนประชากร และเส้นทางการเดินทางตลอดจนภูมิทัศน์ชุมชน (Terweil.B.J.1989)

                ความเป็นจริงในนิราศนั้นตรงไปตรงมาอย่างไม่มีข้อจำกัดเลยหรือ(1) ธงชัย วินิจจะกูล ก็เป็นนักประวัติศาสตร์ไทยคนแรกๆ ที่พยายามชี้ข้อจำกัดนี้ ด้วยการวิเคราะห์ความหมายการเดินทางและบันทึกการเดินทางในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ใหม่ ซึ่งรวมเอานิราศเข้าไว้ด้วย ว่าการเดินทางเป็นวาทกรรมที่สื่อให้มีการสร้างตารางลำดับความศิวิไลซ์เชิงมานุษยวิทยา โดยผ่านการมองเห็นของชนชั้นนำสยาม บันทึกการเดินทางจึงเป็นโครงร่างชาติพันธุ์วิทยาในลักษณะนามธรรม จัดวางตำแหน่งแห่งที่ และความสัมพันธ์ของ “ผู้คน” ที่อยู่ในภูมิศาสตร์ตัวตนของสยาม โครงร่างความคิดนี้ถูกปฏิบัติการผ่านการเดินทางและความคิดเกี่ยวกับชาติพันธุ์ สิ่งที่ถูกมองเห็นและจับวางอยู่ในตำแหน่งทางชาติพันธุ์ ที่เป็น “ความเป็นอื่น” มีอยู่ 2 ชนิด คือ “ชาวป่า” ป่าหรือคนป่า กับ “ชาวบ้านนอก” (Thongchai Winichakul, 1993 : 41.)

                นิราศเสนอเรื่องราวที่เป็นจริงถึงสถานที่ ผู้คน เหตุการณ์และเรื่องเล่าที่อยู่ในท้องถิ่นโดยผ่านสายตาของกวีผู้เดินทางตามที่นักวิชาการก่อนหน้านี้เคยวิเคราะห์ไว้ ถ้าหากมีการอ่านเพื่อสร้างความหมายใหม่ ความเป็นจริงที่เกี่ยวกับท้องถิ่น ภายใต้แนวทางอธิบายแบบอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำความเข้าใจถึงเจตนคติของกวีผู้บันทึกข้อมูลก็อาจทำให้เราเข้าใจเรื่องเล่าท้องถิ่นที่ปรากฏอยู่ในนิราศอีกแบบหนึ่งได้ บทความนี้จึงต้องการอ่านนิราศใหม่ เพื่อดูว่านิราศได้สร้างเรื่องเล่าท้องถิ่นที่เป็นจริง ในเรื่องใดและลักษณะใด เรื่องเล่าใดถูกเลือกสรรเพื่อสืบทอดขยายความ และรักษาให้คงอยู่ถึงปัจจุบัน เพื่อให้การศึกษานี้มีตัวอย่างกรณีศึกษาชัดเจน จึงขอใช้การวิเคราะห์ตัวบทนิราศสุพรรณสองเรื่องที่แต่งโดยสุนทรภู่และหมื่นพรหมสมพัตสร (เสมียนมี) ซึ่งเล่ากันว่าเป็นศิษย์ทางการประพันธ์คนหนึ่งของสุนทรภู่ วรรณกรรมนิราศทั้งสองแม้จะใช้สถานที่ปลายทางเมืองท้องถิ่นและเส้นทางการเดินทางเดียวกัน เป้าหมายการเดินทางอาจต่างกัน หากแต่ในที่สุดแล้วด้วยเจตนคติเบื้องหลังโครงเรื่องนิราศสุพรรณ นั้นมองเห็นเมืองท้องถิ่นในแบบเดียวกัน ข้อมูลที่เป็นเรื่องเล่าท้องถิ่นเมืองสุพรรณจึงมีแนวการอธิบายคล้ายคลึงกัน และเรื่องเล่าในนิราศยังถูกคัดสรรจากผู้ปกครองส่วนกลางยุคต่อมาในศตวรรษที่ 20 ด้วยการเชื่อมโยงขยายความ สร้างสถานะความเป็นจริงโดยอ้างอิงเข้ากับหลักฐานลายลักษณ์ส่วนกลาง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ

 

 

 

นิราศสุพรรณ บันทึกความยากลำบากของการเดินทาง

                ที่จริงแล้วมีหลักฐานร่วมสมัยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เป็นบันทึกนักเดินทางทั้งชาวพื้นเมืองและต่างชาติ พรรณนาถึงความยากลำบากและปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง การศึกษาของ Anthony Reid ชี้ว่าช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 แม้ว่ามีการเดินทางอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ดินแดนตอนในเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งทางบกและทางน้ำ ทางบกส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้าคาและป่ารกชัฏ ที่มีเสือและสัตว์ป่าอันตราย การเดินทางบกหน้าแล้งทำได้ดีกว่าหน้าฝน ซึ่งอาจมีน้ำหลากท่วมทาง เส้นทางน้ำแม้จะดีกว่าทางบก แต่ในฤดูแล้งหรือช่วงน้ำลด ระดับน้ำอาจตื้นเขินจนเรือเดินไม่ได้บางช่วง ที่สำคัญคือ สัตว์อันตรายในน้ำอย่างจระเข้มีชุกชุม นอกเหนือจากปัญหาโจรผู้ร้าย หลักฐานในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เอง ยังระบุตรงกันว่าปัญหาใหญ่นั้น เป็นเรื่องความไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง รัฐควบคุมการเดินทาง การเคลื่อนไหวประชากร และการเข้าออกของผู้คน ด้วยการวางกฎระเบียบเข้มงวดสำหรับการตั้งด่านตอนในเป็นระยะ เพื่อเก็บภาษีและป้องกันโจรผู้ร้าย (Reid 1993 : 53-61 และ  Thongchai Winichakul : 42-43) รัฐยังกวดขันให้ผู้นำท้องถิ่นในเขตเมืองหน้าด่านปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจตราด่านและผู้คนจากต่างถิ่นเข้าออกอย่างสม่ำเสมอ (วารุณี โอสถารมย์ 2547: 155-156) วิธีการเช่นนี้ในด้านหนึ่งเป็นการสร้างความปลอดภัยบนเส้นทางการเดินทางได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมีความเข้มแข็งทางการเมือง ย่อมมีศักยภาพในการดูแลรักษาทางบก ทางน้ำ รักษาสะพานให้มีเพียงพอแก่การข้ามแม่น้ำลำคลอง หรือ กำจัดสัตว์อันตราย รวมถึงการควบคุมปัญหาโจรผู้ร้ายได้ระดับหนึ่ง แต่ Reid ก็เล่าว่าปกติแล้วรัฐมักให้ความสนใจ ดูแลรักษาเส้นทางยุทธศาสตร์เท่าที่กองทัพจำเป็นต้องใช้ เพราะมีความสำคัญต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร (Reid 1993: 53-54) จากการศึกษาในเรื่องสงครามไทยรบพม่า สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบรรยายถึงเส้นทางเดินทัพ ที่ใช้กันอย่างสม่ำเสมอตลอดยุคอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ทั้งทางด้านตะวันตกตอนเหนือ ใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางเหล่านี้ก็ใช้ในการเดินทางของกองทัพ แม้ว่าจะยังไม่มีความปลอดภัย (ดำรงราชานุภาพ , สมเด็จฯกรมพระยา 2514: 13-20)

                ความทุรกันดารและขาดสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง ข้อห้ามในการย้ายถิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ รวมถึงการต้องเสียภาษีผ่านด่านที่หมายถึงภาระค่าใช้จ่ายของนักเดินทางที่เสียให้กับรัฐและเจ้าหน้าที่ด่าน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือให้ความสนุกสนาน หรือเป็นสถานการณ์ที่น่าพึงปรารถนา การเดินทางไม่ใช่กิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลิน หรือน่าสนใจตลอดช่วงต้นรัตนโกสินทร์ บุคคลที่สามารถเดินทางได้ภายใต้ข้อจำกัดข้างต้น ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐ พระ นักแสดง ส่วนผู้คนจากนอกราชอาณาจักรก็คือ พ่อค้า นักการทูตและนักบวช (ดู Reid 1993 : 57, 202-203 และ Terweil 1989 : 14-33)

                นักเดินทางเหล่านี้มีเป้าหมายในการเดินทางเหมือนกันทั้งหมด คือ การทำงานหรือปฏิบัติภารกิจที่รับมอบหมาย นั่นคือ เจ้าหน้าที่รัฐจากราชธานีที่เดินทางมาหัวเมืองก็เพื่อทำภารกิจเกณฑ์แรง สักไพร่ เก็บภาษีอากร ส่วนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเดินทางมาราชธานีส่งส่วย แต่ภารกิจสำคัญที่ทั้งเจ้าหน้าที่และราษฎรที่เป็นไพร่ต้องทำร่วมกันคือ การไปทัพเพื่อทำสงคราม หรือติดตามขบวนเสด็จเมื่อพระมหากษัตริย์ไปวังช้าง ล่าสัตว์ ทอดกฐินและการศาสนาอื่นๆ พ่อค้าต่างชาติเป็นกลุ่มคนสำคัญจากภายนอกที่นำสินค้าเข้ามาแลกเปลี่ยนกับราชธานี หรือแว่นแคว้นตอนใน ทูตก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่เว้นแม้แต่พระ ผู้ที่ธงชัยเห็นว่าอาจเป็นนักเดินทางกลุ่มเดียวที่มีอิสระ ไม่ต้องอยู่ในการควบคุมจากรัฐก็ยังกำหนดเป้าหมายการเดินทางที่เรียกว่า ธุดงค์ นั้น เพื่อปฏิบัติศาสนกิจ และปฏิบัติธรรมที่เป็นการแสวงหาความรู้จากภายใน ด้วยการนั่งสมาธิเจริญภาวนา เป็นการเดินทางสู่ปลายทางที่เป็นการแสวงหาความวิเวกจากป่าและธรรมชาติ นอกจากนี้ป่าในการรับรู้ของสมณสงฆ์กลุ่มอรัญวาสี ยังไม่ใช่เป็นทัศนียภาพความสวยงาม หากเป็นธรรมชาติที่ยากลำบาก ป่าเถื่อน เต็มไปด้วยอันตราย ที่พวกเขาต้องเอาชนะด้วยอำนาจบุญในการบำเพ็ญศีลและภาวนา สภาวะอันพึงปรารถนา ก็คือ สภาพอันยากลำบากนี้ต่างหาก ที่จะทำให้พวกเขาเกิดความรู้แจ้งต่อจิตใจได้ (Thongchai Winichakul 1993: 42)

                สำหรับเมืองสุพรรณเป้าหมายการเดินทางของนิราศสองเรื่องต่อไปนี้ เราพบหลักฐานว่ามีการเดินทางจากผู้คนภายนอกเข้ามาหรือผ่านเมืองนี้ ก่อนหน้าการเดินทางของกวีทั้งสองมักเป็นหลักฐานการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลางที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากด้านประชากร ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์แรงและเก็บภาษี โดยเฉพาะอากรค่านาและค่าน้ำ รวมถึงผลผลิตพืชไร่อื่นๆ และที่สำคัญคือ การทำสงครามที่กองทัพกรุงจำเป็นต้องรู้จักเส้นทางเดินทัพอย่างดีทั้งทางบกและทางน้ำ รวมถึงภูมิสถานและชุมชนสำคัญของเมืองสุพรรณและหัวเมืองแถบนี้ไปจนสุดปลายเขตราชอาณาจักรด้านตะวันตก เราพบแผนที่ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352-2367) 2 ชุด เป็นแผนที่ยุทธศาสตร์ ครอบคลุมเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ตาก ไปจนถึงหัวเมืองทวาย เมาะตะมะ และกระบุรี แสดงเส้นทางบกและน้ำ ซึ่งเป็นแม่น้ำและคลอง ภูเขา เทือกเขา สถานที่สำคัญ หมู่บ้าน ชุมชน เมือง ด่าน ป้อมค่าย วัด ซึ่งผู้จัดทำใช้มาตราส่วนวัดระยะทางแบบโบราณและกำหนดเวลาการเดินทางด้วย แผนที่นี้ยังบอกเส้นทางในแถบนี้ ซึ่งน่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินทาง (Santanee Phasuk and Philip Stott. 2004 : 22-32) จากการศึกษาของ Terweil พบว่า บาทหลวงปาเลกัวซ์ สังฆนายกที่พำนักในกรุงเทพฯ และสลาฟเตอร์ Slafter เจ้าหน้าที่การทูตชาวอังกฤษและครอบครัวก็เคยเดินทางผ่านและแวะเมืองสุพรรณด้วยเช่นกัน Terweil อ้างบันทึกของบาทหลวงปาเลกัวซ์ เล่าถึงปัญหาการเดินทางในเรื่องเส้นทางน้ำตอนเหนือของเมืองสุพรรณ ว่าเป็นอุปสรรคในการเดินทางต่อ เพราะทางน้ำลดตื้นเขินจนเรือเดินไม่ได้ ท้องเรือติดท้องน้ำที่เป็นทราย พื้นที่ที่ว่านี้อาจเป็นพื้นที่แถบท่าโขลงใกล้ด่านตอนในที่สุนทรภู่เองก็บรรยายไว้ และจุดนี้เป็นทางช้างเดินข้ามแม่น้ำได้ และในปี 2382 การเดินทางของสลาฟเตอร์และครอบครัว โดยเส้นทางน้ำ ก็ต้องพบกับซุง พงหนามและต้นไม้ที่ล้มขวางทางน้ำ ทำให้การแล่นเรือเป็นอุปสรรคล่าช้า ที่สำคัญภูมิอากาศที่เป็นป่าทึบทั้งสองข้างทางน้ำ ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เส้นทางแถบนั้นยังไม่มีการตั้งบ้านเรือน ผู้คน แม้ว่าเส้นทางนี้เปิดออกสู่เมืองอ่างทองและอยุธยา ด้วยคลองลัดตัดออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ก็ตาม (Terweil 1989 : 87-90)

                เหตุผลผลักดันเพียงประการเดียว ที่ทำให้กวีผู้เขียนนิราศสุพรรณทั้งสองคน ต้องเดินทางมาเมืองนี้ด้วยความยากลำบากและใช้ชีวิตอย่างไม่สุขสบาย เพราะเป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ คือ มาทำงานอันเป็นภารกิจสำคัญที่มีผลต่อการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและครอบครัวให้ดีขึ้น การเดินทางมาสุพรรณจึงเป็นความหวังของกลุ่มกระฎุมพีในการเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจนั่นเอง

                สุนทรภู่ เดินทางมาสุพรรณในปี 2379 เขาได้บวชเป็นพระภิกษุตั้งแต่ปี 2367 เมื่อรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ เชื่อกันว่าการบวชครั้งนี้เป็นการลี้ราชภัย ในปีที่เดินทางมาสุพรรณเขาจำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม การอยู่ในสมณเพศทำให้สามารถเดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆได้ ครั้งนั้นเขามีผู้ร่วมเดินทางเป็นสมาชิกครอบครัวคือ บุตรชายสองคน หนูพัดและหนูตาบ และบุตรบุญธรรมอีกสองคนคือ กลั่นและชุบ การเดินทางเรือเป็นไปอย่างไม่เร่งร้อน แม้ว่าเป้าหมายปลายทางเป็นภารกิจการทำงาน ที่หากสำเร็จลงได้ ก็จะนำความมั่งคั่งมาสู่ตัวเองและครอบครัว นั่นคือ การเดินทางไปค้นหาเหล็กไหลหรือ “พระปรอท” ในป่าลึกเมืองสุพรรณที่เชื่อว่าเป็นสารศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถเล่นแร่แปรธาตุหุงกับเกลือแล้วจะได้เป็นทอง การเดินทางครั้งนี้เหมือนกับการผจญภัยแสวงหา ที่คณะเดินทางอาจไม่ต้องลงทุนทรัพย์มากนัก การอยู่ในสมณเพศขณะเดินทาง ย่อมได้รับความเกื้อหนุนจากผู้คนและวัดต่างๆ ตลอดเส้นทางผ่านตามคติความเชื่อเรื่องการทำบุญ เราตรวจสอบเวลาที่บันทึกไว้ในนิราศสุพรรณฉบับสุนทรภู่ พบว่าคณะเดินทางใช้เวลาถึง 4 วัน กว่าจะถึงตัวเมือง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการพักแรมระหว่างทาง และใช้แรงงานคนในการพายเรือต่างจากการเดินทางของเสมียนที่ใช้ใบเรือช่วยผ่อนแรงและยังทำให้แล่นได้เร็วกว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเขียนนิราศฉบับนี้ เกิดขึ้นหลังการเดินทาง ปี 2379 แต่เชื่อว่าคงไม่นานนัก (สุนทรภู่ 2509 : 6-9) การเดินทางอันแสนจะตื่นเต้นน่ากลัว และภารกิจที่เสี่ยงอันตรายได้รอดพ้นไปได้ แม้ว่าความหวังจากการเดินทางนั้นล้มเหลวเพราะไม่พบ “ปรอท” หรือเหล็กไหล ความตอนท้ายของนิราศเองก็บอกถึงการเดินทางครั้งนี้ ว่าเป็นการเที่ยว แต่ก็สร้างความทุกข์และความเดือดร้อนอย่างหนัก

                                                “ เที่ยวสนุกทุกข์สนัดแท้                    แต่เรา

                                                เร่ร่อนนอนป่าเขา                                เค่าไม้

                                                หลงเลี้ยวเที่ยวเดินเดา                         ดึกดื่น สะอื้นเอย

                                                หาพระปรอทได้                                  เดือดร้อนอ่อนหู

                                                                                                                (สุนทรภู่ 2509 : 101)

                การเขียนนิราศย้อนความทรงจำนี้สุนทรภู่บอกวัตถุประสงค์ไว้ว่าเพื่อให้เป็นแผนที่เส้นทางเที่ยวเล่น สู่เขตทุ่งเมืองสุพรรณ และชายเขตแดนนอกจากราชธานีอันเป็นเขตไร่นาป่าเขา ถ้ำ ลำธาร อันเป็นแดนช้างป่าและที่อยู่ชาวละว้า และต้องการให้ลูกหลานเรียนรู้ว่าไม่มียาอายุวัฒนะและแร่ปรอท มีแต่เรื่องเสียเวลาและความเดือดร้อน ตัวบทนิราศซึ่งเขียนเพื่อขายแก่ผู้เสพย์ที่ฟังการอ่าน บอกแบบแบ่งรับแบ่งสู้ที่มองว่าการเดินทางครั้งนี้ ก้ำกึ่งระหว่างการเที่ยวเล่นกับความยากลำบาก ตลอดทั้งการเดินทางและการปฏิบัติภารกิจ สุนทรภู่บรรยายระดับความยากลำบากแต่เพียงการเผชิญภัยกับสัตว์อันตรายในน้ำและบนบกอันได้แก่ จระเข้ เสือ และช้างป่า รวมถึงยุงที่สร้างความรำคาญ ทั้งที่ในความเป็นจริงยุง คือ บ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ หากแต่พวกเขาก็หลีกหนีได้และยังให้ภาพการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น แม้จะน่ากลัวยิ่งแต่ก็เจือด้วยบรรยากาศการเล่าเรื่องที่ผู้รับข่าวสารกลับรู้สึกสนุกอยู่ด้วย หรือในระหว่างการเดินทาง คณะของเขาก็ให้ภาพ “การเล่น” ไปด้วย แม้ว่าจะเป็นการเล่นที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกโหยหาบ้านเกิดในกรุงก็ตาม

                อีก 6 ปี หลังจากนั้น พ.ศ. 2385 เมื่อเขาเขียนเรื่อง “รำพันพิลาป” มองย้อนอดีตกลับไปอีกครั้ง คราวนี้ความทรงจำที่หลงเหลืออยู่ กลับเป็นเรื่องเล่าถึงความยากลำบากแสนสาหัสในการเดินทางไปสุพรรณ ซึ่งมิใช่แต่เรื่องการเผชิญกับสัตว์อันตราย หากแต่เป็นความอดหยากอาหาร ต้องกินเผือกมันจนหมดแรง แม้แต่พริกกับเกลือกลักใหญ่ก็ไม่พอ ขณะนั้นเขาต้องพักจำพรรษาที่สองพี่น้อง ยังถูกขโมยผ้าจีวรและบาตรซึ่งเป็นเครื่องอัฐบริขาร จนในที่สุดมีชาวบ้านใจบุญทอผ้าถวายให้ใหม่

                                “ ทั้งผ้าพาดบาตรเหล็กของเล็กน้อย

                                ขโมยถอยไปทั้งเรือไม่เหลือหลง

                                เหลือแต่ผ้าอาศัยเสียใจคอ

                                ชาวบ้านทอถวายแทนแสนศรัทธา”

                                                                (สุนทรภู่ 2510 : 5)

                นอกจากนี้คณะเดินทางยังไม่มีมุ้ง ต้องนอนให้ยุงริ้นกัดทั้งเช้าค่ำได้รับความลำบาก การกันยุงด้วยการสุมแกลบก็ทำไม่ได้ผลเพราะยุงชุม ทำให้ต้องนั่งปัดยุง สุนทรภู่กล่าวโทษการเดินทางไปสุพรรณครั้งนั้นว่าเพราะถูกหลอกจากตาเถร เขากาเผ่น ทำให้ต้องทนลำบากเพื่อแสวงหาเหล็กไหล ที่จะนำไปถลุงความร้อนกับเกลือหุงบนเตาตามตำราที่ได้รับคำบอกเล่ามา และยังเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากการถูกควายขวิดตาย การเดินทางไปสุพรรณจึงไม่ใช่ความทรงจำที่สนุกสนาน หากเป็นบทเรียนการเดินทางที่ให้ความทุกข์และความหลงผิด (สุนทรภู่ 2509 : 4-6)         

                สำหรับเสมียนมีเขาเดินทางไปเมืองสุพรรณ พ.ศ.2387 หลังสุนทรภู่ถึง 8 ปี เป้าหมายการเดินทาง ระบุชัดเจนในนิราศว่าเป็นการไปทำงานตามหน้าที่ราชการ ด้วยตำแหน่งหมื่นพรหมสมพัตสรนายอากรสวนและตลาด นั่นคือไปเก็บภาษีอากรทั้งสองประเภทที่เมืองนี้ ตามที่เขาประมูลได้สัมปทานซึ่งเป็นวาระปีต่อปี เขาจึงต้องรีบเดินทาง เพื่อให้สามารถเก็บภาษีครบถ้วนมากที่สุดตามเวลากำหนด 1 ปี มิฉะนั้นเขาอาจต้องประสบปัญหาเก็บอากรค้างปี ทำให้ต้องเผชิญกับความยุ่งยากจากภาวะเก็บภาษีซ้ำซ้อนจนเรียกเก็บไม่ได้และขาดทุนในที่สุด การเดินทางมาสุพรรณทำงานครั้งนี้ จึงเป็นการลงทุนทำธุรกิจในระบบราชการ ตามที่เขาระบุในนิราศว่า ได้ทุนทรัพย์สนับสนุนจากพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 3 การเขียนนิราศจึงมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแต่งถวายเจ้านายพระองค์นี้ด้วย ทำให้การดำเนินเรื่องในนิราศสุพรรณต่างจากนิราศเรื่องอื่นที่เขาเขียน เสมียนมีบอกชัดเจนว่าการพรรณนาการเดินทางครั้งนี้ เขาจะไม่เขียนแนวคร่ำครวญหรือประเภท “นิราศร้างห่างนุช” แต่จะให้เนื้อหาเป็นหลัก นิราศสุพรรณฉบับเสมียนมี จึงมีแนวเรื่องที่พูดถึงชุมชนบนเส้นทางเท่าที่จำเป็น มีรายละเอียดข้อมูลที่เป็นสาระเกี่ยวข้องกับการทำงานเท่านั้น รายละเอียดจำนวนชุมชนน้อยกว่าสุนทรภู่ หากแต่มุ่งเน้นการเล่าเรื่องการทำงานและปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้นิราศสุพรรณฉบับเสมียนมี มีลักษณะคล้ายกับจดหมายเหตุปฏิบัติราชการมากกว่า (หมื่นพรหมสมพัตสร(มี) 2544 : 1, 76)

                ด้วยเหตุนี้การเดินทางของเสมียนมีตามที่บันทึกไว้ จึงเป็นภาระหน้าที่อันตึงเครียด ด้วยความกังวลที่จะต้องจัดเก็บอากรให้บรรลุตามเป้าหมาย เพื่อป้องกันการขาดทุน อย่างไรก็ตามเพื่อรักษารูปแบบการประพันธ์นิราศตามจารีตนิยม เสมียนมีจึงยังคงใช้โวหารเปรียบเปรยสถานที่ที่มองเห็นกับการพรากจากสถานที่อยู่ในกรุงและคนรัก ก่อให้เกิดภาวะความทุกข์และเศร้า โดยมีน้ำเสียงที่ดูจริงจัง เป็นต้นว่าเมื่อผ่านหมู่บ้านบางยี่สุขในเขตเมืองสุพรรณ เขาก็เล่นคำว่า “สุข” ชื่อหมู่บ้านโดยอุปมาความหมายตรงข้าม สื่ออารมณ์ความรู้สึกตัวเองว่าเป็นทุกข์และอยู่ในภาวะหน้าชื่นอกตรม เหตุผลก็คือ “เพราะจากบ้านแรมร้างมาต่างเมือง” (หมื่นพรหมสมพัตสร(มี) 2544: 48) ทั้งที่รู้สึกทุกข์เขาก็ยังมีความหวังในการทำงานครั้งนี้ เพื่อสร้างฐานะให้ครอบครัว อย่างที่เขาเล่นคำและความหมาย เมื่อผ่านวัดกุฎีทอง โดยหยิบเอาคำว่า “ทอง” ขึ้นมาสร้างความหมายเชื่อมโยงกับพันธะสัญญากับหญิงคนรักที่ดูว่าน่าจะเป็นเรื่องจริง คือ หลังจากทำงานครั้งนี้เขาจะเปลี่ยนแหวนทองให้แก่เธอ เป็นแหวนทองนพเก้าทั้งสองมือ หรือถ้าการเก็บอากรมีผลกำไรไม่มากเขาก็จะเพียงแค่ทำแหวนทองคำให้ 2 วง นี่คงเป็นพันธะสัญญา ที่หมายรวมถึงการแต่งงานด้วยดังความที่เขาเขียนไว้ในตอนท้ายของนิราศหากการทำงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จ (หมื่นพรหมสมพัตสร(มี) 2544: 49)

                อย่างไรก็ตามการเดินทางในฐานะข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่ อาจทำให้เสมียนมีประสบความยากลำบากน้อยกว่าสุนทรภู่ในระหว่างการเดินทาง เขามีบริวารผู้ติดตามเป็นจีนแจวเรือ ฐานะข้าราชการยังช่วยคุ้มครองและทำให้ได้รับความสะดวกไม่ต้องถูกตรวจค้นจากด่านต่างๆ ด้วยการเดินทางที่รีบเร่ง เขายังมีทุนทรัพย์ใช้เรือใบที่ช่วยผ่อนแรงในการเดินทาง และจ้างแรงงานจีนแจวเรือถึง 2 คน จึงไม่น่าแปลกใจที่เสมียนมีใช้เวลาเพียง 1 วันและ 1 คืน เต็มในการเดินทางถึงเมืองสุพรรณเพื่อที่จะทำงานหนักในการเก็บอากรในเมืองนั้นนานหลายเดือน (หมื่นพรหมสมพัตสร(มี) 2544: 27-28, 35)

 

โครงเรื่องนิราศสุพรรณ : บันทึกเส้นทาง เวลา สถานที่และภูมิทัศน์จากกรุงเมืองศูนย์กลางความเจริญสู่เมืองชนบทร่วงโรยและป่าลึกอันตราย

 

                จากการที่นิราศสุพรรณทั้งสองเรื่อง มีฐานะเป็นบันทึกการเดินทาง และการทำงานที่เป็นประสบการณ์ตรงของกวี นิราศทั้งสองเรื่องนี้จึงมีโครงเรื่องแฝงไว้ด้วยเจตนคติของผู้เขียน สะท้อนโลกทัศน์ร่วมสมัยในการมองพื้นที่ฐานะทางสังคมการเมืองของกรุงเทพฯ หรือกรุง ที่เป็นเมืองศูนย์กลางในแง่จิตวิญญาณ คือ เป็นศูนย์กลางในระบบจักรวาลวิทยาในทางพระพุทธศาสนาซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่ผู้มีบุญสูงสุด พระมหากษัตริย์ประทับอยู่ โดยมีสัญลักษณ์ตัวแทน คือ  อาคารปราสาทพระมหาราชวัง และเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะการค้ากับต่างประเทศที่มาของโภคทรัพย์ที่สัมพันธ์กับบุญบารมีขององค์กษัตริยาธิราช กับการมองฐานะเมืองชนบทสุพรรณที่ด้อยกว่าทั้งในทางกายภาพและความรุ่งเรืองในทางพุทธศาสนา และพื้นที่ป่านอกเขตกรุงที่ดูน่ากลัวและเป็นอันตราย (ดูการอธิบายเรื่องระบบคิดและโลกทัศน์ของคนในสังคมต้นรัตนโกสินทร์ได้ในสมบัติ จันทรวงศ์ 2523 : 284-6 และ 292-4 ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล 2536 นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2527 และธงชัย วินิจจะกูล 1993)(2) โครงเรื่องภายใต้เจตนคติแบบนี้ ทำให้ผู้เขียนนิราศทั้งสองจัดลำดับฐานะพื้นที่ลดหลั่นกันตามความสัมพันธ์กับกรุงอันเป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการดำเนินเรื่องของนิราศ ดังนี้

 

                กรุง

                กวีทั้งสองเริ่มต้นการเดินทางตามเนื้อหาในนิราศจากศูนย์กลางจักรวาล คือ ราชธานีหรือกรุง ทั้งคู่บันทึกภาพกรุงให้เป็นพื้นที่ความทรงจำถึงอดีตที่แวดล้อมและสัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของกวี สถานที่ต่างๆในกรุงถูกเขียนให้เป็นภาพตัวแทนของบุคคลที่เขาเคยผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ผู้อุปถัมภ์ภายใต้สังคมระบบมูลนาย-ไพร่ ที่มีกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงเป็นผู้อุปถัมภ์และมีบุญบารมีสูงสุด อย่างกรณีสุนทรภู่ เขาเชื่อมโยงสถานที่ในกรุงตามเส้นทางเดินทางเข้ากับความทรงจำที่มีต่อมารดา ภรรยาและหญิงคนรักหลายคน ด้วยการเอ่ยชื่อถึงเธอเหล่านั้น เป็นการแสดงว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนในชีวิตจริงของเขา สถานที่ที่เชื่อมโยงความทรงจำถึงบุคคลยังมีบรรดาเพื่อนที่อาศัยบนเรือนแพย่านบางกอกน้อย ที่เขามองเห็นได้ขณะเรือผ่าน บุคคลเหล่านี้มีความสัมพันธ์อยู่ในระนาบทางสังคมเดียวกัน แต่พื้นที่กรุงที่มีความสำคัญต่อชีวิตและความทรงจำอดีตของสุนทรภู่กลับเป็นพื้นที่ศูนย์กลางจักรวาลพระบรมมหาราชวังที่ประทับของรัชกาลที่ 2 กษัตริย์ผู้สวรรคต องค์อุปถัมภ์ที่ทำให้ชีวิตของเขาก้าวขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์สูงสุด ก่อนที่จะตกต่ำลงขณะที่เขาเดินทางมาสุพรรณ เขาบันทึกภาพเรือแล่นผ่านฉนวนน้ำท่าพระตำหนักวังหลวง และเมื่อมองเห็นยอดปราสาท ทำให้เขาหวนอาลัยอดีตอันแสนสุข ช่วงเวลาที่ทำให้ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เมื่อเรือผ่านท่าช้าง เขาจึงนึกถึงบ้านตัวเองที่เคยได้รับพระราชทาน และใช้ชีวิตร่วมกับจัน ภรรยาคนแรกที่เป็นชาวบ้านบุและรับราชการฝ่ายในกรมพระราชวังหลังมาก่อน การเดินทางผ่านและมองเห็นวังหลวง วังหลัง ไม่ได้เพียงแค่กระตุ้นความทรงจำถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 2 ในฐานะผู้มีบุญและมีอำนาจสูงสุดเท่านั้น หากยังเชื่อมโยงความทรงจำให้พระองค์เข้ามาอยู่ในโลกส่วนตัว ในฐานะผู้มีบุญที่ให้เขาได้พึ่งพาจนสร้างความผูกพันทางจิตใจอย่างลึกซึ้ง สุนทรภู่ถึงกับขออุทิศผลบุญจากการบวชถวายพระองค์ด้วยพื้นที่ความทรงจำในอาณาบริเวณกรุง ขณะเรือแล่นผ่าน ยังเชื่อมโยงไปสู่การย้อนอดีตถึงชีวประวัติ ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่วัดชีปะขาวจนสามารถใช้ความรู้เข้ารับราชการในหน้าที่อาลักษณ์ สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่พำนักเมื่อเริ่มรับราชการ และยังทำให้นึกถึงเพื่อนและหญิงคนรักในละแวกนี้ หรือการผ่านวัดละคอนทำ ก็ทำให้เขาย้อนความทรงจำถึงการเคยมีอาชีพอิสระ บอกบทละครให้คณะละครนอกนายบุญยังที่มีชื่อเสียงเวลานั้น (สุนทรภู่, 2509 : 25-32)

                กรุงในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ จึงมีความหมายผูกพันอยู่กับความทรงจำอดีตที่เป็นโลกและชีวิตส่วนตัวของเขา เป็นสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่เขาคุ้นเคย กรุงเป็นพื้นที่อย่างน้อยได้ให้ความสุขทั้งทางวัตถุและจิตใจ แม้จะเป็นเพียงอดีต การเดินทางเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ การเดินทางเป็นความหวังในการแสวงโชคจากดินแดนห่างไกลในป่ารอบนอก

                สำหรับเสมียนมีแล้ว “กรุง” ราชธานีกรุงเทพฯ มีความหมายพื้นที่ตัวตนตามที่เขาบันทึกไว้ในนิราศสุพรรณอีกแบบหนึ่ง กรุงเทพฯ แม้จะเป็นที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับความเจริญทางเศรษฐกิจที่มีต่อบ้านเมือง มีอิทธิพลต่อโลกทัศน์การมองชีวิตการงานของเสมียนมี ชีวิตราชการของเขาอยู่ในกระแสความเคลื่อนไหว ที่เป็นการเติบโตเศรษฐกิจการค้าของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการค้าสำเภากับต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการผลิตภายในและนโยบายบริหารการคลังของรัฐ ด้วยการได้รับตำแหน่งหน้าที่เก็บอากรสมพัตสรที่สุพรรณ การรับรู้ของเขาที่มีต่อสถานที่ และภูมิทัศน์ภายในกรุง ล้วนแล้วแต่ให้ความหมายแก่เรื่องเล่าการค้ากับต่างประเทศ โอกาสและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้คนทุกชนชั้น และลักษณะความเป็นเมืองมหานครที่คึกคักของกรุงเทพฯ

                เสมียนมีเริ่มต้นบันทึกการออกเดินทางจากบ้านของตัวเอง ที่เป็นเรือนแพริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งอยู่ทางใต้จากวังหลวง โดยไม่ระบุว่าเป็นตอนไหนของแม่น้ำ หากแต่ให้ภาพภูมิทัศน์ความคับคั่งของเรือสำเภาที่บรรทุกสินค้าเข้าจากต่างประเทศคือ จีนและอินเดีย และเรือสินค้าส่งออกจากไทย รวมถึงภาพความหนาแน่นของชุมชนการค้าทั้งเรือนแพและตลาดน้ำ ที่เต็มไปด้วยสินค้าจำหน่ายหลากหลายที่มีทั้งสินค้าต่างประเทศ และสินค้าของป่าที่ส่งออก เสมียนมีเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวการค้านี้เข้ากับโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้คนที่เข้ามามีส่วนร่วม ให้สามารถสร้างฐานะรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายทางกายและใจ ทั้งตึกรามบ้านช่องและบ่าวไพร่ใช้สอย ดังที่ว่า

                                “ ที่เงินทองตวงถังก็ตั้งตึก

                                อึกกระทึกไม่เบาเป็นเจ้าสัว

                                มีผู้คนบ่าวไพร่ใช้เหมือนวัว

                                ให้ลงหัวลงท้ายสบายใจ”

                                                (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 8)

                การให้ความสำคัญต่อความเคลื่อนไหวการค้ายังครอบคลุมถึงภาพการค้าภายใน “กรุง” ระดับชาวบ้านด้วย เสมียนมีบันทึกภาพการค้าในชุมชน แม่ค้าขายของตามเรือนแพ มีการซื้อขายคึกคักกันในตลาดน้ำคลองบางกอกน้อย “พวกแม่ค้ามิได้ขาดตลาดน้ำ สุดจะร่ำเรือแพกระแสสินธุ์” เขาทำให้เห็นว่าแม้แต่แม่ค้าก็มีช่องทางให้ร่ำรวยได้แม้ว่าจะด้วยวิธีการ “ขี้ฉ้อ” บ้างก็ตาม (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 12)

                เสมียนมีเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจตัวเองกับพวกเจ้าสัว (ซึ่งทั้งหมดสร้างฐานะได้ด้วยการเป็นเจ้าภาษีนายอากร วิธีการคล้ายกับเสมียนมี) เสมียนมีมองตัวเองขณะนั้นว่ายังเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่มีตำแหน่งเฝ้า มีเงินทองไม่มากนัก และอาศัยแผ่นดินทำมาหากิน เขาคาดหวังการสร้างฐานะให้ดีขึ้น เขาจึงมีความหวังในการเก็บอากรครั้งนี้ อาจสามารถทำรายได้สูงให้กับพระคลังซึ่งที่หมายถึงโอกาสการสร้างฐานะตนเองให้ดีขึ้นด้วย

                แต่การบันทึกพื้นที่ “กรุง” ส่วนที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับเสมียนมีไม่ต่างจากสุนทรภู่ คือ พื้นที่กลางกรุงสัญลักษณ์ตัวแทนพระมหากษัตริย์ เป็นตำหนักแพลงสรง พระมหาปราสาทที่ทำให้รำลึกถึงพระแก้วมรกต ที่นี่เป็นสัญลักษณ์หมายถึงศูนย์กลางจักรวาลที่พึ่งพาสูงสุดของเสมียนมี สำหรับเสมียนมีรัชกาลที่ 3 ดำรงสถานะกษัตริย์ผู้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับทุกชนชั้นไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายเจ้านายชั้นสูง อย่างโอรสกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข เขาให้ข้อมูลถึงบางองค์ที่ยังรักษาฐานะความเป็นเจ้านายชั้นสูงอยู่ได้ ว่าเป็นผู้ทำการค้าสำเภา ซึ่งเป็นช่องทางเศรษฐกิจที่รัชกาลที่ 3 สนับสนุนและโปรดปรานเจ้านายเหล่านั้น แม้แต่เสมียนมี เขายังได้รับโอกาสการเป็นนายอากรที่หมื่นพรหมสมพัตสร เป็นช่องทางการทำอากรที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและตัวเอง (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 9)

                การสะท้อนภาพตัวตน “กรุง” จากเจตนคติของกวีผ่านนิราศสองเรื่องอาจแตกต่างกัน สุนทรภู่เลือกสถานที่ที่เชื่อมโยงความทรงจำที่มีต่อแม่ คนรัก เพื่อน และพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อชีวิตส่วนตัว สถานที่ในกรุงยังเป็นความทรงจำ การใช้ชีวิตในช่วงบวชเรียน และทำงานอันเป็นประสบการณ์ที่เป็นความสุขภายใต้สังคมแบบอุปถัมภ์ มูลนาย-ไพร่ ขณะที่เสมียนมี “กรุง” เป็นพื้นที่ประสบการณ์การเติบโตและความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจการค้า ที่มีพลังเปลี่ยนแปลงฐานะความร่ำรวยของคนในสังคม แม้แต่เจ้านายที่มีชาติกำเนิดเป็นตัวกำหนดฐานะทางสังคมก็ยังประสบกับความถดถอยได้ หากไม่เข้าร่วมโอกาสเศรษฐกิจการค้า การเดินทางครั้งนี้ของเขาก็เพื่อโอกาสแบบนั้นเช่นกันและโอกาสอย่างนั้นยังเป็นความสุขที่เขามุ่งแสวงหา ในแง่นี้คงไม่ต่างจากสุนทรภู่ที่การเดินทางก็เป็นการแสวงหาโภคทรัพย์จากแผ่นดิน เพื่อฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและเพื่อความสุขในอนาคตกับการใช้ชีวิตในกรุง “กรุง” จึงมีภาพลักษณ์ของความสุข หมายถึง การมีตึกเป็นที่อยู่อาศัย มีข้าคนและทรัพย์สินให้ใช้จ่าย รวมถึงมีการใช้ชีวิตทางวัฒนธรรมกระฎุมพีแบบชาวกรุง จินตนาการความสุขนี้เป็นไปได้ด้วยบุญบารมีและการอุปถัมภ์จากมูลนายสูงสุด คือ พระมหากษัตริย์ที่มีภาพตัวแทน คือ พระบรมมหาราชวัง ฉนวนน้ำและตำหนักแพนั่นเอง และ “กรุง” นั่นเองคือ พื้นที่ที่มีฐานะสำคัญที่สุดในจินตนาการและอารมณ์ความรู้สึก ความสุขใน “กรุง” ยังหมายถึงความมั่นคงและการได้รับความคุ้มครองจากกำลังคนและเสบียงอาหารที่ส่งมาจากหัวเมืองต่างๆ ในราชอาณาจักร เสมียนมีถึงกับเชื่อมั่นว่า หากข้าศึกยกทัพมาคงเหมือน “แมงเม่าบินเข้ากองไฟ” (สุนทรภู่ 2509 : 25-29 และ หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 8-16 , 24)

                จินตนาการพื้นที่บันทึก “กรุง” ในนิราศทั้งสองเรื่อง สามารถเปรียบเทียบได้เหมือนกับภาพศูนย์กลางในจิตรกรรมฝาผนังต้นรัตนโกสินทร์ พระมหาปราสาทและภาพเขียนแบบนาฏลักษณ์ซึ่งหมายถึงตัวเอกที่ต้องเป็นกษัตริย์ หรือพระโอรส โดยมีส่วนประกอบของภาพที่เป็นอาคารแบบจีนและฝรั่ง เรือสำเภา และคหบดีจีนเป็นต้น ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์อันที่เป็นหลากหลายที่เกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจการค้าซึ่งได้ทับซ้อนกันอยู่ในจิตสำนึกของกวี

               

                เส้นทางสู่เมืองสุพรรณ

                บันทึกนิราศเมื่อออกจากกรุง เข้าสู่พื้นที่ปริมณฑล บางกรวยและบางใหญ่ ภูมิทัศน์ชุมชนแถบนี้ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับชีวิตส่วนตัวของกวีทั้งสอง พวกเขาจึงใช้เทคนิคการประพันธ์แบบโยงชื่อสถานที่แล้วย้ายความหมายให้เข้ากับชื่อคนรักและพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกต่อหญิงนั้น ยกเว้นบางชุมชนที่เป็นแหล่งสวนผลไม้ ตลาด ด่านและคลองโยง สุนทรภู่ได้ให้ความสนใจบรรยายถึงผลผลิตและความคับคั่งของเรือผลไม้ที่มีกิจกรรมแลกเปลี่ยน ในขณะที่เขาไม่ได้ให้ความสนใจกับแหล่งเกษตรอุตสาหกรรมอย่างโรงหีบอ้อยเป็นพิเศษ หรือแม้แต่คลองโยง ช่วงเวลาเดินทางนั้นน้ำในคลองตื้นระดับน้ำลด ต้องใช้ควายลากเรือจากฝั่ง สุนทรภู่กลับบรรยายเรื่องราวตอนนี้ด้วยความรู้สึกสงสารควายที่ถูกใช้แรงงานมากเกินไป ซึ่งเป็นการใช้ทัศนะตามหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา ไม่ใช่มิติทางเศรษฐกิจ ในการให้ความหมายชุมชน (สุนทรภู่ 2509 : 30-32)

                ภาพนี้ตรงข้ามกับบันทึกของเสมียนมี ด้วยความรีบเร่งเดินทางเพื่อเก็บอากรให้ทันเวลา เขาจึงไม่ได้สังเกตและใส่ข้อมูลชุมชนบนเส้นทางมากนัก หากแต่อ้างชื่อและใช้เทคนิคการเล่นคำด้วยชื่อชุมชน เขาเลือกบันทึกลักษณะชุมชนบางแห่งที่มีประเภทผลผลิตและสภาวะการผลิตที่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่น่าแปลกใจที่เป็นเช่นนี้ เสมียนมีด้วยการทำหน้าที่นายอากร จำเป็นต้องมีทักษะประเมินสภาพการผลิตที่ทำให้เขาจัดเก็บภาษีได้ เป็นต้นว่า เขาเลือกบันทึกข้อมูล “บางใหญ่” ด้วยการสะท้อนภาพสวนผลไม้นานาพันธุ์อย่างมะม่วง ทุเรียน มังคุด ละมุด ลิ้นจี่ ลำไย มะไฟ มะเฟือง มะปรางปริง ไม้ผลเหล่านี้ให้ผลผลิตหมุนเวียนกันอย่างต่อเนื่องทุกฤดูกาล ที่นี่จึงน่าจะเป็นชุมชนสวนขนาดใหญ่ จนมองเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจชุมชน ทำให้ต้องบันทึกถึงภาวะขาดแคลนอาหารในชุมชนแห่งนี้ว่า ปีมะโรง ฉศก เพราะ “ตกแล้ง” คือ ฝนน้อยน้ำไม่พอ จึงเกิดภาวะ

                               

 

                                                “ข้าวก็แพงถังละบาทพวกราษฎร์ขาย

                                                ระคนปนเผือกมันพอกันตาย”

                                                                                (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 24)

                ผู้อ่านสามารถมองเห็นความคิดหรือโลกทัศน์เสมียนมีซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าที่เป็นการผลิตมากกว่าสุนทรภู่ เปรียบเทียบจากการมองเห็นและบันทึกเรื่องเล่าโรงหีบอ้อย เสมียนมีให้รายละเอียดกระบวนการหีบน้ำอ้อย นำมาเคี่ยวในกระทะใบโตตั้งบนเตาฟืนขนาดใหญ่ เพื่อทำน้ำตาลทราย ดูราวกับว่าเขาตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมชนิดนี้ในการส่งออก เขายังมีความคิดเชื่อมโยงภาพชุมชนโรงหีบที่เต็มไปด้วยแรงงานชาวจีนกับผู้หญิงโสเภณีจากกรุงเทพฯ เข้ามาประกอบอาชีพในชุมชน ดังที่เขาเปรียบเปรยว่าเป็น “ฝูงมดตัวเมียจากบางกอก” ผู้ถูก “ให้เขาขายแลกลำระยำเยิน” ภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมลักษณะนี้ มักไม่ค่อยได้รับการมองเห็นและบันทึกไว้ในการเดินทางของนักเดินทางคนอื่นมากเท่าใด (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 29)

                อย่างไรก็ตามบันทึกการเดินทางเมื่อพ้นจากคลองบางใหญ่และเขตนครไชยศรี กวีทั้งสองเกือบมองไม่เห็นความสำคัญของชุมชนบนเส้นทางสายนี้มากนัก อาจเป็นด้วยว่าเสมียนมีรีบเร่งเดินทางจนไม่ได้บรรยายลักษณะชุมชนไว้เลย นอกจากเอ่ยถึงชื่อโดยใช้เทคนิคการเขียนนิราศเชื่อมโยงกับความรักหรือปรัชญาชีวิตแทน กวีทั้งสองให้ภาพเส้นทางสายเปลี่ยว เต็มไปด้วยท้องทุ่งและป่าหญ้า ชุมชนแต่ละแห่งตั้งอยู่ห่างกัน สุนทรภู่สร้างภาพให้เรามองเห็นอันตรายจากสัตว์น้ำยุคนั้น คือ จรเข้ รวมถึงความหวาดกลัวโจรผู้ร้าย  โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อแดนระหว่างนครไชยศรี-สองพี่น้อง ในเขตเมืองสุพรรณ การบรรยายทำให้เห็น ทุ่งป่าหญ้า ที่เต็มไปด้วยยุงและแมลงคอยรบกวนความเป็นอยู่ระหว่างการเดินทางให้ยากลำบากขึ้น แม้สุนทรภู่มองเห็นคุณค่าอีกด้านหนึ่งของภูมิทัศน์ที่เป็นป่าหญ้า ในการเป็นแหล่งอาหารของพืชและสัตว์น้ำ แต่การที่ชุมชนตั้งอยู่ห่างไกลกัน และหลายชุมชนอย่างบ้านศศิธร บ้านขโมย บางน้อย บางหวาย บางซอและบางคันชั่ง ที่ตั้งอยู่ในทำเลป่าไผ่ และป่าแฝก ที่แม้จะมีประโยชน์ในการนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย แต่ภาพที่เขาบันทึกไว้ล้วนแล้วแต่เป็นการมองเห็นท้องทุ่ง ป่าหญ้า และไผ่ นั้นกลับสะท้อนความรู้สึกถึงความเปลี่ยวและน่ากลัวอันตรายจากสัตว์ร้ายในแม่น้ำอย่างจระเข้ในระหว่างการเดินทาง (สุนทรภู่ 2509 : 34-38) หรือบางหมู่บ้านอย่างบางสีสนุก ก็มีแต่กอสวะขึ้นเต็มไปหมดสลับกับหญ้ากระจ่าง จนสร้างปัญหาความยากลำบากในการพายเรือ ต้องคอยตัดฟันและค้ำเรือออกห่างสู่ทางน้ำ กวีทั้งสองจึงไม่ได้สนใจลักษณะชุมชนนัก บางชุมชนที่ถูกบันทึกไว้ ยังเป็นการให้ภาพสื่อถึงความหดหู่ด้วยการอธิบายสภาพทรุดโทรมร่วงโรยของวัดและหมู่บ้าน พร้อมกับการใช้มาตรฐานความศรัทธาทางพุทธศาสนาของตนเอง ไปตั้งคำถามต่อชาวบ้านที่ละเลย ไม่ซ่อมแซมศาสนสถานเหล่านั้น(3) (สุนทรภู่ 2509: 41) แน่นอนว่ากวีทั้งสองคงไม่สามารถเข้าใจถึงภาวะความเป็นอยู่แบบยังชีพของชาวบ้านที่ไม่มีผลผลิตส่วนเกินมากพอในการบูรณะวัดได้

 

                เมืองสุพรรณ

                ความเปลี่ยว อันตราย และความลำบากถูกทำให้เห็นลดน้อยลงตามระยะทางใกล้ตัวเมืองสุพรรณ บันทึกถึงชุมชนขนาดใหญ่อย่างบ้านกล้วย ที่มีทั้งอาคารบ้านเรือนและวัดตั้งเรียงรายลดหลั่นกันอยู่ริมแม่น้ำ ทำให้รู้สึกถึงการเข้าใกล้ตัวเมือง ซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากหมู่บ้านขนาดใหญ่

                สุนทรภู่เดินทางถึงเมืองนี้ช่วงตอนเย็น เรือแล่นผ่านหน้าเมืองซึ่งอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำ สภาพบ้านเรือนของผู้รั้ง กรมการ ศาล ตลาด และวัดต่างๆ ในสายตาของเขา เห็นว่าสุพรรณที่แท้แล้วเป็นเมืองรกร้าง วัดหลายแห่งที่เขาอ้างอิงว่าชาวบ้านพาไปชี้ให้ดูนั้น ถูกบันทึกโดยเชื่อมโยงเข้าไว้กับเรื่องเล่าเสภาขุนช้างขุนแผน ที่น่าสนใจคือ สุนทรภู่ใช้จินตนาการสร้างความทรงจำย้อนอดีตตามท้องเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วยการกำหนดเวลาให้ตรงกับสมัยอยุธยา แล้วนำมาจินตนาการเปรียบเทียบกับวัดหลายแห่งขณะที่เขามองเห็น อย่างวัดแคที่เขาสร้างภาพว่าในอดีตยุคขุนช้างขุนแผน วัดนี้คงเป็นชุมชนที่ผู้คนอยู่กันมากมาย มีชีวิตสนุกสนานตามจินตนาการที่เขาคิดว่าเป็นจริงของวรรณกรรมเรื่องนั้น แต่ขณะเวลาที่สุนทรภู่ประจักษ์พบว่าความเป็นจริงแล้วที่แห่งนี้กลับกลายเป็นที่ “รกเรื้อเสือคะนอง” และแม้แต่วัดฝาโถซึ่งนางพิมสร้างไว้ก็ถูกทิ้งร้างเช่นกัน (สุนทรภู่ 2509 : 47-48) ภาพเมืองสุพรรณรกร้างตามสายตาที่
สุนทรภู่มองเห็นจึงให้ความรู้สึกดังที่เขาบรรยายว่า

                               

                                  สงสารบ้านวัดร้าง                         แรมโรย

                                เสียงแต่นกหกโหย                              ค่ำเช้า

                                อกพี่ทีเดียวโดย                                    ด้วยแก่ แม่เอย

                                เข้าเรื่องเมืองร้างเศร้า                         โศกซ้ำรัญจวน

                                                (สุนทรภู่ 2509 : 48)

                เสมียนมีเองก็ให้ภาพลักษณ์เมืองสุพรรณ ด้วยการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่อเมืองนี้ ว่าเป็นเมืองรกร้างเหมือนตั้งอยู่ ในป่า 

                                                “ดูร่วงโรยแรมร้างน่าสังเวช             

                                                ดังประเทศแถวป่าพณาสัณฑ์”

                และสภาพเมืองยังรกเรื้อด้วยต้นไม้หนาทึบว่า

                                                “พฤกษาชาติ แทรกแซมขึ้นแกมกัน

                                                อเนกนันต์เล็กใหญ่ไม้นานา”

                                                                (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 51)

                นอกจากภาพลักษณ์ดังกล่าวแล้ว สภาพบ้านเรือนและชีวิตผู้คนยังถูกบันทึกไว้ด้วยเจตนคติแบบเสียดสี ภาพที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบันทึกไว้ คือ สภาพจวนเจ้าเมืองซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดในท้องถิ่น สุนทรภู่เล่าว่า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ กั้นรั้วรอบยาวตามฝั่งแม่น้ำ บรรยายให้เห็นภาพฝูงวัว ควาย เดินเต็มบ้าน โดยมีผู้หญิงหลายคนนุ่ง “ผ้าลาย” ซึ่งเขาเดาว่าน่าจะเป็นเมียเจ้าเมือง เพราะผ้าลายเป็นสินค้าต่างประเทศที่นำมาจากเมืองหลวง การนุ่งผ้าลายและฐานะภริยาเจ้าเมือง ที่ควรจะต้องเป็นผู้หญิงชนชั้นสูงในเมืองกลับ
ถูกวาดภาพให้ดู
“มอมแมม” และมีรูปร่าง “จ้ำม่ำล่ำสนสอ้าน” สุนทรภู่จินตนาการว่ารูปร่างแข็งแรงเช่นนี้คง “อาบน้ำปล้ำปลา” ภาพสตรีชั้นสูงของชาวเมืองนี้ ถูกสร้างให้เป็นภาพตรงข้ามกับสตรีในอุดมคตินางฝ่ายในราชสำนักที่กรุงโดยสิ้นเชิง (สุนทรภู่ 2509 : 47)

                เสมียนมีเองก็นำบุคลิกภาพชาวบ้านเมืองนี้มาล้อเลียน ให้เห็นเป็นเรื่องขำขันขณะปฏิบัติหน้าที่เก็บภาษีในเมืองนี้ กลุ่มคนที่เขาเก็บมาเขียนให้เห็นเป็นเรื่องสนุกสำหรับผู้อ่านชาวกรุง ก็คือ ภาพกลุ่มชาวบ้านที่ไม่มีเงินชำระอากร เสมียนมีให้ภาพอาการ “ละเหี่ยละห้อย” และขอผัดผ่อน ซึ่งอ้างว่าเขาได้ยอมผ่อนผันให้ แต่กลับพบความจริงว่าบางรายขี้เหนียวและดื้อ ไม่ยอมเสียอากร แต่ภาพที่ถูกนำมาล้อเลียนเป็นเรื่องสนุกน่าหัวเราะสำหรับเขากลับเป็นกลุ่มผู้หญิง ที่เสมียนมีบันทึกไว้ว่าให้การปิดบังสถานภาพตัวเอง เพื่อจะไม่ต้องเสียภาษี ด้วยการอ้างตนเป็นหม้าย (ซึ่งอาจเป็นเหตุผลการยกเว้นอากรก็เป็นได้) หากแต่พอตกกลางคืนกลับไปขอเป็นภรรยาชายที่มีตราภูมิคุ้มห้าม เพื่อจะได้รับยกเว้นภาษี แล้วก็มีชายชาวบ้านบางคนที่มีตราภูมิ อาสาเป็นสามีแต่ถูกผู้หญิงปฏิเสธ ซึ่งเสมียนมีมองว่าเป็นเรื่อง “หน้าไม่อาย” เขาประสบแม้แต่ผู้หญิงบางคนอยากเลิกกินอยู่กับสามีที่มีตราภูมิ จึงออกอุบายกลับมาฟ้องเขาให้จับกุมสามีเพื่อตัวเองจะได้มีสามีใหม่ แต่เสมียนมีระบุไว้ชัดเจนว่าการบันทึกเรื่องเล่าเหล่านี้ เพราะมีความเห็นว่า เป็นเรื่อง “ขันเต็มที่” (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 57) นี่คงเป็นการนำสังคมชาวบ้านมาเสนอให้เป็นเรื่องสนุก ทั้งที่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหากเรื่องเล่าของเสมียนมีเป็นจริงก็น่าจะสะท้อนว่าชาวบ้านที่ยากจนกำลังพยายามใช้ทุกวิธีต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี อันเป็นภาระที่พวกเขามิอาจแบกรับได้ การนำเสนอภาพเหล่านี้ให้เป็นเรื่องสนุก ยังสามารถนำไปจินตนาการเปรียบเทียบกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นพื้นที่รอบนอกศูนย์กลาง ชีวิตชาวบ้านในเรื่องเล่านิราศสุพรรณ เทียบได้กับ “ภาพกาก” ที่ถูกเขียนนอกกรอบเรื่องหลักในจารีตการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังไทยให้เป็นมนุษย์แบบชาวบ้าน แสดงออกด้วยท่าทาง การแต่งกาย รวมทั้งอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา มีชีวิตสนุกสนาน เป็นภาพที่แสดงออกถึงสภาวะทางโลกย์เต็มที่

                แม้ว่าเจตนคติของกวีที่พยายามให้ภาพเมืองนี้เป็นเมือง “ร่วงโรยแรมร้างน่าสังเวช” แต่กวีก็ไม่สามารถสร้างภาพนั้นได้ทั้งหมด ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้โดยกวีไม่ได้ใส่ใจต่อการเล่าเรื่องกลับระบุว่า เมืองสุพรรณมีทั้งโรงเหล้าและโรงบ่อน (สุนทรภู่ 2509 : 47 และหมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 58) ซึ่งได้ให้ความหมายถึงภาวะเริ่มต้นของลักษณะเศรษฐกิจแบบเงินตรา ที่ขยายตัวออกมาถึงเมืองนี้ ทั้งที่สภาวะการผลิตของเมืองยังเป็นแบบยังชีพ

 

                ป่า

                อย่างไรก็ตามนิราศสุพรรณทั้งสองเรื่องไม่ได้บันทึกปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินระหว่างพำนักในตัวเมือง สำหรับเสมียนมีเองภายใต้การอุปถัมภ์จากชาวเมืองที่มีฐานะดีคนหนึ่ง จนเขาถึงกับยกฐานะให้เป็นญาติผู้ใหญ่นั้น เขาย่อมได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากได้รับ “ทั้งบ่าวไพร่ใช้ชอบออกรอบเรือน” จนเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวเมืองอย่างกว้างขวาง จนเป็นประโยชน์ในการเดินทางไปเก็บภาษี แต่สุดเขตชุมชนเมืองที่ปลายเขตแดนซึ่งเสมียนมีระบุว่าเป็นเขต “เขาพระ ท่าช้าง นางบวช” กลับถูกเสมียนมีเขียนถึงว่าเป็นภาพป่าทุรกันดาร เมื่อเขาเดินทางถึงบางขวาก พบว่า เป็นเส้นทางที่ประสบความยากลำบากในการเรียกเก็บอากร พื้นที่เหล่านี้ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตรา เขาจึงพบปัญหาการเรียกเก็บอากรได้ยากราวกับ “เหมือนแคะแค่นขอทานรำคาญใจ” และที่ดอนกระเบื้องก็พบว่าเป็น “เมืองป่า” ที่ “ใครแปลกหน้าขึ้นไปมิใคร่ได้” พื้นที่ป่าทำให้เขาหวาดกลัว “ด้วยกลัวภัยเจ็บไข้ที่ร้ายแรง” หรือในท้องที่น้ำทุ่งหลาก ทำให้ยากต่อการกำหนดเขตแดน เขายังต้องหลงทางน้ำ พายออกนอกเขตเมืองสุพรรณ เข้าไปถึงปากไห่ สภาพนอกตัวเมือง ชายป่าจึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเดินทางและทำงานเก็บภาษี เขาตัดสินใจขายสัมปทานอากรตัดตอนให้พวกจีนไปจัดเก็บ เสมียนมีจึงไม่ได้เดินทางต่อออกไปยังพื้นที่ชุมชนป่าเขา ในขณะที่สุนทรภู่ได้เดินทางไปถึงดินแดนชายเขตเหล่านั้น (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 61)

                ถ้าเช่นนั้นพื้นที่ป่านอกเขตเมืองสุพรรณเป็นอย่างไร สุนทรภู่เดินทางไปยังเขตดังกล่าวเพื่อเข้าป่าแสวงหา “ปรอท” เพื่อใช้เล่นแร่แปรธาตุ ทำทอง เส้นทางและภูมิทัศน์ที่เขาบรรยายไว้มีอยู่ 3 ช่วง คือ ชายป่า ป่าชั้นนอกเป็นที่อยู่ชาวกะเหรี่ยง และป่าลึกชั้นในบนเขาสูงที่อยู่ชาวละว้า ภาพลักษณ์ทั้งหมดเป็นพื้นที่แปลกใหม่ เต็มไปด้วยบรรยากาศของธรรมชาติ ลึกลับ เสี่ยงอันตรายมีทั้งความน่ากลัว ความตายและมีภาวะ 2 ระดับ คือ เหมือนจริงและเหนือจริง ที่ช่วยตอกย้ำจินตนาการผู้อ่านให้มีความตื่นเต้นท้าทาย พรั่นพรึง และสนเท่ห์ แต่ขณะเดียวกันก็อยู่ในระบบความคิดความเชื่อหรือโลกทัศน์ที่ทั้งสุนทรภู่และผู้อ่านยอมรับได้

                สุนทรภู่เริ่มบรรยากาศพื้นที่ชายป่าตั้งแต่เดินทางออกจากด่านขนอน เข้าเขตหมู่บ้านชายป่าอย่างบ้านไร่ บางม่วง จนถึงเขตป่า บ้านกร่าง มีสัญลักษณ์คือ ศาลปู่เจ้า ที่เป็นศาลเทพผู้พิทักษ์ไพร ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ผจญภัยกับสัตว์ป่าอันตรายหลายประเภทในท้องที่แต่ละแห่ง ซึ่งเป็นบรรยากาศแบบเหมือนประสบการณ์จริงนั้น ถูกสอดแทรกไว้กับเรื่องเหนือจริงที่เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ลึกลับที่ปรากฏตัวตนในนิมิต ความฝัน หรือแม้แต่ภาพลวงตาที่จับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพบเสือหรืองูเหลือมบริเวณศาลปู่เจ้า ที่บังเอิญเรือคณะเดินทางติดเกยตื้น ต้องลงเข็น ทั้งที่กลัวสัตว์อันตรายเหล่านั้น แต่ในทันทีนั้นคณะเดินทาง ก็มองเห็นกลุ่มควันรูปร่างคล้ายมนุษย์นั่งบนหลังงู ทำให้สุนทรภู่ต้องตั้งเครื่องบัดพลีเซ่นปู่เจ้าพิทักษ์ป่าแถบนั้น สักครู่กลุ่มควันรูปงูก็หายไป เรือจึงแล่นต่อไปได้ วิธีเล่าแบบนี้ยังใช้ในการบรรยายภาพป่า ถึงแม้บางช่วงตอนสุนทรภู่สอดแทรกธรรมชาติที่เขาพรรณนาถึงนก ต้นไม้ ด้วยลักษณะที่เหมือนจริงและเต็มไปด้วยสุนทรียรสที่ชื่นชมความงาม แต่ป่าทั้งสองแห่งก็ยังเป็นป่าที่น่ากลัวเป็นอันตรายอย่างยิ่ง จนแม้แต่สร้างความตายให้เกิดขึ้นได้ ทั้งที่สุนทรภู่มีผู้นำทางซึ่งชำนาญพื้นที่ป่าแถบนั้นมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นกวั่งและสังบุเรที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงหรือรอดจากหมู่บ้านละว้า (สุนทรภู่ 2509 : 61-100) ผู้นำทางชาวพื้นเมืองช่วยเหลือคุ้มครองดูแลคณะเดินทางซึ่งไม่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในป่า ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกมนุษย์ที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ผูกเปลให้นอน หาอาหาร พืช ผลไม้และล่าเนื้อจากป่า อย่างไรก็ดีจากการอ่านนิราศยังพบผู้คุ้มครองคณะเดินทางอีกประเภทหนึ่ง เป็นพลังอำนาจลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะเจ้าป่า อารักษ์ หรือวิญญาณอดีตกษัตริย์ สุนทรภู่พึ่งพาการคุ้มครองอำนาจนี้ด้วยความรู้ที่ใช้สื่อสารกับอำนาจเหล่านั้น คือ การทำพิธีกรรมเซ่นสรวงและการนั่งสมาธิ

                การผจญภัยในป่าแม้จะมีผู้นำทางก็ยังเต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นฉากการผจญเสือ ผู้-เมีย ที่คณะเดินทางไปแย่งเนื้อที่เสือกินเหลือมาเป็นอาหาร จนตกกลางคืนเสือได้ไล่ติดตามมารบกวน ขณะนอนค้างในป่า จนพวกเขาต้องทำพิธีเซ่นไหว้ “พระไพร” ตกกลางคืนคืนนั้น พวกหนุ่มคณะเดินทาง ก็ฝันเห็นเจ้าป่ามีหน้าและปากเป็นเสือดูดุร้าย ขี่หลังแรด แผดเสียงน่ากลัว มาบอกลาก่อนหายไป หรือเมื่อเข้าเขตป่าลึกที่เรียกว่า “ป่าต้น” สองยาง สุนทรภู่ก็เล่าถึงพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของ “เจ้าสองพี่น้องสองยาง” ซึ่งเป็นอารักษ์รักษาป่า ลงโทษชาวบ้านซึ่งทำร้ายแม่ตัวเองเพราะเสียสติแล้วอาละวาด ด้วยการหักคอจนตาย ด้วยความเกรงกลัวอำนาจอารักษ์สองพี่น้อง สุนทรภู่จึงขอขมาและขอความคุ้มครองด้วยการตั้งเครื่องบวงสรวงบูชา โดยมีลูกๆ ร้องเพลงขับบวงสรวงเจ้าป่า เทวสถาน อย่างถูกต้องตามแบบแผนทั้งนี้เพื่อขออนุญาตค้นหาแร่ปรอท สุนทรภู่ได้เล่าเรื่องเหนือจริงที่เป็นอำนาจอารักษ์นั้น ว่าได้บอกเส้นทางค้นหาแร่ เรื่องเล่าที่นำเอาเหตุการณ์เหมือนจริงและเหนือจริงเข้ามาอยู่ด้วยกันนี้ ดำเนินไปตลอดเส้นทางผจญภัย รวมถึงฉากผจญภัยสุดท้ายที่เป็นจุดสุดยอดของเรื่อง คือ การพบ “พระปรอท” การต่อสู้และหนีโขลงช้างป่า ตลอดจนการหาทางเปิดกรุพระเจดีย์โบราณ และนิมิตเห็นภาพกษัตริย์ในอดีตเล่าตำนานบ้านเมืองที่ถูกทิ้งร้างไปด้วยโรคห่าระบาด และการเฉลยว่าปรอทไม่ใช่เหล็กไหล และไม่สามารถนำไปเล่นแร่แปรธาตุได้จริง

                นอกจากความตื่นเต้นน่ากลัวจากฉากผจญภัยสัตว์ป่านานาประเภทแล้ว สุนทรภู่ยังสร้างภาพการเผชิญหน้ากับความตายในป่าไว้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพบร่างหมอต่อ (นายพราน) นกกระเต็น นอนตายในป่าโป่งแดง ทิ้งย่ามผ้า พร้าและกระทอไว้ สุนทรภู่ได้ทำพิธีบังสุกุลให้ผู้ตาย หรือเมื่อเข้าป่าละว้า เดินทางจนพ้นดงเหล็กไหล เป็นแหล่งขมิ้น พบเตาเก่าก่อไฟทิ้งไว้ มีผ้าสบงพาดอยู่และบาตรทิ้งไว้ สุนทรภู่สันนิษฐานว่าเป็นพระสงฆ์เดินทางเข้ามาหาแร่ ถึงแก่ความตายขณะกำลังเล่นแร่แปรธาตุ (หลอมถลุงแร่) แล้วถูกแร่กินตายจนเหลือแต่สิ่งของ เขาอธิบายว่าเหล็กไหลจะมี “แม่สาร” คล้ายเหล็ก เวลาถลุงจะลุกเป็นเพลิงเหมือนกรดมีควันพิษ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การนำเสนอภาพความตายนี้ให้ทั้งความน่ากลัว ความรู้ที่เป็นสาเหตุของการตายซึ่งเป็นการสันนิษฐานตามปรากฏการณ์จริง และปรัชญาชีวิตตามหลักพุทธศาสนาเตือนสติ ไม่ให้ลุ่มหลง พื้นที่ป่าในนิราศจึงเป็นเรื่องความน่ากลัวและยากลำบาก แม้ว่าสุนทรภู่และคณะเดินทางพยายามสร้างอารมณ์ความสนุกเพลิดเพลิน ด้วยการจำลองบรรยากาศการละเล่นที่เป็นวัฒนธรรมเมืองกรุงที่พวกเขาชื่นชอบ เช่น การเล่นบทร้องเสภา บทเจรจาโขนและการร้องละคร แต่บรรยากาศเหล่านั้นก็เป็นไปชั่วขณะ ป่ายังคงเป็นความน่ากลัวและสร้างความยากลำบากให้กับคณะเดินทาง ดังที่สุนทรภู่สรุปตอนท้ายว่า

                                “ เที่ยวสนุกทุกข์สนัดแท้                    แต่เรา

                                เร่ร่อนนอนป่าเขา                                เค่าไม้

                                หลงเลี้ยวเที่ยวเดินเดา                         ดึกดื่น สะอื้นเอย

                                หาพระปรอทได้                                  เดือดร้อนอ่อนหู

                                (สุนทรภู่ 2509 : 101)

                นิราศสุพรรณทั้งสองเรื่อง จึงมีโครงเรื่องที่กำหนดภูมิทัศน์การดำเนินเรื่องหรือพื้นที่ไว้ 3 ส่วนที่มีฐานะแตกต่างกันตามโลกทัศน์และความรับรู้ของกวีโดยมีกรุงเป็นพื้นที่ศูนย์กลาง แม้ว่าจะไม่ใช่ฉากสำคัญของเรื่องเล่าในนิราศ เมืองชนบทสุพรรณรกร้างที่อยู่ห่างไกลจากกรุงและต้องใช้เส้นทางที่เปลี่ยว อันตรายและน่ากลัวในการเข้าถึง พื้นที่เรื่องเล่าเมืองสุพรรณเต็มไปด้วยภาพของความร่วงโรย ล้าหลัง และผู้คนในเมืองก็ถูกทำให้เป็นภาพน่าหัวเราะ ในขณะที่พื้นที่ป่าชายเขต นอกเมืองสุพรรณ เป็นดินแดนปลายเขตพระราชอาณาจักรที่ถูกทำให้ดูน่ากลัว เป็นอันตราย และมีความตายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตามโครงเรื่องแบบนี้กวียังได้สอดแทรกข้อมูลท้องถิ่นให้แฝงอยู่ในรูปแบบคำประพันธ์จดหมายเหตุระยะทาง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ข้อมูลท้องถิ่นในนิราศกลับเป็นสารอีกประเภทหนึ่ง ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่อมา

 

เรื่องเล่าท้องถิ่น

                มีการเดินทางจากผู้คนภายนอกมาที่เมืองสุพรรณจนถึงป่าลึกตอนใน ร่วมสมัยกับกวีผู้เขียนนิราศสุพรรณ หลักฐานคนเดินทางส่วนใหญ่ บอกเพียงพันธะกิจที่เข้าปฏิบัติ เช่น เก็บอากร เกณฑ์ไพร่ สักเลข พิจารณาคดี หรือเกณฑ์ทัพและเสบียง ไม่ได้บอกรายละเอียดข้อมูลชุมชน ยกเว้นแผนที่โบราณได้บอกจุดที่ตั้งชุมชนสำคัญและภูมิทัศน์ที่มีความสำคัญต่อการเกณฑ์กำลังคนและเสบียงสำหรับกองทัพ และบันทึกชาวต่างชาติ บอกลักษณะกายภาพชุมชน ภูมิประเทศ ครัวเรือนที่สัมพันธ์กับประชากร ผลผลิต และสภาพบ้านเรือนเป็นการบอกฐานะแหล่งโภคทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในความสนใจของนักเดินทาง ขณะที่นิราศสุพรรณทั้งสองเรื่อง กวี ผู้เขียนเป็นคนเดินทางจากราชธานี ได้บันทึกเรื่องเล่าท้องถิ่นถ่ายทอดให้ผู้อ่านผ่านโลกทัศน์ทางสังคมของตน นั่นคือให้ความสนใจกับประสบการณ์ท้องถิ่นที่เป็นภาพความเคลื่อนไหวทางการผลิต การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีความเชื่อโดยมีวิธีการเลือกสรร และจัดลำดับฐานะของเรื่องเล่าไว้ตามตำแหน่งที่สอดคล้องกับโลกทัศน์การรับรู้ของกวี ดังที่จะชี้ให้เห็นต่อไปนี้

                การผลิตและภาวะความเป็นอยู่

                เสมียนมีดูไม่ค่อยกล่าวถึงลักษณะการผลิตหรือทำมาหากินของชุมชนบนเส้นทางมากเท่าสุนทรภู่ ดังเหตุผลที่เคยให้ไว้ คือ เขาต้องรีบเร่งเดินทางเพื่อเก็บภาษี และเรื่องราวบันทึกเกือบทั้งหมดเป็นกิจกรรมการเก็บภาษีเป็นหลัก ในขณะที่การเดินทางของสุนทรภู่ มีเวลาพักระหว่างทางนานกว่า เขาจึงสังเกตการณ์สิ่งรอบตัว เขียนถึงชุมชนได้มากกว่า จนทำให้เห็นว่าเรื่องราวการเดินทางผ่านชุมชน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวการผลิตและการทำมาหากินที่เป็นจุดเด่นของชุมชน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นชุมชนเกษตร มีข้อสังเกตว่า นิราศทั้งสองเรื่องดูจะเล่าเรื่องการทำนาปลูกข้าวพืชเกษตรหลักของชุมชนแถบนี้น้อยมาก ส่วนหนึ่งเล่าแฝงไว้กับการเพาะปลูกพืชผลชนิดอื่นๆ เพื่อบอกความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนเฉพาะแห่งอย่าง “บ้านบางปลา” สุนทรภู่บรรยายให้เห็นป่าไผ่ พืชน้ำในธรรมชาติ การปลูกไร่กล้วยไข่ และข้าว (สุนทรภู่ 2509 : 36) หรือเพื่อบอกสภาวะการผลิตในฤดูกาลนั้นๆ อย่างเสมียนมีพูดถึง “บางสะแก” ซึ่งมีทำเลที่ตั้งดี ชาวบ้านสามารถปลูกไร่ผัก เลี้ยงวัวควาย หากแต่เมื่อปี 2395 นั้นฝนแล้ง ชาวบ้านที่นี่จึงเริ่มทำนาปรัง นอกฤดูกาล ภาพที่เขามองเห็นคือ ชาวบ้าน เตรียมที่นาปลูกข้าวด้วยการหวดหญ้า (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 23, 37) เสมียนมีให้เหตุผลว่า “ด้วยพวกราษฎรร้อนตัวกลัวอดข้าว” การที่กวีทั้งสองไม่นิยมเล่าถึงการทำนา อาจเพราะเป็นการผลิตที่กวีและผู้อ่านคุ้นเคยจนไม่เห็นความสำคัญที่ต้องบันทึกไว้ อย่างไรก็ตามด้วยเจตนคติอันเกิดจากโลกทัศน์ที่เปิดรับเศรษฐกิจแบบการค้าในระบบเงินตราที่ขยายตัวกว้างขึ้น ทำให้กวีมองเห็นภาพการผลิตด้านการเกษตรบางหมู่บ้าน มีเป้าหมายเพื่อการขาย เช่น การปลูกพืชไร่ อย่างไร่ฝ้าย กล้วย พืชผักต่างๆ เช่น ถั่ว ฟัก สวนมะเขือ พริกเทศ มะยม หมู่บ้านเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในเขตและนอกเขตเมืองห่างไกลออกไป นิธิ เองก็อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจเงินตราในชุมชนผลิตเพื่อยังชีพ (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก.2527 : 96) สุนทรภู่บันทึกถึง “สวนขิง” ชุมชนใกล้ตัวเมือง ปลูกพริกเทศเม็ดใหญ่เต็มไร่ “บ้านไร่” นอกเขตเมือง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรชาวไทย จีน ทวายอยู่ร่วมกัน ก็ทำไร่กล้วยไข่เพื่อขายทั้งเครือและปลี สุนทรภู่ยังได้ซื้อไว้ราคาหนึ่งเฟื้อง แบ่งกินได้ถึง 4 มื้อ (สุนทรภู่ 2509 : 44-55) แต่พืชผลตามแหล่งธรรมชาติที่ชุมชนและชาวบ้านใช้ประโยชน์อย่างมากทั้งอุป-บริโภค มี 2 ชนิดตามที่บันทึกไว้ในนิราศ คือ ไผ่และต้นตาล ไผ่ในนิราศได้รับการบรรยายให้เห็นเป็นสภาพป่าไผ่ที่อยู่ใกล้หรือริมหนองน้ำ หรือสองฟากฝั่งใกล้หมู่บ้านเดี่ยว ห่างจากชุมชนอื่น การบันทึกภาพไผ่ก็เป็นด้วยว่าต้นไม้ชนิดนี้ยังประโยชน์ต่อผู้คนในชุมชน ทั้งในการทำเรือนที่อยู่ พาหนะ แพหรือเรือ และยังเป็นแหล่งอาหารทรงคุณค่า สุนทรภู่บันทึกประโยชน์ของไผ่ต่อชาวบ้านในฐานะพืชเศรษฐกิจอีกประเภทหนึ่ง เล่าถึง ชาวบ้าน “บางปลี” ทั้งชายและหญิงต่างหน้าดำเพราะมีอาชีพเผาไผ่เป็นถ่านขาย (สุนทรภู่ 2509 : 23) ต้นตาลเป็นต้นไม้สำคัญอีกชนิดหนึ่งสำหรับโภชนาการในชีวิตชาวบ้าน ด้วยการนำไปทำน้ำตาล สุนทรภู่บันทึกภาพกิจกรรมชาวบ้าน “บ้านตาล” ปีนพะองขึ้นไปปาดตาล เพื่อทำน้ำตาล (สุนทรภู่ 2509 : 37, 39, 60, 55, 23) ส่วนต้นไม้ชนิดอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ได้รับการกล่าวถึงในนิราศสุพรรณ คือ การนำไม้เนื้อแข็งมาทำเกวียน พาหนะขนส่งทางบกสำคัญ สุนทรภู่เล่าถึง “โพพญา” หมู่บ้านนอกเมืองว่า เป็นชุมชนทำเกวียน ระบุว่าริมตลิ่งเต็มไปด้วยล้อเกวียน และไม้เนื้อดีอย่างต้นโพธิ์ ไผ่ เต็ง  ตะเคียน ตะขบ ซึก ซาก กระบาก กระเบียน กระเบา กระแบบ กระบก เสลาและสลาด ซึ่งทำให้เข้าใจว่าเป็นไม้ที่นำมาทำล้อและต่อเกวียนขายได้ (สุนทรภู่ 2509 : 53)

                สัตว์เลี้ยงใช้งานที่ถูกบันทึกไว้ในนิราศอย่างเป็นที่น่าสังเกต คือ วัวควาย นิราศบันทึกถึงบางหมู่บ้านเลี้ยงวัวควายนอกเหนือจากการปลูกพืชผลอื่น กวีทั้งสองไม่ได้บันทึกภาพวัวควายในการทำนาไว้เลย แต่กลับบันทึกการใช้แรงงานสัตว์ประเภทนี้ไว้ในกิจการอุตสาหกรรมน้ำตาล และการคมนาคม สุนทรภู่และเสมียนมีต่างบันทึกการใช้แรงงานควายในการหีบอ้อยเพื่อทำน้ำตาล และใช้แรงงานควายโยงลากเรือจากฝั่งช่วงคลองโยง (สุนทรภู่ 2509 : 15, 24 หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 25-28)

                เมืองสุพรรณซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทผลิตพอยังชีพ ชาวเมืองประกอบอุตสาหกรรมพื้นบ้านดั้งเดิมอย่างปั้นหม้อ และอุตสาหกรรมอาหารอย่างโรงขนมจีน ที่บ้านขนมจีน และโรงเหล็กในหมู่บ้านศรีจัน เขตชนบทนอกเมืองสุพรรณ บันทึกสุนทรภู่ ระบุว่าทั้งโรงขนมจีน และโรงเหล็กเจ้าของเป็นชาวจีน โดยเฉพาะโรงขนมจีน ผู้เขียนบรรยายภาพจีนเจ้าของเป็นผู้มีทรัพย์ นั่งนับเงิน สยายผมให้เมียหวีผมหางเปียให้ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเสียดสีกึ่งอิจฉาในความร่ำรวย (สุนทรภู่ 2509 : 40, 52)

                แต่การผลิตจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อขายขนาดใหญ่ พบได้ในหลายหมู่บ้านตามบันทึกนิราศสุพรรณ นั่นคือ การจับปลาและทำปลาแห้งเกือบตลอดหมู่บ้านบนเส้นทางน้ำ เป็นการบันทึกภาพชาวบ้าน ชายหญิงจับปลา ทำปลาตากแห้ง ที่มีปริมาณมากที่เชื่อได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมเพื่อขาย สุนทรภู่ บรรยายภาพชาวบ้าน “บางรกำ” ทั้งชาญหญิงใช้ฉมวกแทงจับปลา จนได้ปลาติดปลายฉมวกขึ้นมา ทั้งปลาดุก ปลาช่อนและปลาชโด ทำให้เรามองเห็นแหล่งปลาชุมในท้องน้ำแถบนี้ สุนทรภู่ยังบันทึกถึงแหล่งทำฉมวกจับปลาที่หมู่บ้านชีปะขาวด้วย นอกจากการจับปลาด้วยการใช้ฉมวกแล้วยังมีการจับปลาด้วยเครื่องมืออื่น อย่างชุมชนบางปลาร้าที่สุนทรภู่มองเห็นปลาเต็มคลอง ชาวประมงหมู่บ้านนี้จับปลาด้วยการใช้สุ่ม ช้อน ฉะนาง เรือก ที่นี่คงจับปลาได้ปริมาณมากเขาจึงเห็นชาวบ้านนั่งขอดเกล็ดปลาจนมองเห็นเกล็ดติดตามตัว จมูก แก้ม เพื่อทำปลาร้า เพราะกลิ่นเหม็นคาวทั่วคุ้งน้ำ (สุนทรภู่ 2509 : 24, 31, 36)

                การผลิตและภาวะความเป็นอยู่ที่เป็นแบบยังชีพหากแต่ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำธรรมชาติที่กวีทั้งสองบรรยายถึง ทำให้เห็นว่าการผลิตบางประเภทของชาวบ้านมีปริมาณมาก จึงมีส่วนเกินมากพอส่งขายนอกชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นปลาหรือข้าวที่กวีทั้งสองพูดถึงน้อยมาก การผลิตและภาวะความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่เมืองชนบทนี้ จึงมีทั้งผลิตเพื่อขายกับเศรษฐกิจยังชีพอยู่ด้วยกัน สภาพเช่นนี้มีผลฐานะความเป็นอยู่ของชาวบ้านเป็นไปอย่างที่เสมียนมีปรารภไว้ว่า “น่าสงสารเมืองสุพรรณทุกวันนี้ที่มั่งมีนั้นก็มากที่ยากก็หลาย” (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 75)

                ด่านและศาลอารักษ์

                เป็นจุดผ่านแดนรอยต่อเขตเมืองแต่ละเมืองและก่อนถึงตัวเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อทางน้ำ ด่านมีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อท้องถิ่นและราชธานี เป็นจุดควบคุมการเดินทางเข้าออกของประชากร หรือตรวจสอบการเคลื่อนย้ายที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง รวมถึงเป็นจุดเก็บอากรผลผลิตสินค้าเพื่อขายทั้งจากชุมชนและราชธานี นิราศสุพรรณทั้งสองเรื่องบันทึกจุดผ่านด่านตั้งแต่กรุงเทพฯ-สุพรรณไว้ พื้นที่ท้องน้ำและสองฟากฝั่งที่ตั้งด่าน เป็นแหล่งชุมนุมเข้าออกของเรือสินค้าและผู้เดินทางอย่างคับคั่ง มีผลให้เกิดตลาดแลกเปลี่ยนผลผลิตของพื้นที่แถบนั้น บางแห่งยังเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการตั้งอาคารบ้านเรือนหนาแน่น เนื่องจากเป็นชุมทางที่มีผู้คนสัญจร ทำให้มีกิจกรรมการผลิตเพื่อการค้าและการแลกเปลี่ยนอื่นๆ ด่านบางแห่งยังตั้งอยู่บนจุดเชื่อมต่อเส้นทางสัญจรทางบกสำคัญ ที่เป็นทางน้ำตื้นในเวลาน้ำลดให้ช้างและเกวียนพาหนะทางบกข้ามผ่านไปยังอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ นิราศสุพรรณทั้งสองเรื่องให้ข้อมูลบันทึกเรื่องด่านทั้งในแง่สภาพชุมชนที่ตั้งและกิจกรรมของนายด่าน

                ด่านบางใหญ่ เป็นด่านแห่งแรกที่ออกจากรุงเทพฯ ตั้งอยู่ช่วงคลองเชื่อมต่อคลองหลายสายของชาวสวนละแวกบางกอกน้อยและนนทบุรี เป็นจุดที่เรือชาวสวนชุมนุมกันจนทำให้คลองแออัด ความลดเลี้ยวของเส้นทางน้ำยังทำให้เรือแล่นไม่สะดวก (สุนทรภู่ 2509 : 15 หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 27)

                ด่านสำคัญ คือ แดนด่าน เป็นด่านใหญ่จากช่องปากคลองโยงต่อกับนครชัยศรี เป็นทางน้ำสัญจรของเรือสินค้าเข้าออกจากหัวเมืองฝั่งตะวันตกและกรุงเทพฯ ทำให้มีเรือจำนวนมาก จุดที่ตั้งด่านจึงเป็นทั้งด่าน ตลาดและชุมชน เสมียนมีเรียกนายด่านนี้ว่า “เจ้าตลาดปากคลอง” เจ้าตลาดนี้ทำหน้าตรวจตราสินค้าในเรือที่เรียกว่า “เบิกเผย” แล้วประเมินเรียกเก็บอากรเรือสินค้าในเรือก่อนออกเดินทางต่อไป สำหรับเรือเสมียนมีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าตลาดคาดเดาได้จึงไม่ต้องผ่านการเบิกเผยให้พายเรือเลยไปได้ (หมื่นพรหมสมพัตสร(มี) 2544 : 27) ในขณะที่สุนทรภู่บันทึกถึงชุมชนแดนด่านนี้เรียกชื่อว่า “ลานตากฟ้า” นั้นเป็นชุมชนใหญ่ มีบ้านเรือน โรงร้านตั้งยาวตลอดคุ้ง เขาให้ภาพชีวิตชาวบ้านในชุมชน ขณะกำลังตากปลาบนร้าน ซึ่งเขาเชื่อมโยงความหมายว่าเป็นที่มาของชื่อชุมชน ซึ่งนอกจากสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำช่วงนี้ที่มีทั้งปลาและผักน้ำ อย่าง ผักบุ้ง เต็มท้องทุ่ง ใช้เป็นอาหารได้ (สุนทรภู่ 2544 : 18-19)

                ช่วงรอยต่อปลายเขตแดนนครไชยศรีเข้าเขตสุพรรณ สุนทรภู่บันทึกชื่อ “บางหวาย” เป็นชุมชนชายเขตและคลองเชื่อมต่อ เขาให้ภาพหมู่บ้านบนเส้นทางน้ำเปลี่ยวที่เต็มไปด้วยทุ่งหญ้าและป่าไผ่ จนมาถึงด่านเข้าเขตเมืองสุพรรณที่อยู่ใน “บางสองพี่น้อง” จุดแสดงที่ตั้งด่านสำคัญ 2 อย่าง คือ “บางสามศาล” ซึ่งเป็นศาลอารักษ์ที่เชื่อว่ามีด้วยกันสามคนพี่น้อง มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์เขตแดน ด่านบางสองพี่น้องยังเป็น “ตลาดด่านรายรั้งริมฝั่งสบาย แลเห็นนายด่านเถ่อชะเง้อคอ” ที่ด่านแห่งนี้สุนทรภู่ให้ภาพการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของนายด่านในการเรียกเก็บภาษี สุนทรภู่เองก็เกรงว่าตนเองจะถูกนายด่าน “เรียกเรือดูเข้าของแล้วร้องขอ” เสมียนมีก็ประสบกับภาวะเช่นนี้ขณะเดินทาง แต่เขากลับรีบแจวเรือหนี เพราะกลัวถูกค้นแล้วขอข้าวของ (สุนทรภู่ 2509 : 27 หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 34)

                ด่านในเมืองสุพรรณที่ตั้งอยู่บนทางน้ำสัญจร เป็นเขตชนบทนอกตัวเมือง คือ บ้าน “ศรีจัน” (ศรีประจันต์) อยูในทำเลที่ตั้งช่วงแม่น้ำแก่งหาดตื้นใช้เป็นท่าเรือด้วย สุนทรภู่บรรยายว่าที่นี่เป็นจุดข้ามแม่น้ำของช้างและเกวียนเดินทาง เป็นจุดสัญจรของผู้คนจากชุมชนตอนในนั่นเอง จึงเป็นชุมชนที่บ้านเรือนตั้งเรียงราย ที่สำคัญมีโรงเหล็กชาวจีนเป็นเจ้าของ ไม่ไกลจากบ้านศรีจันเป็น “ด่านขนอน” ทำเลเป็นหาดใหญ่ มีชุมชนขนาดใหญ่ที่ทั้งคนไทย เจ๊ก มอญ และลาวตั้งบ้านเรือนอยู่ร่วมกัน (สุนทรภู่ 2509 : 55-56)

                บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับด่านบนเส้นทางน้ำสายนี้ของสุนทรภู่ ทำให้เรามองเห็นทำเลที่ตั้งและบทบาทหน้าที่ของด่านต่อนักเดินทางได้ชัดเจน รวมถึงมองเห็นความสำคัญของด่านทั้งในฐานะจุดตรวจสอบการเดินทางเข้าออก ป้องกันปัญหาการลักลอบเดินทางและสืบข่าวจากรัฐคู่แข่งทางการเมืองและยังทำประโยชน์ในด้านการหารายได้ให้กับรัฐและหัวเมืองท้องถิ่น อย่างไรก็ตามภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งนายด่านก็มีช่องทางโอกาสหาผลประโยชน์ส่วนตัวได้ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าข้าราชการเวลานั้นได้รับเบี้ยหวัดและส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมการเก็บภาษีเหล่านี้ การเรียกร้องผลประโยชน์จากคนเดินทางอาจเป็นความชอบธรรมของนายด่านแต่กลับสร้างความน่ารังเกียจในความรู้สึกของสุนทรภู่และความเบื่อหน่ายให้กับและเสมียนมี

                ส่วน ศาลอารักษ์ เป็นสถานที่สำคัญในฐานะสิ่งสักการะที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ทำหน้าที่ปกป้องรักษารอยต่อแดนทั้งช่วงด่าน ก่อนเข้าเมือง และก่อนเข้าสู่เขตพื้นที่ป่าลึก สุนทรภู่บันทึกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ โดยเรียกชื่อเป็น “อารักษ์” อย่างบางสามศาล เป็นศาลอารักษ์ประจำด่านก่อนเข้าเขตเมืองสุพรรณ ย่านยายท้าวเป็นหมู่บ้านที่มีพิธีกรรมลงผี “อารักษ์” ที่ทำให้เข้าใจว่าน่าจะเป็นอารักษ์ประจำเมือง และศาลสองพี่น้องที่คลองกระเสียวซึ่งออกจากป่าโป่งแดง ก็เป็นอารักษ์พิทักษ์ไพร หรือผีเจ้าป่านั่นเอง (สุนทรภู่ 2509 : 27, 42, 69) การบอกเล่าถึงศาลอารักษ์ในชุมชนบนเส้นทางในด้านหนึ่งก็มองเห็นความเชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติของชาวท้องถิ่น และมีพลังที่ทำให้นักเดินทางพื้นเมืองทั้งสุนทรภู่และเสมียนมีต่างให้ความเคารพสักการะ โดยเฉพาะสุนทรภู่ยังได้พรรณนาถึงพลังอำนาจของอารักษ์โดยเฉพาะในเขตป่าอย่างศาลสองพี่น้อง และวิญญาณที่ดูแลเจดีย์โบราณในป่าลึก เป้าหมายที่คนเดินทางเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของ “พระปรอท” เรื่องเล่าเหนือจริงสร้างจินตนาการให้ผู้อ่านคล้อยตามด้วยความเชื่อและตื่นเต้นด้วยภาพน่าสะพรึงกลัวจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้น เรื่องเล่าแนวนี้ถูกสอดแทรกเป็นระยะๆ สามารถกระตุ้นอารมณ์สนุกสนานแก่ผู้อ่านและฟังได้อย่างมาก

                ตำนานท้องถิ่นสุพรรณ

                ตำนานท้องถิ่นที่บอกเล่ากันในท้องถิ่นและมีฐานะเป็นประวัติของชุมชนเมือง ซึ่งกวีทั้งสองเลือกบันทึกไว้ในนิราศสุพรรณมี 2 เรื่อง คือ ตำนานขุนช้างขุนแผนและตำนานเมืองท้าวอู่ทอง ไม่น่าแปลกที่เรื่องเล่าสองเรื่องนี้เป็นที่คุ้นเคยและเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์การับรู้ของผู้เขียนและผู้อ่านนิราศที่เป็นชาวกรุงอยู่แล้วผ่านเสภาและพงศาวดารฉบับชาวบ้าน การนำมาเล่าซ้ำเพื่อยืนยันถึงความมีอยู่จริงในนิราศ ย่อมเป็นที่สนใจของผู้อ่าน

                ตำนานขุนช้างขุนแผน เรื่องราวขุนช้างชุนแผนนั้นเป็นที่คุ้นเคยสำหรับสุนทรภู่และเสมียนมีมาก่อนแล้ว เพราะเป็นบทเสภาขุนช้างขุนแผนที่ราชสำนักกรุงเทพฯ เขียนขึ้นด้วยการนำเอาเค้าเรื่องเดิมจากวรรณกรรมบอกเล่าของประชาชน โดยใช้รูปแบบฉันทลักษณ์กลอนเสภาที่ถือว่าเป็นจารีตวรรณกรรมประชาชน (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2527 : 16) แต่เสภาขุนช้างขุนแผนฉบับลายลักษณ์ที่เป็นวรรณกรรมราชสำนักกรุงเทพฯนี้ มีเนื้อหาที่เป็นการเขียนเรื่องใหม่ แม้ว่าจะอิงเค้าโครงเรื่องพื้นฐานจากนิทานพื้นบ้านที่สืบทอดด้วยการบอกเล่า ต่อมาพัฒนาเป็นเสภาซึ่งใช้การขับหรือด้นสดด้วยปากเปล่าและความทรงจำตั้งแต่ครั้งปลายอยุธยา (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2527 : 9, 20-32) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บอกเล่าความเป็นมาของเสภาเรื่องนี้ โดยทรงค้นคว้าตามหลักการประวัติศาสตร์วิธีสมัยใหม่ อ้างอิงพงศาวดารฉบับชาวกรุงเก่าซึ่งทรงให้คุณค่าในฐานะเป็นหลักฐานที่ทรงเชื่อถือ แม้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ฉบับบอกเล่าของชาวบ้าน ข้อความที่ทรงอ้างอิง ระบุเพียงพระนามสามัญของกษัตริย์อยุธยาในยุคขุนช้างขุนแผน คือ พระพันวษาโปรดให้ขุนแผนเป็นแม่ทัพไปตีเชียงใหม่ โดยมีอาวุธกับพาหนะ คือ ดาบฟ้าฟื้นและม้าสีหมอก เห็นได้ว่า ไม่มีข้อความใดที่โยงเข้ากับสถานที่เมืองสุพรรณ ทำให้มองไม่เห็นว่าเรื่องเล่าขุนช้างขุนแผนถูกเชื่อมโยงกับเมืองสุพรรณเมื่อใดและอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าเรื่องเล่าที่สืบทอดด้วยคำบอกเล่าปากต่อปากในรูปของการขับเพลง ถูกทำให้อยู่เป็นฉบับตัวเขียนนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่สอง แต่ต้นฉบับเก่าที่สุดถูกค้นพบในปัจจุบันเป็นฉบับคัดลอกสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 มีการแต่งเพิ่มจนจบ ส่วนฉบับพิมพ์เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5

                ความเชื่อมโยงระหว่างกลอนเสภาขุนช้าง-ขุนแผนกับเมืองสุพรรณนั้น ปรากฏชัดเจนอยู่ในหลักฐานลายลักษณ์ฉบับพิมพ์นี้เอง เนื้อเรื่องกำหนดฉากและสถานที่ตอนต้นเรื่องที่เมืองสุพรรณ โดยระบุบ้านเกิดของตัวละครเอก 3 คนและพ่อแม่ในเรื่องนี้ และสถานที่ที่พระพันวษากษัตริย์อยุธยาเข้าป่าล่าควายป่าตอนต้นเรื่องไว้ที่เมืองสุพรรณ คือ บริเวณเขาพระ บ้านเกิดของขุนไกรพลพ่ายพ่อขุนแผนซึ่งเป็นคนบ้านพลับ ส่วนนางทองประศรี ผู้เป็นแม่ขุนแผน เป็นคนวัดตระไกร ในขณะที่ขุนศรีวิไชย ผู้พ่อขุนช้างมีตำแหน่งนายกรมช้างนอก มีบ้านอยู่ท่าสิบเบี้ย ส่วนพันศรโยธาและนางศรีประจัน แม่นางพิม อยู่ท่าพี่เลี้ยง และวัดสำคัญ 2 วัด ที่ใช้เป็นฉากสำคัญตามโครงเรื่องให้ขุนช้างขุนแผนและนางพิมเล่นด้วยกันในวัยเด็กคือ วัดป่าเลไลย์ และให้เณรแก้วบวชเรียนวิชาอาคมที่วัดแค รวมถึงชุมชนนอกเมืองซึ่งขุนแผนใช้เป็นฉากเดินทางพานางวันทองหนีจากขุนช้าง โดยใช้ประตูตาจอมผ่านวัดตะลุมโปง ข้ามโคกกำยาน ผ่านป่ามาถึงลำน้ำบ้านพลับ บ้านกล้วย ยุ้งทะลายและเขาพระ ชื่อสถานที่ในเมืองสุพรรณเหล่านี้ ถูกบันทึกไว้ในเสภาฉบับตัวเขียนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สองชื่อสถานที่ในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผนที่ใช้เป็นบทร้องเสภานี้ จึงถูกจารึกอยู่ในความทรงจำของชาวกรุงที่เสพย์วรรณกรรมเรื่องนี้

                ดังนั้นเมื่อสุนทรภู่และเสมียนมีเดินทางถึงเมืองสุพรรณแวะเยือนสถานที่บางแห่งซึ่งมีชื่อตามที่ปรากฏในเสภาขุนช้างขุนแผน จึงเป็นการปลุกความทรงจำที่พวกเขาเคยรับรู้ และสร้างจินตนาการเชื่อมโยงประวัติสถานที่ชื่อชุมชนและวัดเข้ากับเรื่องเล่าในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน โดยเฉพาะช่วงเวลาขณะกำเนิดและชีวิตวัยหนุ่มสาวของตัวละครเอกทั้งสาม ซึ่งเป็นฉากสำคัญของท้องเรื่อง การพรรณนาสถานที่เหล่านั้นส่วนหนึ่งดูเป็นการตามหาร่องรอยและพิสูจน์การมีอยู่จริงของสถานที่นั้นในเสภาขุนช้างขุนแผนด้วย

                การบรรยายเพื่อเชื่อมโยงประวัติสถานที่เมืองสุพรรณกับวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน เริ่มต้นเมื่อสุนทรภู่เข้าถึงถึงตัวเมือง เล่าถึงวัดโบราณและสถานที่บนฝั่งตะวันตก หรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำ คือ วัดพระรูป วัดประตูสาร และวัดกระไกร โดยระบุว่าละแวกใกล้เคียงวัดเหล่านี้ เป็นที่ตั้งบ้านตัวละครสำคัญอย่างขุนช้างและนางศรีประจันต์ มารดานางพิมตัวเอก และวัดแคก็เป็นละแวกบ้านนางทองประศรี สุนทรภู่อ้างว่าชาวบ้านสุพรรณเป็นผู้ชี้ให้เขารู้จักสถานที่เหล่านี้ นิราศได้ทำให้เราเข้าใจว่าทั้งผู้เขียน สุนทรภู่และเสมียนมีกับชาวเมืองล้วนแต่เชื่อว่า เมืองของพวกเขาเป็นบ้านเกิดตัวละครวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน สุนทรภู่เองก็ยังวิจารณ์สภาพรกร้างของวัดแค ซึ่งเป็นวัดที่พลายแก้ว ขุนแผนวัยเด็ก บวชเรียนวิชาอาคมที่นี่ และวัดฝาโถซึ่งเป็นวัดที่นางพิมในท้องเรื่องเป็นผู้สร้าง ขณะที่สุนทรภู่เห็นนั้น รกร้างและทรุดโทรมหักพัง เขาจินตนาการย้อนอดีตที่เป็นช่วงเวลาในวรรณกรรม ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นเรื่องเล่าที่เป็นจริง ช่วงเวลาของขุนช้างขุนแผน วัดแคน่าจะเป็นแหล่งชุมนุมผู้คนมากมายสนุกสนาน (สุนทรภู่ 2509 : 47)

                เสมียนมีเองก็ไม่ต่างจากสุนทรภู่และผู้คนในสยามที่รับรู้เรื่องเล่าเสภาขุนช้างขุนแผนมีจินตนาการถึงเมืองนี้ ว่าเป็นเมืองขุนช้างขุนแผน ขณะไหว้พระป่าเลไลย์พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองที่วัดป่า ความสำนึกที่มีต่อองค์พระปฏิมาเป็นเสมือนการสร้างบุญ “เหมือนได้พบพานองค์พระชินศรี” เพราะพระพุทธรูปโบราณเป็นที่นับถือเลื่องลือกันมานาน เสมียนมีเชื่อมโยงเรื่องเล่าตำนานขุนช้างขุนแผนให้มีสถานะความเป็นจริง โดยอ้างอิงว่าเมืองสุพรรณเป็นบ้านเมืองของเณรแก้ว หรือพลายแก้วขุนแผนวัยเด็ก ที่วัดป่าเลไลย์แห่งนี้ เณรแก้วเคยบวชเรียนหนังสือกับอาจารย์ เสมียนมียังเล่าถึงเรื่องราวเหตุการณ์ความสัมพันธ์ตัวละครเณรแก้วซึ่งบวชอยู่พบกับนางพิม ขณะเทศน์กัณฑ์มัทรีในงานบุญออกพรรษา จนเป็นความรักและการเกี้ยวพาราสี (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 74)

                เสมียนมียังทำให้เรื่องเล่านิทานพื้นบ้านขุนช้างขุนแผน ตามคำบอกเล่าชาวบ้าน “บางเภาทลาย” หรือบ้านสำเภาทลาย มีสถานะเป็นส่วนหนึ่งประวัติชุมชนหมู่บ้านแห่งนี้โดยอ้างอิงว่า ผู้เฒ่าในหมู่บ้านเล่าเรื่องเก่าว่า ที่นี่เคยมีจระเข้ใหญ่ ดื้อและดุ หมู่บ้านนี้เคยอยู่ริมฝั่งทะเล เป็นที่จอดเรือสำเภาลูกค้า แต่ถูกจระเข้อาละวาด กระโดดกระแทกเรือสำเภาแตกล่มหายไป จระเข้ตัวนี้ คือ หลวงตาขวาด (เถรขวาด) ที่หลบหนีการปราบปรามของพลายชุมพล ปลอมเป็นจรเข้ออกมาอยู่ไกลถึงเขตลำน้ำและภูเขาที่มีชื่อตามจรเข้ว่า “จระเข้สามพัน” (ซึ่งเป็นชื่อลำน้ำสายเก่าสุพรรณหรือลำน้ำท่าว้า) เสมียนมีเห็นลำน้ำขาด บางแห่งเป็นห้วยแห้งและป่า จบเป็นทางน้ำและทางบกที่คดเคี้ยว เขาจึงคล้อยตามเรื่องเล่าจระเข้เถรขวาดของชาวบ้านว่า “น่าจะจริง” จิตใต้สำนึกและความทรงจำที่เขาคุ้นเคยกับสถานที่เมืองสุพรรณจากฉากตอนต้นเรื่องของเสภาขุนช้างขุนแผนยังกระตุ้นให้เขาเชื่อมโยงแบบอุปมาอุปมัยชื่อชุมชน “บางไทร” ที่เขาเดินทางผ่านช่วงดึกมากในคืนหนึ่งว่าเหมือนทั้ง “พระไทร” ที่บ้านและเปรียบได้กับขุนแผนและนางวันทอง พลอดรักพักผ่อนใต้ต้นไทรขณะเดินป่าตามท้องเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนอีกด้วย (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 36) นิราศเมืองสุพรรณของเขาจึงช่วยตอกย้ำความน่าเชื่อถือถึงสถานะเป็นจริงของเรื่องขุนช้างขุนแผนกับพื้นที่เมืองสุพรรณ ที่มาของขุนช้างขุนแผนเป็นเพียงวรรณกรรมบอกเล่าของชาวบ้านและวรรณกรรมลายลักษณ์ในราชสำนักต้นรัตนโกสินทร์ ได้ถูกทำให้มีสถานที่เป็นจริงและได้รับการบันทึกไว้ในนิราศคำประพันธ์ลายลักษณ์ที่เชื่อถือกันว่าบอกเล่าประสบการณ์ที่เป็นจริงนั้นทำให้สุพรรณกลายเป็นเมืองขุนช้างขุนแผนที่ได้รับการสืบทอด จนกระทั่งกลืนกลายเป็นเรื่องเล่าประวัติท้องถิ่นที่มีพื้นที่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์ชาติในยุคต่อมา

                ตำนานท้าวอู่ทองตำนานเมืองสุพรรณ เรื่องเล่าตำนานท้าวอู่ทองในนิราศสุพรรณนั้นแตกต่างจากเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านขุนช้างขุนแผน อย่างน้อยในเรื่องแหล่งที่มาของตำนาน เรื่องเล่าท้าวอู่ทองในเมืองนี้เป็นตำนานที่ชาวบ้านสุพรรณเชื่อถือและบอกเล่าร่วมกัน ผู้เขียนนิราศทั้งสองเป็นแต่บันทึกเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดกันแบบปากต่อปากที่เป็นความทรงจำร่วมกันของชาวบ้านให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์ครั้งแรกในนิราศ ความทรงจำเรื่องพระเจ้าอู่ทองของชาวกรุงและกวีทั้งคู่ อาจจำกัดเพียงแค่บุคคลที่เป็นกษัตริย์อยุธยาและเป็นความทรงจำอีกแบบหนึ่งไม่เหมือนกับเรื่องท้าวอู่ทองของชาวบ้านสุพรรณ

                สำหรับเสมียนมีแล้วเขาจัดฐานะตำนานเมืองสุพรรณที่เป็นเรื่องเล่าขุนช้างขุนแผนไว้อยู่ในลำดับความสำคัญที่มีอายุก่อนตำนานเมืองที่เกี่ยวข้องกับท้าวอู่ทอง คำบอกเล่าที่เขารับฟังมาก็คือ เมืองนี้เป็นเมืองน้องท้าวอู่ทอง(4) ได้เป็นกษัตริย์ปกครองอยู่ ตัวเขาเองก็เชื่อถือคำบอกเล่านี้ เพราะมองเห็นร่องรอยสิ่งก่อสร้าง เชิงเทิน เนินวัง พระเจดีย์วิหาร รวมถึงบ้านเศรษฐีที่ยังหลงเหลืออยู่ บ้านเมืองในอดีตร่วงโรยหักพังเพราะขาดผู้อุปถัมภ์ ตกอยู่ในสภาพน่าหดหู่กลายเป็นเมืองอาภัพเป็นที่น่าเสียดาย ดังคำบรรยาย คือ

                                                “แต่ปางก่อนเมืองนี้มีกษัตริย์

                                                ผ่านสมบัติปรีด์เปรมเกษมสันต์

                                                คือน้องท้าวอู่ทองครองสุพรรณ

                                                ท่านเล่ากันเนืองเนืองเรื่องก็มี

                                                เห็นเชิงเทินเนินวังยังปรากฏ

                                                ชนบทขอบเขตบ้านเศรษฐี

                                                ภูมิประเทศเขตขัณฑ์ทุกวันนี้

                                                กลายเป็นที่ท้องนาป่าระกำ

                                                พระเจดีย์วิหารบูราณสร้าง

                                                ก็โรยร้างร่วงหรุบสิ้นอุปถัมภ์

                                                ทั้งพาราอาภัพยับระยำ

                                                สุดจะร่ำเรื่องว่าน่าเสียดาย”

                                                                                (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 74)

                ในขณะที่สุนทรภู่เองบันทึกในนิราศสุพรรณของเขา ได้รับรู้คำบอกเล่าตำนานเมืองที่เกี่ยวข้องท้าวอู่ทอง เมื่อเขาเดินทางออกนอกเมืองเข้าเขต “บ้านทึง” ที่สามชุก ยายนากอายุ 118 ปี และตาทองอายุ 120 ปี สองสามีภรรยาชาวบ้านนี้ บอกเล่าประวัติชุมชนบ้านทึงและวัดขี้ทึ้ง ว่าเป็นเรื่องเล่าโบราณ ว่า ท้าวอู่ทองแวะมาถึงถิ่นนี้ ขอเชือกหนังจากชาวบ้านไปขึงกลอง ชาวบ้านไม่ไห้จึงสาปบ้านนี้ให้เต็มไปด้วยขี้ทึ้งซึ่งตรงกับชื่อวัดเวลานั้น นิทานท้าวอู่ทองที่เล่ากันในท้องถิ่นสะท้อนถึงความทรงจำของผู้คนที่โยงใยกับตำนานเรื่องนี้ พบว่าเรื่องเล่าในนิราศของสุนทรภู่อีกตอนหนึ่ง ยิ่งเพิ่มความสับสนให้กับการสร้างเรื่องเล่าท้องถิ่นรุ่นต่อมาด้วย ช่วงตอนปลายเรื่อง ขณะอยู่ในป่าลึกเพื่อตามหาเจดีย์โบราณ ซึ่งมี “พระปรอท” บรรจุอยู่ภายในถ้ำปิดตาย จนคณะเดินทางต้องทำพิธีตั้งเครื่องสังเวยวิญญาณผู้พิทักษ์ถ้ำเพื่อขอเปิดปากถ้ำ ขณะหลับพักด้วยความเหนื่อยอ่อน สุนทรภู่เกิดนิมิตขึ้นในความฝันว่า คณะเดินทางกำลังเฝ้ากษัตริย์พร้อมท้าวนางทั้งสี่และโอรสเล็กๆ ณ ท้องพระโรง กษัตริย์ในฝันขอให้สุนทรภู่ ซึ่งมีชื่อเสียงในการขับเพลงกล่อม ร้องเพลงชมจันทร์และดาว หลังจากฟังแล้วโปรด จึงเล่าเรื่องแต่อดีตให้ฟังตอบแทนว่า ทรงเป็นผู้สร้างปราสาทพระราชวัง ป้อมปราการและเมือง ต่อมาเกิดโรคห่าระบาด บ้านเมืองร้างไป โขลงช้างป่าจึงเข้ามาพิทักษ์ทรัพย์สิน และบอกความลับว่า เจดีย์ที่เชื่อกันว่ามีทองนั้นไม่จริง เป็นเพราะกษัตริย์ผสมปรอทเพชรปูนใส่ไว้ และให้โอรสสร้างปรางค์ทอง ด้วยการนำถั่ว นม เนื้อแปดมาผสม จึงไม่มียาอายุวัฒนะใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ปรอทเท่าเพชร ที่ไม่ใช่พระปรอทศักดิสิทธิ์แต่อย่างใด ที่น่าสนใจคือ เรื่องเล่าในความฝันของสุนทรภู่ บันทึกเพียงแค่ว่ากษัตริย์ได้สร้างเมืองและวัง หลังจากนั้นเกิดโรคห่าจนบ้านเมืองร้าง เรื่องเล่านี้ถูกดึงไปเป็นส่วนหนึ่งของการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ ด้วยทำให้กษัตริย์องค์นี้มีพระนามว่าท้าวอู่ทอง ทั้งที่บันทึกนิราศของสุนทรภู่ไม่มีข้อความใดระบุชื่อกษัตริย์เป็นท้าวอู่ทองเลย (สุนทรภู่ 2509 : 94-95)

                ตำนานท้องถิ่นเมืองสุพรรณทั้งสองเรื่อง เรื่องเล่าขุนช้างขุนแผน ถูกทำให้มีความสำคัญน้อยกว่า ด้วยการเป็นเพียงตำนานเมืองท้องถิ่นสุพรรณ ปรากฏให้เห็นเป็นชื่อถนนสายต่างๆในตัวเมือง ส่วนตำนานท้าวอู่ทองได้รับการปรับให้ขึ้นมาเป็นตำนานเมืองท้าวอู่ทองซึ่งจะกล่าวถึงในบทสรุปตอนท้าย ได้ถูกผนวกเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ

                วัฒนธรรมชาวกรุงพบวัฒนธรรมชาวบ้าน

                เมื่อกวีผู้แต่งนิราศทั้งสอง เดินทางมายังเมืองสุพรรณ มองท้องถิ่นผ่านความคิดที่มีมาตรฐานตามโลกทัศน์ชาวกรุงกระฎุมพี การบันทึกวัฒนธรรมการแสดงออกของชาวบ้านในเมืองนี้ ถูกจัดวางภายใต้ความรู้สึกที่เป็นมาตรฐานกระฎุมพีชาวกรุง ที่มีประสบการณ์คุ้นเคยกับวัฒนธรรมราชสำนัก ให้มองวัฒนธรรมชาวบ้านเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง บ่อยครั้งก็ทำให้เป็นที่น่าหัวเราะหรือน่ารังเกียจ พวกเขาอาจขาดขันติธรรมหรือความเข้าใจเหตุผลของชาวบ้าน และวิถีชนบทไม่มากพอ

                ดังนั้นตลอดเส้นทางการเดินทางอันยาวไกลและใช้เวลานานเป็นแรมเดือน สุนทรภู่และคณะจึงเลือกแสดงออกเพื่อการผ่อนคลายอารมณ์คิดถึงบ้าน และสร้างความสนุกสนานในกลุ่มด้วยการละเล่นตามวัฒนธรรมชาวกรุง สุนทรภู่ได้บันทึกภาพการร้อง เล่น เต้นรำของบรรดาหนุ่มๆ ลูกของเขาขณะเดินทาง เช่น การร้องอิเหนาเมื่อเรือแล่นผ่าน “บ้านดารา” การเล่นโขนตอนหนุมานถวายแหวน ขณะไกวชิงช้าในป่าเขตกะเหรี่ยง การนำดอกไม้ป่าที่มีกลิ่นหอมจัดมาอบผ้าของหนุ่มคณะเดินทางตามแบบแผนการใช้ชีวิตชาววัง ที่น่าจะเป็นการบรรเทาภาวะคิดถึงบ้าน เนื่องจากต้องอยู่ในชนบทที่มีวัฒนธรรมซึ่งพวกตนไม่คุ้นเคย (สุนทรภู่ 2509 : 35, 111, 112-113) ในเวลาเดียวกันกวีก็ได้ใช้มาตรฐานของตนเองในการวัดวัฒนธรรมการแสดงออกของชาวชนบทด้วย สุนทรภู่และคณะขณะนอนค้างอยู่ที่ “บ้านกระตั้ว” ซึ่งเขาระบุว่าเป็นบ้านชาวดง เป็นเวลาที่ชาวบ้านทำพิธีโกนจุก ชาวบ้านเชิญให้สุนทรภู่แต่งคำมงคลให้ ขณะชมการละเล่นในงาน เขาบันทึกการเล่นเพลงของชาวบ้านที่ใช้ปี่พาทย์ กลอง ตะโพน เล่นร่วมกัน โดยรู้สึกว่าเป็นดนตรีที่สับสนเพราะเป็นการเล่นเพลงไทยที่ใช้กลองเข้ามาให้จังหวะซึ่งผิดแบบแผนการเล่นจากมาตรฐานกรุง (สุนทรภู่ 2509 : 80) เราเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกชนิดนี้ของเขา ในการบรรยายฉากความรื่นรมย์ของชาวบ้านให้เป็นภาพตลกขบขัน เจือด้วยความรู้สึกดูถูก ด้วยการบรรยายให้เห็นเด็กชาวบ้านพากันกระโดดโลดเต้นโขนจนประสบอุบัติเหตุแขนคอก ในขณะที่คนร้องเพลงเสียงอ้อแอ้ด้วยความเมาสุรา สุนทรภู่ได้ใช้ทักษะการประพันธ์เล่นคำ แต่งเสียงวรรณยุกต์ในบทกลอน เลียนเสียงดนตรีแต่ละชนิดที่ชาวบ้านเล่น ตั้งแต่ ซอ ปี่ ขลุ่ย ฆ้อง และตะโพน เพื่อให้ภาพดังกล่าวส่งสารที่เป็นความน่าขบขันแก่ผู้อ่าน (สุนทรภู่  2509 : 80-81) เช่นเดียวกับเสมียนมี เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านของชาวเมือง ในงานบุญออกพรรษาประจำปีที่สำคัญของวัดป่าเลไลย์ เขาบันทึกประเพณีงานบุญในพุทธศาสนาของเมืองนี้อย่างละเอียด เป็นช่วงน้ำหลากเดือน 12 ชาวบ้านพายเรือออกมาทำบุญไหว้พระวัดป่ากันทั้งเมือง ที่น่าสนใจคือ เมื่อเขาเล่าถึงการเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมเล่นเพลงของหนุ่มสาว ที่พายเรือร้องเพลงรับส่งแก้กัน โดยมีปี่พาทย์ ระนาด ฆ้องรับกัน แม้เสมียนมีจะยอมรับความไพเราะ แต่ก็ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมกับตัวเอง เมื่อครั้งที่เคยบอกบทสักวากับกลุ่มเพื่อน ช่วงเวลาอยู่ “กรุง” และยังฝันอยากพาพวกเพื่อนมาเล่นสักวาหน้าจวน และ “จะบอกบทบูชาวัดป่าบ้าง” ด้วยมาตรฐานการเล่นสักวาของเขารวมถึงโลกทัศน์ทางดนตรีที่เขาเสดงว่ามีเหนือและมีมากกว่าชาวชนบท ทัศนะดังกล่าวของทั้งสุนทรภู่และเสมียนมี เป็นการแยกสถานะวัฒนธรรมการละเล่นในชนบทให้แตกต่างและดูด้อยกว่ามาตรฐานการละเล่นที่เป็นวัฒนธรรมชาวกรุงของพวกเขา

                กลุ่มชาติพันธุ์

                ที่จริงแล้วประชากรในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรมและที่มาของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเขมร ลาว ญวน มอญและมลายู รวมถึงชาวจีน กวีทั้งสองในฐานะชาวกรุง จึงมีประสบการณ์คุ้นเคยกับลักษณะความหลากหลายนี้อยู่แล้ว การเดินทางและบันทึกในนิราศจึงมองเห็นและบันทึกความหลากหลายของชาติพันธุ์ในชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งไว้ แต่การรับรู้ของกวีที่มีต่อชาวบ้านต่างชาติพันธุ์ ได้จัดลำดับความสำคัญรวมถึงทัศนคติที่มีต่อพวกเขา ภายใต้ข้อกำหนดอันเป็นโลกทัศน์ซึ่งเป็นมาตรฐานวัฒนธรรมทางสังคม ที่วางคุณค่าฐานะวัฒนธรรมราชสำนักและกระฎุมพีในกรุงให้อยู่เหนือกว่าชาติพันธุ์อื่น แม้จะมีการยอมรับกลุ่มประชากรต่างชาติพันธุ์ในฐานะพสกนิกรผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารก็ตาม ข้อมูลบันทึกลักษณะทางชาติพันธุ์ จึงสะท้อนความรู้สึกที่เป็นทัศนคติที่เปรียบเทียบกับมาตรฐานทางวัฒนธรรมของตนเอง

                บันทึกชุมชนชาติพันธุ์ในนิราศ ทำให้เรามองเห็นว่าเมืองสุพรรณ ประกอบขึ้นด้วยหมู่บ้านที่มีผู้คนทั้งไทย ลาว มอญ จีน อยู่ในหรือใกล้เมือง และมีชาวกะเหรี่ยงและละว้าอยู่บนที่สูงและป่าลึกตอนในบางหมู่บ้านก็มีชาติพันธุ์เดียว หลายแห่งมีความหลากหลายทั้งไทย มอญ และจีน ซึ่งอยู่ร่วมกันในชุมชนใหญ่ ที่มีการผลิตเพื่อขาย แต่ไม่มีชุมชนชาวจีนเฉพาะในเมืองนี้ ชาวจีนจะแทรกตัวอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ส่วนใหญ่มีอาชีพเพาะปลูกและจับปลา ยกเว้นชาวจีนจำนวนหนึ่งที่หันมาค้าขายและทำกิจการอุตสาหกรรมอย่างโรงขนมจีนและโรงเหล็ก (สุนทรภู่ 2509 : 34-35, 52)

                มีข้อสังเกตว่ากวีทั้งสองมีทัศนคติเชิงวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่มคือ จีนและลาว นิธิเคยให้ข้อสรุปถึงโลกทัศน์การมองคนจีนของกระฎุมพีต้นรัตนโกสินทร์รวมถึงกวีทั้งสอง ว่าเป็นไปด้วยความงุนงง สับสนและอิจฉาระคนดูถูก จากการอพยพเข้ามาของคนจีน ที่สามารถสร้างฐานะรายได้จนมั่งมีอย่างรวดเร็วภายใต้อภิสิทธิจากระบบราชการในการประกอบการหลายประเภท และเป็นผู้ที่ใช้เงินซื้อทุกอย่างรวมถึงผู้หญิง คนจีนยังเดินทางเข้าไปพำนักในหัวเมืองต่างๆ รวมถึงสุพรรณ พร้อมกับดำเนินเศรษฐกิจแบบเงินตรา และมุ่งแสวงทรัพย์ตั้งแต่ทำการเกษตรเพื่อขาย ด้วยการปลูกพืชไร่และสวนผัก รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรม เสมียนมีแสดงความรู้สึกหมั่นไส้แถมดูถูกการแสดงออกของชาวจีน เป็นต้นว่าวิธีการเกี้ยวสาวของจีนลูกจ้างแจวเรือของตัวเอง หรือในขณะที่บรรยายถึงจีนเจ้าของโรงงานขนมจีนที่บ้านขนมจีน ด้วยความรู้สึกกึ่งอิจฉา ที่เห็นเขานั่งนับเงินระหว่างที่เมียสาวกำลังหวีผมเพื่อทำหางเปียให้ (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544: 27 และสุนทรภู่ 2509 : 45)

                ขณะที่ความรู้สึกที่มีต่อชาวลาว เป็นการดูถูกเรื่องการเปลือยกายไม่นุ่งผ้า ไม่ว่าเวลาอาบน้ำหรือจับปลาของลาวที่ “บ้านย่านยาว” บ้าน “ศีรษะเวียง” และ “บ้านโพหลวง” มากกว่าจะเป็นเรื่องสำเนียงภาษาหรือการไว้ผม สุนทรภู่กลับแสดงความรู้สึกเป็นมิตรกับชาวกะเหรี่ยงและละว้าที่เขาจัดเป็นกลุ่มคนชาวป่าเขามากกว่า เหตุผลสำคัญ คือ ในนิราศ คนทั้งสองกลุ่มเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ป่าเขาสูงที่สุนทรภู่ตระหนักถึงอันตรายต่อชีวิต บันทึกสุนทรภู่ทำให้เขาเห็นว่า ชาวบ้านเหล่านี้เป็นชาวป่าที่นอกจากมีน้ำใจแล้ว ยังมีท่าทีซื่อสัตย์และพร้อมที่จะให้ความจงรักภักดี ทั้งที่ของแลกเปลี่ยนที่สุนทรภู่มอบให้นั้น เป็นเพียงลูกปัดที่ไม่มีราคาค่างวดในเชิงเศรษฐกิจเลย แต่ชาวเขาทั้งสองกลุ่มก็เต็มใจช่วยเหลือการเดินทาง และยังให้การต้อนรับ เลี้ยงอาหารด้วยความเต็มใจ แม้ว่าในความเป็นจริง คนเดินทางชาวกรุงไม่คุ้นเคยและรังเกียจอาหารพื้นเมืองของพวกเขา อย่างแย้แช่เกลือและค่างปิ้งก็ตาม บันทึกทางชาติพันธุ์ที่เป็นการบรรยายสรีระและการแต่งกาย จึงถูกเลือกใส่อารมณ์ความรู้สึกที่เอ็นดูแกมล้อเลียน เช่น การเขียนถึงลักษณะขาสั้นทู่ เจาะหู ใส่ห่วง และพูดสำเนียงกะหน็องกะแหน็ง โดยไม่มีความรู้สึกดูถูกว่าต่ำกว่าหรือน่ารังเกียจอย่างเดียวกับที่แสดงต่อคนลาว (สุนทรภู่ 2509 : 43, 51 62, 65, 95-99 และหมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 44 -45)

                มาตรฐานที่เป็นรสนิยมทางวัฒนธรรมแบบกระฎุมพีนี้ ยังถูกนำมาใช้วัดเปรียบเทียบความงามของผู้หญิงในยุคนั้นที่ยังอยู่ในแบบประเพณีหลายเมีย ตลอดการเดินทางของกวีทั้งสอง นอกจากการพูดถึงหญิงคนรักตามแบบแผนคำประพันธ์นิราศแล้ว ฉากที่ปรากฏบ่อยครั้ง คือ การชมผู้หญิงชาวบ้าน ภายใต้มาตรฐานความงามแบบหญิงชาววัง คือ ใช้ขมิ้น จับเขม่าและกันไร เหมือนที่สุนทรภู่ชมสาวสุพรรณว่า เป็นผู้หญิงสวยเพราะกัน “ไรจุก” ทุกบ้าน แม้ว่าจะอยู่ใน “ป่าต้นคนสุพรรณ” (สุนทรภู่ 2509 : 82-83) ในขณะที่มาตรฐานด้านคุณสมบัติ อันเป็นบทบาทผู้หญิงในทัศนะของสุนทรภู่ ที่นิธิเสนอไว้นั้นกลับเป็นภาพของผู้หญิงที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน หากแต่เป็นกำลังทางเศรษฐกิจ เขาจึงชื่นชมกับผู้หญิงที่ค้าขาย ขยัน ซึ่งก็เป็นรสนิยมเดียวกับเสมียนมี (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2527 : 280, 283) เสมียนมีพูดถึงผู้หญิงบางระมาดว่าขยัน ทำให้เพื่อนเขาหลายคนมีเมียและตั้งรกรากที่นั่น (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 15)  แม้กวีทั้งสองต่างอยู่ในแบบแผนทางสังคมแบบหลายเมีย โดยต้องการให้เมียทุกคนผ่อนผันเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย (หมื่นพรหมพัตสร (มี) 2544 : 33) แต่พวกเขาในฐานะผู้ชายก็ไม่ได้รังเกียจพฤติกรรมการเริ่มเกี้ยวหรือจีบผู้ชายก่อน เพียงแต่มองเห็นเป็นภาพขบขันสนุกสนาน หากจีบไม่สำเร็จ (สุนทรภู่ 2509 : 54 และหมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 56-57) รวมถึงการไม่รังเกียจผู้หญิงหม้ายที่จะแต่งงานใหม่ (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 38-39)

                ไหว้พระและศรัทธาพุทธ

                ทั้งสมบัติและนิธิต่างให้ข้อสรุปถึงโลกทัศน์และความคิดสุนทรภู่ และเสมียนมีในฐานะตัวแทนกระฎุมพีที่มีต่อพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เรื่องของการยึดในหลักปรมัตถ์ธรรมหรือ การแสวงหาเป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน หากแต่เป็นหลักการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันและคาดหวังผลประโยชน์ในชาตินี้ พุทธศาสนาจึงต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ตามแนวทางดังกล่าว และต้องไปกันได้กับอาชีพและหน้าที่การงานพุทธศาสนาของพวกเขาจึงไม่ปฏิเสธวัตถุและไม่ขัดแย้งกับความคิดในการสะสมทรัพย์และการแสวงหาความสุขสบายในโลกนี้ (สมบัติ จันทรวงศ์ 2523 : 282-284 และนิธิ เอียวศรีวงศ์ 2527 : 261-264)

                ด้วยแนวคิดนี้จึงเห็นได้ว่า บันทึกนิราศทั้งสองฉบับ สุนทรภู่และเสมียนมีให้ความสำคัญกับพุทธศาสนสถานสำคัญของชาวเมืองนี้ คือ วัดป่าเลไลย์อย่างมาก ทั้งสองคนเดินทางไปนมัสการพระพุทธรูปป่าเลไลย์วัดนอกเมือง ด้วยศรัทธาที่หวังพึ่งพาอำนาจพุทธคุณ ดลบันดาลให้การปฏิบัติภารกิจอันเป็นประโยชน์ส่วนตนสำเร็จลุล่วงไปได้ ทั้งคู่แสดงความเชื่อถือศรัทธาในความงามและความมีอายุเก่าแก่โบราณ สุนทรภู่เพียงแต่พรรณนาลักษณะพุทธศิลปะขององค์พระไว้อย่างชัดเจน บอกความหมายการเป็นพระพุทธรูปปางเลไลย์ พระพักตร์ยิ้ม ประกอบด้วย ลิงและช้างแสดงท่าพุทธบูชาว่า

                                                “ขึ้นโขดโบสถ์เก่าก้ม                          กราบยุคล

                                พระป่าเลไลย์ก็ยล                                                อย่างยิ้ม

                                ยอกรหย่อนบาทบน                                            บงกช แก้วเอย

                                ปลั่งเปล่งเพ่งพิศพริ้ม                                         พระหนั้งดังองค์

                                                เทียนธูปบุปผชาติ                                บูชา

                                นึกพระเสด็จมา                                                    ยับยั้ง

                                ลิงเผือกเลือกสมอพวา                                        ถวายไว้ ใกล้แฮ

                                ช้างเผือกเลือกผึ้งทั้ง                                            กิ่งไม้ไหว้ถวาย”

                                                                                (สุนทรภู่ 2509 : 49)

                ในขณะที่เสมียนมีเองชื่นชมความงามและความใหญ่โตขององค์พระที่สูงถึง 7 วา ในมิติ ลักษณะเดียวกับสุนทรภู่ และยังตั้งคำถามถึงอายุการสร้างและความเก่าแก่โบราณ แต่ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงการดูแลซ่อมแซมที่ไม่ประณีตว่า “เอาปูนปิดปะพอได้การ” ทำให้มองเห็นถึงความทรุดโทรมขององค์พระพุทธรูป เขายังรู้สึกตำหนิเหล่าข้าพระ ที่มีหน้าที่บำรุงรักษาวัดแห่งนี้ แต่กลับละเลยจนถึงขั้นน่าลงโทษฐานเกียจคร้านต่อหน้าที่

                                                “ เป็นพระนั่งปิดทองของบูราณ

                                                เห็นนานหนักหนากว่าร้อยปี

                                                พระพาหาขวาซ้ายทลายหัก

                                                วงพระพักตร์ทองหมองไม่ผ่องศรี

                                                ห้อยพระชงฆ์ลงเรียบระเบียบดี

                                                แล้วก็มีลิงช้างข้างละตัว

                                                ช้างหมอบม้วนงวงจ้วงจบอยู่

                                                ลิงก็ชูรวงผึ้งขึ้นท่วมหัว

                                                พื้นผนังหลังคาก็น่ากลัว

                                                ฝนก็รั่วรดอาบเป็นคราบไคล

                                                พวกข้าพระวัดนี้ก็มีอยู่

                                                ไม่เหลียวดูพระบ้างไปข้างไหน

                                                จนวัดวารกรื้อออกปื้อไป

                                                ไม่มีใครถากถางจึงร้างโรย

                                                                (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 72-73)

                บันทึกสภาพและลักษณะองค์พระพุทธรูปนี้ เป็นการให้ภาพก่อนมีการบูรณะครั้งใหญ่ที่อุปถัมภ์โดยราชสำนัก ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่าสิบปีตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4

                การไหว้พระของกวีทั้งสองเป็นบันทึกที่แสดงถึงความเชื่อและศรัทธาต่อพุทธศาสนา มุ่งหวังเชิงประโยชน์ของการใช้ชีวิตในโลกนี้ เสมียนมีซึ่งได้ใช้เวลาพำนักอยู่ในเมืองนี้หลายเดือน ยังบันทึกภาพประเพณีงานบุญออกพรรษา ทอดกฐิน เป็นงานบุญฉลองวัดป่าประจำปี ซึ่งตรงกับวันพระแปดค่ำเดือน 12 งานนี้ไม่เป็นแต่เพียงประเพณีการไหว้พระ หากยังเป็นงานชุมนุมของชาวเมืองที่เป็นการละเล่นบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจร่วมกัน ด้วยการละเล่นเพลงเรือ ร้องเพลงแก้กัน การละเล่นเป็นช่วงเย็น เมื่อพระอาทิตย์เริ่มคล้อย แดดอ่อน ผู้คนหนุ่มสาวพายเรือ ร้องเพลงแก้กันเป็นคู่ เขาเองแม้จะชื่นชมเสียงร้องเพลงของผู้หญิงว่ามีความไพเราะรับกับดนตรีปี่พาทย์ แต่ก็อดหวนรำลึกเปรียบเทียบการเล่นเพลงเรือของตนเองและพวกพ้องชาวกรุงไม่ได้ พร้อมกับนึกถึงความสามารถในการบอกบทสักวาของตนเอง จนฝันอยากพากลุ่มเพื่อนมาเล่นสักวาที่นี่ และ “จะบอกบทบูชาวัดป่าบ้าง” เพื่ออวดแก่ชาวเมืองนี้ ในตอนเช้าจึงเป็นการเดินทางมาไหว้พระ ชาวเมืองแต่งตัวอวดกันและจัดเครื่องบูชาลงเรือพายเข้าคลองซอยแยกเข้าวัดป่า เสมียนมีพบว่ามีเรือจำนวนมาก ต่างมุ่งหน้ามาไหว้พระ เขาบรรยายสภาพงานวัดป่าปีนั้นว่า “ทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่ออกแออัด” พากันเข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่วิหาร เล่าถึงบุญกิริยาแตกต่างกันไปของชาวเมืองในขณะไหว้พระ จนทำให้เห็นถึงเป้าหมายที่ไม่เหมือนกันของผู้คนที่เดินทางมาที่วัด เข้าถึงบทบาทวัดต่อผู้คนในชุมชน ภาพที่เขาเห็น บางพวกถือเอาวัดเป็นที่พบปะหนุ่มสาว เกี้ยวพาราสี จนเป็นเนื้อคู่กัน คู่รักบางคู่ไหว้พระปฏิมาอธิษฐานขอให้เป็นเนื้อคู่จนได้แต่งงานกัน บางคนขอให้ตนเองมียศศักดิ์สูงขึ้น ประสบความรุ่งเรืองพร้อมทั้งฐานะ อำนาจทุกชาติไป (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 67-71) สำหรับกวีทั้งสองการมาไหว้พระป่าเลไลย์ คือ การขอให้พวกตนบรรลุผลในการทำงานและเดินทางครั้งนี้ สุนทรภู่ขอให้พ้นจากความยากจน ส่วนเสมียนมีขอให้เก็บอากรคราวนี้มีกำไร (สุนทรภู่ 2509 : 49หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 73)

                ความศรัทธาพุทธศาสนาที่มองความเป็นไปได้ในโลกปัจจุบันเช่นนี้ ทำให้ทั้งเสมียนมีและสุนทรภู่มองเห็นความสำคัญของวัตถุและสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ ในทางศาสนา ศรัทธาของพวกเขายังมีต่อการบำรุงรักษาศาสนวัตถุสถาน อันได้แก่ พระพุทธรูป โบสถ์วิหารด้วย เสมียนมีถึงกับตั้งปณิธานหากตนเองได้กำไรจากการเก็บอากรครั้งนี้ ก็จะออกเงินปฏิสังขรณ์องค์พระและอุโบสถ เพื่อสืบพุทธศาสนา สำหรับสุนทรภู่เขาได้สะท้อนศรัทธา ด้วยการบรรยายอารมณ์ความรู้สึกหดหู่เมื่อเห็นวัดหลายแห่งอยู่ในสภาพหักพังและทิ้งร้างทั้งในและนอกเมือง เช่น “วัดธรรมกูล” ที่ขอบเขื่อนริมน้ำทลาย โบสถ์พังทับพระพุทธรูป หลังคาเปิด ปล่อยให้น้ำฝนไหลเจิ่งนองพระพุทธรูป นอกจากวัฒนธรรมแล้วเขายังบันทึกความเห็นที่มีต่อวัตรปฏิบัติของสงฆ์ชาวบ้านที่ไม่เหมาะสมตามมาตรฐานของตนเอง เมื่อเดินทางถึง “วัดเขาโพ” ตั้งอยู่ชายป่า วัดนี้ร่มรื่น จนเขามองเห็นศรัทธาผู้คนในการสร้างพระอุโบสถ จึงได้นมัสการถวายปัจจัยไทยทานแก่เจ้าอาวาสและพระในวัด แต่ภาพที่เขาเห็นวัตรปฏิบัติของพระชาวบ้าน ที่มีกิจกรรมยามว่างเฉกเช่นเดียวกับคฤหัสถ์ คือ การตั้งวงเตะตะกร้อ เมื่อหยุดเล่น ก็นุ่งหยักรั้ง ตีไก่พนันกัน เขารู้สึกเสียศรัทธา และมองเป็นเรื่องกฎแห่งกรรมในการที่พระชาวบ้านไม่ได้เคร่งครัดในศีลธรรม วันต่อมาเมื่อพระกลุ่มนี้ ถูกเสือคาบไปกิน ขณะออกไปยิงนก ที่จริงแล้วก็มีผู้วิเคราะห์การวางตัวในฐานะสงฆ์ของสุนทนภู่เองว่า แม้ขณะบวชก็ไม่ได้เป็นพระที่เคร่งครัดและอาจไม่อยู่ในครรลองศีลบางข้อทำนองเดียวกับพระชาวบ้านกลุ่มนี้ หากด้วยความคิดในการจัดลำดับฐานะพระชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่าและเมืองชนบทให้ด้อยกว่า ทำให้สุนทรภู่กลับรู้สึกว่าเป็นความเหลวไหลไม่อยู่ในกรอบศีลธรรมของพระชาวบ้าน และยิ่งทำให้กวีทั้งสองมีข้อสรุป การมองภาพรวมของเมืองสุพรรณว่า เป็นเมืองนอกเขตศูนย์กลางราชธานีที่แสนทุรกันดารดังที่สุนทรภู่กล่าวไว้ในตอนท้ายเรื่อง

                                โคลงแทนแผนที่ถุ้ง            ทางสุพรรณ

                                เที่ยวเล่นเป็นสำคัญ             เขตคุ้ง

                                ไร่นาป่าปลายปัจจัน            ตประเทศ ทุเรศเอย

                                เขาทำลำธารถุ้ง                    ถิ่นละว้าป่าโขลง

                                                                                                (สุนทรภู่ 2509 : 102)

หรือ ที่เสมียนมีกล่าวไว้คล้ายคลึงกัน คือ

                                ภูมิประเทศเขตขัณฑ์ทุกวันนี้

                                กลายเป็นที่ท้องนาป่าระกำ

                                พระเจดีย์วิหารบูราณสร้าง

                                ก็โรยร้างร่วงหรุบสิ้นอุปถัมภ์

                                ทั้งพาราอาภัพยับระยำ

                                สุดจะร่ำเรื่องว่าน่าเสียดาย

                                                                (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 75)

 

                ไม้ ปลา นก แร่ : ธรรมชาติวิทยาในนิราศสุพรรณ

                อย่างที่นิธิได้เคยศึกษาไว้ว่าเนื้อหานิราศส่วนหนึ่งแสดงถึงประสบการณ์ที่เป็นจริง ปรากฏว่าบันทึกนิราศสุพรรณสองเรื่องนี้ นำเสนอภาพส่วนหนึ่งที่กวีมองเห็นจากภูมิทัศน์สองข้างทางที่อยู่ในธรรมชาติ อันได้แก่เรื่องของไม้ ปลา นกและแร่ แต่ละเรื่องมีความหลากหลายพันธุ์และประเภท กวีเลือกบันทึกตามสายตาที่มองเห็น ข้อมูลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการบอกเล่าของผู้นำทางท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น กวั่ง สังบุเร รอด หรือแม้แต่ชาวบ้าน ระหว่างทางที่คณะเดินทางจอดเรือพักแรม ที่น่าสนใจคือ พันธุ์ไม้ ปลา นก และประเภทของแร่ที่ถูกบันทึกไว้ในนิราศ ระบุชื่อและลักษณะแตกต่างไปตามสภาวะแวดล้อมในธรรมชาติแต่ละแห่งบนเส้นทางการเดินทาง บันทึกธรรมชาติวิทยาในนิราศจึงเป็นเสมือนคำบอกเล่าถึงอดีตของธรรมชาติทั้งสี่ชนิดซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์และประเภทในพื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำและในป่าเมืองสุพรรณ อาจไม่หลงเหลือในปัจจุบัน

                พันธุ์ไม้กลุ่มแรก ที่ถูกระบุไว้ในนิราศของสุนทรภู่ คือ พันธุ์ไม้น้ำเขตบางหวาย ชุมชนปลายเขตแดนนครไชยศรี-สุพรรณที่นี่เป็นพื้นที่ “ทุ่งท่าป่าหญ้าชายน้ำ” ที่แม้จะเต็มไปด้วยยุงที่รบกวนนักเดินทาง แต่ก็เป็นแหล่งอุดมด้วยพืชน้ำ คือ ผักตบที่มีบอนขึ้นแซม สุนทรภู่บอกเล่าถึงบอนที่สุพรรณว่า ชาวบ้านหั่นใส่แกงมีรดชาดอร่อย (สุนทรภู่ 2509 : 26) เช่นเดียวกับดอกต้นกุ่มที่เกสรบานร่วงโรยมากมายที่ “บ้านกุ่ม” นั้น เสมียนมีบอกเล่าถึงการนำดอกกุ่มมาดองกินด้วยเกลือ ซึ่งเขาเองมีเกลือไม่พอ หากแต่คิดว่าชาวบ้านคงทำกัน เป็นภาพที่นอกจากทำให้เห็นว่าเป็นถิ่นที่มีต้นกุ่มขึ้นมาก แล้วดอกกุ่มยังใช้ทำเป็นอาหารได้ด้วย (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 38) การพรรณนาพันธุ์ไม้เป็นการคัดเลือกของกวี ต้นไม้ที่ขึ้นทั่วไปสองฟากฝั่งอาจเป็นต้นตาลและท้องนาจึงเกือบไม่มีการพูดถึงในนิราศ เพราะเป็นภาพชินตา กวีบรรยายถึงพันธุ์ไม้อีกช่วงหนึ่งเมื่อเดินทางเข้ามายังชายป่า สุนทรภู่บรรยายถึงต้นไม้เนื้อแข็งยืนต้น 3 ชนิด ที่ “บ้านทึง” เขตชายป่า คือ ประดู่ พะยอม และกะดึง (สุนทรภู่ 2509 : 73) และเมื่อเข้าเขตป่าตั้งแต่ป่าโป่งแดงมาจนถึงคลองกะเสียว ท้องน้ำช่วงนี้เป็นพื้นหินกรวดและทราย มีน้ำใส พันธุ์ไม้ในป่าแถบนี้เป็นต้นกระเบา (ผลกระเบาใช้เป็นส่วยที่ราชสำนักต้องการเพื่อส่งออก) ต้นเงาะป่าออกผลสุกเต็มต้น กระทุ่ม กระถิน ขึ้นสลับกับสำโรงป่า ออกดอกส่งกลิ่นหอม พื้นที่ป่าแถบนี้เป็นที่อยู่ชาวกะเหรี่ยง มีลำเหมืองท่ามกลางธรรมชาติที่ได้ยินเสียงลมและควายป่า สุนทรภู่บันทึกถึงไม้ผลและไม้ดอกยืนต้นหลากหลายพันธุ์อย่างม่วงโมก โศก กรม กรวย ซึ่งถูกนกเจาะกินไส้  สลับ เสลา สลอด สลัดได มะเฟือง มะไฟ ตะขบ ตขาบ (สุนทรภู่ 2509 : 83-84, 94)

                พันธุ์ไม้กลุ่มสุดท้ายเป็นพืชพันธุ์ในป่าลึกประเภทสมุนไพรและว่าน ที่นี่เป็นแหล่งผลิตผลส่วยของป่าที่ราชธานีต้องการนั่นเอง สุนทรภู่กล่าวถึงป่าสมุนไพรแห่งนี้ว่า “เป็นดงบาป่าฝิ่นฝาง” ที่ส่งกลิ่นฟุ้งไปหมด เขาสามารถให้ชื่อสมุนไพรได้มากมาย เพราะเป็นช่วงการเดินทางด้วยเท้าเปล่า อย่างปรายปรู ปู่เจ้าเจิด ตพังคี ลักจั่น ขรรค์ไชยศรี มือเหล็ก ใครเครือ มะเดื่อ ดีหมี เขามวก รวกรกฟ้า ฝิ่น คนจาม กทกรก กก กนาด ราชดัต สลัดได ไข่เน่า พิษนาด ชิงช้าลาลี มหาสดำ หางตะเค่ ซ่มกุ้ง (เอาไว้ชะเลือด) กำยาน (สุนทรภู่ได้กลิ่นหอมจนอยากเก็บไปทำน้ำอบ) ฉลูด โกฏเก้า ตาเสือ ขมิ้นเครือ กรันเกรา ข้าวเย็นเหนือ หนอนตายยาก หวายตมอย ปอยหลู่ สมอไทย หนามหัน แพงแดง สหัศคุณ สมุลแว้ง สลอด เสลา กระเจี้ยง กลิ่นสมุนไพรเหล่านี้หอมจนคณะเดินทางอยากเก็บไว้ห่อผ้าให้คนนำทางสะพายไป ภาพที่บรรยายไว้นี้แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของบทชมป่าในกลอนบทละคร หากแต่พันธุ์ไม้ในป่าภาคตะวันตกมีความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นและนครหลวงราชธานี เพราะนอกจากเป็นสินค้าของป่าส่งออกแล้ว เกือบทั้งหมดมีฐานะเป็นตัวยาสมุนไพรที่จำเป็นต่อชีวิตของผู้คนในแถบนี้ทั้งหมด (สุนทรภู่ 2509 : 100-101, 129)

                พื้นที่ป่าสมุนไพรแห่งสุดท้ายซึ่งสุนทรภู่และคณะเดินทางไปถึง เป็นเขตป่าว่านซึ่งมีกลิ่นช่วยป้องกันสัตว์ร้ายพร้อมกับทำให้ผู้หลงอยู่ในป่าเมาว่าน นิราศทำให้เรารู้ว่าสุนทรภู่สนใจและสามารถบอกถึงพันธุ์ไม้สมุนไพรในป่าได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้ข้อมูลจากผู้นำทาง อีกส่วนหนึ่งสุนทรภู่บอกไว้ว่าเขามีครูสอนหลักการใช้ยาสมุนไพร การติดอยู่ในป่าว่าน ทำให้เขาใช้ขมิ้นกินแก้เมาว่าน (สุนทรภู่ 2509 : 102-105)

                ปลาได้รับการบันทึกในนิราศไว้หลากหลายพันธุ์ในน้ำจืด พันธุ์ปลากลุ่มแรกที่เขาพบในแม่น้ำนครไชยศรีที่ชุมชนบางปลาดุกกลับเป็นปลาสลิดซ่อนตัวอยู่ริมฝั่ง แทนที่จะเป็นปลาดุก เสมียนมีวิจารณ์รสชาติการนำปลาสองชนิด คือ ปลาสลิดกับปลาดุกมาทำเป็นอาหารนั้น เขาเห็นว่าปลาดุกนั้นมีเงี่ยงยาว กลิ่นเหม็นคาวไม่น่ากิน (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 30)

                ในแม่น้ำสุพรรณตั้งแต่คลองสองพี่น้องเรื่อยมาจนถึงตัวเมือง ก็เป็นแหล่งปลาแม่น้ำหลากหลายพันธุ์ ตั้งแต่ สลิด สลาด ช่อน ดุก กระดี่ ซิว               กระโสง เสือ สร้อย ตะเพียน กริม กระตรับ เนื้ออ่อน แก้มช้ำ นวลจัน รวมถึงปลาขนาดใหญ่อย่าง ปลาค้าว สวาย คางเบือนและกระโห้ ความชุกชุมของปลาจากท้องน้ำทำให้ผู้คนหลายหมู่บ้าน (สุนทรภู่ 2509 : 38-39) มีอาชีพจับปลาเพื่อขายนอกจากการอาหารในครัวเรือน

                ไม่แต่ปลาแม่น้ำ สุนทรภู่ยังบอกเล่าถึงปลาน้ำจืดสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแถบปลายน้ำชายป่า ก่อนถึงแก่งท้ายย่านก่อนบ้านทึง เขาเรียกว่าเป็นปลาใน “น้ำถิ่นหินทราย” เป็นต้นว่า ปลาชนางที่มีลายคล้ายตุ๊กแก ปลาสร้อย ปลากา กด เพลี้ย ไอ้บ้า ซิว กรีม กราย กระ เกราะ ฝักดาบ ตะเพียน เสือ หางไก่ หัวตะกั่ว ปักเป้า และปลาหลด (สุนทรภู่ 2509 : 15, 27, 73, 114-115)

                นอกจากพันธุ์ไม้ ปลาแล้ว นกหลากหลายพันธุ์ในแถบแม่น้ำหรือแหล่งน้ำจืด รวมไปถึงนกป่าก็ถูกบันทึกไว้ด้วย นกแม่น้ำที่จับปลากินเป็นอาหารถูกบันทึกด้วยภูมิทัศน์สองฝั่งคลองที่เป็นพงหญ้าคาหรือหญ้าแฝก และพุ่มไม้กก หลังจากผ่านคลองโยง เขามองเห็นนกตะกรุมทั้งฝูงเต็มท้องนา กำลังยืนจับปลา บางตัวมีอาการขยอกปลาเต็มเหนี่ยวและบ้างก็แย่งปลากินกัน นกกระทุงอีกหนึ่งฝูงก็ลอยเป็นคู่กลางหนองน้ำ ในขณะที่กาน้ำดำกำลังกินปลา นกกระยางเกาะดอกบัว ส่วนเหยี่ยวก็ร่อนอยู่บนฟ้ามองหาปลา ในแถบป่าลึกพันธุ์นกก็แตกต่างออกไป สุนทรภู่บรรยายนกไว้หลายชนิด อย่าง นกตะขาบ บ้านปุน นกเค้า แซงแซว อีแอ่น กระแวน กางเขน แขกเต้า ขมิ้น กุลา เค้า ต้อยตีวิศ และประเภทไก่ ทั้งไก่ป่า ไก่ฟ้า ไก่แก้ว พญาลอและนกยูง (สุนทรภู่ 2509 : 15, 116-119)

                สิ่งมีชีวิตทั้งพันธุ์ไม้ ปลาและนกถูกบันทึกไว้ ระบุชื่อแตกต่างพันธุ์กันตามสภาพภูมิประเทศ นี้อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่แบบแผนการแต่งนิราศที่กำหนดให้ต้องเล่าถึงข้อมูลเหล่านี้เท่านั้น หากยังบ่งบอกความหลากหลายของสายพันธุ์ที่มีอยู่ตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาตินั้น บันทึกธรรมชาติของสุนทรภู่ยังครอบคลุมไปถึงแหล่งแร่ที่มีอยู่ในพื้นที่ป่าเมืองนี้ด้วย สุนทรภู่ฟังคำเล่าลือจากชาวบ้านว่า ย่านคลองน้ำซับเลยจากบ้านกล้วย สามชุก เป็นแหล่งแร่เหล็กชั้นดี เขาเห็นด้วยเนื่องจากสภาพภูมิประเทศ มองเห็นหินแร่เต็มไปหมด นอกจากนี้วังหินซึ่งเป็นป่าถัดมาก็พบแหล่งหินแลงขึ้นเป็นแท่งขิงแข็งอยู่ข้างคุ้ง สุนทรภู่อ้างตำราว่าเป็นทองแดง ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากนายรอด ในป่าแถบนี้ เขายังพบลำเหมือง มองเห็นสายแร่และก้อนแร่เป็นกะรัต สุดลำเหมือง เขาและคณะพบแร่พลวงและเหล็กที่นี่ บันทึกแหล่งแร่ของสุนทรภู่อาจยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นแร่ชนิดใดแน่นอน แต่ปัจจุบันเราคงไม่แปลกใจ เพราะที่จริงแล้วพื้นที่ป่าแถบนี้ทอดเป็นผืนยาวต่อกับป่าเมืองกาญจนบุรี ซึ่งความรู้ทางธรณีวิทยาระบุว่าเป็นแหล่งสายแร่เหล็ก และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีการทำเหมืองแร่เหล็กที่นี่ด้วย (สุนทรภู่ 2509 : 63-64, 66, 93-94)

                บันทึกธรรมชาติวิทยาที่เป็นเรื่องเล่าถึงพันธุ์ไม้ ปลา นกและแร่ เป็นข้อมูลที่บอกถึงความหลากหลายทางธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ป่าและชายป่า ซึ่งปัจจุบันอาจลดน้อยลง หลายสายพันธุ์อาจสูญไปก่อนหน้านี้ แต่บันทึกนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ให้ข้อมูลย้อนอดีตถึงชื่อสายพันธุ์ที่เคยมีอยู่

                นิราศสุพรรณทั้งสองเรื่องได้บันทึกและสร้างเรื่องเล่าท้องถิ่นเมืองสุพรรณไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ด้วยฐานะทางคำประพันธ์ที่เป็นเพียงวรรณกรรมนิราศ มาตรฐานความรู้ตามหลักเหตุผลสมัยใหม่กำหนดให้วรรณกรรมและนิทานเป็นเพียงจินตนาการ มีคุณค่าสุนทรียรสทางวรรณศิลป์และเป็นเพียงเรื่องเล่าสนุก ไม่ใช่หลักฐานยืนยันความเป็นจริงของอดีตตามวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นิราศสุพรรณจึงไม่เคยถูกใช้อ้างอิงในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จนกระทั่งความก้าวหน้าทางวิชาการสังคมศาสตร์ ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์และนักวรรณคดีหันมาทบทวนฐานะของวรรณกรรมนิราศขึ้นใหม่และมีการให้ความหมายเรื่องเล่าชุมชนที่ปรากฏในนิราศ อย่างงานของ S.J Terweil (1989) หรือบทความของชลดา เรืองรักษ์ลิขิต (2530)

                อย่างไรก็ตามพบว่า ความหมายแฝงในนิราศสุพรรณที่เป็นเรื่องเล่าท้องถิ่นโดยเฉพาะตำนานชุมชนขุนช้างขุนแผนและน้องท้าวอู่ทองทั้งสองเรื่องนั้น ปรากฏต่อมาว่ามีฐานะที่แยกจากกัน ตำนานเรื่องขุนช้างขุนแผนยังคงมีพลังฝังรากอยู่กับความเชื่อของคนท้องถิ่นเมืองสุพรรณ มีการปรับฐานะความเชื่อนี้ให้สืบทอดในชุมชน ด้วยการปรับเปลี่ยนความหมายให้ผนวกเข้าไปเป็นชื่อของถนนและซอยสายหลักในตัวเมือง การสร้างและตั้งชื่อถนนเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 2490 โดยใช้ชื่อตัวละครหลายคนตามท้องเรื่อง แม้ว่ากระแสชาตินิยมของคณะรัฐบาลทหารหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้พัฒนารูปแบบอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ขึ้นอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลส่วนกลางก็ยังยอมให้มีการตั้งชื่อถนนตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น ยกเว้นถนนสายรอบนอกเมืองเขตชุมชนบ้านค่ายเก่าหรือที่ตั้งวัดมหาธาตุ กลับเป็นการนำพระนามกษัตริย์อยุธยา “พระเพทราชา” ที่เชื่อกันตามพงศาวดารต้นรัตนโกสินทร์ว่า เป็นชาวสุพรรณ มาตั้งชื่อถนนแถบนั้นแทน(5)

                สำหรับตำนานท้าวอู่ทองหรือน้องนั้น พบว่าได้มีการปรับเรื่องเล่านี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองสุพรรณใหม่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) เมื่อชนชั้นนำราชสำนัก อย่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้เริ่มต้นโครงการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ ด้วยการสำรวจทางน้ำสายเก่า (ดู Craig J. Reynolds 2547 : 1-30) ทั้งสองพระองค์ได้ปรับความเชื่อเรื่องท้าวอู่ทองซึ่งเป็นชื่อบุคคล ให้มาเป็นความเชื่อที่เป็นเรื่องเล่าเมืองอู่ทอง โดยทรงติดตามหาร่องรอยเมืองเดิมของพระเจ้าอู่ทอง หรือที่ทรงมองว่ามีความหมายอย่างเดียวกับหรือเท่ากับท้าวอู่ทองในตำนานชาวบ้าน ก่อนที่จะทรงย้ายราชธานีเพื่อหนีโรคห่าไปตั้งเมืองใหม่ที่อยุธยา อาจเป็นไปได้ที่การปรับความหมายครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นผนวกเรื่องเล่าที่เป็นนิมิตฝันของสุนทรภู่ ขณะสำรวจเจดีย์เก่าในป่าละว้า ที่มีกษัตริย์ผู้สร้างเจดีย์และเมืองที่ทิ้งร้างไปแล้วในความฝันของสุนทรภู่ ถูกเชื่อมโยงไว้กับชื่อและความหมายถึงพระเจ้าอู่ทอง ส่วนบริเวณเมืองร้างเก่าที่รัชกาลที่ 5 ทรงสำรวจนั้นได้บริเวณเมืองอู่ทองบนเส้นทางน้ำจระเข้สามพันหรือแถบเขาพระนั้นทรงเชื่อว่าน่าจะเป็นเมืองท้าวอู่ทอง(จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ 2493 : 47) ทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุปต่อมาว่าเมืองนี้คือ เมืองเดิมของพระเจ้าอู่ทอง ตามที่นิพนธ์ไว้ในนิทานโบราณคดี (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา 2543: 306-317) เรื่องเล่าเมืองอู่ทองจึงถูกยกฐานะให้มีพื้นที่อยู่ในโครงการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ แม้ว่าพัฒนาการการตีความและศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อมา ได้สร้างข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า เมืองอู่ทองแห่งนี้มีอายุเก่ากว่าสมัยของพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี และยังถูกทิ้งร้างไปก่อนหน้านั้นหลายศตวรรษ

                การทบทวนคุณค่านิราศสุพรรณทั้งสองเรื่องในฐานะเรื่องเล่าท้องถิ่น จึงน่าจะเป็นมิติใหม่ที่ทำให้นิราศทั้งสองเรื่องนี้มีความหมายต่อการศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่มีการตีความหลากหลายนอกเหนือจากโครงเรื่องแบบประวัติศาสตร์ชาติ และการประเมินคุณค่าเพื่อการอ่านนิราศทั้งสองเรื่องก็เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำกันเบื้องต้น

 

 

คำอธิบายเพิ่มเติม

(1)          มีข้อถกเถียงในเรื่องเจตนคติกับการเสนอความจริงแบบประสบการณ์นิยมของนิราศ   เนื่องจากนิราศเป็นรูปแบบคำประพันธ์ที่ผสมผสานกันระหว่างจดหมายเหตุระยะทาง  และวรรรณกรรมเสภาแบบชาวบ้าน  ที่ผู้เขียนต้องใช้ทักษะและอารมณ์กวี  เป็นสื่อถ่ายทอดสารที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริงตามที่มองเห็นกับอารมณ์กวี ที่เป็นอัตวิสัยของผู้เขียน ทำให้ Terweil ได้ตั้งคำถามว่า   นี่จะเป็นส่วนที่ทำให้การเสนอภาพความเป็นจริงผิดเพี้ยนไปหรือไม่  สำหรับความคิดของ Terweil  เขาประเมินคุณค่านิราศในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นข้อมูลการเดินทางและท้องถิ่น โดยถือว่าผู้อ่านสามารถแยกแยะอารมณ์กวี ออกจากความจริงที่กวีนำเสนอ เรื่องภูมิทัศน์ ชื่อสถานที่                เมือง      หมู่บ้าน ในฐานะที่เป็นข้อมูลท้องถิ่น  แต่ผู้เขียนบทความนี้ขอมองเช่นเดียวกับธงชัย วินิจจะกูล ที่ตั้งข้อสงสัยว่า เราสามารถแยกแยะได้เช่นนั้นหรือ อารมณ์กวีโดยเนื้อแท้แล้วเป็นการสะท้อนเจตนคติหรือทัศนคติที่ถูกหล่อหลอมจากโลกทัศน์ทางสังคมของกวีที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น และได้สอดแทรกอยู่ในโครงเรื่องไว้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม (Terweil    1989 : 22-26 Thongchai Winichakul  1993 : 42-43)

 

(2)       มีผู้ศึกษาโลกทัศน์หรือความคิดเชิงอุดมคติสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่สัมพันธ์กับเจตนคติของสุนทรภู่และเสมียนมีในการเขียนนิราศสุพรรณ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการมองเห็น “กรุง” ราชธานีศูนย์กลาง  เมืองชนบทและป่า ปริตตา เฉลิมเผ่ากอ อนันตกูล (2536) ศึกษาจิตรกรรมฝาผนังยุคนี้  ในฐานะภาพตัวแทนทางวัฒนธรรม  ด้วยการอธิบายว่าภาพจิตรกรรม เป็นรหัสของภาษาที่มีหลักเกณฑ์ที่เรียกว่าไวยากรณ์ตายตัว  และเป็นผลิตผลทางวัฒนธรรมที่กำหนดโดยชนชั้นสูง ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ช่างเขียน มีอำนาจเหนือกว่าในการกำหนดความคิด การวางรูปทรงและองค์ประกอบภาพ  ที่เป็นหลักการเขียนลายเรียกว่าลายกนก  และลายนี้ยังถูกใช้เขียนภาพตัวละครหลักในจิตรกรรมที่เรียกว่าตัวนาฏลักษณ์   ภาษาของจิตรกรรมที่มีกฎเกณฑ์ตายตัวนี้  ต้องการตอกย้ำความคิดเชิงอุดมคติ  ในการจัดระเบียบและลำดับชั้นทางสังคม  กำหนดประเภทของโลกและมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่ศูนย์กลาง   ให้แตกต่างจากกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่รอบนอก   โดยจัดวางตำแหน่งฐานพื้นที่ศูนย์กลางให้สูงกว่า  เนื่องจากเป็นตัวแทนความเจริญทางวัฒนธรรม ด้วยการใช้รูปแบบลวดลายทางนาฎลักษณ์   ศูนย์กลางจึงเป็นพื้นที่แสดงภาพปราสาท  วัง  มนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่นี้ก็มีรูปแบบและท่าทางของนาฎลักษณ์คือ  ท่ารำ  และเป็นตัวแทนชนชั้นสูง  คือ  กษัตริย์  เจ้านายและขุนนาง จิตรกรรมฝาผนังยุคต่อมาได้มีการเขียนภาพตัวแทนความเจริญที่หลากหลายความหมายอย่างภาพอาคารบ้านเรือนแบบจีนและตะวันตก  เรือสำเภา  ป้อมกำแพงที่มีปืนใหญ่ เป็นการแสดงความเจริญทางวัตถุ   ในขณะที่การเขียนภาพนอกกรุงเป็นภาพป่า  ซึ่งถือว่าอยู่รอบนอกศูนย์กลาง    แสดงด้วยสีเขียวเข้มและมืดทึบ  เป็น ต้นไม้ พุ่มไม้ และถือเป็นพื้นที่ธรรมชาติ ผู้คนและภาพอื่นๆไกลออกไปก็ลดลักษณะนาฎลักษณ์ ทำให้ดูอิสระเหมือนห่างไกลจากการถูกควบคุมแต่พื้นที่ทั้งสองก็มีฐานะลดหลั่นกัน อย่างไรก็ตามปริตตา ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าภาพศูนย์กลางยังเป็นความหมายถึง ความมีบุญหรือผู้มีบุญสูงสุดของแผ่นดิน ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์รัศมีบุญนี้แรงกล้าที่สุดในกรุงและค่อยๆจางออกไปยังรอบนอกที่ป่า      

                    แนวคิดเรื่องบุญนี้เป็นการอธิบายที่สอดคล้องกับการศึกษาเรื่อง โลกทัศน์ทางการเมืองของสุนทรภู่ โดยสมบัติ จันทรวงศ์(สมบัติ จันทรวงศ์ 25:284-6,292-4)ความคิดทางสังคมของสุนทรภู่ วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อเรื่องบุญ-กรรม ว่าเป็นเครื่องกำหนดทางฐานะทางสังคมของแต่ละคนให้แตกต่างกัน ตั้งแต่การถือกำเนิด ดังนั้นฐานะของเจ้านายจึงเป็นผู้มีบุญที่เกิดจากการสั่งสม และสามารถแผ่ขยายออกไปให้ข้าไทที่มีฐานะต่ำกว่าได้” พึ่งบุญ” หรือให้การอุปถัมภ์ ผู้มีบุญสูงสุดคือพระมหากษัตริย์ ยังถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด  และอยู่เหนือชีวิตข้าไท บุญนี้ยังสัมพันธ์กับบารมีของกษัตริย์แต่ละองค์อีกด้วย                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                     

                    แต่อย่างไรก็ดี”กรุง”ที่เป็นกรุงเทพฯราชธานีในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการผลิตเพื่อการค้าและการขยายตัวของระบบเงินตรา ที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ของผู้คนในกรุงซึ่งรวมถึงกวีผู้เขียนนิราศสุพรรณทั้งสองคน งานของนิธิ  เอียวศรีวงศ์เรื่อง “วัฒนธรรมกระฎุมพี กับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์” (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2527ก. 1-234) ก็ชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯในฐานะเมืองมหานคร 2 อย่าง คือ การขยายตัวของประชากรที่ประกอบด้วยผู้คนต่างแดน หลากหลายชาติและภาษา และการเป็นชุมชนค้าขายนั้น มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดชาวเมืองตั้งแต่ผู้นำลงมาจนถึงราษฎรให้มีรสนิยมและจิตสำนึกแบบกระฎุมพี ที่ให้ความสำคัญกับการค้าขายโดยถือว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเจริญและความอยู่ดีมีสุข โดยเฉพาะการค้ากับต่างประเทศที่นำเอาพ่อค้าและชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ พร้อมกับการนำเอาแบบแผนความคิดศิลปวัฒนธรรมแปลกใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอาคาร การแต่งกาย ดนตรี การละเล่น ศิลปะ ละครรำที่เป็นแบบชนชาติต่างๆทั้งอินเดีย จีนและยุโรป การค้ายังเป็นการสั่งสมความมั่งคั่งทางวัตถุ ทั้งหมดนี้สร้างสีสัน เสียงและความเคลื่อนไหวให้กับชีวิตชาวเมือง

                    แต่สำหรับพื้นที่เมืองชนบทและป่านั้น พบการศึกษาของธงชัย วินิจจกูล (1993) ถึงพื้นที่ส่วนรอยต่อที่เป็นหัวเมืองกับป่านี้ไว้อย่างน่าสนใจ เขาใช้บันทึกการเดินทางของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายการแบ่งพื้นที่ความแตกต่างของผู้คนในสังคมไทย  โดยระบุถึงฐานะของคนยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่อยู่รอบนอกศูนย์กลางไว้ 2 กลุ่มคือ กลุ่ม “ชาวบ้านนอก” ซึ่งอยู่ในเมืองชนบท และกลุ่ม “ชาวบ้านป่า” หรือ "ชาวป่า” ที่อยู่ในป่า โดยไม่ใช้เหตุผลความแตกต่างทางชาติพันธุ์ หรือวัฒนธรรม เพราะในยุคนั้น สยามมีสภาพเป็นแอ่งหล่อหลอมประชากรหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพระราชอาณาจักร เนื่องจากสังคมยุคนั้นได้สร้างภาพให้กษัตริย์สยามมีฐานะเป็นพระโพธิสัตว์หรือจักรพรรดิราช ที่แผ่บารมีปกครองผู้คนด้วยเมตตาธรรม จึงทำให้ประชากรจากต่างดินแดนเคลื่อนย้ายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

                    คนเหล่านี้ถูกนโยบายรัฐจัดแบ่งกำลังคน ให้ออกไปตั้งถิ่นฐานยังหัวเมืองต่างๆ ทั้งชั้นนอกและชั้นใน เพื่อทำหน้าที่ปกป้องและหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯอันเป็นราชธานี ฐานะความเป็น “ชาวบ้านนอก”และ “ชาวบ้านป่า” ยังถูกทำให้ลดหลั่นแตกต่างกัน นั่นคือ “ชาวบ้านนอก” ที่อยู่ในพื้นที่ “เขตปัจจันตประเทศ” หรือพื้นที่ที่อยู่รอบนอกกรุง นั้นถูกทำให้หมายถึงหรือเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลศูนย์กลาง คือ กรุงที่มีฐานะเป็นศูนย์กลางจักรวาลทางพุทธศาสนา  และเป็นพุทธศาสนาที่ดีงาม เป็นสัญลักษณ์แห่งผู้เจริญ “ชาวบ้านป่า” ที่อยู่ในพื้นที่ป่านั้นยิ่งถูกทำให้เห็นว่าไกลออกไปจากศูนย์กลางยิ่งกว่า  และพื้นที่ป่าก็ยังถูกนิยามเข้าไว้ด้วยกันกับพื้นที่ป่าเถื่อนที่เป็นอันตรายแม้ว่าจะเต็มไปด้วยความท้าทายระหว่างการเดินทาง(ธงชัย  วินิจจะกุล. 1993.)

                    โลกทัศน์หรือความคิดเชิงอุดมคติได้รับการศึกษาถือไว้อย่างหลากหลายตามที่กล่าวมานี้ มีอิทธิพลต่อการกำหนดเจตนคติ อันเป็นโครงเรื่องที่ปรากฏในการอ่านนิราศสุพรรณทั้งของสุนทรภู่ และเสมียนมี เนื่องจากกวีผู้แต่งนิราศทั้งสองเรื่องต่างมีชีวิตและประสบการณ์ที่ถูกหล่อหลอมภายใต้ความคิด ความเชื่อและค่านิยมทางวัฒนธรรม

 

(3)              ภาพความเปลี่ยว อันตรายและความยากลำบากของเส้นทางในช่วงนี้กลับถูกมองเห็นเป็นอีกแบบหนึ่ง Terweil   ได้อ้างงานเขียนของSlafterบรรยายภูมิทัศน์ช่วงนี้ว่า  การเดินทางออกจากนครชัยศรีออกไปเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง จากนั้นเป็นป่าไผ่หนาแน่นอีกหลายแห่ง เพียงเท่านี้ก็อาจดูไม่แตกต่างจากบรรยากาศที่นิราศทั้งสองเรื่องบันทึกไว้ แต่Slafterได้ให้รายระเอียดธรรมชาติและชีวิตชุมชนที่ไม่ปรากฏในนิราศ นั่นคือการเขียนถึงคุณสมบัติของไผ่ว่ามีคุณภาพดีลำต้นใหญ่ และภาพการทำนาซึ่งเป็นการเกษตรกรหลักในพื้นที่แถบนี้ Slafter มองเห็นทุ่งข้าวในนา  ผู้คนเดินทางจากนากลับบ้านด้วยการพายเรือ  เหนือแม่น้ำที่เป็นทุ่งแห้งแล้งก็เห็นเกวียนเตรียมใช้บรรทุกสินค้า เมื่อพ้นช่วงน้ำหลากช่วงนี้ ผู้คนเริ่มลดน้อยลงในแม่น้ำเมื่อเขาเดินทางไกลออกมา แต่เขากลับเห็นแพขนไม้ซุง ไม้ย้อมผ้า(คราม) และฟืนบรรทุกลอยตามลำแม่น้ำล่องมา การเห็นภาพต่างกันย่อมให้บรรยากาศการเดินทางต่างกันด้วย เมื่อเราอ่านตาม (Slafter) เราอาจไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยว และภาวะอันตรายบนเส้นทางช่วงนี้มากเท่ากับเวลาอ่านนิราศสุพรรณ (Terweil , 1989.)

 

(4)              น่าสนใจว่า เมืองน้องท้าวอู่ทอง ตามคำบอกเล่าชาวบ้านสุพรรณที่ถูกบันทึกไว้ในนิราศสุพรรณของเสมียนมี ท้ายที่สุดแล้วเป็นร่องรอยที่เราอาจเชื่อมโยงถึงการค้นพบทางวิชาการของนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีปัจจุบัน อธิบายประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณศตวรรษที่ 15 หรือพุทธศตวรรษที่ 20 ในฐานะรัฐสุพรรณภูมิ มีผู้ปกครอง คือ ขุนหลวงพะงั่ว สันนิษฐานว่าเป็นพี่มเหสีพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามยังไม่พบการอ้างอิงหลักฐานจากข้อความตอนนี้ในนิราศสุพรรณเข้ากับงานค้นคว้าทางวิชาการ

 

(5)              พระเพทราชาในพงศาวดารอยุธยาที่เขียนขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์เกือบทุกฉบับ ระบุว่ากษัตริย์องค์นี้มีถิ่นกำเนิดบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณ ทรงถูกสร้างภาพลักษณ์เพื่อสื่อว่าทรงมีชาติกำเนิดจากชาวบ้าน พงศาวดารบรรยายฉากทรงต้อนรับ “ญาติและข้าหลวงเดิม” ชาวเมืองสุพรรณที่มาเข้าเฝ้าเมื่อทราบว่าทรงขึ้นครองราชย์ โดยชวนกันหาปลา เนื้อ และพืชผลที่ “มีประสาชนบทประเทศบ้านนอก” ทรงเลี้ยงอาหารและพาชมพระราชวัง จนถึงให้นอนค้างในวัง และไม่ทรงห้ามปรามชาวเมืองกลุ่มนี้ที่ “พูดจาเพ็ดทูล แบบชาวบ้านนอก” (อ้างใน วารุณี โอสถารมย์ 2547 : 181-182) ซึ่งถือว่าผิดแบบแผนราชประเพณี การยอมรับภาพลักษณ์พระเพทราชาลักษณะนี้ จนมีการนำพระนามไปตั้งชื่อถนนในชุมชนเมืองสุพรรณ น่าจะเป็นประเด็นที่ควรศึกษาวิเคราะห์ต่อไปว่ามีความเป็นมาอย่างไร

 

 

บรรณานุกรม

 

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระ 2493. พระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า  และพระราชกระแสเรื่องจัดการทหารมณฑลกรุงเทพ. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พุทธศักราช 2493

ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต 2530. “นิราศเมืองสุพรรณ: สุพรรณบุรี ในทัศนะสุนทรภู่” ในเอกสารประกอบการสัมนาทางวิชาการเรื่อง “สุพรรณบุรี:ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม” จัดโดยสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2530

ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จฯ กรมพระยา .2514. ไทยรบพม่า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ บรรณาการ

-------------------------------------------- .2543. นิทานที่ 18 เรื่องเมืองอู่ทอง. ในนิทานโบราณคดี. หน้า 306- 

                       317. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์    บรรณาการ

นิธิ  เอียวศรีวงศ์. 2527ก. “วัฒนธรรมกระฎุมพี กับ วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์” ในปากไก่และปากใบ      

เรือ.กรุงเทพฯ:อมรินทร์การพิมพ์.1-234

--------------------.2527.ฃ. สุนทรภู่:มองกวีกระฎุมพี,ใน ปากไก่และใบเรือ. กรุงเทพฯ:อมรินทร์การพิมพ์  

                        235-298       

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล.2536. ภาษาของจิตรกรรมไทย.รายงานวิจัยเสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา           

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

วารุณี โอสถารมย์.2547. เมืองสุพรรณ บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่8-                     

ต้นพุทธศตวรรษที่25 กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ลมบัติ จันทรวงศ์. 2523. “โลกทัศน์ทางการเมืองของสุนทรภู่.” ในสมบัติ จันทรวงศ์และ ชัยอนันต์

สุทวณิช.ความคิดทางการเมืองและสังคมไทย. หน้า275-315. เอกสารวิจัยหมายเลข 6 สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจจำกัด.

สุนทรภู่.2509.นิราศเมืองสุพรรณฉบับสมบูรณ์ของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิช.

---------.2510.โครงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

---------.2510. รำพันพิราป. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร. จัดเป็นพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน

พระราชทานเพลิงศพ พระมงคลธรรมรังษี  เจ้าอาวาสวัดเทพธิดาราม จังหวัดพระนคร 1   

                     เมษายน 2510.

หมื่นพรหมสมพัตสร(มี).2544. นิราศสุพรรณ. กรุงเทพฯ:บริษัทอักษรเจริญทัศน์จำกัด.

 Manas Chitakasem.1972. “The Emergency and Development of the Nirat Genre in Thai Poetry”

Journal of Siam Society, July, 60, 2 pp. 135-168.

 Reid, Anthondy. 1993. Southeast Asia  in the Age of Commerce 1450-1680. Volume II:Expansion and   

Crisis. Bankkok: Silkworm Books.

Rernolds. C.J. 2547. “State Versus Nation in Histories of Nation-Buiding with Special Reference to  

Thailand,” in Thai Khadi Journal 1,2 ( เมษายน-กันยายน 2547) 1-30.

Santanee Phasuk and Phillip Stott.2004.Royal Siamese Maps . War and Trade in Nineteenth Century  

Thailand Bangkok: River Books.

Terweil, B.J. 1989. Through Traveller’s Eyes. An Approach to Early Nineteenth Century Thai History.

Bangkok : Duang Kamol Editions.

Thongchai Winichakul. 1993. “The Other Within Ethnography and Travel Literature From Bangkok

Metropolis to Its Periphery in the Late Nineteenth Century Siam.” Pp. 38-62 in Andrew Turton rdt. Civility And Savagery Social Identity in Tai States. Great Britain : Curzon Press.

 

 



*  นักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    บทความนี้เขียนขึ้นในวาระบูชา “ครู” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์  ผู้ให้คำแนะนำปรึกษาอันทรงคุณค่าทั้งทางวิชาการ การเรียนรู้

    ชีวิตการทำงานแก่ศิษย์อย่างสม่ำเสมอ และเป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตในโลกวิชาการ ศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ใหม่อย่าง

    ต่อเนื่อง และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย




บทความ

คำฉันท์ (๘)
คำฉันท์ (๗)
คำฉันท์ (๖)
คำฉันท์ (5)
คำฉันท์ (4)
คำฉันท์ (3)
คำฉันท์ (2)
ชื่อวรรณคดีที่ควรรู้จัก (เพิ่มเติม)
คำฉันท์ (1)
ฉากรบใน “ดาหลัง”
กลอนคนฝรั่งเขียน
กลอนบรรยายเมืองสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ 2466
ท้องถิ่นกับอาเซียน...จุดเชื่อมที่ยังต้องค้นหา
วันภาษาไทย? บางปัญหาที่น่าแลกเปลี่ยนทัศนะ
กลอนไหว้ครูโนห์ราชาตรี
ข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์
จากระบบบรรณาการถึงการปกครองแบบพิเศษในปะตานี
พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง
การส่งเสริมและข้อจำกัดของวรรณกรรมมุสลิม
สุนทรคึก เขียนถึง สุนทรภู่ (1) ตามรอยคึกฤทธิ์
กลอนคนฝรั่งเขียน
50 ปีสมาคมนักกลอนฯ กับการก้าวสู่เวทีสากล
สารลึบพะสูน: วรรณคดีลุ่มน้ำโขงที่ไม่โปร่งใส
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
สุภาษิตโบราณ
ง่ายและงามอย่างลาว
การเมืองในกวีของ “คุณพุ่ม”
ตำนานการสร้างโลกของชาวจ้วง
เวียงจัน 450 ปี
วันภาษาไทยฯ ที่ราชภัฏมหาสารคาม
แม่น้ำท่าจีนกำลังจะตาย
ย้อนรอยวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ
ตามรอยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยงบ้านไร่
ชาตินิยมสยาม และชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก
จัดอันดับความนิยมของบทความในเว็บสมาคมฯ
ตำนานนิทานพื้นบ้าน กำเนิดแม่น้ำโขง "ยักษ์สะลึคึ"
เอกสารวิชาการ ร่องรอยกาลเวลา หัวข้อ "ศิลปะ เพลง ดนตรี กวี" วังสะพุง, เลย
มุทิตาบูชาครูวันสุนทรภู่ที่ราชภัฏมหาสารคาม
สัมพันธ์ไทย – จีน (จ้วง) เครือญาติชาติภาษา
ตามล่าหารัก
แม่น้ำโขง โลกร้อน หรือเพราะจีนปิดเขื่อนกั้นน้ำ
The Ides of March และ “โภชนสติ” จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ (๒) article
200 ปี เอบราแฮม ลิงคอล์น: “บ้านที่แตกแยกกันเอง ไม่อาจตั้งอยู่ได้”
มองรูป-เสียงกลอน (ว่าด้วยเสียงตรี วรรค ๒) ผ่าน อังคาร กัลยาณพงศ์
ที่เรียกว่า วัฒนธรรม และคำว่า ภาษา
ของ-โขง จิตวิญญาณแห่งสายน้ำ
โคลงห้าพัฒนา ของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
ประชาภิวัฒน์(ไทยกับอาเซียน)
วันสารทไทย
สุนทรภู่-ครูมีแขก จากโซนาต้าถึงเพลงทยอยเดี่ยว
สังคม"ทันสมัย" แต่ไร้สมอง
มะเมี๊ยะเป็นสาวมอญ
บรูซแกสตันไว้อาลัยละมูล
รากเหง้าความศักดิ์สิทธิ์ของกวีนิพนธ์ไทย
บทสัมภาษณ์ กวีรากหญ้า
ความเชื่อ
ทำไม
ร่องรอยกาลเวลา
โขงนที เพลงกวี ดนตรีชีวิต
ประชาชนในชาตินิยม
รักสามเศร้า ที่แหลมมลายู
ความหมายทางวัฒนธรรม
เที่ยว 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ ไหว้พระทำบุญปีใหม่ สไตล์ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
ปาฐกถาช่างวรรณกรรม
รัฐบุรุษ
หนึ่งคนสองวัฒนธรรม
สุนทรภู่ ต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น
วัฒนธรรม เปลี่ยน...ซีไรต์ก็เปลี่ยน
สยามเมืองยิ้ม
ปราสาทเขาพระวิหาร
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่
ตะเกียงเจ้าพายุ
ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"
สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า"
จากร้อยกรอง สู่บทกวีมีทำนอง
รามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าใหม่
พายุนาร์กีสหรืออคติในใจไทยที่ทำร้ายคนพม่า?
เห่ช้าพญาหงส์
การเทครัวในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
เมืองร้อยเอ็ดประตู
พล นิกร กิมหงวน
ภูมิประเทศอีสาน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย
มิตาเกะ
เค้าขวัญวรรณกรรม
เรือพระราชพิธี
The Secret
โลกดนตรี
ลมปากที่ไร้มารยา
คำกวี เส้น สี และแสงเงา
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
วรรคทอง
การะเกด
ในวรรณคดีมีกลอน (หรือ) เปล่า...?
ในวรรณคดีก็มีกลอนเปล่า
โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
เพลงลูกทุ่งมาจากไหน?
สนุกเล่นแต่เป็นจริง



bulletผลร้อยกรองออนไลน์ 2558
dot
ประกวดร้อยกรองออนไลน์ครั้งที่ 7
dot
bulletข้อมูลการประกวดครั้งที่ 7, 2557
bulletผังร้อยกรอง
bulletอ่านโคลงประกวด 2557
bulletอ่านกลอนประกวด 2557
bulletอ่านกาพย์ยานีประกวด 2557
bulletผลการประกวดร้อยกรอง ปี 2557
dot
ข่าวสาร ข้อมูลสมาคม
dot
bulletกรรมการสมาคมสมัยที่ ๑๕-๑๖
bulletนายกสมาคมสมัยที่ ๑๗
bulletติดต่อนายกสมาคมนักกลอน
bulletติดต่อฝ่ายดูแลส่วนต่างๆ
bulletสมัครสมาชิกสมาคมนักกลอน
bulletนักกลอนตัวอย่าง ๒๕๕๓
dot
หัวข้อน่าสนใจ
dot
bulletรวมลิ้งค์เว็บไซต์น่าสนใจ
bulletส่งบทสักวา น.ส.พ. สยามรัฐ
bulletวารสารวิทยาจารย์ รับต้นฉบับ
bulletส่งข้อเขียนครูในดวงใจ
dot
แนะนำหนังสือ
dot
bulletหน้ารวมหนังสือ
bulletคู่มือเรียนเขียนกลอน
bulletกาสรคำฉันท์ - สมคิด สิงสง
bulletหนังสือสุรินทร์สโมสร
bulletฝากโลกนี้ไว้ในหัวใจเธอ - กอนกูย
bulletเลือน - อติภพ
bulletธาร ธรรมโฆษณ์
bulletนายทิวา
bulletกลอนเกียรติยศ
bulletอ้อมกอดแห่งท้องทุ่ง
bulletทองแถม นาถจำนง
bulletพงศาวดารพิภพ
bulletโป๊ยเซียน คะนองฤทธิ์
dot
โครงการประกวดต่างๆ
dot
bulletนายอินทร์อะวอร์ด ๒๕๕๖
bulletประกวดรางวัลซีไรท์ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลพานแว่นฟ้า ปี ๒๕๕๖
bulletรางวัลวรรณกรรมรามคำแหง ๒๕๕๖
dot
ผลตัดสินรางวัลต่างๆ
dot
bulletรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletผลรางวัลซีไรต์ ๒๕๕๗
bulletผลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๒๕๕๗
bulletผลรางวัลแว่นแก้ว ๗ (๒๕๕๓)
bulletผลกลอนวิถีคนกับควาย
bulletผลร้อยกรอง “ผมจะเป็นคนดี”
bulletรางวัลนราธิป ๒๕๕๓
bulletนักเขียนอมตะ คนที่ ๖ (๒๕๕๕)
bulletนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ๒๕๕๖
bulletศิลปินมรดกอีสาน ๒๕๕๔
bulletผลรางวัลพานแว่นฟ้า ๒๕๕๕
bulletผลรางวัลรามคำแหง ๒๕๕๖
bulletศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๕
bulletผลประกวดหนังสือ ชีวิตใหม่ 2
dot
ข่าวคราวของลมหายใจ
dot
dot
Weblink
dot
bulletอ่านกลอนประกวด 2556

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาภาษาไทย มศว
เว็บรวมกระทู้ อาศรมชาวโคลง ใน pantip.com
หนังสืออีศาน


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
ติดต่อ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ทองแถม นาถจำนง
โทรศัพท์ ๐๘๙-๑๒๓๔๗๕๔ อีเมล์ tongtham.n@hotmail.com

สำนักพิมพ์แม่โพสพ